เรามักได้ยินได้ฟังข่าวคราวผลกระทบของ AI ต่อสาขาและอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หมอ ทนาย นักบัญชี นักสถิติ ซึ่งดูเหมือนผลกระทบจะเกิดกับสาขาที่เป็นวิชาชีพเฉพาะต่างๆ ที่ AI สามารถเข้าไปแทนที่งานบางด้านได้ ในส่วนของนักอักษรศาสตร์ที่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นวิชาชีพเฉพาะ แต่อาศัยทักษะความสามารถภาษาต่างประเทศในการทำงานต่างๆ คำถามคือ เราควรจะต้องวิตกกังวลอะไรด้วยไหม
เราอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ app ช่วยสอนภาษาต่างประเทศ เช่น Duolingo ที่ใช้ AI ช่วย และจริงๆ เราก็อาจไม่รู้สึกแปลกใจอะไร ในเมื่อการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนภาษาเป็นอะไรที่มีมานานแล้ว และเราก็รู้ว่ามีการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยในการสอนภาษามาอย่างต่อเนื่อง ของใหม่นี้ก็น่าจะเป็นเพียงเป็นเรื่องเดิม เป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งที่สนใจเอาเทคโนโลยีมาใช้ เป็นเพียง Computer Aided Instruction (CAI) อีกอย่าง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
แต่ภายใต้ความคิดของ CAI ใหม่นี้ สิ่งที่เปลี่ยนไปและเป็นสิ่งที่กำลังส่งผลกระทบต่อแทบทุกสาขาวิชา คือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI
AI กับงานด้านภาษา
เพราะ AI ทำให้มีโปรแกรมที่เป็น personal assistant อย่าง Google Assistant, Amazon Alexa, Siri สามารถพูดและฟังโต้ตอบด้วยภาษามนุษย์ได้ และมีแนวโน้มพัฒนาได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราสามารถสนทนาทั่วไปและสั่งให้ทำงานเฉพาะเรื่องได้ดีมากขึ้น
เพราะ AI ทำให้มีโปรแกรมช่วยเขียน essay เพียงแค่บอกหัวเรื่องหรือคำสำคัญที่ต้องการจะเขียน AI ก็จะรวบรวมข้อมูลแหล่งต่างๆ มาเรียบเรียงเขียนเป็น essay ที่ไม่ซ้ำกับใคร ไม่ได้ลอกใครมา เป็นปัญหาสำหรับอาจารย์ผู้สอนการเขียนมาหลายปีแล้ว
เพราะ AI ทำให้การเขียนบทความทำได้อย่างง่ายดาย ด้วยการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่พบมาสรุปเขียนเป็นบทความบนหน้าเว็บหรือหนังสือพิมพ์ แทนที่จะต้องจ้างคนเขียนแบบเดิม
เพราะ AI ทำให้การแปลภาษาได้ผลดีมากขึ้นเรื่อยๆ จนนักแปลปัจจุบันเริ่มต้องทำงานร่วมกับ machine translation และในอนาคตอาจทำหน้าที่หลักเป็น post editor เสียมากกว่า หากลองดูตัวอย่างข้างล่างนี้ ระหว่างภาษาของ A และ B เราก็จะเห็นว่า B เขียนภาษาอังกฤษได้ดีกว่า อ่านได้พอรู้เรื่องมากกว่า
แต่เราจะประหลาดใจไหม หากบอกว่าข้อความที่ B เขียน คือ ประโยคภาษาอังกฤษที่มาจากการแปลของ Google โดยให้แปลประโยคภาษาไทยในความหมายเดียวกันตามที่เขียนโดย C
ในอดีตเมื่อไม่กี่ปีก่อน เวลาที่เราเห็นนักเรียนเขียนภาษาอังกฤษมาแบบผิดๆ ถูกๆ อ่านไม่ได้ความ เราก็จะพูดว่าเป็นเพราะไปใช้ Google แปลมา แต่ปัจจุบัน เราอาจต้องเปลี่ยนคำพูดใหม่ไหม เวลาที่เห็นนักเรียนเขียนอะไรมาผิดๆ ถูกๆ อ่านไม่รู้เรื่อง เราอาจต้องพูดว่าเป็นเพราะเขียนมาเอง และอาจจะต้องบอกให้นักเรียนไปเขียนเป็นภาษาไทยก่อน แล้วค่อยให้ Google แปลเป็นภาษาอังกฤษให้อ่านพอรู้เรื่องก่อน จึงค่อยนำมาปรับแก้อีกที
