สืบเนื่องจากการเปิดตัวตัวอย่างหนังเรื่อง The Little Mermaid ก็นำเอากระแสลมแห่งการถกเถียงกลับมาอีกครั้ง เมื่อนักแสดงนำที่จะเล่นเป็นตัวละครแอลเรียลนั้นเป็นคนดำ กับคำถามถึงความเหมาะสม ความตรงตามต้นฉบับ ขอบเขตของอิสระในการตีความบทประพันธ์ ไปจนการยัดเยียดความเห็นทางการเมือง ที่จริงประเด็นเหล่านี้ก็มีมานานสมควรแล้ว และเกิดขึ้นในหนัง ซีรีส์ หรือละคร ตั้งแต่ Captain Marvel, Star Wars: Episode VIII – The Last Jedi, Wonder Woman 1984, และอีกหลายๆ เรื่องที่หาดูได้ในสตรีมมิ่ง
ในแง่หนึ่งก็มีคนที่บอกว่า การแคสต์ ฮัลลี เบลีย์ มาเป็นแอเรียลนั้นดูเป็นการยัดเยียดความรู้สึกให้ต้องมีความเท่าเทียม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็บอกว่า นั่นเป็นสิ่งที่ดีแล้วมิใช่หรือ ความเท่าเทียมที่ว่านี้ก็คือความเท่าเทียมในแง่ของโอกาส ทั้งโอกาสในการได้เป็นตัวละครหลัก โอกาสในการสร้างภาพลักษณ์หรือภาพจำใหม่ๆ เกี่ยวกับความหลากหลายในชีวิต โอกาสในการเล่าหรือออกแบบเนื้อหาที่ชักชวนคนดูให้ได้เห็นมุมมองอื่นๆ ในชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางสังคม แต่แน่นอนว่า ในบางครั้งมันก็อาจจะไม่ได้ถูกใจผู้คนไปหมด บางคนก็อาจมีความคาดหวังในการดูหนังแค่ความบันเทิง ไม่ได้อยากรับรู้ประเด็นทางการเมืองและสังคมในตัวหนัง หรือหนังบางเรื่องก็อาจสอดแทรกเข้าไปแบบเนียนๆ จนทำให้คนดูได้คิด แต่ก็ไม่ได้รู้สึกยัดเยียด
เรามาดูประเด็นข้อถกเถียงในเรื่อง The Little Mermaid กันบ้าง หนึ่งในประเด็นที่ผู้คนพูดถึงกันมากที่สุดก็คือเรื่องของ ‘ภาพจำ’ เพราะตัวละครแอเรียลนั้น เป็นภาพของเด็กสาวชาวเงือกตัวน้อยผมสีแดงผิวขาว ผู้มีเสียงอันไพเราะ ในขณะที่ตัวอย่างหนังที่ดิสนีย์เพิ่งปล่อยออกมา ดูเหมือนจะตรงที่กล่าวมาเกือบทั้งหมด เว้นแต่ว่า แอลเรียลคราวนี้เป็นคนดำและมีผมค่อนไปทางเดรดล็อก บางคนบอกว่า “มันเป็นการไม่เคารพต้นฉบับเอาเสียเลย” แต่ถ้าว่ากันตามตรง ต้นฉบับของนิทานเรื่องนี้ ก็ไม่ใช่ในแบบที่เราจำกันมาจากการ์ตูนดิสนีย์เสียด้วย เพราะต้นฉบับจริงๆ เป็นนิทานของ Grimm’s Fairy Tales ซึ่งถ้าดิสนีย์เกิดทะลึ่งตีความให้ตรงตามต้นฉบับขึ้นมาจริง ผมก็คงแนะนำคุณพ่อคุณแม่ให้คิดดี ๆ ก่อนจะชวนลูกหลานของท่านไปดูเรื่องนี้ ยกเว้นว่าน้องๆ หนูๆ จะโปรดปรานหนังสยองขวัญ
แต่ถึงอย่างนั้น ภาพจำที่ถูกตีความในฉบับแรกก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันก็เป็นภาพในความทรงจำของคนจำนวนมาก ในแง่มุมนี้ มันก็อาจเป็นเพียงเรื่องของรสนิยมที่เราอยากให้แอเรียลตรงตามภาพจำของเรา แต่ถึงอย่างไร มันก็คงไม่ใช่เรื่องที่ผิดถ้าหากดิสนีย์รู้สึกว่า อยากตีความออกมาแบบใหม่ เขาก็ย่อมมีสิทธิที่จะทำเพราะนั่นก็เป็นลิขสิทธิ์ของเขาอยู่ดี และ The Little Mermaid ก็ไม่ใช่หนังอัตชีวประวัติที่ต้องการความแม่นยำทางประวัติศาสตร์
