การเป็นนักสร้างคอนเทนต์บางครั้งก็ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นมนุษย์ยุคโบราณ ที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังพยายามต่อสู้และวิ่งตามอะไรอยู่
แน่นอนว่าเราเขียนงานสุดความสามารถ คิดประเด็นให้ทัชคนที่สุด รีเสิร์ชอย่างหนัก สัมภาษณ์แหล่งข่าวเป็นชั่วโมงๆ พร้อมทั้งภาพกราฟิกงดงามเพื่อให้มันเข้าถึงกับคนอ่านของเรามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่พอผลออกมาพบกับเอนเกจเมนต์น้อยนิด และที่น่าแปลกคือเมื่อมองซ้ายมองขวาคนที่ทำแบบเดียวกันหลายๆ คนก็ปัง บางคนก็ได้ไม่ต่างจากเรา มันเหมือนกับว่าทุกอย่างรอบๆ เราไม่มีอะไรที่เมคเซนส์มาอธิบายสิ่งที่เกิดอยู่ได้ และบางทีก็รู้สึกเหมือนพระเจ้ากำลังเล่นตลกกับเราอยู่
แต่จะว่าไปพอพูดถึงพระเจ้า แง่หนึ่งก็ดูเป็นการเปรียบเทียบแบบเวอร์มากๆ และก็ไม่รู้ว่าในชีวิตของเรามีพระเจ้าที่ควบคุมความเป็นไปของโลกอยู่แน่หรือไม่ แต่ในโลกออนไลน์ มีสิ่งที่คอยควบคุมอยู่แน่ๆ แม้จะไม่ได้มาในรูปแบบของพระเจ้า แต่ก็มาเครื่องจักรที่เรายากจะเข้าใจ ทำงานอย่างเป็นปริศนา และเอาใจยังไงก็ไม่พอใจเสียที ไม่ต่างอะไรจากเทพเอาแต่ใจในปกรณัมมากมาย
สิ่งนั้นชื่อ ‘อัลกอริทึม’ และบ่อยครั้งเราทำงานใต้การควบคุมของสิ่งนี้ จนต้องมาตั้งคำถามกันว่าเราเสียอะไรไปบ้าง?
และสิ่งเหล่านั้นคุ้มค่าแก่การจ่ายขนาดนั้นเลยเหรอ?
อัลกอริทึมคือขั้นตอนประมวลผลแก้ปัญหาโดยมากแล้วจะใช้ในการทำระบบอัตโนมัติ โดยแม้ว่าอัลกอริทึมมีหลากหลายการใช้งาน การใช้ที่เรารู้จักกันมากที่สุดของมันคืออัลกอริทึมโซเชียลมีเดียที่มันทำหน้าทีคัดเลือกคอนเทนต์ว่าคอนเทนต์ไหนจะที่ไปสู่สายตาของคน
เหตุผลที่แพลตฟอร์มคอนเทนต์หลายๆ ที่จำเป็นต้องมีระบบอัลกอริทึมนั้นเพราะไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ แพลตฟอร์มต้องมีการกลั่นกรองและดูแล นั่นคือหน้าที่ในการตรวจจับคอนเทนต์ว่า คอนเทนต์ไหนละเมิดกฎของแพลตฟอร์ม คอนเทนต์ไหนเป็นสแปม หรือคอนเทนต์ไหนคือคอนเทนต์ที่แพลตฟอร์มต้องการโปรโมตและให้คุณค่า ฯลฯ
ซึ่งโซเชียลมีเดียบางประเภท เช่นเว็บบอร์ดหรืออิมเมจบอร์ด หน้าที่ดังกล่าวจะเป็นของผู้ดูแลหรือ moderator แต่หากเราพูดถึงโซเชียลมีเดียขนาดยักษ์ที่มีผู้ใช้หลายล้านคนทั่วโลก พูดคุยกันคนละภาษา มีพฤติกรรมการใช้งานแตกต่างกันออกไป และอีกหากหลายปัจจัย การใช้มนุษย์อย่างเดียวแทบเป็นไปไม่ได้ นั่นคือเหตุที่อัลกอริทึมเป็นเหมือนเมฆดำที่ลอยปกคลุมอยู่เหนือพวกเราทุกคนทั้งในฐานะผู้สร้างและผู้เสพคอนเทนต์
และหากเราเทียบมันเป็นผู้ควบคุมที่ไม่อาจเข้าใจได้ อะไรจะมีความหมายไปมากกว่าการพิชิตมันได้?
เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยเห็นเหล่าบทความหรือคอร์สเรียนเกี่ยวกับการ ‘ตีแตกอัลกอริทึม’ ที่ถ้าหากเราฟังหรือทำตามคอร์สเหล่านั้นแล้วเราจะมีความสามารถในการมองโลกออนไลน์และการทำงานของมันได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และคอนเทนต์ของเราจะขึ้นเป็นที่หนึ่งได้แน่ๆ เนื่องจากเราได้เรียนรู้ ‘สูตร’ ของมันแล้ว
แต่ในความเป็นจริงเราไม่อาจมีสูตรที่ตายตัวของการสร้างคอนเทนต์เหล่านี้ได้ อัลกอริทึมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และนอกเหนือจากการรู้ว่าแพลตฟอร์มนี้ในปีนี้จะชอบวิดีโอขนาดยาว ให้ความสำคัญกับเวลาที่ดูมากกว่าจำนวนยอดวิว คอนเทนต์ต้องมีรูป ต้องไม่มีลิงก์พาผู้ใช้ออกไปนอกเว็บไซต์ ฯลฯ วิธีการเลือกจริงๆ อย่างชัดเจนย่อมเป็นความลับ เพราะหากลองมองในมุมของผู้เสพคอนเทนต์จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้สร้างคอนเทนต์ทั้งหมดรู้ว่า งานแบบไหนที่ถูกใจอัลกอริทึมแล้วพวกเขาแห่กันไปทำงานเดียวกันทั้งหมด?
