“เราว่าฉากเซ็กซ์ไม่เห็นจำเป็นเลย”
ภูมิทัศน์การพูดคุยการเมืองและจริยธรรมเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา หนึ่งในนั้นคือประเด็นเกี่ยวกับมุมมองต่อเซ็กซ์ ซึ่งเราอาจเห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เสียงที่เราเรียกกันโดยรวมๆ ว่า ‘คนรุ่นใหม่’ ดูเผินๆ แล้วเหมือนจะไม่ได้มองเซ็กซ์ในแง่บวกเท่ากับคนเจนก่อนหน้าหนึ่งรุ่น มุมมองนั้นๆ ชัดขึ้นเมื่อเราลองไปฟังเสียงการถกเถียงประเด็น Anti-Sex Scene ที่เป็นการถกเถียงกันว่า ฉากเพศสัมพันธ์ในหนังหรือเรื่องเล่าใดๆ ไม่เคยจำเป็นสำหรับเนื้อเรื่องเลย เพราะการฉายมันบนหน้าจอมักไม่นำไปสู่อะไรเลยนอกจากความกระอักกระอ่วนเท่านั้น
นอกจากกรณีดังกล่าว กระแสสงครามน้ำลาย Anti-Woke ที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายปี 2023 และดำเนินมาเรื่อยๆ ยังมักวาดภาพให้คนเจน Z จำนวนมากอยู่ในฐานะของกลุ่มคนที่ ‘เจ้าระเบียบ’ และ ‘หยุมหยิม’ นั่นก็ผิด นี่ก็ผิด มุมกล้องนี้เมลเกซ วรรณคดีเรื่องนี้ชายแท้สุดๆ ฯลฯ บางทีคนที่นำเสนอแนวคิดไปทางซ้ายที่สุดยังถูกนำไปเทียบกับการเป็นตำรวจ หรือแม้แต่เทียบว่ามีพฤติกรรมคล้ายอนุรักษนิยมไปอย่างงงๆ
มุมมองเช่นนั้นนำไปสู่คำถามและการถกเถียงที่ใหญ่ขึ้น ว่าคนรุ่นใหม่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมมากขึ้นหรือไม่? เกิดอะไรขึ้นกับทิศทางการเคลื่อนไหว Sex Positive? โลกกำลังเดินทางไปถึงจุดที่เรามีมุมมองต่อเพศในแง่ลบมากขึ้นหรือเปล่า?
Sex Positivity เราเท่ากันหรือเปล่า?
หากจะตามรอยที่มาของแนวคิด Sex Positivity เราต้องมองย้อนกลับไปช่วงปีระหว่าง 1960-1970 ของการเคลื่อนไหวการปฏิวัติทางเพศ (Sexual Revolution) การเคลื่อนไหวในยุคที่สังคมมีมุมมองแง่ลบต่อเพศสัมพันธ์และการพูดคุยถึงเพศโดยรวม อาจมองว่าเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องลับ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรพูดอย่างเปิดเผย สกปรก น่าอาย ฯลฯ ก่อนจะนำไปสู่การออกแบบนโยบายรัฐที่ไม่เอื้ออำนวยต่อทุกคน ซึ่งเป้าประสงค์หลักคือ การนำเรื่องเพศขึ้นมาบนดินโดยให้ถูกพูดถึงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้เห็นความหลากหลายในปัญหาต่อความเจ็บปวดของแต่ละกลุ่มคน เพื่อการเปลี่ยนแปลงแง่บวกในสังคม และผลของการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ได้นำไปสู่การเปิดรับเกี่ยวกับประเด็นเพศหลากหลายประเด็น
การแสดงออก Sex Positivity อาจมาในรูปแบบของการพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ทางเพศของเราอย่างเปิดเผย การรับฟังประสบการณ์ทางเพศอย่างหลากหลายและเข้าใจ การเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศของเราและผู้อื่น การไม่ล่วงเกินรสนิยมทางเพศของใคร การเรียนรู้เกี่ยวกับ Consent ฯลฯ
เช่นเดียวกันกับทุกๆ แนวคิด Sex Positivity ว่ายเวียนอยู่ในกระแสเสมอ บางครั้งผุดออกมาให้เราได้เห็นอย่างสง่างามอีกครั้ง บางครั้งอาจซบเซาลงด้วยคลื่นกระแสใหม่ๆ ที่พัดมันจมลงเพื่อรอวันที่จะขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตาม หากมองไปยังพาดหัวข่าวมากมายในปี 2024 เราจะพบเข้ากับเทรนด์ที่น่าสนใจ นั่นคือ “ทำไมคนเจน Z มีเซ็กซ์กันน้อยลง?” “มิลเลนเนียลมองเซ็กซ์ในแง่บวกกว่าเจน Z!” “เจน Z กำลังพลาดสรรพคุณทางสุขภาพของเซ็กซ์อยู่” การนำเสนอดังกล่าวพ่วงกับสถิติที่บอกว่าคนรุ่นใหม่มีเซ็กซ์ไม่เท่าคนเจนก่อน และไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันเท่าคนเจนที่แล้ว เขียนภาพใหญ่ที่หลายๆ คนตีความว่า “เจน Z เป็นรุ่นที่ Sex Negative” แต่นั่นจริงแค่ไหน?
