เวลาเครียด ประหม่า เหนื่อยล้า กังวลใจ เคยมั้ยที่เดินไปยังกระจกแล้วจ้องมองตัวเองในนั้น พลันคิดเล่นๆ ว่าอยากให้มี ‘ตัวเราอีกคน’ มาช่วยแบ่งเบาหรือต่อสู้กับความรู้สึกแย่ๆ พวกนี้จัง? เพราะเราตัวจริงคงแบกรับไม่ไหวเท่าไหร่
…ถ้ามีจริงๆ ชีวิตคงง่ายขึ้นกว่านี้แน่ๆ
เธอคนนั้นคือฉันอีกคน
เชื่อว่ามีหลายคนที่เกิดความรู้สึกประหม่าหรือไม่มั่นใจ เวลาที่ต้องออกไปพรีเซนต์งานหน้าห้อง ทำกิจกรรมบนเวที หรือแสดงอะไรสักอย่างท่ามกลางสายตาผู้คนมากมายที่จับจ้องเราคนเดียว เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เกิดมาเป็นนักพูดหรือนักแสดงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจนี่นา หรือต่อให้เป็นนักพูดหรือนักแสดงเอง ก็คงมีความรู้สึกแบบนี้กันบ้างล่ะนะ เพียงแต่พวกเขาสามารถรับมือกับมันได้ โดยที่พวกเราดูไม่ออกต่างหาก
…ว่าแต่พวกเขาใช้วิธีไหนกันล่ะ?
ลองจินตนาการดูว่าคุณกลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก อย่างบียอนเซ (Beyoncé) หรือไม่ก็อเดล (Adele) ซึ่งการแสดงของคุณอัดแน่นไปด้วยผู้ชมเต็มฮอลล์อย่างแน่นอน พวกเขามาพร้อมกับความคาดหวังการแสดงปังๆ จากคุณด้วยเช่นกัน แต่ถึงแม้คุณจะฝึกซ้อมก่อนแสดงจริงมาเยอะแค่ไหนก็ตาม หากวันจริงสติหลุดหรือประหม่าเพียงนิดเดียว การแสดงนั้นก็อาจเปลี่ยนจากปังเป็นพังเลยก็ได้ แค่คิดก็กดดันแล้วใช่มั้ยล่ะ?
จริงๆ แล้วทั้งสองคนมีเคล็ดลับในการรับมือที่คล้ายคลึงกันเลย ซึ่งก็คือการ ‘สร้างตัวตนอีกคน’ ขึ้นมาแทน หรือในทางจิตวิทยาเรียกว่า ‘Alter Ego’
หากใครเป็นแฟนคลับของบียอนเซ คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าเธอมีอีกตัวตนหนึ่งที่แตกต่างจากตัวเธอโดยสิ้นเชิง นามว่า ‘ซาชา เฟีร์ยส’ (Sasha Fierce) ซึ่งซาชาทำให้เธอมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้น หรือดูเย้ายวนบนเวทีมากเป็นพิเศษ โดยเธอเคยกล่าวในปี ค.ศ.2018 (อัลบั้ม I Am… Sasha Fierce) ว่า “เวลาฉันได้ยินคอร์ดดังขึ้น หรือใส่รองเท้าที่มีส้นเข็ม เหมือนกับว่าช่วงเวลาก่อนหน้านี้ที่เคยประหม่า จู่ๆ ซาชา เฟียร์สก็ปรากฏตัวขึ้น จากนั้นท่าทางของฉัน วิธีการพูด หรือทุกอย่างก็ต่างออกไป” แต่ทั้งนี้เธอก็อธิบายว่า เธอจะใช้กลยุทธ์นี้ไปจนถึงปี ค.ศ.2010 เท่านั้น เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเองโตพอที่จะหลีกเลี่ยงการใช้หลักจิตวิทยาในการค้ำตัวเอง
ในเวลาต่อมา อเดลก็ได้รับแรงบันดาลใจนี้จากการพบปะกับบียอนเซ และให้สัมภาษณ์กับนิตยสารในปี ค.ศ.2011 ว่า เธอเองก็มีอีกตัวตนหนึ่งที่ชื่อว่า ซาชา คาร์เตอร์ (Sasha Carter) ซึ่งมีบุคลิกที่ผสมผสานกันระหว่างความดุเดือดของซาชา เฟียร์ส และจูน คาร์เตอร์ (June Carter) ที่เป็นนักร้องและนักแต่งเพลงแนวคันทรีที่มีตัวตนอยู่จริง เพื่อช่วยให้ทุกๆ การแสดงออกมาได้ดี โดยเฉพาะในปีที่เรียกได้ว่าเดือดและยุ่งมากๆ สำหรับเธอ
