เมื่องานมีการแข่งขันสูง ตำแหน่งไม่เคยถูกเว้นว่างนาน การเป็นแม่ของผู้หญิงจึงเสียเปรียบมากกว่าผู้ชายในการกลับไปทำอาชีพที่เคยมุ่งมั่น ผู้หญิงตกอยู่ในสถานะ ‘ทำงานมากก็ผิด เลี้ยงลูกมากก็ผิด’ แม่จึงเป็นฐานะที่หาสมดุลชีวิตยากอย่างแท้จริง
แม้โลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่บริบทของสังคมไทยยังแสดงท่าทีกำหนดให้ผู้หญิงเป็นผู้เลี้ยงลูกเป็นหลัก ถึงจะกล่าวว่าสัญชาตญาณ ‘ความเป็นแม่’ จะทำให้ผู้หญิงรับบทบาทนี้อย่างมีความสุข แต่สภาพเศรษฐกิจกลับสวนทาง บีบคั้นทำให้ผู้หญิงต้องแสดงศักยภาพนอกบ้านมากขึ้น
“เทรนด์เริ่มเห็นชัดขึ้นแล้วว่า ผู้หญิงก็เริ่มอยากที่จะมีลูกน้อยลง ถ้าลองศึกษาทั้งผู้ชายและผู้หญิง ผู้ชายยังมีความต้องการมีลูกมากกว่าอีก ก็เพราะว่ามันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตเขามากเท่าผู้หญิง อย่างเรื่องงาน ส่วนใหญ่ผู้หญิงจำนวนมากต้องออกมา มันเปลี่ยนเส้นทางที่ผู้หญิงวางไว้เยอะทีเดียว”
ผศ. ดร. มนสิการ กาญจนะจิตรา นักวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งคำถามกับบทบาทความเป็นแม่ผ่านงานวิจัย ‘การปรับวิถีการทำงานของครอบครัวเมื่อมีบุตร’ ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดโครงการวิจัย ‘การดูแลครอบครัวเปราะบาง : ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและสังคมไทย’ สนับสนุนการวิจัยโดย สกว.
จากนักวิจัยที่ต้องควบบทบาทคุณแม่ในเวลาเดียวกัน ผศ. ดร. มนสิการ กาญจนะจิตรา จึงเป็นผู้ร่วมประสบการณ์ ตั้งคำถาม และวิเคราะห์บริบทไปได้พร้อมๆ กัน
The MATTER : ทำไมอาจารย์ถึงสนใจที่จะวิจัยประเด็นนี้
ผศ. ดร. มนสิการ : ก่อนอื่นขอเล่าก่อนว่าเนื้อหาที่สนใจเป็นพิเศษคือเราอยากดูว่า ครอบครัวที่เพิ่งมีลูกใหม่ๆ เขาได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างในแง่ของการทำงาน เพราะว่าสิ่งที่เราเห็นคือ ครอบครัวสมัยนี้งานมันไม่ได้อยู่ในบ้านหรือใกล้บ้านเหมือนสมัยก่อน ยุคที่ผ่านมาเราทำเกษตรกรรม ออกจากประตูบ้านก็คืองานเลย แต่สมัยนี้งานอยู่นอกบ้านมากขึ้น มีระยะทางไกล คือต้องมีการเดินทางเพื่อไปทำงาน ซึ่งทุกคนก็ทราบดีว่า เราใช้เวลามากเหลือเกินบนท้องถนน ผนวกกับช่วงเวลามีลูกเป็นอะไรที่ต้องหาสมดุลทั้งครอบครัวและอาชีพการงาน ผู้หญิงเขาจะจัดการตรงนี้อย่างไร มันเป็นโจทย์ที่ท้าทาย
The MATTER : ผู้หญิงส่วนใหญ่บอกว่าไม่อยากมีลูกเพราะห่วงงาน อยากทำงานมากกว่า การมีลูกส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานอย่างไร
ผศ. ดร. มนสิการ : ส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ งานศึกษาในต่างประเทศพบว่า การให้กำเนิดบุตรหนึ่งคนลดอุปทานแรงงานของผู้หญิงมากถึง 2 ปีในช่วงวัยเจริญพันธุ์
การมีบุตรส่งผลต่อโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิง ไม่เพียงเฉพาะในระยะสั้นเท่านั้นนะ แต่ในระยะยาวด้วยเช่นกัน การตัดสินใจออกจากงาน เปลี่ยนงาน หรือลดบทบาทการทำงานในวันนี้ ส่งผลต่อเส้นทางความก้าวหน้าทางการงานและความมั่นคงทางการเงินของผู้หญิงในวันข้างหน้า
The MATTER : เพราะลูกเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องตามทำหน้าที่ให้ดี ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น?