ก่อนอื่นการพูดเกี่ยวกับ ‘รุ่น’ หรือ ‘เจน’ ใดๆ คือการเหมารวมที่นักสังคมวิทยาจำนวนหนึ่งมีความเห็นว่า มันเกิดขึ้นเพื่อนักการตลาดและนักวิจัยเซอร์เวย์ ซึ่งเป็นการพยายามผลักให้คนเข้ากรอบเข้ารอยไปกับบุคลิกที่สามารถจัดหมวดจัดหมู่ได้ง่าย ฉะนั้นการตีความว่าคนเจนหนึ่งเป็นแบบนี้ อีกเจนเป็นแบบนี้ มักอาศัยการเหมารวมระดับหนึ่งเสมอ แต่ในกรณีของการบอกว่าชาวเจน Z ไม่ Sex Positive เท่ากับคนเจนก่อนหน้านั้นจึงอาจมีอีกระดับของการทึกทักอยู่ในนั้น
มองลึกลงไปในสถิติเหล่านั้นอย่างเว็บไซต์คอนเทนต์ Business Insider หรือเว็บหาคู่ Eharmony มักเป็นประเด็นที่ตอบคำถาม เช่น คุณมีอะไรกันบ่อยขนาดไหน? คุณให้ความสำคัญกับเซ็กซ์ขนาดไหนในความสัมพันธ์? คุณมองว่าเซ็กซ์เชื่อมโยงกันกับความสัมพันธ์มากขนาดไหน? ฯลฯ หากเรามองมาที่ตรงนี้แล้วเทียบกันกับความหมายและการแสดงออกของแนวคิด Sex Positive เราอาจจะเห็นได้ว่ามันคือคนละเรื่องเดียวกัน เพราะ Sex Positivity ไม่ใช่การวัดว่าคนเรามีเซ็กซ์มากขนาดไหน หรือพูดเกี่ยวกับบ่อยขนาดไหน แต่คือมุมมองที่เรามีต่อเซ็กซ์เสียมากกว่า
เมื่อผ่านเกมกระซิบชื่ออินเทอร์เน็ตที่ส่งต่อแนวคิดหนึ่ง ไปสู่คนอีกคนโดยไม่ได้ภาพรวมทั้งหมด บ่อยครั้งคำว่า Sex Positive จึงเปลี่ยนแปลงไปจาก “เซ็กซ์ควรพูดถึงได้เป็นปกติ และเราควรยอมรับในรสนิยมทางเพศที่หลากหลายยิ่งขึ้น” กลายเป็น “เราต้องแสดงออกอย่างเปิดเผยในเรื่องเซ็กซ์” ซึ่งนั่นเองที่อาจมากเกินไปสำหรับเราหลายๆ คน และมันอาจทำให้เราถูกตีความว่าเป็นกลุ่มคนที่เคร่งครัดได้
วาทกรรม “Puriteen” วัยรุ่นเจ้าระเบียบกำลังเบ่งบานจริงหรือ?
