อีกเพียงไม่กี่วัน ก็จะถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (5 พฤศจิกายน 2024) ทำให้ช่วงที่ผ่านมา แคนดิเดตทั้งสองอย่าง คามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต และโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ต่างหาเสียงกันอย่างเข้มข้น
สิ่งที่น่าจับตามองของการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ‘จุดยืนที่แตกต่างกันสุดขั้ว’ ในหลายประเด็น ของทั้งสองแคนดิเดต ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษี ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน จนถึงสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้คนทั่วโลกต่างติดตามอย่างใกล้ชิด
แน่นอนว่าจุดยืนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป จะมีส่วนสำคัญ ในการกำหนดทิศทางอนาคตโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย วันนี้ The MATTER จึงเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ว่าวิสัยทัศน์ในแต่ละนโยบาย ของคามาลา แฮร์ริส และโดนัลด์ ทรัมป์ มีอะไรบ้าง และแตกต่างกันอย่างไร
เศรษฐกิจ
ที่ผ่านมาประเด็นด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่สหรัฐฯ ต้องแก้ ทั้งระดับหนี้ที่พุ่งสูงขึ้น หรืออัตราเงินเฟ้อยังคงสูง ต่างเป็นประเด็นที่ผู้คนจับตามอง ว่าทั้งสองแคนดิเดตมีวิสัยทัศน์ในนโยบายอย่างไร
แฮร์ริส: กล่าวว่านโยบายเศรษฐกิจของเธอ มีอยู่บนพื้นฐานการสร้างโอกาสให้กับชนชั้นกลาง พร้อมกับท้าทายการรวมกลุ่มผูกขาด
เธอเคยกล่าวว่า ในวันแรกหลังการเลือกตั้งฯ สิ่งสำคัญอันดับแรกของเธอ คือการพยายาม ลดต้นทุนอาหารและที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวที่ทำงาน พร้อมกับเพิ่มอุปทานของที่อยู่อาศัย ทั้งนี้แฮร์ริสกล่าวว่าจะช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านครั้งแรก ในด้านการแก้วิกฤตเงินเฟ้อ เธอเคยสัญญาว่าจะ ห้ามขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค
ทรัมป์: “ยุติเงินเฟ้อ และทำให้ประเทศอเมริกามีราคาถูกลงอีกครั้ง” คือคำมั่นสัญญาของทรัมป์ ซึ่งเขาระบุว่ารัฐบาลจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายอย่างมาก เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ
หากมองย้อนกลับเมื่อยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์มีนโยบายเศรษฐกิจ ที่ค่อนข้างผ่อนปรน เช่นการลดภาษีหลายประการ
โดยเขามองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมนวัตกรรมและการจ้างงาน
ภาษี
แฮร์ริส: อีกหนึ่งนโยบายที่โดดเด่นของแฮร์ริส คือ ‘ขึ้นภาษี’ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และคนอเมริกันที่ร่ำรวย โดยกำหนดการขึ้นภาษีผู้ที่มีรายได้มากกว่า 400,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี ในขณะที่จะลดภาษีเงินได้ของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า
ทรัมป์: มีประวัติโดดเด่นที่ผ่านมา คือการลดภาษีครั้งใหญ่ ที่เขาลดภาษีหลายรายการ รวมมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในการหาเสียงครั้งนี้ เขายังคงใช้แนวทางเดิม และเน้นการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้หลายฝ่ายมองว่านโยบายด้านภาษีของเขา อาจเอื้อต่อกลุ่มทุน มากกว่าผู้มีรายได้ปานกลาง-ต่ำ
การค้าระหว่างประเทศ
สหรัฐอเมริกา ถือเป็นผู้นำในการผลักดันการเปิดเสรีการค้าโลก มาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ต้องเจอกับความผันผวนหลายประการ ทั้งฐานอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่เสื่อมถอยลง ประเทศจีนที่แสดงออกอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น หรือความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ที่เพิ่มขึ้น จุดยืนด้านนโยบายการค้าของทั้งคู่ จึงเป็นที่จับตามอง
แฮร์ริส: กล่าวว่าข้อตกลงการค้าที่สำคัญ ควรครอบคลุมถึงการคุ้มครองแรงงานและวิกฤตโลกเดือด
