อยากใช้ชีวิตบั้นปลายที่ไหนกัน?
บางคนอาจนึกถึงภาพบ้านอันแสนสงบ ได้ตื่นมารับแดดอุ่นยามเช้า เคล้าเสียงนกร้องอันแสนสดใส เอนกายลงบนเก้าอี้ตัวโปรดมองใบไม้ไหวที่สายลมพัดมาทักทายอย่างแผ่วเบา แล้วเฝ้านึกย้อนไปถึงวัยเด็กที่เคยวิ่งเล่นสนุกในบ้านหลังเดิม ก่อนจะหันไปทักทายเพื่อนบ้านที่คุ้นหน้าค่าตากันดี
เหล่านี้ช่างเป็นภาพฝันอันแสนอบอุ่น ทว่าในความเป็นจริงจะมีสักกี่คนที่ทำได้แบบภาพฝันนั้นกัน เพราะสำหรับคนหนุ่มสาวแล้ว การกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายในถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเองอาจไม่ใช่เรื่องเรียบง่าย เหมือนแค่เก็บกระเป๋ากลับบ้านเท่านั้น
หรือ 60+ แล้วเรายังต้องทำงานอยู่?
การจะกลับไปใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายที่บ้านเกิดได้ อาจจะประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเงิน และอาชีพ
ประโยคที่ว่า “เพราะกลับบ้านไปแล้วไม่รู้จะทำงานอะไร” ไม่ได้มีแค่ช่วงวัยหนุ่มสาว แต่ดูเหมือนจะลากยาวไปจนถึงตอนแก่ เพราะการเก็บเงินให้พอใช้ในวัยเกษียณกลายเป็นเรื่อง ‘เกินเอื้อม’ สำหรับบางคนที่ยังทนทุกข์กับการหมุนเงิน ใช้หนี้ บริหารงบให้พอใช้ในแต่ละเดือนหลังเจอวิกฤตหลายระลอกซ้ำๆ อีกทั้งข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าจำนวนผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ที่ยังคงทำงานอยู่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากตัวเลขมี 4.06 ล้านคนในปี 2560 เพิ่มมาเป็น 4.88 ล้านคน ในปี 2564
ดังนั้นการคิดจะกลับไปอยู่ที่บ้านเกิด เลยมาควบคู่กับความกังวลว่าจะมีงานทำไหม เงินจะพอใช้หรือเปล่า โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่มีทางเลือกด้านการทำงานค่อนข้างน้อย และถ้ายิ่งเป็นผู้สูงอายุ ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก
เพราะไม่รู้จะกลับไปอยู่กับใคร
เราอาจเกิดและเติบโตมาในบ้านหลังนั้น ณ ช่วงเวลาหนึ่ง แต่เชื่อว่าพอโตขึ้นบางคนจะเริ่มย้ายออกจากภูมิลำเนาเดิมของตัวเองด้วยเหตุผลที่อาจแตกต่างกันออกไป บางคนจากบ้านมาเพื่อคว้าโอกาสทางการศึกษา บางคนออกมาหางานทำ เพราะในเมืองใหญ่ๆ มีทางเลือกมากกว่าหรือรายได้ดีกว่า บ้างก็โบยบินออกมาด้วยเหตุผลที่ว่า ครอบครัวที่ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย แต่ไม่ว่าจะเต็มใจหรือจำเป็น ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อ ‘ชีวิตที่เราเชื่อว่าดีกว่า’ ซึ่งต้องแลกมากับการปรับตัวในพื้นที่แห่งใหม่และความรู้สึก ‘ห่างไกล’ จากบ้านหลังเดิมออกไปเรื่อยๆ จนบางคนรู้สึกว่า ‘บ้าน’ เหลือเพียงนิยามของสิ่งปลูกสร้างที่เราเคยอยู่อาศัย ขณะที่ความรู้สึกผูกพัน วิถีชีวิตที่คุ้นเคย การเป็นตัวของตัวเองราวกับถูกแพ็กใส่กระเป๋าเดินทางออกจากบ้านมากับเราด้วย
ยังไม่รวมสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งถนนหนทาง ร้านรวงต่างๆ ที่เคยมีในวัยเด็ก รู้ตัวอีกทีจังหวัดนี้หรือบ้านหลังนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่พื้นที่ที่คุ้นเคยอีกต่อไปแล้ว ยิ่งในช่วยวัยที่เรากำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุ คงต้องยอมรับว่าพ่อแม่และญาติพี่น้องหลายคนได้ค่อยๆ จากกันไปจนเหลือไว้เพียงบ้านที่เป็นสิ่งปลูกสร้างจริงๆ หากจะกลับไปใช้ชีวิตคงต้องปรับตัวใหม่อีกครั้ง บางคนเลยเลือกลงหลักปักฐานยังพื้นที่ใหม่ๆ ที่คุ้นเคยและให้ความรู้สึกว่า ‘ตรงนี้คือที่ของเรา’ มากกว่า
พื้นที่ที่ไม่ได้เหมาะกับการอยู่อาศัย
