น้อยครั้งนักที่เราจะรู้สึกถึงตัวตนของศิลปินผ่านการมองอย่างอื่นนอกจากชิ้นงานของเขา
เมื่อก้าวเท้าเข้าสู่แกลเลอรี่ Red.cose สิ่งที่เตะตาของเราพอๆ กันกับงานจิตรกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนอนิเมชั่นช่วง 1930 – 1950 คือประตูสีแดง ผนังสีขาว พื้นปูนเปลือย และร่องรอยบนพื้นนั้นๆ เบื้องหน้าของเซ็ตรูปตัวการ์ตูนหมาสีแดงที่เป็นรูปโปรดของเราในงาน พื้นปูนเปลือยมีรอยเลอะจากคราบปริศนาเป็นวงรีขนาดยักษ์ติดอยู่
“อันนี้ฝีมือเราเอง ติดมาตั้งแต่วันแรกตอนนี้ยังเอาไม่ออกเลย” เปาโล—สมพล รัตนวรี ศิลปินเจ้าของงานบนกำแพง (และเจ้าของคราบบนพื้น) บอกกับเราด้วยเสียงหัวเราะในลำคอทันทีเมื่อเราละตาจากภาพหันไปมองรอยบนพื้น คล้ายกันกับการสารภาพผิดของเด็กวัยเรียนผู้กำลังเล่นสนุกแล้วบังเอิญสร้างความเลอะเทอะ อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่
ระหว่างที่เราเรียบเรียงเรื่องราวที่คุยกัน อดไม่ได้เหมือนกันที่เราเองก็จะหัวเราะในใจ เพราะปฏิสัมพันธ์เล็กๆ นั้นแทบจะเป็นกระจกสะท้อนวิธีที่เปาโลอธิบายเกี่ยวกับตัวเอง ตัวตนของ A kid from yesterday และงานแสดงเดี่ยวแรกของเขา EP.1 Pilot ในบทสนทนาครั้งนี้
จักโตหรือไม่? นั่นคือคำถาม
A kid from yesterday ตามคำอธิบายของเปาโลต่อการเลือกชื่อนี้มาจากเพลงโปรดของเขาโดย My Chemical Romance ชื่อ The Kids from Yesterday โดยเหตุผลและรูปแบบเรื่องราวที่เขาเลือกเล่านั้นมาจากหนึ่งในเนื้อร้องว่า “You only hear the music when your heart begins to break” ท่อนที่ทำให้เขาสะท้อนเนื้อร้องเข้ากับความรู้สึกในขณะที่เขาริเริ่ม A kid from yesterday
แต่มันก็ไม่ใช่เพียงเนื้อร้องเสียทีเดียว เพราะหากแปลนามปากกานี้เป็นไทยโดยหยาบๆ แล้วเราอาจแปลได้ว่า A kid from yesterday คือ ‘เด็กเมื่อวานซืน’ ซึ่งในขณะที่มันทำหน้าที่ในการสร้างความกวนโอ้ยให้แก่ศิลปิน มันก็มีหน้าที่อีกอย่างของมันด้วย “มันก็เซฟดี เราไม่ใช่คนที่จะบอกว่า โห ตัวเองเป็นผู้ใหญ่ โคตรขิงเลย ก็เราเป็นเด็กอะ ก็มีสิทธิ์ที่จะทำอะไรโง่ๆ งั่งๆ บ้าง บางอย่างเราก็รู้ตัวว่าเราไม่ได้มืออาชีพขนาดนั้น เราก็ใหม่มากๆ ในวงการ เราก็อาจจะตั้งชื่อนี้ขึ้นมาเพื่ออย่างน้อยมีอะไรให้หลบภัยบ้าง” เขาอธิบายอีกหนึ่งที่มาของการเลือกชื่อนี้