Disruptive Technology in Language Teaching
เค้ารางของสิ่งเหล่านี้ เริ่มบอกเราให้เห็นว่า แม้แต่ในงานภาษาเอง disruptive technology ก็กำลังเข้ามาส่งผลกระทบกับงานด้านการสอนภาษา คงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่า ณ วันนี้ AI มีทักษะภาษาดีกว่านักเรียนจำนวนไม่น้อย เขียนหนังสือได้เร็วและถูกต้อง สามารถเข้าใจได้มากกว่า เหมือนกับที่ AI อ่านกฎหมายและเห็นความเกี่ยวข้องของประเด็นต่างๆ ในเอกสารได้เร็วและถูกต้องมากกว่านักกฎหมายที่เพิ่งเริ่มงาน เหมือนกับที่ AI อ่านภาพฉายรังสีและวินิจฉัยโรคได้เร็วและถูกต้องมากกว่าหมอจบใหม่
แน่นอนว่า ณ เวลานี้ ความสามารถของ AI ยังจำกัด ยังไม่สามารถเทียบเท่าผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นได้จริงๆ AI ยังไม่สามารถเขียนนิยายที่ซับซ้อนสละสลวย AI ไม่เข้าใจวัฒนธรรมความเชื่อเบื้องหลังตัวบท AI ยังไม่มี critical thinking หรือเข้าใจความหมายทั้งหมดที่แฝงในภาษา ทางออกในเรื่องนี้ที่มักแนะนำกัน คือ คนที่ทำงานต่างๆ นั้นต้องพัฒนาตัวเองให้ทำงานที่เหนือกว่า AI ทำในสิ่งที่ AI ยังทำไม่ได้ การศึกษาไม่ว่าจะเป็นสาขาไหน จึงต้องปรับเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถกว่าเดิมที่เคยผลิตมา ต้องทำงานที่มีการวิเคราะห์หรือมีความซับซ้อนมากขึ้น บัณฑิตไม่สามารถมาเริ่มต้นงานระดับพื้นฐานเพื่อเรียนรู้ที่จะทำงานยากๆ ซับซ้อนต่อไปแบบเดิมได้ เพราะงานระดับเริ่มต้นเหล่านั้นจะถูกแทนที่ด้วย AI ไปแล้ว
Education Reform
ภายใต้เงื่อนไขนี้ หากเรายังจัดการศึกษาแบบเดิมที่ทำมา เราก็จะได้บัณฑิตที่มีความสามารถแบบเดิมๆ ตามที่เคยมีมา ทางเดียวที่จะสร้างบัณฑิตที่เก่งกว่าเดิมในระยะเวลาเท่าเดิม คือ เราต้องปรับกระบวนการเรียนการสอนใหม่ คำตอบดูง่าย แต่สิ่งที่ยากคือไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องทดลองหาแนวทางใหม่ๆ การสอนแต่เดิมที่เคยใช้เวลาเน้นไปในการฝึกทักษะภาษาให้นักเรียน ก็ต้องลดเวลาลงให้นักเรียนฝึกทักษะกับสื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น และเพิ่มเวลาเรียนให้กับการใช้ความคิดวิเคราะห์ การฝึกใช้ภาษาต่างประเทศในบริบทที่ซับซ้อนขึ้น
ผู้สอนต้องเปลี่ยนทัศนคติและวิธีคิดแบบเดิม คือต้องเปลี่ยน mindset ให้ยอมรับและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะโดยตัวคำว่า disruptive เองมันก็บอกความหมายถึงการสูญสลายของวิถีเดิม เช่น ถ้าผู้สอนยึดติดกับการสอนเขียน essay ว่านักเรียนจะต้องเขียนเอง โปรแกรม AI essay writer ทั้งหลายก็จะถูกมองว่าเป็นอุปกรณ์การโกง จึงต้องหาทางป้องกันไม่ให้นักเรียนใช้ เช่น บังคับให้ทำงานเขียนให้เสร็จในเวลาเรียน ห้ามนักเรียนเปิดโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ใช้ในห้อง ยิ่งนานวันไปเราก็จะยิ่งพบกับความลำบากมากขึ้นในการควบคุมสภาวะแวดล้อมต่างๆ ให้คงสภาพเดิมแบบที่เคยเป็น เหตุมาจากสิ่งเดียว คือ ผู้สอนไม่ยอมรับว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว
ปัญหาที่แท้จริงจึงอาจไม่ใช่ที่เทคโนโลยี
แต่เป็นผู้สอนเองที่ไม่เข้าใจว่าเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้
จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตต่อไป
หากเราเข้าใจว่าโลกได้เปลี่ยนไปอย่างไร มีเครื่องมืออะไรใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ เราก็จะปรับการสอนเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น AI essay writer ก็จะถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับใช้งาน machine translation ก็เป็นเหมือนพจนานุกรมที่ขยายตัวแปลมากกว่าคำคำเดียว เป็นแปลได้ทั้งประโยคเลย สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ผู้เรียนควรรู้จักและใช้ประโยชน์ได้ เพราะจุดมุ่งหมายของการสอนภาษาต่างประเทศ ไม่ได้มีเพียงเพื่อให้อ่านออกเขียนได้เท่านั้น เพราะนั่นเป็นเพียงทักษะพื้นฐานที่ AI ก็ทำได้เร็วกว่าและอาจจะดีกว่า แต่การสอนภาษาต่างประเทศควรเป็นไปเพื่อให้นักเรียนเข้าใจภาษาอย่างลึกซึ้งและใช้ภาษาได้ในบริบทซับซ้อน
การเรียนการสอนในอนาคตเป็นงานที่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงของโลกจะเร็วขึ้นเป็นทวีคูณเรื่อยๆ แต่เดิม เราอาจใช้แนวทางที่เคยใช้สอนกันมาเป็นสิบๆ ปีได้ แต่ในอนาคตเราอาจต้องเปลี่ยนแนวทางและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุก 3–4 ปี และการเปลี่ยนแปลงอาจเปลี่ยนมากไปจนถึงขั้นที่เรานึกไม่ถึงก็ได้
Language Academy
การเรียนภาษา ในอนาคตอาจออกมาในรูปที่มีสถาบัน langauge academy เปิดให้บริการทั่วโลก ผู้เรียนระบุภาษาแม่ของตัวเอง ระบุภาษาต่างประเทศที่ต้องการเรียน เลือกโหมดของการเรียนเป็น adventure, thriller, nature, romance, city life, out of space, ancient world ก่อนเริ่มเรียนจะมีการทำ placement test เพื่อประเมินความสามารถผู้เรียนก่อน จากนั้นก็สวม headset อย่างที่เห็นในหนัง ready player one ผู้เรียนอาจจะเลือกแบบ single player หรือชวนเพื่อนมาร่วมด้วยเป็น multi player ก็ได้ เมื่อเข้าไปอยู่ใน VR จะมีครูผู้สอนมาในรูปของ buddy หรือ guardian angel ที่เป็นผู้รู้สองภาษาคอยช่วยผู้เล่นให้เล่น สนทนา ทำ task ต่างๆ เพื่อผ่านจาก level หนึ่งไปเรื่อยๆ จะผ่าน level ได้ความสามารถทางภาษาต้องผ่านระดับหนึ่งจึงจะออกจาก level นั้นได้ แนวคิดต่างๆ ที่อาจารย์สอนภาษาพูดกัน ไม่ว่าจะเป็น task based, game-based, communicative, student centered, interactive ทั้งหมดอยู่ใน VR game ที่ผู้เล่นต้องเรียนรู้ภาษาต่างประเทศเพื่อจะ survive และข้าม level บริษัทใหญ่บริษัทเดียวนี้สามารถให้บริการผู้เล่นได้ทั่วโลก ในภาพความเป็นไปได้นี้ อาจารย์สอนภาษาต่างประเทศจะยังมีความจำเป็นไหม?
