หนึ่งในวิธีการดูว่าความสามารถของเรายังทันตลาดงานปัจจุบันรึเปล่าคือลองเข้าไปดูว่าปัจจุบันเวลารับสมัครงานอาชีพของเราต้องทำอะไรบ้าง
หากลองสำรวจดูในโปสเตอร์หางานว่าอาชีพเกี่ยวกับคอนเทนต์เขาอยากให้ทำอะไรบ้าง บางเจ้าบอกว่าอยากได้คนถ่ายวิดีโอและภาพได้ บางที่บอกว่าอยากได้คนใช้ Ai เป็นด้วย บางที่อยากให้คิด เขียน และวางแผนเอาคอนเทนต์ลงได้ด้วย หรือบางที่บอกว่าจะเอาทั้งหมดที่ยกมาเลยก็มี แถมเดี๋ยวนี้เริ่มมีการแบ่งแต่ละอาชีพออกจากกันน้อยลง จาก นักเขียน (Content Writer) คอนเทนต์วิดีโอ (Content Video) กราฟิก (Graphic Designer) ฯลฯ หลายๆ คำอธิบายงานถูกควบรวมอยู่ใต้ ‘Creator’ หมด
เคยหรือเปล่าที่เราตั้งคำถามกับอาชีพตัวเอง อาจไม่ได้จากการทำงานในแต่ละวันเท่านั้น แต่สภาพโดยรอบของเพื่อนร่วมอาชีพและความคาดหวังที่ผู้คนมีต่ออาชีพนั้นๆ งานคอนเทนต์ออนไลน์เป็นงานที่โดยธรรมชาติต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอดเวลา อัปเดตความรู้ อัปเดตกระแสข่าวรายวัน อัปเดตเทรนด์ประจำวันหรือประจำปี อัปเดตว่าอัลกอริทึมจะเมตตากับคอนเทนต์แบบไหนของเราบ้าง ฯลฯ และมากไปกว่านั้นอาจต้องอัปเดตไปถึงว่าเดี๋ยวนี้คนร่วมอาชีพต้องทำอะไรกันบ้างในหนึ่งคน
ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกปลอมอะไรเพราะการพัฒนาตัวเองเป็นเรื่องที่ไม่ว่าอาชีพไหนๆ ก็ต้องทำ แต่เมื่อมองสกิลที่เราต้องมีในฐานะครีเอเตอร์นั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ความคาดหวังปัจจุบันต่ออาชีพคอนเทนต์ออนไลน์นั้นอาจจะมากเกินไปหน่อยหรือเปล่า? แล้วเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง?
อาจต้องเริ่มคุยกันที่ชื่ออาชีพและที่มาของมันก่อน
อาชีพนักสร้างคอนเทนต์ไม่ใช่อาชีพใหม่เสียทีเดียว เพราะตั้งแต่มีการสร้างสื่อออกมา เช่น นักเขียน นักเขียนบท ตากล้อง ฯลฯ อาชีพเหล่านี้คือนักสร้าง ‘คอนเทนต์’ ในสักรูปแบบ เพียงแต่ก่อนหน้าโซเชียลมีเดียสื่อรูปแบบต่างๆ ที่คนในอาชีพเหล่านี้สร้างนั้นจะอยู่แยกกัน นักเขียนอาจเขียนหนังสือหรือบทความ ตากล้องถ่ายรูปลงนิตยสารหรือขายรูปให้สำนักข่าวหรือสร้างงานแสดงของตัวเอง และเมื่อสื่อใหม่มาถึงการรวมตัวของงานหลากหลายอย่างเกิดขึ้นง่ายขึ้น และเกิดขึ้นเร็วขึ้นตามธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต
นั่นนำมาสู่การใช้ชื่ออาชีพ Content Creator ในปัจจุบัน ที่จุดเริ่มต้นของชื่ออาชีพนี้น่าจะมาจากนักสร้างคอนเทนต์อิสระบนโซเชียลมีเดียเสียมากกว่านักสร้างคอนเทนต์ในองค์กร อาจจะเป็นช่องวิดีโอบนยูทูป หรือบล็อกเกอร์ที่เริ่มเปิดเพจของตัวเองลงบนเฟซบุ๊ก และอาชีพนี้ตั้งอยู่บนสองขาโดยเสมอ นั่นคือเรื่องที่เราอยากเล่า และเรื่องที่สังคมหรือผู้ชมอยากได้ยิน อยากอ่าน หรืออยากชม
ด้วยธรรมชาติของอาชีพอิสระ นักสร้างคอนเทนต์โดยมากเป็นอาชีพที่ไม่มีโครงสร้างองค์กร อาจเพราะไม่จำเป็น หรือเพราะมีไม่ได้ อาจเป็นคนคนหนึ่งทำงานด้วยตัวเองในทุกขั้นตอนเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจในการตัดสินใจว่าพวกเขาอยากเล่าอะไรให้ผู้ติดตามฟัง แล้วเมื่อมีรายรับสม่ำเสมอมากพอจึงอาจมีการจ้างวานคนเพิ่มเพื่อขยายและกระจายงานออกไปสู่ตำแหน่งอื่นๆ ได้
เพื่อความชัดเจน ความหมายโดยสากลของนักสร้างคอนเทนต์นั้นอาจควบรวมไปถึงสำนักข่าวทั้งสำนัก องค์กรผู้ผลิตคอนเทนต์ทั้งองค์กร เอเจนซี่โฆษณา ฯลฯ แต่เมื่อเรามองไปยังความหมายที่ใช้กันโดยแพร่หลายในไทยในปัจจุบัน มันคือการปรับอาชีพอิสระหนึ่งอาชีพ แล้วโยนมันเข้ามาอยู่ในองค์กรด้วยความหวังว่าองค์กรจะสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกของสื่อใหม่ที่เร็วกว่า เปลี่ยนแปลงบ่อยกว่า และเรียกร้องความหลากหลายมากกว่า และนั่นอาจเป็นปัญหา
โซเชียลมีเดียเรียกร้องหลากหลายอย่าง คอนเทนต์ต้องมีรูป บางอันเป็นวิดีโอก็ดีนะ หรือจะเป็นไลฟ์ หรือจะเป็นรีลล์ ต้องมีความยาวที่พอดี อย่าเป็นลิงก์ที่นำผู้ใช้ออกจากเว็บไซต์ อย่ายาวเกินไป แต่สั้นเกินไปจะดีมั้ยนะ และในขณะที่เรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องที่เราต้องคำนึงถึงตั้งแต่ตอนทำงานบนสื่อเก่าตั้งแต่ไหนแต่ไร อีกสิ่งที่มันเรียกร้องคือความเร็วและปริมาณ
ตรงข้ามกับที่หลายคนคิด คอนเทนต์ไม่ใช่ ‘แค่’ การพิมพ์ๆ ถ่ายๆ วาดๆ ออกไปก็เสร็จ แต่กว่าจะออกมาเป็นตัวหนังสือหรือภาพหรือวิดีโอที่ผ่านตาคนนับร้อยพันราวสองวินาทีนั้นมันผ่านกระบวนการคิด การหาข้อมูล การแจกแจงงาน การแก้ การตัดต่อ ฯลฯ และการจัดการทั้งหมดนั้นต้องเกิดขึ้นในเวลาที่รวดเร็วมากเพื่อจะตามคนอื่นๆ ให้ได้ทัน แล้วถ้าหากองค์กรมองขั้นตอนตรงนั้นแล้วบอกว่า ‘งั้นให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทำทั้งหมดนั่นคนเดียวเลยได้มั้ย’ คนในตำแหน่งนั้นจะทำหน้ายังไง?
อยู่ดีๆ เหมือนกับว่าเกิดการแข่งขันว่าอาชีพครีเอเตอร์ต้องทำอะไรได้บ้าง การไปนั่งดูกลุ่มหางานพบว่าต้อง SEO ได้ ต้องเขียนเรื่องได้หลากหลายฟิลด์ พ็อดแคสต์กำลังฮิต ลองทำมั้ย ทำกราฟิกได้มั้ย ทำวิดีโอได้มั้ย พูดถึงวิดีโอแล้วทำสคริปต์เองได้มั้ย ทำแล้วถ่ายเองไปด้วยเลยสิ ถ่ายแล้วก็ตัดต่อด้วย ตัดต่อเสร็จก็ฝากเอาลงด้วยนะ ในฐานะคนที่เขาทำงานด้วยตำแหน่ง ‘Content Writer’ เราก็มักถามกับตัวเองว่า แล้วนี้เราเป็นนักสร้างคอนเทนต์แล้วหรือยัง? เพราะดูเหมือนว่าตำแหน่งนี้จะห่างไกลจากความสามารถเราไปทุกที
ยิ่งโซเชียลมีเดียเรียกร้องมากขึ้น ก็ยิ่งดูว่าชื่ออาชีพนี้ก็ยิ่งยาวขึ้น ยิ่งครอบจักรวาลขึ้นไปทุกวัน วันนี้เราทัน แต่ในอนาคตเราจะเรียนรู้สกิลใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ตัวเราได้หรือเปล่า? แล้วถ้าไม่ได้เราจะตกขบวนการเป็นครีเอเตอร์หรือไม่? และทางแก้ไขมันจะไปอยู่ที่ไหน?
ถ้าเราเชื่อแน่ๆ ว่าโลกของโซเชียลมีเดียจะไม่ถล่มลงมาในเร็ววันนี้และเราต้องอยู่กับธรรมชาติของความไวและข้อเรียกร้องของมันไปอีกนาน บางทีนอกจากการให้คนทำงานลองผิดลองถูกกับสิ่งที่พวกเขาไม่รู้และตั้งคำถามกับตัวตนและความสามารถของตัวเองในทุกห้วงเวลาใช้ชีวิต
จะดีกว่าหรือเปล่าถ้าองค์กรสามารถช่วยปรับโครงสร้างการทำงานให้เป็นมิตรกับคนในอาชีพ เช่นอาจจะเจรจาเรื่องความเร็วของคอนเทนต์ เพื่อให้เวลาหายใจแก่คนฝ่ายต่างๆ หรือการวางขอบเขตว่างานไหนใครควรทำอะไร หรือแม้แต่เลิกใช้คำว่าครีเอเตอร์เพื่อเจาะจงว่าแท้จริงแล้วคนคนนี้ต้องทำอะไรกับชีวิตบ้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก