‘สวัสดีครับ คิดว่าเศรษฐกิจมหภาคในวันนี้ได้รับผลกระทบจากราคาทุเรียนอย่างไรบ้าง’
จะบ้าเหรอ! ใครเจอหน้ากันแล้วจะคุยเหมือนเป็นรายการถกเถียงเชิงวิเคราะห์กันทันที
ในชีวิตเราก็ใช่ว่าจะเป็นเวทีทอร์กกันตลอดเวลา การสื่อสารกับผู้คนหลายครั้งจึงไม่ใช่เพื่อ ‘สื่อสารความคิด’ อะไรใหญ่โต แต่เป็นกระบวนการที่มนุษย์ใช้เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน การชิตแชตที่ตัวเราเองอาจจะไม่ได้ส่ง ‘สาระ’ อะไร แต่ตัวมันเองนั่นแหละคือสาระสำคัญในการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้คน
การพูดคุยสนทนาเล็กๆ น้อยๆ นัยหนึ่งเราก็แอบเรียกมันอย่างดูแคลนว่า small talk เป็นการพูดคุยที่ตรงข้ามกับการสนทนาสาระหนักๆ (big talk) บางคนอาจจะรู้สึกว่าการคุยเล็กๆ น้อยๆ นี่มันช่างหยุมหยิม เสียเวลา ในทางกลับกัน เราก็พอจะรู้ว่าการสนทนาเล็กๆ แบบนี้เป็นแกนสำคัญในการเข้าสังคม เป็นการขุดพรวนความสัมพันธ์กับผู้คน
small talk ฟังดูเป็นเรื่องขี้ผง แต่จริงๆ กลับไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายเลย small talk น่าจะถือว่าเป็นทักษะทางสังคมอย่างหนึ่ง เป็นทักษะทางการสื่อสารที่ค่อนข้างมากำหนดว่าคนคนนั้นจะสามารถเข้าสังคมได้ดี – และเป็นช่องทางของความเจริญก้าวหน้าเลื่อนลำดับในสังคมต่อไป – การที่คนคนหนึ่งสามารถชิตแชตได้ดีย่อมต้องเป็นคนที่มีศิลปะในการสื่อสาร รู้เรื่องรอบตัว รู้จังหวะ มีวาทศิลป์อยู่พอประมาณ
Small talk – Big talk สื่อสารที่ไม่มีสาร
‘ชิตอะแชต’ มักจะถูกจัดอยู่ในการพูดคุยประเภทที่ ‘ไม่มีสาระ’ เป็นการคุยกันเรื่อยๆ เปื่อยๆ สารทุกข์สุกดิบบ้าง ยาวๆ หน่อยก็เลยไปคุยเรื่องชาวบ้าน เป็นการเมาท์มอยหอยกาบ ไอ้การพูดคุยที่ในที่สุดเราอาจจะไม่ได้ ‘ได้อะไรขึ้นมา’ เช่น ไม่ได้ความรู้เพิ่มเติม ไม่ได้รับรู้ความเคลื่อนไหวเป็นไปของโลกที่สลักสำคัญ ไปจนถึงไม่ได้รับแก่นแท้หรือปรัชญาบางอย่างของชีวิต แต่การคุยที่ ‘ไร้สาระ’ นี้กลับมีสารัตถะในตัวเอง
ในปี 1923 บทความชิ้นแรกๆ ที่พูดถึงความสำคัญของการชิตแชตชื่อ ‘The Problem of Meaning in Primitive Languages.’ ของ Bronisław Malinowski พูดถึงการสื่อสารที่ไม่เน้นสารนี้ว่า จริงๆ แล้วการพูดคุย (talk) ของมนุษย์ ไม่ได้เน้นเรื่องการสื่อสารความคิดอย่างเดียว แต่เราพูดคุยกันก็เพื่อ ‘กระชับความสัมพันธ์’ (social bonding) มากกว่าจะเป็นการสื่อสารอะไรบางอย่าง (communication)
Malinowski พูดถึงความเงียบและการพูดว่า ความเงียบค่อนข้างมีลักษณะคุกคาม นึกภาพปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนแปลกหน้า – แปลกพงศ์พันธุ์ – ในสมัยก่อน ความเงียบหมายถึงความไร้อารยะ ภาวะไร้ภาษา และอันตรายที่อาจจะมาถึง ดังนั้นการทำลายความเงียบด้วยการทักทาย พูดคุยเรื่องเรื่อยเปื่อย จึงเป็นความพยายามในการทำลายความเงียบ คือการทำลายบรรยากาศตึงเครียดและความน่าอึดอัดระหว่างคนแปลกหน้าสองคน
ต่อเนื่องจาก Malinowski นักภาษาในยุคหลัง ยุคที่เราเริ่มพิจารณาความซับซ้อนและสิ่งที่เรากระทำต่อกันผ่านภาษา ภาษาไม่ได้ทำหน้าที่แค่สื่อสาร แต่ตัวมันเองกำลัง ‘ทำอะไร’ – ส่งสัญญาณ – อะไรบางอย่างในปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมอยู่เสมอ สิ่งสำคัญในบทสนทนาเดิมๆ คำตอบที่เราตอบและถามกันซ้ำๆ ไม่ใช่เนื้อหาสาระ แต่คือนัยของการเน้นย้ำความสัมพันธ์ ย้ำถึงความเป็นกลุ่มก้อน ครอบครัว ญาติมิตร การรับรู้ความเป็นไปซึ่งกันและกัน เรากำลังให้กำลังใจ รับรู้ ยอมรับ ควบคุมหรือปฏิเสธซึ่งกันและกันอยู่ในการสื่อสารที่มีนัย (subtle) มากไปกว่า ‘ส่งสาร-สาระ’