ผศ. ดร. มนสิการ : ใช่ค่ะ ความขัดแย้งคือความยากที่จะเลี้ยงลูกไปด้วยและทำงานไปด้วย มันส่งผลกระทบต่อครอบครัว อาจจะมีคนใดคนหนึ่งจำเป็นต้องออกจากงานเพื่อเลี้ยงดูลูกได้เต็มที่ หรืออาจจะต้องเปลี่ยนงาน คือแต่ก่อนเคยทำงานเต็มเวลาก็อาจจะต้องเปลี่ยนมาทำงานพาร์ตไทม์ ฝากคนนู้นคนนี้เลี้ยง หรือบางคนอาจจะทำงานเหมือนเดิม แต่ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ยังไงคุณก็จะต้องลากลับบ้านเร็ว ไปทำงานต่างจังหวัดนานๆ ไม่ได้ หรือลาบ่อยขึ้นเพื่อที่จะไปดูลูก
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ปีเดียวหรือสองปีในช่วงที่ลูกยังเล็ก ลองสมมติว่าผู้หญิงต้องออกจากงานเพื่อที่จะมาเลี้ยงดูลูก มันจำเป็นต้องหายจากงานนานถึง 2-3 ปี กลับเข้าไปทำงานใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นจริงๆ มันส่งผลกระทบทั้งชีวิตของคนเป็นแม่ได้เลย
The MATTER : ทราบมาว่างานวิจัยของอาจารย์ชิ้นนี้ใช้การวิเคราะห์จากกระดานสนทนาของ Pantip.com และเฟซบุ๊กด้วย
ผศ. ดร. มนสิการ : บรรดาแม่ๆ ชอบระบายออกผ่านสื่อโซเชียลนะ แต่ Pantip.com น่าสนใจเป็นพิเศษที่เขาระบายแล้วผู้ชายหรือสามีไม่รู้ (หัวเราะ) งานวิจัยนี้ใช้การวิเคราะห์ตัวบทสนทนาบนกระดานสนทนาสาธารณะออนไลน์พันทิป และเพจสาธารณะของเฟซบุ๊ก เพื่อรวบรวมความคิดเห็น ทัศนคติ และประสบการณ์ที่หลากหลายในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน และมีสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อช่วยยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อค้นพบจากการวิเคราะห์ตัวบท
อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญมาก แล้วลักษณะของคนรุ่นใหม่มีปัญหามักไม่ปรึกษาคนใกล้ตัว เขาจะไปปรึกษา ‘ชาวเน็ต’ ยิ่งเป็นเรื่องอ่อนไหว เรื่องเกี่ยวกับในครอบครัว บางทีเขาก็ไม่อยากจะคุยกับสามี เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่อยากจะคุยกับคนในบ้าน
สาเหตุที่เลือก Pantip.com เพราะเป็นกระทู้ที่ใหญ่ที่สุดของไทย เลยไปลองดู โอ้โห มันมีคนมาแชร์เรื่องเกี่ยวกับว่า พอมีลูกแล้วส่งผลกระทบกับเขายังไงบ้างเยอะมากๆ โดยเฉพาะคนที่ลาออกจากงาน เขารู้สึกอย่างไรบ้าง เขามีปัญหากับสามียังไงบ้าง ความยากในการหางานใหม่ ข้อมูลเยอะมากและคอมเมนต์ก็ยาว แต่เราจำกัดดูกระทู้ที่ไม่เกิน 3 ปี ไม่งั้นมันจะเยอะมาก
The MATTER : บรรดาแม่ๆ ระบายเรื่องอะไรออกมามากที่สุด
