เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นมา สถานที่แรกที่คนนึกถึงอาจไม่ใช่โรงพยาบาล แต่เป็นร้านขายยาใกล้บ้าน และจากการสำรวจของทีมผู้ก่อตั้งพบว่ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของร้านขายยาทั้งหมดยังขาดระบบการจัดการที่ดี Arincare จึงเป็นสตาร์ทอัพรายแรกๆ ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นร้านขายยา เพื่อช่วยให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นระบบระเบียบ และที่สำคัญ พวกเขายังมองเป้าหมายที่กว้างและไกลถึงระดับคุณภาพชีวิตของสังคมทีเดียว
“7-11 ว่ามีเยอะแล้ว ร้านขายยาในเมืองไทยมีเยอะกว่าประมาณ 3 เท่า และนี่คือรากฐานของสาธารณสุขเมืองไทย มันเกี่ยวโยงกับเราทุกคนตลอดทั้งชีวิต ซึ่งถ้าเราช่วยยกระดับการจัดการตรงนี้ได้ ผมเชื่อว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น”
ความเชื่อมั่นนี้ทำให้ ธีระ กนกกาญจนรัตน์ ร่วมกับ ชายพงษ์ นิยมกิจ และ ภก.กานน ธรรมเจริญ ช่วยกันพัฒนาระบบ ARINCARE ขึ้นตั้งแต่ปี 2015 และเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา
ARINCARE คือฐานข้อมูลออนไลน์สำหรับร้านขายยาที่จะบรรจุข้อมูลตัวยากว่า 7,000 ชนิด ตัวซอฟต์แวร์ถูกออกแบบให้บริหารจัดการได้ตั้งแต่ระบบสต็อคสินค้า ข้อมูลยา การจัดการบัญชี รวมถึงข้อมูลของผู้ใช้ยาแต่ละคนที่จะออนไลน์โดยทั่วถึงกัน
“ถ้าคุณเข้าไปที่ร้านขายยาร้านใดก็ตามซึ่งใช้ระบบของเรา คุณแค่แจ้งชื่อ-นามสกุลและอาการที่คุณเป็นอยู่ตอนนี้ ทางร้านจะเข้าถึงข้อมูลได้ทันทีว่าคุณแพ้ยาอะไร และเคยใช้ยาตัวไหนมาก่อน พร้อมกับบันทึกข้อมูลความเจ็บป่วยครั้งล่าสุดของคุณไว้ ซึ่งผมคิดว่าข้อนี้สำคัญมาก เพราะบางครั้งร้านขายยาอาจลืมถามข้อมูลนี้ และผมก็เคยเห็นคนที่ป่วยหนักขึ้นหรือถึงขั้นเสียชีวิตเพราะใช้ยาผิดมาแล้ว”
หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ณ ตอนนี้ ผู้ใช้ระบบ ARINCARE กว่า 200 ราย มีทั้งร้านขายยา คลังยาในโรงพยาบาล เภสัชกรส่วนตัว นักศึกษาแพทย์ รวมถึงคลินิกทั่วไป
“แรกเริ่มคนอาจจะยังไม่ชินกับการใช้ระบบนี้ แต่เราเชื่อว่าทุกคนเริ่มต้นจากศูนย์ทั้งนั้น อาจเหมือนยุคที่คนยังไม่ชินกับการแชร์ไฟล์ผ่าน Dropbox หรือ Google Drive แต่เมื่อได้ลองใช้แล้วมันเปลี่ยนโลกเราไปเลย ผู้ใช้ของ ARINCARE ก็เช่นกัน แรกเริ่มเราอาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจว่าเรามาด้วยเจตนาที่ดี เราอยากให้เขาเชื่อว่ามันมีโมเดลธุรกิจแบบนี้ที่อยู่ได้จริงๆ ในยุคสมัยใหม่”
โมเดลธุรกิจก็คือ ซอฟต์แวร์นี้เปิดให้ใช้ฟรีโดยไม่มีเงื่อนไข รายได้หลักของ ARINCARE คือการเก็บเงินจากการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นแทน
“ตอนแรกเราไม่รู้หรอกว่าจะหาเงินยังไง รู้แต่ว่าซอฟต์แวร์ต้องฟรี ซึ่งเมื่อลงพื้นที่แล้วพบว่าร้านขายยาจำนวนมากต้องการความช่วยเหลือเรื่องฮาร์ดแวร์ด้วย เราจึงหาเงินจากการช่วยจัดหาและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ และร้านส่วนมากก็ยินดีให้เราช่วย ส่วนร้านไหนที่ไม่ต้องการใช้บริการในด้านนี้เราก็ยินดีเช่นกัน คุณใช้เพียงซอฟต์แวร์ของเราได้ฟรีตลอดไป เพราะอย่างน้อยมันก็ช่วยขยายพื้นที่เครือข่ายและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคมได้”
อย่างไรก็ตาม ARINCARE ไม่เคยแบรนด์ตัวเองว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม เพราะเขามองว่าทุกธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ต้องมีบางสิ่งที่มอบให้แก่สังคม ในยุคสมัยที่การแข่งขันสูงขึ้นทุกที อาวุธที่สำคัญที่สุดอาจเป็นความจริงใจและการเข้าถึงปัญหาให้ถูกจุด เหมือนอย่างที่ธีระ หนึ่งในผู้ก่อตั้งทิ้งท้ายไว้ว่า
“ถามว่าโมเดลนี้ไปได้ไหม ผมคิดว่ามันไปได้ เราเชื่อในระบบ give and take ซึ่งท้ายที่สุดมันจะแตะถึงชีวิตทุกคน เพราะ ARINCARE คือ painkiller ไม่ใช่แค่วิตามิน”
จากคอลัมน์ Startup โดย ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์
giraffe magazine 58 — Pantip Issue