ดังนั้นในด้านหนึ่ง คนที่สามารถ ‘พูดคุย’ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้ดี ในแง่ที่สามารถนำการสนทนาไปได้อย่างยาวนานและน่าสนใจ ค่อยๆ นำไปสู่ความสนใจบางอย่าง ก็ย่อมเป็นคนที่มีทั้งสายตาและมี ‘ของ’ ในตัวเอง สามารถที่จะเลือกและรับส่งบทสนทนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เคล็ดวิชาของการชิตแชต
ในโลกของการเงินและการทำงาน ดูเหมือนว่าการชิตแชตจะเป็นหนึ่งในแกนกลางของความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน แน่ละ เพราะเราทำงานเป็นสังคม เราย่อมหลีกเลี่ยงการพูดคุยไม่ได้ การเป็นคนพูดคุยที่ดีย่อมเกี่ยวข้องกับการที่เราจะได้งาน เราจะทำงานกับเพื่อนร่วมงานได้ดีมั้ย เข้ากับลูกค้าได้ดีรึเปล่า Scott Hoover ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางการเงินบอกว่า ถ้าคุณอยากจะไต่เต้า ความสามารถในการพูดคุยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ถือเป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญ การที่คนคนหนึ่งสามารถสร้างและต่อบทสนทนากับลูกค้าได้ ก็หมายถึงศักยภาพของคนคนนั้นที่สามารถคิดสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีคนคอยบอกให้ทำอะไรตลอดเวลา
small talk จึงถือเป็นทักษะจำเป็นหนึ่งของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทางเว็บไซต์ Techly ก็เลยเสนอเคล็ดการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ไว้สองเคล็ดวิชา คือ ARE และ FORD ก็ตามสไตล์ฮาวทู
ARE เป็นเคล็ดวิชาที่ให้ฉวยใช้บรรยากาศและสิ่งรอบตัวมาสร้างบทสนทนา ย่อมาจากคำว่า Anchor, Reveal และ Encourage คิดขึ้นโดย Dr. Carol Fleming ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารในภาคธุรกิจ คำว่า Anchor คือการทอดสมอโดยหยิบสิ่งต่างๆ รอบตัวขึ้นมาเป็นประเด็น ชี้ชวนคู่สนทนาเราให้เข้าไปสู่ประเด็นหรือเรื่องราวบางอย่าง เพลงที่เปิด อาหารที่กิน ไปจนถึงเรื่องเล็กน้อยอื่นๆ Reveal คือเมื่อเราเปิดประเด็นแล้ว เราก็เผยเรื่องราวบางอย่างออกไปจากประเด็นนั้นๆ เช่น เพลงนั้นเราเคยมีอดีตกับมันนะ ก่อนที่จะนำไปสู่การ Encourage คือกระตุ้นให้อีกฝ่ายเล่าเรื่องราวบางอย่างออกมา
วิธีการ ARE ที่ว่าดูจะเป็นจิตวิทยาและไหวพริบในการสื่อสารเบื้องต้น คือการมีไหวพริบกับสิ่งรอบตัว การให้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปสู่ความสบายใจและไว้เนื้อเชื่อใจ ก่อนจะไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูล เรื่องราว และความรู้สึกบางอย่างต่อกัน
ส่วน FORD ก็เป็นการเลือกประเด็นพื้นฐานเมื่อยามตัน เป็นประเด็นปลอดภัยที่ เออน่ะ ใครๆ ก็ต้องตอบได้และมีฐานบางอย่างร่วมกัน คือ ครอบครัว (Family) อาชีพ (Occupation) งานอดิเรก (Recreation) และความฝัน (Dream) ซึ่งเคล็ดลับหนึ่งในการคุยประเด็นพื้นฐานเหล่านี้ก็สอดคล้องกับด้านบน คือเริ่มจากการพูดหรือเผยบางส่วนของตัวเราก่อน (บางส่วนนะ ไม่ใช่โอ่แต่เรื่องของตัวเอง)
สิ่งสำคัญคืออย่าลืมเรื่องบริบทางวัฒนธรรม ในแต่ละวัฒนธรรมย่อมมีกฎเกณฑ์ วิธีการพูดคุย และความสนใจที่แตกต่างกันไป
แน่นอนว่าเราต้องเจอการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ในการนัดสังสรรค์อย่างแน่นอน อันที่จริง ไอ้เคล็ดลับที่ผู้เชี่ยวชาญบอก ก็พอจะเข้าใจอยู่หรอกเนอะ แต่ถึงหน้างานเข้าจริง คนที่คุยไม่เก่ง การชิตแชตก็ถือเป็นเรื่องยากอยู่ดี ด้วยความที่เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่เป็นสังคม…มันก็คือเรื่องจำเป็นแหละ
อ้างอิงข้อมูลจาก