ผศ. ดร. มนสิการ : ความยากที่จะกลับไปทำงานเป็นเรื่องที่แม่ระบายมากที่สุด มันเหมือนเป็น ‘บทลงโทษของการเป็นแม่’ ในตลาดแรงงานเกือบทุกประเทศพบว่าอัตราค่าจ้างของผู้หญิงที่มีลูกต่ำกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูก การมีลูกจึงเปรียบเสมือนการได้รับบทลงโทษในแง่การมีรายได้ที่ลดลง หรือที่เรียกว่า ‘motherhood wage penalty’
งานศึกษาพบว่าการมีลูกหนึ่งคนส่งผลให้ระดับอัตราค่าจ้างลดลงได้ถึงร้อยละ 7-18 แม้แต่ผู้หญิงที่จบในระดับปริญญาก็ต้องประสบกับระดับอัตราค่าจ้างที่ลดลงถึงร้อยละ 15 หากมีลูกมากกว่า 1 คน และยิ่งมีลูกมากขึ้นเท่าไร ระดับอัตราค่าจ้างจะยิ่งลดลงเท่านั้น ประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลง หรืออาจต้องออกจากตลาดแรงงานไป 2-3 ปี ซึ่งการขาดหายมันทำให้ขาดประสบการณ์ในช่วงนั้น พอฐานประสบการณ์ไม่เท่ากันก็ส่งผลต่อค่าจ้างอีก
The MATTER : แล้วแม่ที่ออกมาเลี้ยงดูลูกแบบเต็มเวลาต้องเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง
ผศ. ดร. มนสิการ : เรื่องจิตใจจะกระทบมาก พอมาเลี้ยงลูกเต็มเวลามักจะรู้สึกด้อยค่า รอให้สามีเลี้ยง อย่างไรก็ตาม ความเชื่อว่าแม่คือผู้เลี้ยงดูลูกที่ดีที่สุดเป็นแรงผลักดันหลักที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนเลือกออกจากงานเมื่อมีลูก แม้จะต้องเสียสละรายได้ ความก้าวหน้าทางการงาน ชีวิตสังคม และตัวตนส่วนหนึ่ง
ผู้หญิงอีกหลายคนจำเป็นต้องออกจากงานเลย เนื่องจากไม่มีคนช่วยเลี้ยงที่ไว้ใจได้ และไม่มีทางเลือกที่มีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้ จึงตัดสินใจว่าการลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกเองเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุด
แม้จะภูมิใจกับการเสียสละเพื่อลูก และพอใจที่ได้ใกล้ชิดกับลูกและได้เห็นพัฒนาการของลูก แต่สิ่งเหล่านี้ต้องแลกมาด้วยต้นทุนอันมหาศาล ทั้งความท้อใจ น้อยใจ และด้อยค่าจากการที่คนรอบตัวและสังคมไม่เห็นค่า มองว่างานเลี้ยงลูกอยู่บ้านเป็นงาน ‘สบาย’ เพราะ ‘อยู่บ้านเฉยๆ’
การไร้รายได้เป็นของตนเองทำให้แม่เต็มเวลามีความเปราะบางด้านรายได้ ไม่มีอิสรภาพในการใช้จ่าย และทำให้ต้องตกเป็นเบี้ยรองในครัวเรือน ไร้อำนาจการต่อรอง ยิ่งไปกว่านั้น ความมั่นคงทางการเงินในอนาคตของทั้งตนเองและลูกขึ้นอยู่กับสัมพันธภาพกับสามี ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่แม่เต็มเวลาเป็นกังวลอย่างมาก
The MATTER : สามีเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แม่เปราะบาง?