เช่นเดียวกันกับการเป็นศิลปินที่แทบไม่มีมาตรวัดให้เลยว่าทำแค่ไหนจึงจะเรียกได้ว่าช่ำชองและมืออาชีพแล้ว การเดินเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เริ่มจากตรงไหน? เปาโลเองก็ไม่รู้เช่นกันว่าอะไรเป็นเส้นแบ่ง “เทียบกับพวกเพื่อนเราก็ได้ มองว่าในอายุของเราที่ใกล้จะ 30 เพื่อนเราตอนนี้เริ่มแต่งงาน บางคนมีลูกแล้ว แล้วก็มีธุรกิจนู่นนี่นั่น เล่นหุ้น ลงทุน เราแม่งยังไม่มีอะไรเลย เราก็ไม่รู้ว่ามันมาจากการที่เราเห็นคนเยอะหรือเปล่า โซเชียลมีเดียหรือเปล่าที่ทำให้เราคิดว่าภาพผู้ใหญ่มันต้องเป็นอย่างนี้”
“คือเราไม่ได้ไม่อยากโตนะ” เขาตอบเมื่อถูกถามเกี่ยวกับมุมมองต่อวัยผู้ใหญ่ “เราก็ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ของเรา แล้วก็รู้สึกว่าวันหนึ่งเราต้องโตเป็นผู้ใหญ่ แต่เราก็ไม่รู้ว่าวันนั้นมันคือวันไหน รู้สึกว่าบางทีตั้งคำถามว่า ตอนนี้เราถูกเรียกว่าเป็นผู้ใหญ่หรือยัง?” เขาพูด ดูเหมือนจะคว้าหาคำตอบอยู่เสมอตลอดการพูดคุย ซึ่งไม่น่าแปลกใจอะไรนัก เราคนไหนกันในยุคในสมัยนี้กล้าพอจะเรียกตัวเองว่าผู้ใหญ่?
เปาโลทำงานในฐานะ A kid from yesterday เข้าปีที่ 3 แล้ว และเช่นเดียวกันกับมุมมองของเขาต่อการเป็นผู้ใหญ่ เขาก็ยังไม่มั่นใจในชื่อเรียก ‘ศิลปิน’ ที่ตัวเองได้รับอีกด้วย “ไม่เคยกล้าเรียกตัวเองว่าศิลปินเลย เพราะว่ารู้สึกว่าก็ยังไม่คู่ควร เพราะมีคนคู่ควรกว่านี้เยอะมาก” เปาโลพูดกับเราเมื่อเราถามถึงที่ทางของเขาในวงการศิลปะ และเมื่อถามหาคำนิยามของศิลปิน เขาตอบกับเราว่า “ไม่รู้เหมือนกัน แต่แค่เห็นแล้วเราจะบอกว่าคนนี้แม่งศิลปินว่ะ ไม่ว่าจะเป็นเด็กจบใหม่เราก็จะเรียกเขาว่าศิลปินถ้าเขาทำงานศิลปะ แต่เราแค่ไม่กล้าเรียกตัวเอง” เขาพูด ต่อด้วย “เหมือนที่เราเรียกทุกคนไงว่าพี่ๆ แต่เราก็จะยังไม่แทนตัวเองว่าเป็นแบบนั้น เราว่าอารมณ์น่าจะคล้ายๆ แบบนั้น” เขาพูดติดตลก
เด็กจากเมื่อวาน ผู้ใหญ่จากวันนี้
เปาโลชอบ ‘ความไม่รู้’ ของการเป็นเด็ก “เวลารู้อะไรแล้ว มันยากที่จะเปลี่ยน ความเป็นเด็กมันคือทุกอย่างพิศวง มันใหม่ว่ะ แม่งสนุก เจอสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา มันว้าวทุกอย่าง พอโตมาแล้วรู้สึกว่าบางอย่างซ้ำๆ จำเจ เบื่อๆ” นั่นก็เป็นเหตุผลให้เขาสร้างเกราะกำบัง A kid from yesterday ให้ตัวเอง ซึ่งบ่อยครั้งเกราะกำบังนั้นเองก็หนักเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน
ในการคุยกับแกลเลอรี่ Red.cose เปาโลบอกว่า A kid from yesterday เป็นเหมือน “Safe zone ที่ไม่ต้องคอยแบกรับความกดดันแบบที่ผู้ใหญ่ต้องเจอ” แต่โลกความเป็นจริงนั้นอาจไม่ได้ง่ายอย่างนั้น “เมื่อก่อนเราวาดรูปเป็นงานอดิเรก คนก็จะบอกว่าเราโชคดีที่ได้งานอดิเรกเป็นงาน มันจะกลายเป็นว่าเราจะแยกไม่ออกว่าจุดไหนเราควรพัก เพราะงานอดิเรกมันคือการพักของเรา เพราะฉะนั้นมันคือความกดดันที่จะอยู่ตลอดเลย แต่เราบอกฟอร์มของมันไม่ได้นะ” เขาพูด การนั่งโง่ๆ เป็นทางออกเดียวจากความเครียด แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็บอกว่าก็ยังรู้สึกผิดในโลกที่ทุกอย่างต้องรีบต้องโปรดักทีฟ
แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาไม่ชอบที่สุดของการเป็นผู้ใหญ่ เพราะตำแหน่งนั้นสำหรับเขาเขามอบให้แก่ความตาย “พอเราโตมาถึงแบบช่วงเวลาวัยหนึ่งที่มันโตขึ้นแล้ว มันจะเจอคนเสียชีวิตเยอะมากๆ รวมถึงคนใกล้ตัวเรา เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างเจ็บปวดกับคนเป็น แล้วความยากตรงนี้คือคนที่เพิ่งมาเจอความตายในวัยแบบนี้ เฮ้ย แม่งก็ทำใจยาก มันไม่มีใครสอนว่ามึงต้องทำใจยังไง เรารู้สึกว่าวิธีการของแต่ละคนในการทำใจกับความตาย มันค่อนข้างที่จะต่างกันไปคนละแบบ มันไม่มีสูตรสำเร็จ ซึ่งคุณจะต้องต่อสู้ในจุดนั้นนานมาก มันทำให้เรากลัวคนอื่นตาย บางทีเราก็กลัวตัวเองตายด้วยเหมือนกัน” เขาอธิบายเหตุผล
ย้อนกลับไปยังหัวข้อแรกเรื่องเนื้อเพลงที่สะท้อนเข้ากับความรู้สึกในขณะที่เขาริเริ่ม A kid from yesterday เปาโลบอกว่าช่วงนั้นคือตอนที่เขาเฝ้าแม่ของเขาตอนที่แม่เป็นมะเร็ง หลายๆ ภาพในงานของเขาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เขาอธิบายภาพหมาในสังเวียนมวยกับเงาดำมืดว่า “ในจังหวะหนึ่งที่แม่ผมเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ก็คือเหมือนเราก็พยายามทำทุกวิถีทาง หมอก็คือพยายามหาวิธีใหม่ๆ ในการรักษา แต่สุดท้ายแล้ว บางอย่างมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด คือเราก็รู้สึกว่า เออ ยังไงความตายก็ชนะอยู่ดี”
นักบิน การทดลอง ความฝัน และโลกความจริง
EP.1 Pilot นั้นเป็นการเล่นคำโดยเปาโล นอกจากมันจะแปลตรงตัวว่านักบิน อาชีพในฝันของเด็กจำนวนมากแล้ว มันยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ทดลองของเขาในการเล่าเรื่องราวอันหลากหลายของตัวเอง “เราชอบซีรีส์เรื่อง Modern family มากๆ แล้วมันมีตอนแรกที่ชื่อ Pilot เราก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจจังเลยคำว่า Pilot เนี่ย มันเหมือนเราก็ยังไม่รู้ชัดเจนว่าเราอยากพูดเรื่องอะไร บางทีอยากพูดหลายเรื่อง แต่จะจับมามัดรวมได้ยังไงในแบบก้อนเดียว? เราก็เลยเอาชื่อ EP 1. PILOT ดีกว่า มันกว้างดี เป็นการปูว่ามันคือการทดลอง ว่าเราสามารถเล่าเรื่องแบบไหนได้บ้างในนิทรรศการนี้” เขาพูด ชื่อเก่าของงานคือ Kid Life Crisis
