สองสามวันมานี้ คุณๆ อาจเคยเห็นคลิปวิดีโอสั้นๆ ที่เป็นสิงโตทะเลกระชากหนูน้อยตกท่าเรือกันมาบ้าง ดูๆ ไปก็ชวนให้อกสั่นขวัญแขวนเสียเหลือเกิน แต่ว่านี่มันอะไรยังไง เรามาทำความเข้าใจการเข้าหาสัตว์กันดีกว่า ทั้งในกรณีนี้ และสัตว์โดยทั่วๆ ไป
บทเรียนของความไม่รู้
เหตุการณ์ในคลิปนี้เกิดขึ้นที่ท่าเรือประมง Steveston เมืองริชมอนด์ รัฐบริติชโคลัมเบียในประเทศแคนาดา (Steveston Fisherman’s Wharf, Richmond, British Columbia, Canada) และเจ้าสัตว์ตัวที่เห็นก็ไม่ใช่แมวน้ำ แต่เป็นสิงโตทะเลแคลิฟอร์เนีย California sea lion (Zalophus californianus) เพศผู้โตเต็มวัย ซึ่งสามารถมีน้ำหนักได้มากกว่า 300 กิโลกรัม นอกจากจะตัวใหญ่แรงเยอะแล้ว สิงโตทะเลเพศผู้ยังมีอุปนิสัยหวงอาณาเขตในช่วงฤดูผสมพันธุ์อีกต่างหาก (แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นของวิดีโอนี้)
เราจะเห็นว่าผู้ใหญ่ในวิดีโอทั้งให้อาหารและยั่วแหย่สิงโตทะเลเพื่อให้มันเข้ามาใกล้ๆ ทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็กก็ส่งเสียงดังกันด้วยความสนุกสนานตื่นเต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่จัดว่าเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมหรือ ‘สิ่งเร้า’ (stimulus…ในที่นี้ใช้ stimuli ที่เป็นรูปพหูพจน์ก็แล้วกันนะ เพราะหลายอย่างเหลือเกิน) และถ้าสังเกตดีๆ เราจะเห็นว่าสิงโตทะเลตัวนี้โผขึ้นมาหาเด็กรอบหนึ่งก่อนแล้ว แต่แทนที่จะมีใครพาเด็กไปอยู่ห่างๆ ผู้ใหญ่ทั้งหมดกลับไม่มีใครสนใจ นอกจากนั้นยังยั่วยุมันมากขึ้นอีกด้วยการเอามือทำท่าทางเหมือนว่าจะให้อาหารเพิ่ม
แล้วสิงโตทะเลที่เข้าใจว่ามีอาหารอยู่ตรงหน้าจะทำอย่างไรน่ะเหรอ? ก็พุ่งเข้าใส่ตามสัญชาตญาณเหมือนกับสัตว์ทั่วๆ ไปน่ะสิ
สิงโตทะเลเป็นสัตว์ที่ฉลาด มีความอยากรู้อยากเห็น และไม่ค่อยกลัวคน การที่เจ้าตัวนี้กระชากเด็กตกน้ำเป็นความผิดพลาดไม่ใช่พฤติกรรมก้าวร้าว (act of aggression) เมื่อรู้ว่าไม่ใช่อาหารมันก็รีบปล่อย แต่อย่างไรก็ดี ด้วยขนาดตัวและพละกำลังของสิงโตทะเลเพศผู้โตเต็มวัย เด็กและผู้เข้าช่วยเหลืออาจได้รับบาดเจ็บได้ (ซึ่งก็ดีแล้วที่ทุกคนปลอดภัยดี)
trivia : สิงโตทะเลกับแมวน้ำต่างกันอย่างไร? สังเกตง่ายๆ สิงโตทะเลจะมีหูเล็กๆ ข้างศีรษะและบนบกจะเคลื่อนไหวได้แบบสัตว์สี่ขามากกว่า ในขณะที่แมวน้ำไม่มีใบหูปกปิดรูหู และการเคลื่อนไหวบนบกดูอุ้ยอ้ายเป็นแนวนอนกว่ามาก ส่วนที่มีเขี้ยวยาวๆ นั่นวอลรัส (walrus, Odobenus rosmarus) ทั้งสามกลุ่มรวมอยู่ในวงศ์ใหญ่สัตว์ตีนครีบหรือ Pinnipedia เช่นเดียวกัน
การเข้าหาสัตว์ Approaching animals
สัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า หรือสัตว์จรที่เราพบเห็นได้ทั่วไป ต่างก็มี ‘ระยะปลอดภัย’ ระหว่างมนุษย์และตัวมันเองสองแบบด้วยกัน นั่นก็คือ 1) ‘ระยะหนี’ (flight distance) และ 2) ‘ระยะวิกฤติ’ (critical distance) ซึ่งการละเมิดระยะปลอดภัยนี้จะกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองโดยสู้หรือหนี (fight-or-flight response) ระยะทั้งสองแบบนี้มากน้อยไม่เท่ากันแล้วแต่อุปนิสัยและประสบการณ์ของสัตว์แต่ละตัว แต่โดยกว้างๆ เราก็อาจพูดได้ว่าสัตว์ที่คุ้นเคยกับคนมากกว่า (เช่น