จากข้าวผัดรถไฟใส่ห่อ สู่ข้าวผัดอเมริกัน ข้าวผัดเป็นเหมือนผืนผ้าใบที่เราจะสร้างสรรค์อะไรใส่ลงไปก็ได้ และไม่ว่ากินที่ไหน เมื่อไหร่ ก็อบอุ่นใจเสมอ
เราทุกคนล้วนมีคอมฟอร์ตฟู้ด หรืออาหารกินตอนไหนก็อบอุ่นหัวใจ โดยเฉพาะถ้าเป็นตอนดึกจะยิ่งเพิ่มระดับความอิ่มเอมเข้าไปอีก และล่าสุดอาหารที่ทำให้ แจ็คสัน หวัง ถึงกับต้องออกปากชม คือ ‘ข้าวผัดอเมริกันและซุปข้าวโพด’ ที่ข้าวผัดอเมริกัน ต้องมากินที่ไทยเท่านั้นนะ
ข้าวผัดอเมริกัน แต่ที่อเมริกาไม่มี?
คนไทยเราตั้งชื่อเก่งนะ ด้านความสร้างสรรค์คือสิบเต็มสิบ ข้าวผัดอเมริกันก็มีความคล้ายกับขนมโตเกียว หรือลอดช่องสิงคโปร์นั่นแหละ คือเป็นชื่อเมนูอาหารที่มีรากฐานมาจากชาตินั้นเพียงเล็กน้อย หรือบางทีก็ไม่มีเลยด้วยซ้ำ ที่เหลือคือการประยุกต์ให้กลายเป็นรสชาติในแบบที่คนไทยชอบ
ถ้าจะถามหาถึงต้นกำเนิดของข้าวผัดอเมริกันว่าแท้จริงมาจากไหน ก็สืบหาต้นตอที่แท้จริงได้ยาก มีเพียงเรื่องเล่าขานต่อกันมาเท่านั้น และยังมีหลายเรื่องเล่าอีกด้วย ซึ่งเราก็รวบรวมมาให้ลองอ่านกันสนุกๆ ดูก่อน
สำหรับเรื่องแรกที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นก่อนปี พ.ศ.2497 คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสกุลไทยไว้ว่า ในคณะที่ทำงานเป็นผู้จัดการราชธานีภัตตาคารในสนามบินดอนเมือง เกิดเหตุการณ์การยกเลิกการสั่งจองอาหารเช้าขึ้น ทำให้อาหารเช้าแบบอเมริกันที่เตรียมไว้เหลือเยอะ คุณหญิงสุรีพันธ์เลยนำอาหารเช้าแบบอเมริกันเหล่านั้นมาประกอบรวมกันกับข้าวผัดที่มีอยู่ และตั้งชื่อว่าข้าวผัดอเมริกัน ข้าวผัดอเมริกันขณะนั้นมีส่วนประกอบไม่แน่นอน บางวันส่วนประกอบก็เปลี่ยนจากไส้กรอกหรือไก่อบเป็นเนื้อทอด
เรื่องต่อมาคาดว่าเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2500-2518 ซึ่งเป็นยุคสงครามเวียดนาม ว่ากันว่า พ่อครัวได้ทำเมนูนี้ให้ทหารอเมริกันที่ประจำการอยู่ที่ค่ายรามสูรในนครราชสีมา ก่อนที่จะเมนูนี้จะเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ
มัลติเวิร์สแห่งข้าวผัด คอมฟอร์ตฟู้ดของทุกครัวเรือน
เราจะเห็นจากเรื่องราวเหล่านี้ได้ว่า เพราะข้าวผัดเป็นอาหารที่ทำได้ง่ายสำหรับประเทศที่กินข้าวกันเป็นหลัก แค่ผัดกับไข่ก็อร่อยได้แล้ว หรือใครอยากจะใส่อะไรเพิ่มเติมลงไปก็ได้ตามจินตนาการ ข้าวผัดจึงเป็นเหมือนผืนผ้าใบว่างเปล่าที่ใครอยากจะแต่งแต้มสร้างสรรค์อะไรเพิ่มเติมลงไปก็ได้
เมื่อมีการเข้ามาของชาติตะวันตก ผืนผ้าใบที่ชื่อว่าข้าวผัดก็ได้มีการนำเอาวัตถุดิบตะวันตกมาผสม ไส้กรอกบ้าง ไข่ดาวบ้าง ก็เกิดเป็นข้าวผัดอเมริกัน และไม่ใช่แค่นั้น ในอดีต บ้านเรายังมี ‘ข้าวผัดคอร์นบีฟ’ ที่เป็นผลพวงมาจากอาหารที่ถูกผลิตในยุคสงครามที่ทหารอเมริกันเข้ามาในบ้านเราเหมือนกัน