อีกประเด็นสำคัญที่ทำให้เรากลับไปแก่ที่บ้านเกิดได้ยากขึ้น คือ ‘ตัวบ้าน’ ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เพราะช่วงวัยนั้นเราคงไม่ได้เดินเหินคล่องแคล่ว ร่างกายแข็งแรงแบบวัยหนุ่มสาว บางคนอาจจะมีความต้องการพิเศษบางอย่าง ขณะที่บ้านไม่ได้ออกแบบมาตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น พอจะปรับปรุงบ้านทีก็ใช้งบไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากนี้ บางบ้านยังอยู่ห่างไกลจากสถานพยาบาล สถานบริการต่างๆ ไปจนถึงร้านรวงสำหรับซื้อข้าวของเครื่องใช้ ตัดผม กินข้าว ทำธุระส่วนตัว
และเมื่อเราเป็นคนที่จากบ้านมาตั้งแต่เด็กๆ ยิ่งไม่ได้ผูกพันกับคนแถวบ้าน หรือแม้แต่คนข้างบ้านที่กำแพงความสัมพันธ์ดูเหมือนจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เราห่างบ้านไป กลับกลายเป็นว่าบ้านหลังเดิมนั้นตั้งอยู่ท่ามกลางสังคมใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย บวกกับยุคสมัยที่หลายคนไม่อยาก (และไม่พร้อม) ที่จะมีลูก ขนาดครอบครัวจึงเล็กลงไปเรื่อยๆ จนบ้านเริ่มเงียบเหงากว่าช่วงที่เรายังเด็ก สิ่งที่ตามมาคือไม่มีใครไปมาหาสู่ ไม่ค่อยมีคนช่วยเป็นหูเป็นตาให้กันบ่อยๆ และถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้น ก็อาจจะไม่มีคนมาช่วยไว้ได้ทันท่วงที แต่จะจ้างคนมาดูแลก็ใช่ว่าค่าใช้จ่ายจะน้อยๆ
แล้วทางเลือกในวัยเกษียณคืออะไร?
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ เลยไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะเริ่มวางแผนเก็บเงินเพื่อไปอยู่บ้านพักคนชราเพราะนอกจากจะปลอดภัยกว่าแล้ว ยังพอจะได้พบปะผู้คน เจอสังคมใหม่ๆ ที่ช่วยคลายเหงาได้ในระดับหนึ่ง
ทว่าสิ่งที่ตามมาคือปัญหาบ้านพักคนชราของรัฐอาจไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันรัฐมีศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุภายใต้กรมกิจการผู้สูงอายุ 12 แห่งและสถิติปี 2562 ระบุว่าสามารถรองรับผู้สูงอายุได้ 1,532 คนเท่านั้น ขณะที่ผู้สูงอายุทั่วประเทศมีมากกว่า 10 ล้านคน
แม้ธุรกิจบ้านพักคนชราของเอกชนจะเติบโตและดูหรูหราน่าอยู่ขึ้นทุกวัน แต่คงมีคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ อย่างในเว็บไซต์ money buffalo เคยคำนวณไว้ว่าถ้าอายุ 60 ปีแล้ว อยากอยู่บ้านพักคนชราตามมาตรฐานกลางๆ ทั่วไป จะต้องเริ่มเก็บเงินในวัย 30 ปีอย่างน้อยเดือนละ 25,000 บาทเลยทีเดียว
นอกจากค่าใช้จ่ายมหาศาลแล้ว ในรายงาน ‘ข้อสรุปจากกระบวนการหารือเชิงนโยบาย Aging in Place การสูงวัยในถินที่อยู่อาศัยเดิม อย่างมีสุขภาวะ’ โดย Rise Impact ระบุว่า มีงานวิจัยหลายหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าการอยู่อาศัยในบ้านเดิมของตัวเอง ช่วยสร้างความรู้สึกทางบวก ส่งผลดีต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ ทั้งยังมีผู้สูงอายุหลายคนยังอยากอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเอง แม้จะมีข้อจำกัดทางร่างกายหรือเกิดความพิการก็ตาม
แนวคิด Aging in Place อาจเป็นทางออก
เราจะเห็นว่า หลายคนยังอยากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านในช่วงบั้นปลาย และทางเลือกนี้ย่อมดีต่อสุขภาพกายและใจของเรามากกว่า แต่ข้อจำกัดหลายอย่างทำให้กลายเป็นเรื่องยาก