จำเป็นต้องเรียนภาษาต่างประเทศหรือไม่
ภาพการเรียนภาษาผ่าน VR เป็นสิ่งที่เกิดได้ไม่ยากเลยในอนาคต แต่เหตุผลเดียวที่สิ่งนี้จะไม่เกิด คือ บริษัทจะแน่ใจไหมว่าจะมีคนสนใจมาเรียนมากพอ ทำไมคนถึงอยากมาเล่นเกมเพื่อพัฒนาภาษาต่างประเทศ ในเมื่อ personal assistant ในอนาคตช่วยเราสนทนาภาษาอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะไปเที่ยว จะไปเจรจาธุรกิจ ก็มีล่ามส่วนตัว แถมล่าม AI นี้ก็พูดภาษาต่างประเทศด้วยโทนเสียงของเราได้
การพูดภาษาต่างประเทศได้เองในอนาคตอาจจะเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นสำหรับคนทั่วๆ ไป แต่ก็เป็นไปได้ว่า ภาษาต่างประเทศอาจใช้บ่งบอกฐานะทางสังคม บอกว่าเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ หรือถ้ามีงานวิจัยสนับสนุนว่า คนที่พูดภาษาได้มากกว่าหนึ่งภาษาจะมีพัฒนาการของสมองดีกว่า ฉลาดกว่า เข้าใจโลกมากกว่า ภาษาต่างประเทศก็จะยังเป็นที่สนใจเรียนได้ แต่ก็อาจไม่ได้เป็นที่ต้องการของคนส่วนใหญ่แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะออกมาเป็นแบบไหน ความต้องการครูสอนภาษาต่างประเทศจะลดลงอย่างมาก หรือหากยังมีความต้องการจริง AI หรือ robot ก็อาจมาทำหน้าที่สอนนี้แทนได้หรือไม่ จึงไม่แน่ว่า เด็กในอนาคตอาจไม่รู้จักครูสอนภาษาต่างประเทศแบบเดียวกับที่เด็กในปัจจุบันไม่รู้จัก tape cassette
อนาคตของนักภาษา
มาถึงตรงนี้ อาจารย์สอนภาษาหลายคนอาจปฏิเสธว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน และก้มหน้าก้มตาสอนแบบเดิมด้วยความเชื่อว่าวิถีเดิมและความตั้งใจดีคือสิ่งที่ดีที่สุด หลายคนอาจรู้สึกท้อแท้ไม่มั่นใจในอนาคต แต่เราต้องยอมรับความจริงว่า โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว และจะไม่เหมือนเดิมอีก เราพร้อมที่เคลื่อนไปข้างหน้าไหม หรือจะยอมที่จะถูก disrupt ไป
หากไม่สนใจตัวเอง ก็ควรนึกถึงผู้เรียนที่เข้ามาในสถาบันการศึกษา สิ่งที่เขาต้องการคือความรู้ความสามารถที่จะออกไปทำงาน ไปอยู่กับโลกภายนอกได้ หากเรายังสอนสิ่งที่เขาเรียนจบสี่ปีแล้วก็เป็นความรู้ที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้ว เขาจะออกไปใช้ชีวิตและเติบโตในโลกภายนอกได้อย่างไร
สำหรับอาจารย์สอนภาษาต่างประเทศ เราคงต้องยอมรับว่าทักษะการสื่อสารเบื้องต้น ในอนาคต AI จะทำและสอนได้ดีกว่า เราต้องคิดเรื่องที่สูงและยากขึ้น ไม่ควรใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการฝึกทักษะภาษาแบบเดิมๆ แต่ให้เรียนรู้การใช้เครื่องมือเกี่ยวกับภาษาใหม่ๆ นี้เพื่อเรียนรู้และทำงานเกี่ยวกับภาษา และเสริมเนื้อหาให้วิเคราะห์ คิดเชื่อมโยง ทำความเข้าใจโลกและบริบทโลกมากขึ้น เช่น เรียนภาษาจีนไม่ใช่เพื่ออ่านออกเขียนได้อย่างเดียว แต่เพื่อเข้าถึงความคิดความเชื่อคนจีน เข้าใจประวัติศาสตร์จีน เข้าใจปรัชญาเบื้องหลังความคิดเขา เข้าใจบริบทการเมืองและสังคมที่เป็นอยู่ เข้าใจวัฒนธรรมความนิยมในสื่อดนตรี ภาพยนต์ ละคร วรรณกรรมของเขา
ภาษาเป็นเพียงเครื่องมือหรือหน้าต่างให้เรา
เข้าใจคนในสังคมหรือวัฒนธรรมนั้นได้มากขึ้น
ท้ายสุดเราจะรู้ว่าจะติดต่อกับเขาด้วยวิธีการใดให้สำเร็จราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ การต่างประเทศ การท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้ควรเป็นเป้าหมายของการเป็นนักอักษรศาสตร์ นักอักษรศาสตร์ที่ไม่ได้รู้แค่ภาษา แต่รู้เกี่ยวกับโลก รู้ความเป็นมาและความเป็นไป หากเราสอนนักเรียนให้เป็นได้เช่นนี้ ก็พอมั่นใจได้ว่า เขาจะพร้อมออกมาไปอยู่ในโลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องได้
เราควรยินดีว่าช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการเข้าสู่โลกใหม่ สู่การแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ความเข้าใจใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ปรับการเรียนการสอน ทั้งหมดก็เพื่อให้เราเข้าใจโลก เข้าใจตัวเองมากขึ้น
This is an exciting time. To teach students to live in an unknown world. To learn and unlearn all one’s life.
หมายเหตุ : บทความนี้มาจากบทความ AI กับอนาคตของนักภาษา ของ อาจารย์ วิโรจน์ อรุณมานะกุล ซึ่งเขียนในเว็บไซต์ Medium เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.