เป็นเงือกน้อยนั้นเจ็บปวด เรียกได้ว่าถ้าทำเป็นหนังแบบสมจริงสมจัง ตามบทประพันธ์แล้วละก็ The Little Mermaid จะกลายเป็นหนังอีกเรื่องที่พูดถึงการเสียสละของนางเอกที่สังเวยให้กับความรัก และในการเสียสละนั้น เต็มไปด้วยความเจ็บ ความเจ็บปวดที่บาดลึกอยู่ภายใต้ความเงียบและชีวิตอันแสนระทมของเงือกสาวคนสุดท้องของราชาไทรตอน
เราคงพอจะทราบว่านิทานฉบับดิสนีย์เป็นเวอร์ชั่นอัปเดตของโลกตามยุคสมัย งานดั้งเดิมตั้งแต่นิทานโบราณรวมถึงงานของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) เอง นิทานมักเป็นส่วนผสมของโลกที่ค่อนข้างโหดร้าย นัยหนึ่งก็เป็นเสมือนคำสอน—บางส่วนก็มีอคติเรื่องเพศ คือเป็นคำสอนอันรุนแรงโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง หนูน้อยหมวกแดงมีนัยของการโตเป็นสาวผ่านสีของเลือด เจ้าชายกบก็ใช้สัตว์น่าขยะแขยงที่อาจตีความถึงเรื่องเพศได้ ส่วนเงือกน้อยเอง นอกจากการตีความเข้ากับความรักไม่สมหวังของผู้แต่งแล้ว The Little Mermaid นับเป็นนิทานที่ก็ยังโหดร้ายและเป็นคำเตือนต่อเด็กหญิงผู้ซึ่งยอมแลกทุกอย่างเพื่อความรัก และความรักของเงือกน้อยฉบับดั้งเดิมนั้นก็ไม่ได้สมหวังแต่อย่างใด
เรื่องราวของ The Little Mermaid ของแอนเดอร์เซนไม่เชิงว่าจะเป็นเรื่องสอนใจหญิงที่เน้นการข่มขู่แต่เพียงฝ่ายเดียว เรื่องราวของเงือกน้อยค่อนข้างซับซ้อน บางส่วนมีนัยทางศาสนาเช่นเงือกเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีวิญญาณ สิ่งที่เงือกน้อยต้องการนอกจากความรักของเจ้าชายเพื่อมีชีวิตต่อไปแล้ว เธอยังปรารถนาวิญญาณอันเป็นสิ่งอมตะที่มนุษย์มี ตอนกลางของเรื่อง เจ้าชายตัวดีไม่ได้รักเงือกน้อยเช่นในฉบับการ์ตูน นางเงือกต้องเลือกที่จะใช้กริชสังหารเจ้าชายให้ตายลงกับมือเพื่อรักษาชีวิตไว้ สุดท้ายเธอเองทำไม่ได้และเลือกจะกลายเป็นพรายฟอง ล่องลอยอยู่กับนภาอากาศและคอยทำความดีอีก 300 ปีเพื่อได้รับวิญญาณที่แท้จริงสืบไป
ต้นฉบับนิทานนั้นช่างร้าวราน เรื่องราวว่าเจ็บปวดแล้ว ในตัวเรื่องที่แท้จริงเจ็บกว่า เงือกนับว่าเป็นภาพแทนของผู้หญิงในมุมที่ทั้งงดงามและน่าหวาดหวั่น ส่วนเงือกน้อยเอง ในมุมของความรักและชีวิตของเธอ นับว่าเงือกน้อยเป็นตัวละครเอกที่อุทิศและสังเวยเรือนร่าง ยอมเจ็บปวดและมอบชีวิตให้ความรักอย่างหมดตัวและหมดใจ ถ้าเราอ่านการสังเวยสิ่งที่เงือกน้อยมีเพื่อเจ้าชายนั้นถือว่าเธอเอง เป็นตัวละครที่รวดร้าวอย่างน่าอึดอัดใจภายใต้ความเงียบ การกลายร่างเพื่อขึ้นบกของเธอนั้นเต็มไปด้วยความทรมาน เธอถูก ‘ตัดลิ้น’ และยามที่เธอเดินด้วยขานั้น เธอเจ็บปวดราวกับเดินบนคมมีดและปลายเข็ม และในทางกลับกัน เจ้าชายกลับกระทำต่อเธอราวกับสัตว์เลี้ยง
เงือกและคำสอนน่าขนลุกของเด็กหญิง
