ไม่ได้มีแต่เทย์เลอร์ สวิฟต์ที่ชอบเทนะ เพื่อนๆ เรานี่ก็ตัวดี นัดไว้ดิบดี ถึงเวลาเทเราไปซะอย่างนั้น
วันศุกร์แบบนี้ ใครที่นัดเพื่อนไว้ยังดีอยู่มั้ย พวกนัดช่วงเย็นๆ ไปแฮงค์เอาต์อาจจะไม่เท่าไหร่ ไอ้เจ้าแผนไปเที่ยวเดินทางไกลทั้งหลายนี่แหละตัวดี ตระเตรียมวางแผนกันอย่างดิบดี พอใกล้วันก็เอาแล้ว… ‘แก ไปไม่ได้แล้วอ่ะ’ ‘คราวหน้าแล้วกันเนอะ’
คราวหน้าบ้าอะไร! แกน่ะมันตัวดี นัดๆ รับปากไว้ดิบดี เสร็จแล้วเป็นยังไง เท ไม่มา เลิก ล้ม แผนพัง อดเจอ อดไป – ก็เลยสงสัยว่า เอ๊ะ!? หรือเป็นเราเองนะที่เป็นแบบนี้ เป็นขานัดแต่ขี้เท หนักข้อมากๆ ก็ถึงขนาดวันจริงแล้วเบี้ยวนัดไปซะเฉยๆ ชาวบ้านก็มายืนรอยิ้มแห้งๆ มาไม่ได้ ป่วยอีกแล้ว
ในแง่ของการเป็นเพื่อน ถ้าเราโดนเท – ท่าทีแรกๆ ก็โกรธแหละเนอะ เป็นใครๆ ก็โกรธ สัญญากันแล้วทำไมถึงทำไม่ได้ ยิ่งถ้านัดๆ แล้วเลิกบ่อยๆ ความสัมพันธ์กับคนคนนั้นก็จะยิ่งมีปัญหาขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันหมายถึงว่า อ้าว! ปฏิเสธกันอีกแล้ว เห็นเราเป็นอะไร ไม่ให้เกียรติกันเรอะ
โอเค การเบี้ยวนัดทำให้เสียความรู้สึก ถ้าใครที่เป็นพวกชอบเบี้ยวแบบที่ไม่แยแส คิดว่าเออช่างหัวมัน แบบนี้ก็ไม่ต้องไปนัดหรือคบหากันไว้ให้เสียความรู้สึกเสียเวลาเลยดีกว่า มีความคิดอีกด้านก็บอกว่า เอ๊? หรือคนที่ชอบเบี้ยวนัดบ่อยๆ ลึกๆ แล้วอาจจะไม่ได้เป็นคนโอหังแต่มีปัญหาในทางบุคลิกภาพบางอย่าง ตลอดจนเอาน่ะ! ถ้าจะเบี้ยวแล้ว ใจมันไม่ไปจริงๆ เราจะแก้ตัวและแก้ไขอย่างไรให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนเบี้ยวกับคนรอเก้อไม่พังไป
เป็นคนห่วยๆ ที่ไม่รักษาสัญญาหรืออาจจะมีปัญหาที่ซับซ้อนกว่านั้น
พวกที่ไม่รักษาสัญญา ไม่ทำตามแผนต่างๆ ที่ตั้งไว้จนทำให้คนอื่นที่ร่วมแผยติดแหเดือดร้อนไปด้วย รวมๆ แล้วเราอาจจะนิยามว่าเป็นคนห่วยๆ คนหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกพวกชอบเทว่า Flaky หมายถึงพวกไม่ซื่อสัตย์ ไม่รักษาสัญญา พูดอะไรไว้ก็ทำไม่ได้ – อ่านไปเสียงก็กระแทกใจไป เหมือนทุบคำว่าห่วยใส่หน้ารัวๆ สักพันครั้ง
Brent Roberts อาจารย์ทางจิตวิทยาจาก University of Illinois Champagne บอกว่า คนขี้เทเป็นปัญหาของบุคลิกภาพ คือ เป็นคนที่ขาดวินัย (Conscientiousness) คุณลักษณะของการอยู่กับร่องกับรอยและสามารถที่จะทำตามแผนที่ตัวเองตั้งไว้ได้ ซึ่งมีแนวโน้มที่ว่าพออายุมากขึ้นแล้ว อาการก็น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น ค่อยๆ ปรับตัว และรักษาความรับผิดชอบ รักษาน้ำใจและรักษาการนัดหมายขึ้นได้ตามกาลเวลา
นอกจากการเป็นคนห่วยๆ ที่ว่าขาดความรับผิดชอบในตัวเองจริงๆ แล้ว คนที่ชอบเลิกนัดอาจจะเกิดจากลักษณะนิสัยบางอย่าง เช่น เป็นคนไม่กล้าปฏิเสธตั้งแต่แรก คือพอมีคนบอกว่าทำนู่นทำนี่กัน ลึกๆ แล้วก็ไม่อยากไปหรอกแต่ปากก็ตกปากรับคำไปเรียบร้อย เป็นพวก yes man ซึ่งดูว่าคนไทยจะเป็นอาการนี้กันพอสมควร คือ รับปากไว้ก่อน อยากไปหรืออยากทำมั้ย ค่อยว่ากัน
Kira Asatryan นักเขียนที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์บอกว่า ใครที่มีเพื่อนขี้เทก็อาจจะต้องใจเย็นๆ อย่าเพิ่งโกรธ เพราะเพื่อนเราอาจกำลังมีปัญหาเฉพาะตัว เช่น อาจจะเป็นคนที่ชอบเก็บตัว ขี้กังวลและเข้าสังคมไม่เก่ง พอรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย ไมค่อยอยากออกไปปฏิสังสรรค์กับใครก็เลยจะตัดใจยกเลิกไปเสียเฉยๆ หรือมากไปกว่านั้นถ้าเพื่อนชอบเทและไม่ยอมไปไหนเลยก็อาจจะมีปัญหาทางจิตใจหนักขึ้นไปในแง่ต่างๆ การที่เพื่อนไม่มาก็อาจจะด้วยความกลัว ความเครียด ไปจนถึงอาจจะกำลังเศร้าอยู่ก็เป็นได้
นอกจากปัญหาทางความรู้สึกและลักษณะนิสัยที่ทำให้เพื่อนหรือเราเป็นคนชอบเทแล้ว บางทีการเทก็อาจจะเกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือเกิดจากชีวิตที่ยุ่งเหยิงจริงๆ ก็ได้ บางทีก็แค่นี้เอง ก็ยุ่งอ่ะ ไม่มีเวลาจริงๆ แก… ไม่ได้โกหก
แก… ไม่ได้จริงๆ – เราจะแก้ตัวอย่างไรให้จริงจังและจริงใจ
เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยหรือชีวิตเรามันปลีกตัวไม่ได้จริงๆ การ ‘แก้ตัว’ ของเราจึงต้องแก้ทั้งในแง่ของการแก้ตัวว่าทำไมแผนถึงพัง และแก้ตัวสำหรับความไว้เนื้อเชื่อใจว่าเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก
เคล็ดลับสำคัญของการ ‘แก้ตัว’ ก็เลยอยู่ที่ว่าการรู้ว่า เออ เนี่ยทำผิดแล้วนะ – ทำให้เธอรู้สึกไม่ดี เราเลยจะแก้ไขแล้วนะ เราสัญญาว่าเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก มีข้อเสนอโมเดลการแก้ตัวอย่างสร้างสรรค์ด้วยตัวอักษร 4 ตัวคือ ERRO(R) คือ Empathy, Responsibility, Reason และ Offer Reassurance
โดยสรุปก็ไม่ยาก คือ มีความเข้าอกเข้าใจว่าพฤติกรรมและสิ่งที่เราทำนั้น ทำให้เธอเดือดร้อนยังไงบ้าง เป็นความรับผิดชอบของเราเองแหละที่ทำให้เธอต้องลำบาก แต่เรามีเหตุผลแบบนี้นะ และเราขอโทษจริงๆ เรายืนยันว่าด้วยการรับรู้ทั้งหมดที่ว่า เราจะไม่ทำแบบเดิมและไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก เราจะแก้ไขนะ เราสัญญา
การเทกัน ผิดนัด ทำตามแผนไม่ได้ดูจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอในทุกความสัมพันธ์ วันนี้เราอาจจะต้องเป็นฝ่ายไลน์ไปยกเลิกนัดกับเพื่อน สุดสัปดาห์นี้แผนท่องเที่ยวอาจจะพังเพราะสมาชิกไม่ครบ สาเหตุของการเทอาจจะเกิดจากสาเหตุสุดวิสัยไปจนถึงเหตุการณ์ไม่ปรกติของเพื่อนเรา – ไอ้การเทกันถึงอย่างไรก็ย่อมเกิดผลกระทบต่อความรู้สึก
ถ้าเกิดการเทกันขึ้นก็ระวังทำนองการ ‘เทบ่อยๆ ’ ค่อยๆ ชิน เทกันไปกันเทกันมาจนการนัดหมายในอนาคตยุติลงไปเลย ความสัมพันธ์ของเพื่อนฝูงก็อาจจะจืดจางเหินห่างกันไปในที่สุด
ถ้าเรายังแคร์กัน แต่จำเป็นต้องเทกัน ก็ต้องแก้ไขผลจากการเทนั้นๆ ด้วย จะขอโทษ ชดเชยด้วยนัดใหม่ เคลียร์คิว หรือจัดการจิตใจของตัวเอง ก็ว่าไป