เมื่อมองไปยังการต่อต้านเนื้อหาทางเพศหลายๆ รูปแบบของคนรุ่นใหม่ พ่วงกับการไม่ให้ความสำคัญในเรื่องเซ็กซ์เท่าคนเจนอื่นๆ ตามสถิติ จึงก่อให้เกิดวาทกรรมที่เรียกคนรุ่นนี้ว่า Puriteen คำที่ผสมกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนผู้เคร่งครัดอย่างพิวริตัน เข้ากับคำว่า Teenager ที่แปลว่าวัยรุ่น ซึ่งความหมายอาจแปลได้คร่าวๆ ว่า ‘วัยรุ่นเจ้าระเบียบ’ ที่ปฏิเสธเซ็กซ์ หรือปฏิเสธความต้องการทางเพศเหมือนกับเหล่านักบวชที่ต้องถือพรหมจรรย์
คำว่าวัยรุ่นเจ้าระเบียบนี้มักถูกโยนให้แก่กลุ่มวัยรุ่นเจน Z ที่ร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางออนไลน์ เช่น การต่อต้านหนังโป๊ หรือการต่อต้าน ‘kink’ ในงานไพรด์ โดยคำหรือการแสดงออกรูปแบบดังกล่าว ยังมักถูกใช้เมื่อใครสักคนออกความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาทางเพศที่ ‘เป็นปัญหา (Problematic)’
ด้วยธรรมชาติของการใช้ภาษา สิ่งที่ถูกทึกทักอยู่ในคำว่า Puriteen คืออนุรักษนิยมซึ่งขัดต่อธรรมชาติของ ‘การเป็นวัยรุ่น’ ความฝืนธรรมชาติเพื่อหาความสูงส่งทางจริยธรรม การสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม กล่าวโดยรวมนั่นคือมุมมองที่กลุ่มคนเหล่านี้ถูกแปะป้ายเอาไว้ว่าเป็นเพียงแกะผู้ติดตาม ก่อนจะเดินไปทางขวาสู่ความเป็นอนุรักษนิยม อย่างไรก็ดี การที่เรายกตัวอย่างถึง 2 ความเคลื่อนไหวในย่อหน้าที่ผ่านมานั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการวาดภาพให้เห็นว่าการมีความรู้สึกแง่ลบต่อเซ็กซ์นั้น ไม่ได้จำต้องผูกอยู่กับมุมมองอนุรักษนิยมเท่านั้น
การลดทอนมุมมองและข้อโต้แย้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อการถกเถียงกันบนอินเทอร์เน็ตได้ไวขึ้นและสั้นลง เราหลายๆ คนต่อต้านหนังโป๊ ไม่ใช่เพราะเรายึดถือศีลธรรมอันดี แต่เพราะว่าอุตสาหกรรมที่มันตั้งอยู่ไม่ให้สวัสดิภาพที่ดีพอแก่แรงงานที่ทำงานอยู่ในนั้น รวมไปถึงการสร้างภาพจำเกี่ยวกับเพศผ่านเมลเกซ การถกเถียงประเด็นสังคมมีรายละเอียดมากกว่าแค่สโลแกนและชื่อในการเคลื่อนไหวของมัน ซึ่งบ่อยครั้งคนที่ถูกแปะป้ายว่ากำลังเดินไปทางขวาขึ้นนั้น กลับมีแนวคิดไปซ้ายมากสุดๆ เสียด้วยซ้ำ เพราะความเห็นของพวกเขาจำนวนมากบอกเราอย่างนั้น
มากกว่าจริยธรรม
ในโพสต์ที่ห้อง r/AskLGBT บนเว็บไซต์ Reddit หัวข้อ Why is Gen Z seemingly more sex negative than Millennials? ที่ผู้โพสต์นาม u/tringle1 ถามความคิดเห็นเพื่อนร่วมชุมชนของเขาเกี่ยวกับมุมมองที่ว่า คนเจน Z ดูมีมุมมองแง่ลบต่อเพศมากกว่ารุ่นอื่นๆ นี้มาจากอะไร? พบว่าความคิดเห็นมากมายใต้โพสต์นี้นำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นี้
“เราไม่ชอบเซ็กซ์ PiV (Penis in Vagina) เพราะประสบการณ์ของเราจากการถูกจับเข้าการบำบัดแก้เพศวิถี (Conversion Therapy) และสื่อกระแสหลักส่วนมากไม่นำเสนอเซ็กซ์ของเควียร์อย่างถูกต้อง เราเลยไม่ชอบดูมันเลย” ผู้ใช้คนหนึ่งตอบ นั่นวาดภาพให้เราเห็นถึงผลกระทบที่แท้จริงของการไม่ได้รับการนำเสนอผ่านสื่ออย่างถูกต้อง และนโยบายรัฐที่กดขี่ทางเพศ ก็สร้างแผลใจขนาดใหญ่นั่นเอง