เหล่านี้จึงเป็นที่มาของแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจและถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงที่หลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย นั่นคือ ‘Aging in Place’ (AIP) หรือ ‘การสูงวัยในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม’ หมายถึงการพยายามทำให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่บ้านหลังเดิมของตัวเองนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งแนวคิดนี้ช่วยลดทั้งจำนวนผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา ไปจนถึงการลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพราะการดูแลให้สามารถอยู่บ้านได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ย่อมครอบคลุมไปถึงเรื่องสุขภาพด้วย
สำหรับแนวคิด AIP จะมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ สถานที่ (Place) การปรับทั้งตัวบ้าน สภาพแวดล้อมรอบบ้านและชุมชนให้เหมากับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ตามมาด้วยสุขภาพ (Health) ที่นอกจากการดูแลสุขภาพส่วนบุคคลแล้ว ควรมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพทั้งคนที่แข็งแรงและผู้ป่วยที่ต้องการการดูแล สุดท้ายคือ บริการด้านการดูแลทางสังคม (social care) บริการที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น การพาไปหาหมอ ทำธุรข้างนอก บริการตัดผม ส่งอาหาร ทำงานบ้าน ฯลฯ
โดยในรายงานเดียวกันจาก Rise Impact ระบุว่า เราอาจจะพอเห็นการส่งเสริมและพูดถึงเรื่องสถานที่และสุขภาพมาบ้างแล้ว แต่บริการการด้านการดูแลทางสังคมในประเทศไทยยังนับว่าไม่ค่อยชัดเจนเป็นรูปธรรมนัก บวกกับระบบการดูแลผู้สูงอายุยังเป็นไปในรูปแบบการบริจาค สงเคราะห์มากกว่าการสร้างระบบที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุในพื้นที่นั้นๆ ได้ในระยะยาว ซึ่งต้องอาศัยอำนาจรัฐและองค์กรท้องถิ่นเข้ามาดูแลในเรื่องนี้
ส่วนภาคเอกชน ตอนนี้เราจะเห็นบริการใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น บริการพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีว่าเรากำลังค่อยๆ ปรับตัวตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
แต่ถ้าถามว่าเราทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้คงจะมีเพียงการดูแลสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจไปจนถึงสุขภาพการเงินของตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรืออาจจะลองทยอยปรับให้บ้านเหมาะแก่การอยู่อาศัยของผู้สูงวัยมากขึ้น เช่น เปลี่ยนกระเบื้อง ต่อเติมบ้าน วางแผนว่าช่วงที่ฉุกเฉินจะทำติดต่อใคร ทำยังไงได้บ้าง แม้แต่การผูกมิตรกับคนใกล้บ้านเข้าไว้ ส่วนที่เหลือคงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะนโยบายและโครงการที่มาสนับสนุนเรื่อง Aging in Place เช่น บริการตรวจสุขภาพประจำปี บริการเยี่ยมบ้านเพื่อคัดกรองโรคเบื้องต้น บริการร้องขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน (emergency call) บริการช่วยเหลือทำธุรกรรมที่จำเป็นต่างๆ บริการรับส่งเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม ออกไปทำธุระส่วนตัว ฯลฯ
คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะได้มีชีวิตบั้นปลายสวยงามตามภาพที่วาดฝันเอาไว้ และหลายคนอาจกำลังรู้สึกกลัวว่าพอแก่ตัวไปแล้วชีวิตจะเป็นแบบไหน (ซึ่งจริงๆ เราก็กลัวอยู่เหมือนกัน) แต่เราเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเราจะหาวิธีก้าวผ่านไปด้วยกันได้ และในอนาคตอาจมีหนทางหรือตัวช่วยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์สามารถปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
และเมื่อถึงวันนั้น เราหวังว่าทุกคนจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีพื้นที่ปลอดภัยที่คอยโอบอุ้มเราไว้ในช่วงวัยวันอันแสนเปราะบาง
อ้างอิงจาก