จะเห็นได้ว่า Alter Ego มีประโยชน์ในการก้าวข้ามความกลัวหรือความกังวลบางอย่างในจิตใจ โดยเริ่มแรกเราได้มีการ ‘เว้นระยะห่างกับตัวเอง’ (Self-distancing) ที่เหมือนเป็นการดึงตัวเราออกมาเพื่อมองภาพรวมทั้งหมดว่า เรากำลังขาดตกบกพร่องอะไร กำลังกลัวอะไรอยู่ถึงทำให้ไม่กล้าทำสิ่งๆ นั้น แล้วควรเติมอะไรเข้าไปเพื่อให้ทำสิ่งนั้นออกมาได้ดียิ่งขึ้น เช่น เวลาพรีเซนต์งาน เราสังเกตว่าตัวเองมักจะพูดอ้อมๆ แอ้มๆ ไม่ใช่เพราะไม่ชัวร์ในข้อมูล แต่เป็นเพราะขี้อายต่างหาก ถ้าเพิ่มความกล้ามากขึ้น น่าจะทำให้ข้อมูลดีๆ ที่มีอยู่ในมือหรือในหัว ถูกนำเสนอออกมาได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ทำให้ Self-distancing ถือเป็นสกิลในการสะท้อนตัวเองที่ดีอีกสกิลหนึ่ง
“การเว้นระยะห่างกับตัวเอง ทำให้เรามีพื้นที่เพิ่มขึ้นในการคิดอย่างมีเหตุผลต่อสถานการณ์ต่างๆ ช่วยให้เราควบคุมความรู้สึกที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ความวิตกกังวล และเพิ่มความอุตสาหะและการควบคุมตนเองในการทำงานที่ท้าทายมากขึ้น” ราเชล ไวท์ (Rachel White) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ Hamilton College ในนิวยอร์ก กล่าว
แต่บางคนอาจรู้สึกว่า ตัวเราที่เป็นอยู่ไม่สามารถปรับหรือเพิ่มเติมอะไรเข้าไปได้ง่ายขนาดนั้น จู่ๆ จากคนขี้อายจะให้กล้าแสดงออกเลย ดูท่าจะเป็นเรื่องยากเกินไป จึงเลือกที่จะนำคุณสมบัตินั้นไปใส่ไว้ในอีกตัวตนแทน โดยมีการตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ หรือจะสร้างสตอรี่ของตัวตนนั้นด้วยก็ได้ เช่น กรณีของบียอนเซและอเดล เป็นต้น เพื่อให้ความรู้สึกว่านั่นคือตัวตนอื่นที่แยกออกไปจากตัวเราโดยสิ้นเชิง
เมื่อเรามีตัวตนอีกที่มีคุณสมบัติที่ต้องการเพียบพร้อมแล้ว เราก็แค่จินตนาการหรือดึงตัวตนนั้นออกมาใช้ สวมบทบาทว่าเราคืออีกเวอร์ชันหนึ่งของตัวเอง เพื่อทำในสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าเวอร์ชันดั้งเดิมจะสามารถทำได้มาก่อน จึงไม่แปลกใจหากนักแสดงหรือเอนเตอร์เทนเนอร์บางคนจะมีอีกชื่อในวงการ เพราะพวกเขาอาจกำลังสวม Alter Ego เพื่อการแสดงอยู่ก็ได้
เมื่อดึงมาใช้ถูกเวลาก็จะเป็นประโยชน์
ปกติเรามักจะมีอคติกับคำว่า อีโก (ego) เพราะคำนี้ถูกนำไปใช้ในแง่ลบอยู่บ่อยๆ เช่น คนนั้นอีโกสูงมาก คนนี้อีโกจัดเกินไป ไม่อยากทำงานด้วยเท่าไหร่ ซึ่งจริงๆ คำว่าอีโกเป็นเพียงแค่จิตส่วนที่คอยขัดเกลาพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ให้แสดงความต้องการตามสัญชาตญาณมากเกินไป หรือเพื่อให้เกิดความสมดุลในความต้องการขั้นพื้นฐานเฉยๆ เช่น เราอยากไปนั่งก่อปราสาททรายที่สนามเด็กเล่น แต่อีโกเบรกเราเอาไว้ให้สำนึกว่าตัวเองอายุปาไป 30 แล้วนะ จะมาเล่นอะไรเด็กๆ แบบนี้ไม่ได้ จนในที่สุด เราก็ตัดสินใจเดินผ่านสนามเด็กเล่นนั้นไปเฉยๆ
พอเป็นคำว่า Alter Ego คำนี้จึงไม่ได้มีความหมายที่ไม่ดีหรือสื่อถึงความรุนแรงอะไร เป็นเพียงแค่ตัวเราอีกคนที่สามารถทำบางอย่างที่นอกเหนือจากความคาดหมายของตัวเองก็เท่านั้น แถมมีประโยชน์อย่างน่าเหลือเชื่อเสียอีก หากเราสามารถเติมช่องว่างให้ตัวเองได้กล้าทำอะไรใหม่ๆ ได้เห็นตัวเองในมุมใหม่ๆ ท้าทายขีดจำกัดของตัวเองอยู่เสมอ เช่น ไม่กล้าแต่งชุดเซ็กซี่ๆ แต่ Alter Ego ของเราอาจจะกล้าหรือชอบมากๆ ก็ได้ สุดท้ายเราก็ลงเอยกับการแต่งชุดนั้นออกไปข้างนอก เราอาจจะคิดว่าเราอีกคนหนึ่งทำ แต่จริงๆ เราทำเพื่อตัวเองอยู่ ในอีกแง่หนึ่ง Alter Ego ก็เลยเหมือน ‘เพื่อนสนิท’ ของเราไปด้วย
มะเฟือง–เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัดและเจ้าของเพจ Beautiful Madness by Mafuang อธิบายว่า การมี Alter Ego ไม่ได้หมายความว่าเฟกหรือไม่เป็นธรรมชาติ แต่เป็นการสำรวจมุมต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา ลองหาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอตัวตนที่ชอบหรือสบายใจ อย่าเพิ่งปิดกั้นว่าตัวเราจะต้องเป็นแบบไหน เพราะการที่เรามีตัวตนหลากหลายหรือสามารถเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ ทำให้เราสามารถเข้าใจคนอื่นได้ด้วยว่าเขาไม่จำเป็นจะต้องมีมุมเดียวเสมอไป
แต่ข้อเสียของ Alter Ego ก็คงเหมือนเรื่องอื่นๆ ที่ถ้ามีมากไปก็ส่งผลเสียในระยะยาวได้ เราจึงต้องตระหนักเสมอถึงการสร้างอีกตัวตนขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะสิ่งที่เราใส่ลงไปในตัวตนนั้น มีความสุดโต่งมากไปจนทำร้ายตัวเองหรือคนอื่นหรือเปล่า หรือตระหนักถึงช่วงเวลาที่ควรจะดึงตัวตนนั้นออกมาใช้ เช่น นักแสดงบางคนอาจสวมบทบาทเป็นตัวละครที่กำลังแสดงอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน จนไม่สามารถดึงตัวเองออกมาจากบทบาทนั้นได้ ทางที่ดีคือการรู้ว่าตอนไหนที่ควรดึงมาใช้ ตอนไหนที่ควรจะออกมาจากตัวตนนั้น หรือมีการสวิตช์ปิด-เปิดให้ถูกเวลานั่นเอง
เพราะหากวันหนึ่งเราสลับไปเป็นอีกเวอร์ชันหนึ่งหรือเวอร์ชันอื่นๆ โดยสิ้นเชิง จนความทรงจำของเวอร์ชันเดิมไม่หลงเหลืออยู่ เมื่อนั้นเราอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลายบุคลิก (Multiple Personality Disorder) ในอนาคต ซึ่งส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเราและคนรอบข้าง หรือหากใครอยากสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ในวิธีที่ถูกต้องและปลอดภัย อาจจะทำการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดดูก่อนก็ได้นะ
สำหรับใครที่อยากรู้เรื่อง Alter Ego มากกว่านี้ ก็สามารถเข้าไปฟังต่อได้ในรายการ Life Cry Sis ที่จะออนแอร์วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม ผ่านช่องทางของ The MATTER ดังต่อไปนี้
YouTube : https://bit.ly/3E38COa
Spotify : https://spoti.fi/3wcrKWa
Apple podcast : https://apple.co/3yldYku
Google podcast : https://bit.ly/2V3mPsW
อ้างอิงข้อมูลจาก