“อินเทอร์เน็ตพาเด็กเจน Z ไปเจอบางอย่างตั้งแต่ยังเด็ก: คอนเทนต์พวกปฏิกิริยานิยม (Reactionary Content)…มันปลูกฝังแนวคิดขวาจัดที่เราต้องเอาออกไปจากหัวให้ได้” อีกหนึ่งคนตอบคำถาม เนื้อหาที่เขาหมายถึงอาจไล่เรียงมาได้ตั้งแต่ความเชื่อเกี่ยวกับเพศตามขนบศาสนา ไปจนมุมมองเหยียดเพศของ Manosphere “นั่น แล้วผสมอีกนิดกับการเมืองเรื่องความเคารพ (Respectability Politics) และความกลัวถูกมองว่าเป็น ‘ตัวประหลาดทางเพศ’ ตู้ม! เราก็จะได้คนหนึ่งเจนที่มองเพศอย่างลบๆ แหละ” เขาพูดต่อ
หลายๆ คอมเมนต์พูดเกี่ยวกับการที่พวกเขาสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตั้งแต่เด็ก และปริมาณของสื่อโป๊เปลือยที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้ฟรีๆ นั้นสูงมาก แต่ภาพที่พวกเขาเห็นกลับไม่ได้ทำให้เซ็กซ์ดูน่าดึงดูด แต่เป็นภาพน่าแสลงและเปื้อนไปด้วยมุมมองสายตาผู้ชาย
นอกจากสื่อโป๊เปลือยแล้ว เรื่องราวที่ถูกเหล่าผ่านอินเทอร์เน็ตรูปแบบอื่นยังนำไปสู่ภาพของเซ็กซ์ที่ไม่ดีนัก “สิ่งที่เรารู้สึกถึงคือเรื่องสยองมือสอง ทั้งการคุกคามทางเพศผ่านหนังสือหรือบทความ แน่นอนมากๆ ว่ามันทำให้เรื่องเพศสำหรับเราดูน่ากลัว น่ารังเกียจ และอันตราย” อีกหนึ่งผู้ใช้กล่าว เพราะงั้นจะให้เรามองโลกเป็นบวกได้อย่างไร ในเมื่อเกือบทุกอย่างที่เราเห็นผ่านหน้าต่างในโลกบานเดียวของเรานั้นดูน่ากลัวขนาดนี้?
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงมุมมองไม่กี่มุมมอง แต่มันอาจวาดภาพให้เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการอาศัยอยู่ในโลกปัจจุบันของเรา เราผ่านการปฏิวัติทางเพศไปแล้วอย่างยาวนาน และเราอยู่ในที่ที่ก้าวหน้ากว่าที่เคย แต่หากมองไปยังประสบการณ์ข้างต้นที่ยกขึ้นมา เราอาจตั้งคำถามกับความก้าวหน้านั้นๆ ก็ได้
“การแสดงออก Sex Positivity อาจมาในรูปแบบของการพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ทางเพศของเราอย่างเปิดเผย การรับฟังประสบการณ์ทางเพศอย่างหลากหลายและเข้าใจ การเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศของเราและผู้อื่น การไม่ล่วงเกินรสนิยมทางเพศของใคร การเรียนรู้เกี่ยวกับ Consent ฯลฯ” เราเขียนอย่างนั้นไว้ในหัวข้อแรก และแน่นอนว่าทุกวันนี้เราล้วนเดินไปข้างหน้าสู่สิทธิของคนทุกเพศที่ไกลกว่าเดิม แต่คำถามคือไกลพอแล้วหรือยัง?
คนหลายๆ คนในโลกที่มองเซ็กซ์ในแง่ลบ ไม่ได้มาจากมุมมองอนุรักษนิยมเพียงอย่างเดียว หากแต่จากความกลัวว่าโลกและสังคมของเขามองเพศของเขาในแง่ลบ จากธรรมชาติของการผลิตสื่อบางแบบที่เปลี่ยนมุมมองของเขาต่อเพศไป จากการไม่เคยได้รับการสอนเกี่ยวกับเพศของตัวเอง หรือมีการนำเสนอมันอย่างถูกต้อง
บางทีไม่ใช่แค่คนบางกลุ่มที่ต้องถามคำถามนี้ แต่เราทุกคนเองก็อาจจะต้องถามตัวเองว่า แล้วเรา Sex Positive พอแล้วหรือยัง?
อ้างอิงจาก