เงือกเป็นตัวแทนของผู้หญิงมาอย่างยาวนาน สมัยก่อนเงือกเป็นเหมือนภาพแทนที่ค่อนข้างเชื่อมโยงผู้หญิงเข้ากับอำนาจ ในด้านหนึ่งคือ ตำนานไซเรน (Siren) อันเก่าแก่ของกรีกเล่าถึงเงือกที่ปลอมแปลงเป็นสาวงามและร้องเพลงที่ไพเราะอย่างประหลาดเพื่อล่อให้เรืออัปปาง เงือกมักสัมพันธ์กับเนื้อหนังมังสา การล่อลวงด้วยตัณหาราคะ แต่อีกด้านเงือกเป็นตัวแทนของธรรมชาติ ของจิตใจอันบริสุทธิ์ เงือกถูกโยงเข้ากับอโฟรไดต์ (Aphrodite) ผู้กำเนิดขึ้นบนพรายฟองของท้องทะเล เงือกเป็นส่วนผสมของสิ่งมีชีวิตเลือดเย็นแต่อีกด้านก็เต็มไปด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ ห้วงน้ำไม่ว่าท้องเทและแม่น้ำใหญ่เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์และลักษณะอันคาดเดาไม่ได้
สำหรับแอนเดอร์เซนแล้ว เงือกของแอนเดอร์เซนค่อนข้างถูกวาดให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยหัวจิตหัวใจ ทว่าก็ยังไม่ใช่มนุษย์ แกนสำคัญหนึ่งของ The Little Mermaid ของแอนเดอร์เซนคือความรักต้องห้าม และดูเหมือนว่าตัวนิทานเองก็ยังคงตามขนบเทพนิยาย (fairy tales) เช่นในยุคกลางที่มักใช้สอนเด็กน้อยที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ในเรื่องพูดถึงการที่เจ้าหญิงเงือกทั้งหกที่มีนางเอกเป็นเงือกสาวคนสุดท้องที่จะได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนผิวน้ำและมองเห็นโลกบนบกได้เมื่ออายุ 15 ซึ่งก็ว่าด้วยการก้าวสู่ช่วงวัยรุ่น และด้วยความรักในอิสระ สุดท้ายเงือกน้อยก็ดันไปตกหลุมรักเจ้าชายซึ่งเป็นรักต้องห้ามรูปแบบหนึ่ง
คำเตือนในนิทานมักเต็มไปด้วยเลือดและความน่าสะพรึงกลัว ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน นับเป็นนักเขียนที่ค่อนข้างทรมานตัวละครได้อย่างลึกซึ้งถึงทรวง—ด้านหนึ่งก็บอกว่าแทนความรักต้องห้ามที่ไร้ความหวัง หรือนักวิจารณ์ยุคหลังก็วิจารณ์ในมิติเพศสถานะเช่นการควบคุมหรือเล่นกับจิตใจผู้หญิง สำหรับเงือกน้อยแล้ว ถ้าเราอ่านเรื่องราวตามตัวอักษรและนึกภาพความเจ็บปวดของเธออย่างจริงจัง ความเจ็บปวดที่แอนเดอร์เซนสาปเธอให้เป็นนางเอกที่ทรมานอยู่ในอก ในร่างกาย ภายใต้ความเงียบงันและความเดียวดายนั้น นับว่าเป็นการพลีร่างกายเพื่อความรักอย่างสาหัสยิ่ง
ตัดลิ้น เหยียบย่างบนคมมีด และรอยเท้าเกรอะเลือด
หวังว่าข้อความหลังจากนี้จะไม่ทำให้ภาพของเงือกน้อยของท่านถูกทำลายไป ด้านหนึ่งต้องเน้นย้ำก่อนว่างานเขียนของแอนเดอร์เซนมีความซับซ้อนในตัวเอง ชะตากรรมของเงือกน้อยนั้นแม้ว่าจะมีนัยของความเจ็บปวด กระทั่งถูกฉวยใช้และทอดทิ้งระดับจิตใจสลาย เงือกน้อยของแอนเดอร์เซนเองก็นับว่าเป็นการสร้างตัวละครเอกหญิงที่มีความเฉพาะตัวและมีการเปิดตอนจบที่ค่อนข้างพิเศษและก้าวข้ามผ่านไปสู่การเสียสละชีวิตของนางเงือก บทวิจารณ์ยุคหลังเช่นงานของ เวอร์จิเนีย บอร์เกส (Virginia Borges) พูดเรื่องความเจ็บปวดของเงือกน้อยและการป็นนิทานอุทาหรณ์ที่เกือบจะเป็นหนังสยองขวัญ