ผศ. ดร. มนสิการ : มันถึงเวลาที่ต้องส่งสัญญาณต่อสังคมว่า พ่อก็มีหน้าที่เหมือนกันนะ ไม่ใช่หน้าที่ของแม่อย่างเดียว หลักๆ ตอนนี้ที่ผู้หญิงไม่อยากมีลูกเพราะว่าภาระเทไปอยู่ที่ผู้หญิง คือผู้หญิงสมัยนี้ทำงานไม่ต่างกับผู้ชาย แต่ถ้าพูดถึงการดูแลบ้าน ดูแลลูก คนทั่วไปก็ยังมีความรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้หญิงอยู่ดี จากที่สัมภาษณ์มาคือ ผู้หญิงที่ยังทำงานอยู่จะบ่นเรื่องที่ผู้ชายไม่ช่วยเหลือมากที่สุด คือกลับบ้านมาเหนื่อยเหมือนกัน ผู้หญิงบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องมาล้างจาน ต้องเตรียมกับข้าวให้ลูก มาเล่นกับลูก สอนการบ้านลูก เอาลูกเข้านอน ส่วนสามีก็นั่งเล่นเกม อยู่กับมือถือ
มันเป็นการสะท้อนว่า คนก็ยังมีทัศนคติเรื่อง gender role ที่มองว่าการดูแลบ้านเป็นของผู้หญิง มันก็เลยทำให้ผู้หญิงอาจจะโอเวอร์โหลดมากไป
The MATTER : จากข้อค้นพบในวิจัยสามารถผลักดันเชิงนโยบายได้อย่างไรบ้าง
ผศ. ดร. มนสิการ : เรื่องการปรับความยืดหยุ่นนั้นสำคัญมาก จริงๆ ณ ตอนนี้ นโยบายจะค่อนไปทางช่วยให้คนมี work-life balance มากขึ้น อย่างเช่น ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น การมีเวลาลาคลอดที่เหมาะสม มีสถานดูแลรับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ แม้ตรงนั้นจะค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว แต่คิดว่าสำหรับประเทศไทยมันไม่ใช่ว่าเราควรจะทำอะไร แต่เราทำมันอย่างไรมากกว่า
อย่างเรื่องวันลาคลอด คือสิทธิ์ ณ ตอนนี้ลาได้ 90 วัน เขาก็มีการสนับสนุนยืดเวลาลาคลอดจาก 90 วัน อาจจะเป็นสัก 6 เดือน แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้หลายอย่าง ถ้าให้วันลามากขึ้น ค่าตอบแทนที่ได้ช่วงที่หายไปเลี้ยงลูกอาจจะน้อยลง รัฐต้องลงทุนในศูนย์ดูแลเด็กเล็กให้มีความทั่วถึง โดยเฉพาะในเมืองที่มีครอบครัวเดี่ยวขาดคนช่วยเลี้ยงดู และมุ่งเน้นความสำคัญในด้านคุณภาพและความสามารถในการเข้าถึงบริการเหล่านี้ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มครอบครัวรายได้ต่ำ-ปานกลาง
เราต้องสนับสนุนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการรับผู้ที่ออกจากงาน เนื่องจากการรับผู้มีบุตรเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมถึงการมีระยะวันลาที่เหมาะสมที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้มีบุตรต้องออกจากตลาดแรงงานตั้งแต่ต้น และปรับแรงจูงใจให้ภาคเอกชนรับผู้ที่ออกไปเลี้ยงลูกผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การลดหย่อนภาษี
ในแง่ความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง โดยเฉพาะหน้าที่ในครัวเรือน ทำได้โดยส่งเสริมบทบาทชายในการเลี้ยงดูลูกมากขึ้นผ่านมาตรการ เช่น การทำให้วันลาสำหรับผู้ชายเพื่อดูแลลูกหลังคลอดเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกครอบครัว
The MATTER : สุดท้ายอาจารย์ในฐานะนักวิจัยและแม่ อยากให้สังคมมองความเป็นแม่อย่างไร
ผศ. ดร. มนสิการ : การเป็นแม่ถือเป็นหน้าที่สำคัญ แต่สังคมต้องเข้าใจ มันไม่ได้มีแค่มิติสวยงาม เราต้องยอมรับความท้าทายที่ไม่ควรให้ผู้หญิงต้องเผชิญอย่างเดียวดาย พอมีลูกจุดโฟกัสของผู้หญิงจะเปลี่ยน จากแต่ก่อนมุ่งแต่เรื่องงาน อยากทำงานให้ดีที่สุด พอมีลูกก็ต้องแชร์มาให้ลูกด้วย มีแม่บอกว่า จากแต่ก่อนทุ่มให้งาน 180% ตอนนี้ทุ่มลดลงเหลือ 120% แต่ลูกเอาไปแล้ว 200%
มันต้องแบ่งเวลา เราก็อยากให้ลูกได้อยู่กับเรา อยากให้ลูกเติบโตมามีคุณภาพ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งท้าทายหลัก งานก็อยากทำให้ดี ลูกก็อยากให้มีคุณภาพ
พอเป็นแม่ที่ต้องทำงาน ทำงานเยอะก็ผิด เลี้ยงลูกเยอะก็ผิดอีก มันยากตรงนี้ เราจะหาสมดุลอย่างไรเป็นสิ่งที่แม่ชั่งในใจมาตลอด
ขอขอบคุณ
ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)