จากคำบอกเล่าของผู้ที่เคยกินข้าวผัดคอร์นบีฟ บ้านเราเคยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เนื้อกระป๋อง อสร.’ ซึ่งความจริงก็คือ คอร์นบีฟที่มาจากชาติตะวันตกนี่แหละ เนื้อกระป๋องนี้ถูกผลิตขึ้นให้เป็นเสบียงของทหาร มีลักษณะเป็นเนื้อฉีกที่หมักด้วยเกลือ แต่เมื่อสงครามจบลงก็ไม่ได้มีการผลิตเนื้อกระป๋องเพื่อเป็นเสบียงให้ใครต่อไปอีกแล้ว ข้าวผัดคอร์นบีฟจึงเป็นแค่ความทรงจำแสนหวาน (ในที่นี้อาจจะเค็ม) ของคนวัย 45 ปีขึ้นไป
ผืนผ้าใบนี้ไม่ได้มีแค่ที่ไทยเท่านั้น ‘ข้าวผัดสแปม’ ของเกาหลีใต้ ก็มีหน้าตาและที่มาใกล้เคียงกัน เป็นข้าวผัดกิมจิเสิร์ฟพร้อมสแปม (แฮมกระป๋อง) จะเป็นแบบทั้งชิ้นหรือหั่นเต๋าก็ได้ เพิ่มไข่ดาวแบบอเมริกัน โรยด้วยสาหร่ายอีกนิด เพราะสแปมเองก็เป็นอาหารที่เข้ามาในยุคของสงคราม แม้ว่าจะเป็นอาหารที่มองแล้วชวนให้นึกถึงวันเวลาที่ยากลำบาก แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนเปิดใจยอมรับกันมากขึ้น ข้าวผัดสแปมก็กลายเป็นอาหารจานโปรดของหลายคนไปในที่สุด
อาหารเกิดใหม่และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
บางครั้ง อาหารเกิดใหม่เหล่านี้เริ่มมาจากการจินตนาการถึง ‘อาหารของชนชาติอื่น’ หรือความพยายามทำ ‘อาหารในแบบที่ชนชาติอื่นจะชอบที่สุดเท่าที่จะทำได้’ ยกตัวอย่างเช่น ‘ผงกะหรี่’ ที่ชาวอังกฤษที่อยู่ในอินเดียในช่วงยุคล่าอาณานิคมได้สั่งทำขึ้นมาจากความคิดถึงอาหารอินเดีย อยากได้เครื่องเทศแบบอินเดียติดเรือเอาไว้เพื่อความอุ่นใจ ก่อนที่จะกลายมาเป็นอาหารยอดนิยมตลอดกาลของชาวญี่ปุ่นอย่าง ‘ข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น’ ที่เกิดจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการรักษาโรคเหน็บชาระหว่างทหารอังกฤษและทหารญี่ปุ่น
สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยกล่าวไว้ในบทความของมติชนว่า “ข้าวปลาอาหารไม่มีข้อสรุปตายตัว และไม่ใช่แค่ของกิน แต่จะเกี่ยวข้องกับ ‘พิธีกรรม’ ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรมอีกมาก จนเกินกำลังคนๆ เดียวจะอธิบายได้หมด”
ไม่ว่าจะข้าวผัดอเมริกัน หรือข้าวผัดอื่นในมัลติเวิร์สข้าวผัด ทำให้เราได้รู้ว่าอาหารไม่ใช่สิ่งตายตัว สามารถเกิดใหม่และเปลี่ยนไปได้ตามกาลเวลา ไม่ว่าจะในยุคไหน สถานที่ใด อาหารก็รับบทสิ่งเยียวยาจิตใจของผู้คนเสมอมา
อ้างอิงจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart