Augmented Reality ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันถูกทำให้ ‘ใหญ่’ ขึ้น และแสดงประสิทธิภาพได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้นในเกมอย่าง Pokémon GO การตื่นตัวของสังคมและรัฐต่อมิติที่ซ้อนทับกันของโลกความจริงกับโลกสมมติจะทำให้นโยบายการควบคุมพื้นที่ต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
ระหว่างที่ผมเขียนคอลัมน์อยู่นี้ เกม Pokémon GO เพิ่งเปิดตัวในไทยได้ไม่นาน
สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยไม่ต่างจากในต่างประเทศที่ Pokémon GO ได้สร้างปรากฏการณ์ ‘เล่นกันจนเป็นประเด็นสังคม’ จนรัฐบาลต้องออกมาเต้นเร่า เจรจากับผู้ถือลิขสิทธิ์ตัวละครอย่างทรู ให้ไปช่วยเจรจากับ Niantic ผู้พัฒนาเกม เพื่อจัด ‘โซนนิ่ง’ ในหลายมิติ คือนอกจากพยายามจำกัดพื้นที่เล่นแล้ว ยังพยายามจำกัดเวลา เช่น ถ้าดึกเกินไปห้ามเล่น เพราะเป็นห่วงสวัสดิภาพของเด็กๆ (ปัจจุบันก็ไม่รู้ว่าผลเป็นแบบไหนนะครับ) และล่าสุดมีข่าวว่า Niantic จะพัฒนาเกมเวอร์ชั่นแต่ละประเทศโดยเฉพาะ ซึ่งก็มีคนตีความไปต่างๆ นานา เช่น แต่ละประเทศจะควบคุม ‘พื้นที่สมมติ’ ได้ง่ายขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะลงเอยอย่างไร
ที่ผ่านมาเราอาจไม่ตื่นตัวเรื่อง Augmented Reality กันมากนัก อาจเคยได้ยินเรื่องการใช้กล้องโทรศัพท์ ‘ส่อง’ QR Code ให้ตัวละครโผล่ออกมาจากหน้าหนังสือได้ หรือหลายคนอาจเคยใช้แอพ Layar แสดงข้อมูลเพิ่มเติมของสถานที่ แต่ Augmented Reality ก็ยังไม่ ‘มา’ เสียที จน Pokémon GO แสดงอิทฤทธิ์ให้มัน ‘มา’ (ก่อนหน้านี้มีเกม Ingress ซึ่งเป็นที่พูดถึงพอสมควรแต่ก็ไม่เข้าสู่กระแสวัฒนธรรมหลักแบบนี้)
พอ Augmented Reality ‘มา’ เราจึงได้เห็นปัญหาใหม่ๆ ที่มาพร้อมกัน
Augmented แปลว่าการเสริม เติม แต่ง เมื่อมารวมกับ Reality จึงหมายถึงการเสริม เติม แต่ง ความจริง ให้มีความหมายด้านอื่นๆ เพิ่มเติม
จากเดิมเรามองสถานที่หนึ่งด้วยความหมายดั้งเดิมของมันเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นความหมายที่กำหนดโดยสังคม เช่น วัดคือสถานที่ของพระ โรงพยาบาลคือสถานที่รักษาร่างกาย หรือความหมายที่กำหนดด้วยประวัติศาสตร์ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม เช่น เราเคยมาทำบุญที่วัดนี้กับคนรักเก่า แต่ตอนนี้โปรแกรม Augmented Reality ทั้งหลายผูกตัวเองเข้ากับสถานที่จริง และเข้ามาเติมอีกความหมายหนึ่งให้กับสถานที่เหล่านี้ วัดอาจไม่ใช่ที่ของพระหรือที่ที่เราเคยทำบุญกับคนรักเก่าเท่านั้น แต่อาจจะเป็นจุด Pokéstop ใน Pokémon GO หรือจุดรวมพลคนรักแมวในอีกแอพก็ได้
ความท้าทายของรัฐในการควบคุมการให้ความหมายใหม่คือพวกเขาต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างความหมายใหม่กับความหมายเก่า โดยที่ไม่ให้ความหมายใหม่มาสอดแทรกความหมายเก่าจนสังคมไม่อาจดำเนินไปได้ เช่น มีคนมาจับโปเกมอนที่วัดจนคนทำบุญไม่ได้ หรือบรรดาหมอๆ เข้าไปออในห้องผ่าตัดอันเป็นแหล่งนัดพบในเกม ซึ่งก่อนที่รัฐจะรักษาสมดุลได้ พวกเขาต้องเข้าใจว่าความหมายใหม่นั้นได้รับการยอมรับมากแค่ไหน อย่างไร ทัดทานกับความหมายเก่า หรืออยู่ร่วมกันได้ไหม ซึ่งไม่อาจทำได้ด้วยอำนาจแบบรวมศูนย์อย่างการเรียกคนเข้าไปสั่ง ตามแบบที่คนบ้าอำนาจชอบทำ
แน่นอนว่าในอนาคต Pokémon GO จะไม่ใช่แอพ Augmented Reality เพียงแอพเดียว เพราะมันได้เปิดประตูสู่ตลาดใหม่ ซึ่งจะมีเหล่าสตาร์ทอัพรุกเข้ามาเล่นกันอย่างหนาตา เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาจึงไม่ใช่ว่า ‘รัฐควรจัดการกับ Pokémon GO อย่างไร’ แต่อาจเป็น ‘สังคมควรหาวิธีอยู่ร่วมกับการให้ความหมายใหม่ของพื้นที่อย่างไร ในแบบที่ทุกความหมายไม่ไปเบียดเบียนซึ่งกันและกันจนเกินไป’
จากคอลัมน์ Lab โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล : giraffe Magazine 46 — PET Issue
ติดตามเรื่องราวอื่นๆ ได้ที่ readgiraffe.com