หมาแมวจร นกในเมือง หรือแม้แต่สิงโตทะเลที่พบเห็นชาวประมงกับนักท่องเที่ยวบ่อยๆ) ก็จะมีระยะปลอดภัยที่แคบกว่าสัตว์ป่าที่เคยถูกมนุษย์ล่ามาก่อน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วสัตว์ที่อยู่ในภาวะปกติร้อยทั้งร้อยจะเลือกรักษาระยะหนีและจะหนีมากกว่าสู้ ส่วนสัตว์ที่อยู่ในภาวะไม่ปกติ อันได้แก่ 3 สาเหตุหลัก คือ i) บาดเจ็บ ไม่สบาย, ii) เครียด (กำลังจนตรอก, หิว, อยู่ในช่วงผสมพันธุ์, ฯลฯ) และ iii) เลี้ยงลูกอ่อน หรือกำลังปกป้องอาณาเขต/รัง สัตว์พวกนี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะ fight อย่างเดียว
คุณสมิทธิ์ สุติบุตร์ นักเขียนสารคดีธรรมชาติและช่างภาพสัตว์ป่ามือเก๋า ได้คำแนะนำแบบสูงสุดคืนสู่สามัญเรื่องการเข้าหาสัตว์ไว้ว่า ‘ต่ำ-ช้า’ คือเราควรจะทำตัวให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ (นักถ่ายภาพนกชายเลนทั้งหลายก็ต้องถึงขนาดคลานเลนกันมาแล้ว) ไปให้ช้าที่สุด และลด stimuli ลงให้เหลือน้อยที่สุดโดยเฉพาะการส่งเสียงดัง นอกจากนี้ก็ควรสังเกตอาการของสัตว์อยู่ตลอด นกนักล่าขนาดใหญ่บางชนิดอาจจะถึงขนาดเข้าทำร้ายผู้บุกรุกอาณาเขตจนเลือดอาบได้ แต่ก่อนไปถึงขั้นนั้น มันจะบอกให้เรารู้เสมอด้วยการบินโฉบเข้าใส่และส่งเสียงร้องเตือน ซึ่งสัญญาณเหล่านี้ไม่ยากเลยที่เราจะเข้าใจ ถ้าเราตั้งใจรับฟัง
trivia : แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์ที่เรากำลังเข้าหามันแฮปปี้กับเรา? ง่ายที่สุดก็คือ มันควรจะไม่ใส่ใจเราและทำอะไรก็ตามที่มันทำอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเคี้ยวเอื้อง หาเห็บ เกาพุง หรือนอนอืด ฯลฯ การหันมาจ้องเขม็ง ตัวเกร็ง แต่หาง หู หรืออวัยวะส่วนอื่นๆ แสดงอาการกระสับกระส่ายอยู่ไม่สุข รวมทั้งอาจเคลื่อนตัวออกห่างเป็นการรักษาระยะหนี (ถ้าอยู่ในสภาพที่ทำได้) เป็นการส่งสัญญาณบอกเราแล้วว่ามันไม่โอเค สิ่งที่เราควรทำคือหยุดเข้าหามันหรือแม้แต่ถอยออกห่าง รอจนสัตว์ผ่อนคลายกว่าเดิมแล้วมันอาจจะยอมให้เราเข้าใกล้ได้มากขึ้น หรือแม้แต่อาจจะเป็นฝ่ายลดระยะปลอดภัยเองก็ได้ แต่ก็ไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป สัตว์บางตัวที่มีนิสัยระแวงมากๆ อาจจะยอมให้เราเข้าใกล้ได้มากที่สุดเป็นระยะหลายสิบเมตรเลยก็ได้
ระยะปลอดภัย
เมื่อมีคนมากขึ้นและธรรมชาติน้อยลง เขตของคนและสัตว์ก็ทับซ้อนกันมากขึ้น ทำให้ความสำคัญของการมีระยะปลอดภัยมีความหมายมากกว่าเดิม บางกรณีก็ชัดเจน เช่น คู่มือการชมวาฬขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA) และ Whale and Dolphin Conservation Society หรือ WDCS ของอังกฤษร่วมกันกำหนดระยะห่างที่เรือชมวาฬสามารถเข้าหาวาฬได้อยู่ที่อย่างน้อง 30 เมตร (และอย่างน้อย 450 เมตร ในกรณีพบวาฬไรท์แอตแลนติคเหนือ หรือ North Atlantic right whale, Eubalaena glacialis) ทั้งยังกำหนดเวลา ความเร็ว ทิศทางและจำนวนเรือที่สามารถเข้าชมวาฬได้ในแต่ละครั้งด้วย