ประเด็นอยู่ตรงที่บางคนมองว่า มันดูยัดเยียดเกินจำเป็น การเอาคนดำมาแสดงนั้นก็พอจะบ่งบอกได้ว่า นี่เป็นความพยายามสนับสนุนความเท่าเทียมให้กับคนดำของดิสนีย์ แม้จะรู้ดีว่าประวัติศาสตร์ชนชาติของพวกเขาเต็มไปด้วยเรื่องราวของการถูกกดขี่ ทว่าจุดประสงค์ของ The Little Mermaid ก็ดูจะเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก แต่ก็อย่างที่เรียนไป การนำเสนอในรูปแบบใหม่นี้มันก็เป็นเรื่องที่ดีมิใช่หรือ ถึงอย่างไรมันก็เป็นแค่การ์ตูนนิทานสำหรับเด็ก เราก็แค่วาดภาพจำใหม่ให้กับเด็ก พวกเขาก็จะโตขึ้นด้วยภาพจำแบบนี้ เสมือนกับที่พวกเราต่างก็โตมาด้วยภาพจำในแบบของเรา และเผลอๆ ก่อนที่จะมีแอเรียล คนรุ่นก่อนก็อาจจะมีภาพจำของนางเงือกเป็นสัตว์ประหลาดตามตำนานเล่าขานของพวกเขาก็ได้
และมันก็ไม่ควรมีอันไหนผิดหรือถูกเลย
ในอีกมุมหนึ่งถ้ามองว่า มันแสดงออกถึงการเรียกร้องความเท่าเทียม แม้จะเป็นเพียงการใช้คนดำมาแสดง ไม่ได้ใส่เนื้อหาทางการเมืองและประวัติศาสตร์บาดแผลของคนดำเข้าไปในเรื่องก็ตาม มันก็มากพอจะทำให้ใครบางคนรู้สึกหน่ายกับการที่อะไรๆ ก็เป็นเรื่องการเมืองไปเสียหมด ผมก็คงเรียนบอกแบบนี้ว่า ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของสังคมมนุษย์นั้น มันไม่เคยมีหลักการสำหรับการเรียกร้องไม่ว่าในเรื่อง ไม่มีใครบอกได้ว่าการเรียกร้องแบบไหนถึงจะถูก ในหลายๆ ครั้งการเรียกร้องก็ล้วนแล้วต่างเต็มไปด้วยการยัดเยียด คงจะไม่ต่างจากที่เด็กนักเรียนต้องยืนตรงเคารพธงชาติก่อนเข้าเรียน หรือการที่ใครสักคนกำหนดว่าเสื้อคอปกนั้นสุภาพกว่าเสื้อคอกลม ทั้งๆ ที่มันก็เสื้อเหมือนกัน และคนหมู่มากก็ยึดเป็นความคิดเดียวๆ กัน เรื่องเหล่านี้เกิดจากการยัดเยียดทั้งสิ้น ผมคงไม่ตัดสินในแง่ของศีลธรรมว่ามันดีรึเปล่า เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า การยัดเยียดนั้นดูจะปกติในสังคมเรา
แต่เราก็ย่อมมีสิทธิที่จะวิจารณ์การยัดเยียดนั้นๆ ได้อยู่เสมอ
อีกข้อครหาหนึ่งที่ฟังน่าสนใจมากๆ เช่นกัน ซึ่งผมขอใช้คำว่า มันเป็นประเด็นเรื่อง ‘ขอบเขตความสมเหตุสมผลที่ยังเกาะความสมจริงบนโลกแฟนตาซี’ ฟังแล้วจะฉงนสนเท่ห์กันรึเปล่านะ ผมลองยกตัวอย่างแบบนี้ ถ้าเราพูดถึงการต่อสู้ระหว่างแบทแมนกับซูเปอร์แมน เราต่างรู้ว่าเรื่องนี้มันก็แค่เรื่องแต่งแฟนตาซีที่ไม่ได้มีอยู่จริง แต่ถ้าหากแบทแมนเกิดเอาชนะซูเปอร์แมนได้ ด้วยการสู้แบบหมัดต่อหมัดโดยไม่มีอุปกรณ์ หรือ ตัวช่วยใดๆ เราจะรู้สึกว่ามันไม่สมเหตุสมผลทันที เพราะขอบข่ายพลังของทั้งสองต่างกันมาก เราย่อมคาดหวังว่าแบทแมนจะเอาชนะได้ก็ต่อเมื่อมีมุกเด็ด มีอุปกรณ์ มีการวางแผนบางอย่างเท่านั้น และเพราะฉะนั้นในกรณีของแอเรียล ถ้าหากเราจะตีความว่า เป็นสาวผมแดง มันก็เป็นไปได้แค่ว่าจะต้องเป็นคนขาว เพราะในโลกความจริง คนผมแดงมีแต่คนขาวเท่านั้น แน่นอนว่า มันก็ไม่ได้ผิดอะไรเช่นกันถ้าจะตีความว่า ผมแดงแต่ผิวดำก็ได้สิ ในเมื่อนี่คือนางเงือกที่ไม่ใช่สายพันธุ์มนุษย์ นี่แหละคือเสน่ห์ของโลกแห่งศิลปะ สำหรับบางคนก็เลยอาจจะรู้สึกขัดแย้งเล็กน้อยมองว่ามันไม่สมเหตุสมผล และบางคนก็มองว่าผู้ผลิตมีอิสระในการตีความเพราะอย่างไรมันก็เป็นโลกแฟนตาซี ในความเป็นจริง ถ้าหากจะเอาให้มันสมจริงที่สุดไปเลย นางเงือกในโลกความจริงก็อาจจะเป็นเพียงสัตว์ประหลาดน้ำลึกที่น่าเกลียดน่ากลัวสำหรับมนุษย์ก็ได้นะ ฉะนั้นขอบเขตของอิสระในการตีความมันก็ควรเป็นสิทธิของผู้ประพันธ์ แต่ผู้ชมย่อมมีสิทธิจะมีความคาดหวังที่หลากหลาย และมีโอกาสสูงที่มันจะไม่ถูกใจทุกคน ทว่าวิจารณ์ได้ อย่างไรมันก็คือโจทย์ที่ยากเสมอเมื่อคิดจะนำเอาตัวละครจากการ์ตูนมาให้คนตัวเป็นๆ มาแสดง
ในข้อสรุปสุดท้าย ผมขออนุญาตแสดงความเห็นส่วนตัวแล้วกันว่า ผมคงอยากเห็นแอเรียลเป็นคนขาว เพียงเพื่อความคิดถึงและโหยหวนความทรงจำในวัยเยาว์ จะเรียกว่าเป็น for nostalgia’s sake ก็ได้ และก็คงอยากนำเสนอความเห็นคล้ายๆ กับที่ แดเนียล เคร็ก ได้พูดถึงเจมส์ บอนด์ผู้หญิงในทำนองว่า จะมาเป็นบอนด์ทำไม ทำไมไม่เป็นอะไรบางอย่างที่ดีไม่แพ้บอนด์ โดยมีเส้นเรื่องตัวเองไปเสียเลย ผมก็มองแบบเดียวกัน มันอาจจะดีกว่าถ้ามีการตีความนางเงือกคนดำขึ้นมาใหม่ที่ดีไม่แพ้กับแอเรียล ไปเป็นอะไรบางอย่างที่มีเรื่องราวใหม่ เป็นภาพจำใหม่ของเด็กๆ อาจจะไม่ต้องเป็นนางเงือกที่แสนดีก็ได้ อาจจะเป็นนางเงือกที่ไม่บูชาความรักจนสูญเสียตัวเอง อาจจะไม่ได้ร้องเพลงเพราะ แต่เป็นนางเงือกที่ระบำใต้น้ำเก่งที่สุดในโลกบาดาลก็ได้ หรืออาจจะมีเส้นเรื่องในจักรวาลคู่ขนานที่มาคอลแลปส์กับพญานาคให้ลุ่มน้ำโขงก็ได้
ทั้งนี้มันก็สุดแต่รสนิยม และจริตของผู้ชมอยู่ดี ทุกท่านมีสิทธิเลือกที่จะดูหรือไม่ดูก็ได้ และเลือกที่วิจารณ์หรือไม่วิจารณ์ก็ได้เช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
- The gruesome origins of classic fairy tales (Jessica Doyle., 03 June 2021) abebooks.com
- Daniel Craig Says Those Calling for a Female Bond Are Asking the Wrong Question (Brady Langmann, 22 SEP 2021) esquire.com
- Ruining your childhood: Why ‘The Little Mermaid’ is regressive, sexist (Rania Rizvi, 30 Oct 2020) dailytargum.com
- The Little Mermaid Controversy: Wrecking Your Childhood- The Little Mermaid Was Much More Seditious (PELHAM PLUS- Camile Stephans, 10 SEP 2022) pelhamplus.com