ในด้านการค้ากับประเทศจีน หลายฝ่ายมองว่านโยบายของแฮร์ริส ยังคงกีดกันทางการค้า โดยเธอกล่าวว่าสหรัฐฯ ควร ‘ลดความเสี่ยง’ ทางการค้ากับจีน อีกทั้งมีนโยบายคงการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน โดยเจาะจงการเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้า
ทรัมป์: โต้แย้งว่าระบบการค้าโลกนั้น ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ดังนั้นแนวทางทรัมป์ในด้านการค้าระหว่างประเทศ คือ ‘การปรับสมดุลการค้า’ สู่การผลิตในประเทศ โดยสัญญาว่าจะนำสหรัฐฯ กลับคืนสู่การเป็น ‘มหาอำนาจการผลิตของโลก’ ทำให้ทรัมป์ต้องการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าต่างประเทศส่วนใหญ่ถึง 10-20% ในขณะที่เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน 60%
การทำแท้ง
แฮร์ริส: สิทธิในการทำแท้ง นับเป็นหนึ่งในจุดยืนที่โดดเด่นที่สุดของแฮร์ริส โดยเธอมีประวัติที่ยืนหยัดสนับสนุนสิทธิการทำแท้งมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา โดยในการเลือกตั้งฯ ครั้งนี้ เธอก็ยกให้ สิทธิในการทำแท้งทุกในทุกรัฐฯ เป็นประเด็นสำคัญในแคมเปญหาเสียงของเธอ
ทรัมป์: ในการหาเสียงครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าทรัมป์มักจะหลีกเลี่ยงการพูดอย่างชัดเจน ว่ามีจุดยืนเกี่ยวกับนโยบายการทำแท้งอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ในอดีตทรัมป์เคยสนับสนุนสิทธิในทำแท้ง แต่ก็เปลี่ยนความคิดไป เมื่อเขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี 2016 ทั้งนี้ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์กล่าวว่าเขาสนับสนุนการทำแท้ง แค่ในกรณีการข่มขืน การร่วมประเวณีระหว่างพี่น้อง และกรณีที่อัตรายต่อสุขภาพของผู้หญิง อีกทั้งเขาเคยคัดค้านการใช้เงินภาษี อุดหนุนการทำแท้ง
ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน
ทั้งสองแคนดิเดตมีจุดยืนที่ต่างกันชัดเจนในประเด็นนี้ โดยที่ผ่านมามีจำนวนผู้โยกย้ายถิ่นเป็นจำนวนมากในสหรัฐฯ ทำให้นโยบายนี้ เป็นอีกประเด็นที่คนจับตามอง
แฮร์ริส: หลายฝ่ายมองว่านโยบายด้านผู้โยกย้ายถิ่นเป็นจุดอ่อนของพรรคเดโมแครต เนื่องจากมีสถิติการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติจำนวนมาก ในยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน อีกทั้งแฮร์ริส ในฐานะรองประธานาธิบดี ก็เคยได้รับมอบหมายให้จัดการกับต้นตอของวิกฤตชายแดนทางตอนใต้
ในการหาเสียงครั้งนี้ เธอได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจน โดยเน้นย้ำถึงประสบการณ์ของเธอในฐานะอัยการ ที่เคยขับเคลื่อนประเด็นการค้ามนุษย์ ที่เชื่อมโยงกับประเด็นผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ทำให้เธออาจสนับสนุนการปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน
ทรัมป์: “ในวันแรก (หลังชนะการเลือกตั้ง) ผมจะเริ่มโครงการเนรเทศผู้อพยพครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา” ทรัมป์ กล่าวในการปราศรัยไม่นานมานี้ พร้อมกับเรียกผู้โยกย้ายถิ่นฐานว่า ‘อาชญากรที่โหดร้าย และกระหายเลือด’
จากตัวอย่างข้างต้นก็คงจะเห็นชัดเจนแล้ว ว่าจุดยืนในประเด็นนี้ของทรัมป์เป็นอย่างไร แต่ถ้าพูดให้ชัดก็คือ เขามีนโยบาย ‘ปิดพรมแดน’ โดยสร้างแนวกำแพงที่แน่นหนา และบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดขึ้น พร้อมกับเนรเทศผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่มีเอกสารอีกด้วย
การเมืองระหว่างประเทศ
ที่ผ่านมาความขัดแย้งในหลายภูมิภาคยังคงดำเนินต่อเนื่อง ทั้งสงครามในตะวันออกกลาง ทั้งสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ล้วนก็สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนอย่างมหาศาล
ความสำคัญของสหรัฐฯ ในฐานะประเทศมหาอำนาจ คือจุดยืนและการสนับสนุนคู่ขัดแย้งของสงคราม รวมถึงแนวทางการรักษาสันติภาพ พูดง่ายๆ คือหากสหรัฐฯ มีนโยบายที่ชัดเจนต่อประเทศคู่ขัดแย้งยุติสงคราม ไม่ว่าในด้านใดก็ตาม ทิศทางการเมืองระหว่างประเทศก็ย่อมเปลี่ยนแปลงได้
แฮร์ริส: สำหรับสงครามในตะวันออกกลาง แฮร์ริสสนับสนุนข้อตกลงหยุดยิง และปล่อยตัวประกัน ในสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส อย่างไรก็ตาม เธอเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ด้วยแนวทางแก้ปัญหาแบบ 2 รัฐ (Two-state solution) หรือการสนับสนุนให้อิสราเอลและปาเลสไตน์พร้อมๆ กัน
ในด้านสงครามรัสเซีย-ยูเครน แฮร์ริสกล่าวว่าจะพยายามสนับสนุนการป้องกันประเทศของยูเครนต่อรัสเซีย นอกจากนี้เธอเคยเป็นตัวแทนของสหรัฐฯ ในการเจรจาสันติภาพยูเครน และสนับสนุนให้รัฐสภาฯ ส่งความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรุงเคียฟ (Kyiv) หลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทรัมป์: สำหรับท่าทีของทรัมป์ต่อภูมิภาคตะวันออกกลางนั้น ชัดเจนว่าสนับสนุนอิสราเอลและซาอุดีอาระเบีย และแข็งกร้าวต่ออิหร่าน ส่วนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทรัมป์เคยระบุว่า หากเขาได้รับการเลือกตั้งฯ อีกครั้ง จะไม่อนุมัติความช่วยเหลือแก่ยูเครน อีกทั้งทรัมป์เคยกล่าวว่า เขาสามารถเจรจากับรัสเซีย เพื่อยุติสงครามในยูเครนภายใน 24 ชั่วโมง
สิ่งแวดล้อม
ไม่กี่ปีมานี้ ทุกคนคงเห็นชัดเจนว่า ‘Climate Change’ ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับโลกเรามากเพียงใด ทั้งภัยแล้งรุนแรง น้ำท่วมหนัก พายุรุนแรง และไฟป่าลุกลาม สิ่งที่น่ากังวลคือ ต่อนี้ความเสียหายก็คงจะเพิ่มขึ้น หากไม่มีความร่วมมือระหว่างประเทศที่ดีพอ ดังนั้นจุดยืนและนโยบายต่อสิ่งแวดล้อม ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป จึงมีส่วนสำคัญต่อชะตากรรมของโลก
แฮร์ริส: มองวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ต่อมนุษยชาติ โดยสนับสนุน โจ ไบเดน ในการตัดสินใจกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกครั้ง หลังจากที่ทรัมป์ เคยประกาศให้สหรัฐฯ ถอนตัวในปี 2017
Paris Agreement คือกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่นานาชาติลงนามในสนธิสัญญา เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
ทั้งนี้แฮร์ริสเคยสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเปลี่ยนผ่านสหรัฐฯ เข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว อีกทั้งมีส่วนขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียน ผ่านความพยายามจัดสรรเงินหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมกับโปรแกรมลดหย่อนภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
ทรัมป์: ตั้งคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซ้ำแล้วซ้ำเล่า และกังหาว่ากิจกรรมของมนุษย์มีส่วนรับผิดชอบหรือไม่
ทรัมป์เคยพูดว่า “ขุดสิ ที่รัก ขุดอีก” (drill, baby, drill) เมื่อพูดถึงการขยายการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศ ทั้งนี้เขากล่าวว่า จะผ่อนปรนกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย และ “ลบขั้นตอนที่ไม่จำเป็นทั้งหมด” รวมถึงข้อจำกัดในการปล่อยมลพิษ สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และยกเลิกเครดิตภาษีคาร์บอน โดยให้เหตุผลว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้น ขัดขวางการสร้างงาน
นอกจากนี้ หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี จะมีแนวโน้มสูงที่เขาจะให้สหรัฐฯ ถอนตัวจาก Paris Agreement อีกครั้ง เหมือนกับที่เคยทำในอดีต
ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในแนวทางนโยบาย ของแฮร์ริสและทรัมป์ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจุดยืนของทั้งสองแคนดิเดต แตกต่างกันในหลายประเด็น ทั้งนี้อนาคตยังคงไม่แน่นอน จนกว่าเราจะทราบว่าใครเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้
อ้างอิงจาก