อย่างไรก็ตาม การให้อาหารกับสัตว์ป่าถือว่าเป็นการเจตนาล่อหลอกเพื่อลดระยะปลอดภัย ซึ่งนอกจากอาหารของคนจะไม่ดีต่อสุขภาพของสัตว์แล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อโรคจากคนและสัตว์เลี้ยงไปสู่สัตว์ป่า (หรือจากสัตว์ป่ามาสู่คนและสัตว์เลี้ยงก็ได้เช่นกัน) สัตว์ป่าที่ได้รับอาหารจากคนบ่อยครั้งจะลดความระแวงคนลงจนเป็นอันตรายต่อทั้งตัวมันเอง คน และทรัพย์สิน อย่างกวางจากเขาใหญ่ตัวนี้ที่ได้กลิ่นเศษอาหารแล้วไปคุ้ยขยะจนมีฝาถังพลาสติกติดคอ การให้อาหารกับสัตว์ป่ายังเป็นการสอนให้สัตว์เชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับอาหาร จนเป็นปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น พฤติกรรมก้าวร้าวของลิงที่ขโมยของและอาหารไปจนถึงกัดข่วนคนตามแหล่งท่องเที่ยวอันเกิดจากการที่ลิงได้รับอาหารจากคนจนเคยชิน กลายเป็นข้อพิพาทเรื้อรังระหว่างคนกับลิงมาจนถึงทุกวันนี้
การกระทบกระทั่งระหว่างคนและสัตว์มักจบลงที่สัตว์เป็นผู้ผิด ดุร้าย น่ากลัว ทั้งๆ ที่เป็นคนนั่นเองที่ไม่ให้ความสำคัญต่อภาษากายของสัตว์ (body language) ไม่ใส่ใจที่จะหาความรู้ ไม่สนใจจะปฏิบัติตามข้อห้ามหรือคำเตือน
Rule of Thumb
การเข้าหาสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง (หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงของคนอื่นซึ่งเราอาจไม่รู้จักมันดี) พึงระลึกไว้เสมอว่า สัตว์มีสิทธิที่จะมีระยะห่างทางสังคมหรือ social distance เป็นของตัวเองเช่นกัน ถึงคุณบอกว่าฉันจ่ายเงินมาเที่ยวแพงๆ แล้วฉันมีสิทธิทำอะไรก็ได้ สมมติว่าเราไปเที่ยวบ้านของคนรู้จักที่ต่างประเทศ เราก็คงไม่ไปยุ่มย่ามในที่ส่วนตัวของเขาหรือว่าเรียกร้องอะไรมากมายตามใจอย่างไร้มารยาทหรอก จริงมั้ย? (เอ๊ะ หรือว่าใครทำ?)
ข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่สุด/Rule of thumb : ไม่ควรให้อาหารสัตว์ป่า จับ หรือสัมผัส ชมสัตว์จากระยะที่เหมาะสมและคอยสังเกตภาษากายของสัตว์นั้นอยู่ตลอดเวลา เชื่อสัญชาตญาณ (gut feeling) ของตัวเอง อะไรที่ไม่สบายใจหรือไม่แน่ใจ ให้เลือกทางที่ปลอดภัยกว่า ฟังคำแนะนำของคนในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความเข้าใจและความชำนาญกับอุปนิสัยของสัตว์ชนิดนั้นๆ มากกว่าตัวเราเอง รวมทั้งคอยดูแลเด็กเล็ก ผู้มีอายุหรือสมาชิกในกลุ่มที่ไม่แข็งแรง ซึ่งจะตกเป็นเป้าหมายที่สัตว์ในโหมด fight จะเลือกตามสัญชาตญาณ
“ไม่ทิ้งอะไรไว้นอกจากรอยเท้า ไม่เก็บอะไรไปนอกจากภาพถ่าย ไม่ฆ่าอะไรนอกจากเวลา” (Leave nothing but footprints, take nothing but pictures, kill nothing but time.) ยังคงเป็นหลักปฏิบัติตัวกับธรรมชาติที่ดีที่สุดเสมอ ในเมื่อเรามีสติปัญญาและมีเน็ตใช้ นอกจากจะหาข้อมูลสถานที่เที่ยวแล้ว ก็ยังหาความรู้เรื่องธรรมชาติในที่ที่เราจะไปด้วยก็ยังได้
trivia : เห็นบางคนบอกว่าดีใจจังที่ไม่ใช่แมวน้ำ แมวน้ำยังน่ารักอยู่…คนที่พูดแบบนี้นี่ไม่เคยเห็นข่าวแมวน้ำ fur seal ข่มขืนแล้วฆ่านกเพนกวิน กับ grey seal ฆ่า porpoise แล้วกินแต่ไขมัน (เหมือนฆ่าทูน่าทั้งตัวแล้วกินแต่โอโทโร่) แล้วก็ cape fur seal ฆ่าลูกฉลาม ล่ะสิท่า ประเด็นก็คือสัตว์ทุกชนิดต่างก็มีด้านสวยงามและด้านดิบอยู่ในตัวด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นไม่ว่ามันจะเป็นสิงโตทะเล แมวน้ำ วอลรัส นากทะเล หรือตัวอะไรก็แล้วแต่ที่เราอาจจะเห็นว่าน่ารัก ก็ไม่ควรจะไปให้อาหารหรือแหย่มันทั้งนั้นแหละ เพราะโลกนี้ไม่ใช่การ์ตูนดิสนีย์เนาะ