เมื่อมองไปรอบๆ งาน เราเห็นการเล่าเรื่องที่หลากหลาย ตั้งแต่การตั้งคำถามมุมมองวัตถุวิสัย (objectivity) ภาพแสดงความไม่สมหวัง การตั้งคำถามเกี่ยวกับการต่อสู้และการยอมแพ้ ภาพเขียนการ์ตูนแก๊กจากความตลกส่วนตัวในชีวิตประจำวัน หรืออาจจะความรำคาญที่เกิดจาก Spotify Daily Mix เรื่องเล่าเหล่านั้นถูกเล่าผ่านตัวละครสัตว์ต่างๆ ที่ออกแบบมาจากสัตว์รอบตัวในชีวิตของเปาโล โดยตัวหลักคือหมาสีแดงที่มาจากหมาผู้ชอบมานอนรับแอร์เย็นหน้าประตูบ้านของเขา
แต่ชิ้นงานที่อาจเรียกได้ว่าเป็นพระเอกของงานแสดงนี้คือเซต 3 ภาพที่อยู่ชั้นล่างของงาน ราวกับการ์ตูน 3 ช่องที่เล่าการบินของหมาตัวดังกล่าว การตก และการกลับขึ้นไปยังฟากฟ้าอีกครั้ง เมื่ออ่านมันผ่านตัวหนังสือดูเป็นเรื่องราวของความไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา แต่เมื่อมองไปยังภาพเหล่านั้นจริงๆ เบื้องหลังสีสันหวานสดใส เหมือนจะมีอุ้งมือความขมของโลกจริงที่ยื่นมือออกมาสะกิดเราอยู่ การพูดคุยกับเปาโลให้บริบทต่อความรู้สึกนั้นๆ
“ผมเรียงมันเป็นลำดับ 3 ภาพ คือการตก การชิทแชท แล้วก็การกลับขึ้นไป ทุกอย่างมันมาไขปริศนาภาพสุดท้ายที่เราอยากให้คนรู้สึกว่า แม้เรารู้สึกถึงการตก จริงๆ แล้ว คนเรามันไม่ได้ตกลงมา แต่เราไม่เคยอยู่ข้างบนด้วยซ้ำ และข้างบนก็ไม่เคยมีอะไร” เขาอธิบาย อาจตีความได้ว่า ความรู้สึกถึงจุดต่ำสุดในชีวิตของเรานั้นอาจมีอยู่จริง แต่เขาอยากบอกว่าในขณะเดียวกันเราไม่ได้บินอยู่สูงขนาดนั้น จุดสูงสุดนั้นเองก็ไม่มีอะไรอยู่มากขนาดนั้นเสียด้วยซ้ำ “ชีวิตคือเหี้ยอะไรวะ” เขาทิ้งท้ายกับเรา
ความหมายของภาพเหล่านั้นสะท้อนออกมาในมุมมองของเขาต่อชีวิตและความฝัน เมื่อเราถามกับเปาโลว่าเขาคิดว่าคนควรมีความฝันหรือไม่ เขาตอบว่า “เราว่าจำเป็นต้องมี” ชัดเจนในมุมมองส่วนตัว แต่เช่นเดียวกับคำตอบอื่นๆ มันไม่ง่ายและไม่ใช่คำตอบชั้นเดียว
“คนไม่มีคือคนที่เก่ง คนที่ไม่มีแล้วใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ เหมือนสายน้ำ เราว่าเก่ง เรารู้สึกว่าคนแบบนั้นจะมีความสุข แต่ถ้าในเมื่อมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความคาดหวังในชีวิต เราว่าก็ทำยังไงให้เราเห็นฟอร์มมันชัดที่สุด แล้วก็ต้องดีลกับมันให้ได้ คือความคาดหวังมันดี ถ้าเราสามารถเติมเต็มมันได้ แต่ถ้าเราทำไม่ถึง มันก็ฆ่าคนได้” เขาพูด