เบื้องต้นที่สุด ความรักของนางเงือก เป็นความรักที่ค่อนข้างบริสุทธิ์และประกอบขึ้นด้วยความเสียสละ สิ่งที่เธอต้องการไม่ใช่แค่ความรัก แต่ความรักของเจ้าชายจะนำพาวิญญาณ—สิ่งที่ในเรื่องระบุว่า แม้ในอาณาจักรอันยิ่งใหญ่และเงือกที่มีความน่ามหัศจรรย์และมีชีวิตยืนยาวกว่ามนุษย์ถึง 300 ปี—ไม่มี เงื่อนไขของแม่มดทะเลคือการที่เงือกน้อยต้องได้รับรักจากเจ้าชายและได้รับดวงวิญญาณนั้น ดวงวิญญาณนี้เป็นตัวแทนของความเป็นอมตะที่ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับความคิดของคริสต์ศาสนา
เงือกน้อยนับว่าเป็นตัวเอกที่น่ารัก คือเป็นน้องสาวคนสุดท้องที่สวยที่สุด โดดเด่นที่สุด ร้องเพลงก็เพราะ รักการผจญภัย ชอบมองขึ้นไปนอกหน้าต่าง คอยไต่ถามย่าในเรื่องต่างๆ แต่งตัวเอาอะไรมาประดับก็สวย แต่ภาพความเจ็บปวดเริ่มมาเมื่อเธออายุได้ 15 และเตรียมขึ้นไปผจญภัยบนผิวน้ำหลังจากฟังเรื่องของพี่ๆ มานานแสนนาน
ในวันที่เธออายุครบ ย่าของเธอทำการประดับประดาเงือกน้อยเพื่อแสดงสถานะ นอกจากช่อดอกไม้แล้ว ยังมีธรรมเนียมให้หอยมุกฝังตัวประดับลงที่หางของเธอ ซึ่งการประดับนั้นประกอบขึ้นด้วยความเจ็บปวดจนเงือกน้อยบอกกับย่าถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ย่าเธอตอบกลับว่า ความภาคภูมิใจต้องประกอบด้วยความทานทนต่อความเจ็บปวด (“Pride must suffer pain,”)
คำพูดของย่าดูจะเป็นลางบอกเหตุและการกระทำที่ถือว่าสูงส่งของเงือกน้อยเอง หลังจากนั้นเรื่องก็คล้ายๆ กับในฉบับดิสนีย์ เงือกน้อยขึ้นไปและช่วยเจ้าชายที่เรือแตก แต่เมื่อช่วยเสร็จแล้วเงือกน้อยกลับชอกช้ำเพราะเจ้าชายเมื่อฟื้นแล้วก็ไม่ได้ยิ้มให้เธอและไม่รู้ว่าเธอเป็นคนช่วยไว้ และนั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมเงือกน้อย
หลังจากนั้นตัวเรื่องค่อนข้างพูดถึงความปรารถนาของเงือกที่ไม่ได้อยู่แค่ความรัก แต่คือการได้รับดวงวิญญาณอมตะ และก็ดังที่เรารู้กันคือเธอเดินทางไปหาแม่มดทะเล ซึ่งอันที่จริงแม่มดชีก็เตือนนะ—หมายถึงไม่ได้ทำการหลอกลวงหรืออะไร—แถมยังบอกว่าเธอต้องแลกอะไร ต้องทิ้งครอบครัว ทิ้งบ้านนะ แล้วก็ต้องทำให้เจ้าชายรักเธอภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งเงื่อนไขทั้งหมดมันคือการก้าวผ่านพรมแดนต้องห้ามทั้งการก้าวขึ้นเดินบนบก และการร่วมรักกับมนุษย์ต่างสายพันธุ์ กระทั่งความปรารถนาในดวงวิญญาณแบบมนุษย์ด้วย
ความเจ็บปวดของเงือกน้อยนั้น เริ่มต้นที่รังของแม่มด ตัวเรื่องใช้คำว่าแม่มดตัดลิ้นของเงือกน้อยไปพร้อมกับเสียง เมื่อถึงชายฝั่ง เงือกน้อยดื่มยาของแม่มดและเจ็บปวดราวกับถูกมีดสองคมสับผ่านร่างอันงดงามบอบบาง เมื่อเจ้าชายมาพบเธอและเธอพยายามเดินบนบกเป็นครั้งแรก ทุกย่างก้าวของเธอเจ็บปวดราวกับการเดินบนคมมีดหรือปลายเข็ม แต่ก็เป็นความเจ็บปวดที่เธอยินยอมที่จะรับมันภายใต้ความเงียบงัน ความเจ็บปวดที่กรีดแทงอยู่ตามร่างกายแต่เธอเองกรีดร้องก็ออกมาไม่ได้
ทุกครั้งที่เธอเต้นรำเพื่อสร้างความสำราญให้เจ้าชาย ฝ่าเท้าของเธอก็จะเจ็บปวดเฉกเช่นเต้นรำอยู่บนคมมีด—และถ้าเราพอนึกภาพออกว่าความเจ็บปวดจากฝ่าเท้านั้นเจ็บปวดมากแค่ไหน บางฉากเช่นตอนที่เงือกน้อยไปปีนเขาเล่นกับเจ้าชาย เมื่อถึงยอดเขา ฝ่าเท้าทั้งสองของนางก็ถูกหินบาดจนเกิดบาดแผล ทุกรอยเท้าที่เดินตามเจ้าชายนั้นก็ทิ้งรอยเลือดไว้ในทุกย่างก้าวที่เธอเดินตามเจ้าชายไป
แล้วเจ้าชายนั้นให้อะไร เพื่อนกันไม่ทำแบบนี้
ถ้าเงือกน้อยออกรายการพี่อ้อยพี่ฉอด ต้องบอกว่าความสัมพันธ์นี้มันแย่มาก เงือกน้อยต้องทนทุกข์กับความเจ็บปวดขนาดย่ำลงบนเลือดของตัวเองและใช้เวลายามค่ำคืนที่ท่าน้ำของราชวัง แช่เท้าที่พุพองลงในน้ำทะเลและเฝ้านึกถึงครอบครัวและดินแดนที่เธอจากมา สิ่งที่เงือกน้อยแลกนั้นช่างมากเหลือประมาณ ความเจ็บปวดในทุกก้าวเดิน เสียง และความเดียวดายที่จากบ้านเมืองมา
ในแง่ของเจ้าชาย อ่านแล้วก็สปอยล์ก่อนเลยว่าเจ้าชายไม่เลือกเงือกน้อยเพราะไม่ได้รักเงือกน้อยแต่อย่างใด เจ้าชายก็คือวุ่นวายมาก ไปรักกับสาวจากโบสถ์คนหนึ่ง ปฏิเสธการแต่งงานที่พระราชวังจัดให้ เรื่องราวยอกย้อน เรื่องกลายเป็นว่าสาวเจ้าจากโบสถ์กลายเป็นเจ้าหญิงต่างเมือง ทีนี้ พี่อ้อยพี่ฉอดเตรียมกำหมัด เพราะเจ้าชายนั้นชอบเงือกน้อยและให้เงือกน้อยอยู่ข้างๆ โดยมีสถานะไม่ต่างกับสัตว์เลี้ยง ในเรื่องบรรยายว่าเจ้าชายนั้นหลงในรูปลักษณ์ตั้งแต่แรกเห็นและให้เธออยู่เคียงข้าง ทรงโปรดการเต้นรำ(ที่เงือกน้อยเจ็บปวดอย่างเงียบๆ) แอนเดอร์เซนอธิบายว่าเจ้าชายต้องการให้เธออยู่ข้างเสมอและ ’อนุญาต’ ให้นอนตรงประตู บนฟูกสีม่วงแดง (“She received permission to sleep at his door, on a velvet cushion.”)
นอกจากเจ้าชายจะเที่ยวทำเหมือนเงือกน้อยเป็นผู้ติดตาม เอาเรื่องความรักมาพูดใส่อยู่เป็นประจำแล้ว เจ้าชายยังมีปฏิสัมพันธ์แบบชวนคิดเกินเพื่อนแต่ปากบอกว่าไม่ บางตอนก็ดึงเงือกน้อยไปโอบกอดไว้แล้วจุมพิษลงบนหน้าผาก ซึ่งเจ้าชายก็บอกว่ารักหญิงคนหนึ่งที่ช่วยตัวเองไว้ซึ่งไปคิดว่าเป็นหญิงสาวจากที่วิหาร นางเงือกนั้นรวดร้าวใจขนาดทอดถอนใจอยู่ในอก จะร้องไห้ก็ไม่มีน้ำตาไหลออกมาเพราะเป็นเงือก บางตอนเจ้าชายแสดงความปรารถนาถึงขนาดจูบลงบนริมฝีปากของเธอและใช้ปลายนิ้วไล้เล่นไปบนเรือนผมยาวสลวยของนาง
พร้อมบอกว่าตนเองกำลังรักคนอื่น!?
ไม่ได้มั้ย!
เรื่องทั้งหมดดูเหมือนว่าจะปูให้ทั้งว่าเจ้าชายเข้าใจผิดว่าคนที่ตัวเองรักเป็นหญิงอื่น ต้องไปตกร่องปล่องชิ้นกับเจ้าหญิงที่อันที่จริงมาสอนหนังสือที่โบสถ์ เจ้าชายตัดสินใจแต่งงานกับเจ้าหญิงต่างเมือง โดยในวันวิวาห์—บนเรือวิวาห์—เจ้าหญิงเงือกแน่นอนใจสลาย ทางแก้ของแอนเดอร์เซนก็แสนเก๋ คือพี่สาวเงือกทั้งหมดก็ปรากฏตัวขึ้น พวกเธอผมสั้นกุดและยื่นดาบสั้นให้เธอเล่มหนึ่ง สรุปความว่าพี่สาวเจ้าหญิงเงือกได้นำเอาผมไปแลกกับทางแก้จากแม่มด และแม่มดบอกว่าเจ้าหญิงเงือกต้องแทงเจ้าชายที่หัวใจและให้เลือดหยดลงต้องเท้าเธอ เท้าเทียมนั้นจึงจะกลับกลายเป็นครีบและสามารถกลับลงไปสู่บ้านและครอบครัวของตนได้
เงือกน้อยเข้าไปในกระโจมที่เจ้าชายหลับอยู่ ขนาดว่าเจ้าชายพร่ำเพ้อถึงคู่แต่งงานขณะหลับฝัน เจ้าหญิงเงือกที่กำมีดไว้ในมือก็คิดนิดนึงก่อนที่จะโยนมีดทิ้งลงทะเลไป หัวใจของเจ้าชายสุขสบายดี มีแต่หัวใจของเงือกน้อยที่ร้าวราญครั้งแล้วครั้งเล่า จนครั้งสุดท้าย ในวาระนั้นก่อนรุ่งสาง เงือกน้อยกระโดดออกจากเรือและสลายกลายเป็นฟองคลื่นตามคำสาปของแม่มด
แต่ทว่าด้วยการกระทำอันสูงส่งของเงือกน้อย ทั้งการสละชีพและการทนทานต่อสารพัดความเจ็บปวดที่เธอยอมสละ เมื่อเธอกลายเป็นพรายฟองแล้ว ธิดาของอากาศธาตุก็ได้พาเธอเข้าร่วมขบวน และบอกกับเธอว่าหลังจากนี้อีก 300 ปี เธอจะร่วมทำหน้าที่เป็นสายลมที่คอยพัดพา เยียวยาและดูแลผู้คนและโลก สายลมโบกพัดและทำลายโรคระบาด และพัดพาเอากลิ่นของดอกไม้และพืชพรรณเพื่อนำพาสุขภาพอันแข็งแรงและการเยียวยารักษาไปยังที่ต่างๆ
ด้วยความดีนี้ อีก 300 ปี ความปรารถนาของเงือกน้อยที่จะมีดวงวิญญาณอาจเป็นจริง ในตอนนั้นเงือกน้อยได้หลั่งน้ำตาเป็นครั้งแรก และก็ได้โบกพัดลงสู่เจ้าชายและคู่วิวาห์ โดยหลังจากนั้นเรื่องก็เล่าว่าสายลมที่มีเงือกน้อยผู้สละตนเพื่อดวงวิญญาณและความรัก จะทำหน้าที่ดูแลเด็กๆ ถ้าประสบกับเด็กดีสายลมนั้นก็จะขึ้นสู่สวรรค์เร็วขึ้น และกลับกันเมื่อเจอเด็กที่ดื้อรั้นและร้ายกาจ
จบเรื่อง เด็กๆ ได้ช่วยเงือกน้อยด้วยการเป็นเด็กดี เงือกน้อยจะได้ไปสวรรค์ไวๆ นับว่าน่ารัก และเงือกน้อยก็นับเป็นอีกหนึ่งตัวละครหญิงที่ค่อนข้างโดดเด่นในแง่ของการสละตนและการหวังใจไปยังสิ่งที่สูงส่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://hca.gilead.org.il/li_merma.html?
https://web.archive.org/web/20080725034137/http://www.endicott-studio.com/rdrm/rrMermaids2.html