ถ้าคอนเทนต์ทั้งหมดบนแพลตฟอร์มหน้าตาเหมือนกันไปทั้งสิ้นโดยมิอาจแยกผู้ทำคนหนึ่งออกจากอีกคนได้ ใครจะเป็นคนที่อยากติดตามกัน?
คอนเทนต์จะเกิดไม่ได้หากไม่มีผู้สร้างมัน และการไล่ตามอัลกอริทึมอย่างสุดความสามารถดูจะไม่ได้เป็นผลดีต่อผู้สร้างมันมากนัก โดยการเก็บสถิตโดยเอเจนซี Vibely พบว่า เหตุผลที่ผู้ผลิตคอนเทนต์หมดไฟจากงานนั้น 65% มาจากการต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของอัลกอริทึมอย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกันกับการศึกษาโดยเอเจนซีโฆษณา Awin ที่เป็น 72% ของเหตุผลทั้งหมด และนี่ก็เป็นเพียงหนึ่งในความเจ็บปวดของการทำคอนเทนต์
ความรู้สึกว่าตัวเองต้องโพสต์ทุกที่ตลอดเวลา ต้องแบกรับการที่เอาส่วนหนึ่งของตัวเราเองเข้าไปอยู่ในงานเสมอ พร้อมกับความกลัวว่าส่วนหนึ่งในงานนั้นๆ จะไม่ได้รับความนิยม ไม่ดีพอ โดนตัดสิน หรือแม้กระทั่งความกังวลที่กำเนิดจากความรู้สึกว่า ถ้าเราไม่ทำสิ่งที่เราทำอยู่มันจะกระทบกับความเป็นอยู่ของเราขนาดไหน?
ผู้ผลิตคอนเทนต์วางตัวเองอยู่บนเส้นของการเป็นตัวเอง ความต้องการของผู้อื่น และมือที่มองไม่เห็นของอัลกอริทึมที่ค้ำหัวของพวกเขาอยู่เสมอมา โดยจากสถิติโดย CovertKit พบว่า 61% ของผู้ผลิตคอนเทนต์ผ่านภาวะรูปแบบดังกล่าว และบ่อยครั้งเหลือเกินที่เราเห็นผู้ผลิตคอนเทนต์เดินออกจากที่ทำงานของพวกเขาราวกับเป็นคนละคนกับตอนเข้าไป ก่อนจะเริ่มใหม่กับที่ใหม่เพื่อให้วงจรหมุนซ้ำในอีกไม่กี่ปี หรือไม่ก็เดินจากไปสู่สายอาชีพอื่นๆ โดยไม่เหลียวหลังกลับมา
และทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากการวิ่งตามสิ่งที่ถูกออกแบบให้เราไม่เข้าใจและเข้าใจไม่ได้
อัลกอริทึมเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่นำไปสู่ความนิยมของผลงานสักชิ้น เพราะในทุกสมการของการทำคอนเทนต์ มีมนุษย์ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างกับมนุษย์ผู้เป็นผู้ชมคอนเทนต์เหล่านั้นอยู่เสมอ และหากเราวิ่งเอาใจหุ่นยนต์ที่เราไม่อาจเข้าใจก่อนการคำนึงความต้องการของผู้ชม สิ่งที่พวกเขาอยากรู้ ต้องรู้ และควรรู้ หรือมองข้ามความสำคัญของคนผู้ผลิตมัน พื้นที่การทำงานคอนเทนต์จะหน้าตาเป็นอย่างไร?
เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา เว็บไซต์คอนเทนต์ BuzzFeed เลย์ออฟพนักงานของบริษัทไปทั้งสิ้น 12% และประกาศว่าจะเริ่มใช้ ChatGPT เอไอที่เรียนรู้จากการนำบทความและข้อมูลจากทั่วอินเทอร์เน็ตมาเรียบเรียงเป็นคำตอบมาเขียนคอนเทนต์แทน เรากำลังเดินไปที่ไหน? อนาคตที่เอไอหนึ่งตัว เขียนคอนเทนต์เพื่อให้หุ่นยนตร์ตรวจสอบว่าเหมาะกับมนุษย์หรือไม่ก่อนจะเอาให้ผู้อ่านอ่าน?
เราควรจะโฟกัสอะไรในการทำงานเกี่ยวกับคอนเทนต์? ยอดเอนเกจเมนต์เป็นเรื่องสำคัญอยู่แล้ว แต่ท้ายที่สุดอาชีพนี้คือการสร้างบทสนทนาระหว่างมนุษย์หรือไม่? ไม่ว่าจะระหว่างผู้สร้างและผู้เสพ หรือผู้อ่านคอนเทนต์กับผู้อ่านคนอื่นๆ และการลดความเป็นมนุษย์ลงไปจากงานเหล่านั้นดูไม่ใช่ทางเลือกที่ควรเดินไปมากนัก
อ้างอิงข้อมูลจาก