ปล่อยให้เกิดความปั่นป่วนอยู่นับสัปดาห์ กับ ‘คำเตือน’ เรื่องการห้ามโพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโซเชียลมีเดีย จนใครหลายคนต้องไปขุดรูปเก่าๆ ที่เคยถ่ายไว้กับคู่กับสารพัดน้ำเมามาลบ ก่อนจะพบความจริงอันโหดร้ายจากปากคำของตำรวจ ในฐานะ ‘ผู้บังคับใช้กฎหมาย’ ในเวลาถัดมา ว่าไม่ต้องไปลบ หากไม่มีเจตนาทำผิดกฎหมาย
หลังฝุ่นควันแห่งความชุลมุนวุ่นวายสงบลง จากถ้อยคำของ พล.ต.ท.วิระชัย ทรงเมตตา ที่ปรึกษา (สบ 10) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งเคยขึงขังให้ทุกคน “ลบภาพลักษณะดังกล่าวออกจากสื่อออนไลน์ทั้งหมด” กลายมาเป็น “สามารถโพสต์รูปได้หากไม่มีเจตนาโฆษณาหรือเห็นโลโก้ของสินค้า”
เหตุที่ประชาชนต้องคอยเงี่ยหูฟังการตีความของตำรวจ เพราะกฎหมายที่ถูกหยิบมาใช้ มีถ้อยคำที่เปิดโอกาสให้ตีความอยู่มาก
โดย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ มาตรา 32 มีเนื้อหาว่า
“ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม”
และที่ผ่านมา ก็มีการตีความมาตรานี้ เพื่อใช้ในตรวจสอบศิลปิน-ดารา-นักแสดง-คนดัง ว่ามีการ ‘โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ผ่านการโพสต์รูปบนโซเชียลมีเดียหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากย้อนเวลากลับไป กฎหมายเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ฉบับแรกๆ ไม่ได้มีเจตนาเพื่อ ‘ควบคุม’ การดื่มสุราเหล้าเบียร์ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะวัตถุประสงค์ของกฎหมายคือการ ‘เก็บภาษี’ มาเป็นรายได้แผ่นดินให้ได้มากๆ
The MATTER ขอพาย้อนไปดูพัฒนาการของกฎหมายเหล้าในเมืองไทย เพื่อตอบคำถามว่าเหตุใดการบังคับใช้กฎหมายนี้ในระยะหลังถึงมีลักษณะ ‘ยืดได้หดได้’ ตามการตีความของผู้เกี่ยวข้อง
ยุคแรก : เน้นเก็บภาษีเข้าแผ่นดิน
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยทำรายงานพัฒนาการของกฎหมายควบคุมสุราไทย เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบ โดยระบุว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากหลักฐานที่พบอย่างชัดเจน พบว่ามีมาตั้งแต่ปี 2430 และคงมีมาก่อนหน้านั้นเป็นเวลานาน แต่การควบคุมเป็นไปเพื่อเก็บรายได้จากการผลิตและจำหน่ายสุราเข้ารัฐเท่านั้น โดยการกำหนดให้ผู้ที่ทำการผลิต ขนส่ง และจำหน่ายสุราต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ
จึงเกิด ‘ระบบการเก็บภาษีสุรา’ และ ‘ระบบการออกใบอนุญาต’ เพื่อควบคุมให้สามารถเก็บภาษีสุราได้ครบถ้วน
โดยกฎหมายควบคุมสุราฉบับแรก ก็คือ ‘กฎหมายภาษีชั้นใน พ.ศ.2430’ ซึ่งได้ใช้เก็บภาษีสุราต่อมาเป็นเวลาต่อมาหลายสิบปี จนกระทั่งปี 2493 จึงมีการออก พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 ขึ้นมาใช้แทน
แต่มิติของกฎหมายดังกล่าว ก็ไม่ได้มีเรื่องของการแก้ไขปัญหาสุขภาพหรือปัญหาสังคมเลย แม้แต่น้อย
ยุคต่อมา : เริ่มคุมอายุผู้ซื้อ และคุมเวลาผู้ขาย
กระทั่งในปี 2515 คณะปฏิวัติ นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กฎหมายควบคุมเวลาการจำหน่ายสุรา และควบคุมการจำหน่ายสุราให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นครั้งแรก
โดยกำหนดระยะเวลาจำหน่ายสุรา ในขณะนั้นจะอยู่ระหว่าง 11.00 – 14.00 น. และระหว่าง 17.00 – 24.00 น. ยกเว้นเป็นสถานบริการที่อนุญาตให้จำหน่ายได้จนถึงร้านปิด
แต่เนื่องจากโทษของการฝ่าฝืนตามกฎหมายดังกล่าว มีเพียงการพักใช้ใบอนุญาตครั้งละ 30 วัน และถึงจะมีอัตราโทษจำคุกกรณีฝ่าฝืนตั้งแต่จำคุก 1 เดือน – 2 ปี แต่เนื่องจาก “ไม่ได้รับความสำคัญในการบังคับใช้” ประกอบกับโทษที่ไม่เหมาะสมและไม่ทำให้ผู้จำหน่ายเกรงกลัว กฎหมายจึงไม่มีผล ที่สุด จึงมีการออก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 แต่ก็มีเพียงมิติของการห้ามจำหน่ายแก่เด็กกับห้ามเด็กบริโภคเท่านั้น ไม่ครอบคลุมมาตรการอื่นและกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ อย่างบูรณาการ
ยุคปัจจุบัน : ให้เหล้าเท่ากับแช่ง
เข้ามาสู่ยุคสมัยใหม่ หลังปี 2548 กฎหมายที่ออกมาจึงเริ่มคำนึงถึงมิติทางสังคมและมิติทางสุขภาพมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบำบัด รักษา ตลอดจนฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โดยมีการออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 ห้ามจำหน่ายสุราในศาสนสถาน สถานศึกษา ปั๊มน้ำมัน รวมถึงห้ามกำหนดระยะเวลาขายสุรา ระหว่าง 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. ห้ามจำหน่ายสุราให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และ ซึ่งที่มีอัตราโทษสูงขึ้นมากกว่าประกาศของคณะปฏิวัติ เมื่อปี 2515
อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงดังกล่าวถูกติงเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย จึงนำไปสู่การพิจารณาออก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. (ชุดก่อนหน้านี้นะ ไม่ใช่ชุดปัจจุบัน) เมื่อปี 2551 ซึ่งใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน
สธ. ในฐานะผู้ผลักดัน อธิบายถึงเหตุที่ต้องมีกฎหมายนี้อย่างเร่งด่วนว่า “เนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดปัญหาสังคมหลายประการ..เพื่อให้ปัญหาสังคมดังกล่าวลดความรุนแรงลง..ตลอดจนเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน..รวมทั้งเป็นการป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงการเสพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย”
เนื้อหาของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ จึงออกไปในทางกำกับควบคุมสุรา โดยเฉพาะ ‘การโฆษณา’ ซึ่งถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขึ้นของนักดื่มหน้าใหม่อย่างเข้มงวด
อย่างไรก็ตาม หลังจากกฎหมายนี้ใช้บังคับมากว่าทศวรรษ ก็พบปัญหาของ พ.ร.บ. อยู่ 2 ข้อ
– กฎหมายออกมาในปี 2551 ซึ่งขณะนั้น แม้โซเชียลมีเดียจะเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกเช่นในปัจจุบัน สื่อที่ผู้ออกกฎหมายอย่าง สนช. พุ่งเป้ากำกับดูแลคือสื่อดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ เป็นหลัก
– ตัวถ้อยคำในกฎหมายเปิดช่องให้ผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างตำรวจตีความค่อนข้างมาก มีทั้งคำว่า “ผู้ใด” ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการเท่านั้น หรือรวมถึงคนทั่วๆ ไปด้วย เช่นเดียวกับคำว่า “โฆษณา” ที่ต้องมาตีความเจตนาว่าเท่าใดถึงจะเป็นการโฆษณา ทำฟรีๆ ไม่รับค่าตอบแทนถือเป็นโฆษณาหรือไม่
จึงไม่แปลกที่เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากผู้เกี่ยวข้องขึ้นมาเบาๆ ให้แก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เพราะหากกฎหมายยังเป็นอยู่เช่นปัจจุบัน การบังคับใช้ก็ยังต้อง ‘ยืดๆ หดๆ’ ตามการตีความของผู้บังคับใช้กฎหมายอยู่
และประชาชนทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ ผู้ใช้บางเวลาว่างจากการทำงานอย่างหนักหน่วง มาดื่มสังสรรค์กับมิตรสหาย ก็คงจะต้องเงี่ยหูฟัง ‘คำเตือน’ จากตำรวจ ทุกครั้งที่ใกล้จะถึงวันพระใหญ่ หรือเทศกาลสำคัญทางศาสนา