ในหนึ่งคำถาม มักจะมีคำตอบแตกแขนงออกไปมากมาย และคำตอบเหล่านั้นสามารถสื่อสารออกไปได้อีกหลายรูปแบบเช่นกัน อย่างการถามออกไปด้วยความไม่รู้ เราหวังที่จะได้การให้ความรู้หรือความคิดเห็นกลับมา เราอาจจะเจอคำตอบหลายประเภท ตั้งแต่ “อ๋อ เรื่องนั้นน่ะหรอ มันต้องแบบนี้” “เรื่องแค่นี้ไม่รู้หรอ” ไปจนถึง “ถามมาได้” พอจะรู้สึกถึงน้ำหนักของน้ำเสียงและอารมณ์ที่ต่างกันไหม? เรามีคำตอบในใจกันอยู่แล้วว่าเราอยากได้ยินคำตอบไหน ไม่อยากได้ยินอะไร หากเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในที่ทำงาน ที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับมันห้าวันต่อสัปดาห์ (แม้จะย้ายมาอยู่ที่บ้านแล้วก็ตาม เราก็ยังต้องทำงานอยู่ดี) เราจะรับมือกับความร้ายกาจของคำพูดนี้ได้ยังไงบ้าง?
เพราะมนุษย์เรายังคงต้องสื่อสารกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะในการทำงาน ที่ไม่ว่าเราจะเป็นคนเข้าสังคมเก่งหรือไม่ อยากคุยหรือไม่อยากคุยกับใคร เราก็ต้องสื่อสารกับผู้อื่น เพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้ แล้วทีนี้การสื่อสารกันอาจไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ต่างคนต่างมีบุคลิกเป็นของตัวเอง มีความสามารถในการสื่อสารที่ต่างกัน บางคนพูดคล่อง บางคนพูดไม่เก่ง บางคนพูดเนิบนาบสุภาพอ่อนหวาน บางคนเกรี้ยวกราด บางคนกระแนะกระแหน จนทำให้เรารู้สึกถูกใจหรือไม่ถูกใจในคำพูดของบางคน แต่สิ่งที่เราทุกคนจะสัมผัสได้เหมือนกัน หากคำพูดนั้นมันเกิดขึ้นกับเรา คือ คำพูดที่ไม่น่าฟัง
ความร้ายกาจของคำพูดนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่คำหยาบเพียงอย่างเดียว ลองมาดูกัน อย่างคำว่า ‘เชี่ยเอ๊ย’ ถ้ามันเกิดในบริบทสนุกสนานเฮฮา พูดไปขำไป คำนี้จะดูไม่เป็นปัญหาอะไรนัก แต่ถ้ามันถูกสื่อสารออกมาด้วยการใส่อารมณ์ฉุนเฉียว โกรธ โมโห คำนี้จะกลายเป็นคำที่ไม่สุภาพ ไม่น่าฟังขึ้นมาทันที รวมไปถึง หากจะบอกว่าคำนั้นคำนี้หยาบคาย ไม่น่าฟัง เรื่องนี้ก็ค่อนข้างจะปัจเจกเสียหน่อย บางคนถือสากับคำพูดนึง ไม่แต่ไม่ถือสากับอีกคำนึง ความหยาบคายจึงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
นอกจากนั้นยังมีคำพูดที่ไม่น่าฟังในอีกหลายกรณี เช่น การถูกกระแนะกระแหน เสียดสี แม้จะด้วยคำที่สุภาพทุกคำ แต่ก็ไม่ช่วยให้มันน่าฟังมากขึ้นเท่าไหร่นัก ความร้ายกาจของคำพูดที่ไม่น่าฟัง จึงไม่ได้เป็นปัญหาที่ตัวคำเท่าไหร่ แต่มันอยู่ที่ความหมายแฝงในเบื้องหลัง ไปจนถึงอารมณ์ของผู้พูด ที่จะมากลายเป็นความร้ายกาจของอารมณ์ที่แสดงออกมาทางคำพูดนั่นเอง การรับมือกับสิ่งนี้จึงไม่ใช่การรับมือกับระดับของความหยาบคายว่าเรารับได้แค่ไหน กับคำไหน แต่มันคือการรับมือกับอารมณ์ที่แฝงมาอยู่กับความร้ายกาจของคำพูดเหล่านั้น
ผลสำรวจจาก The American Institute of Stress บอกว่า คนทำงานกว่า 29% ถูกตะคอก ขึ้นเสียง เพราะความเครียดในที่ทำงาน และอีก 42% ก็เคยตะคอกใครสักคนในที่ทำงานเพราะความเครียดเช่นกัน เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นปัญหาที่หลายคนน่าจะเจอกันมาบ้างแล้ว หากเป็นการรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในระดับเดียวกับเรา อาจจะมีทางที่สามารถตกลงกันได้ โดยไม่มีอำนาจใดๆ มาค้ำคอ แต่พอเป็นเจ้านายหรือหัวหน้าแล้ว เราจะรับมือกับคำพูดที่ไม่น่าฟัง หรือคำพูดที่ร้ายกาจนี้ได้ยังไงบ้าง?
มาดูกันก่อนว่าเขารู้ตัวหรือไม่
บางทีเจ้านายอาจจะไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้น จะกลายเป็นความร้ายกาจในสายตาคนอื่น อย่างการฟีดแบคงานได้ดุเดือด ถกประเด็นอย่างร้อนแรง ในมุมมองของเขาแล้ว นี่อาจจะเป็นการเพิ่มพลัง ผลักดันลูกน้อง ด้วยคำพูดตรงไปตรงมา ให้เราก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยแรงขับเคลื่อนนี้ และที่สำคัญ เขาจะคิดว่าวิธีนี้ได้ผลดีหากไม่มีใครแย้ง หรือบางคนบุคลิกเป็นแบบนั้นเอง กับครอบครัว กับเพื่อน กับชีวิตส่วนตัว เลยทำให้เมื่อมาถึงเรื่องงาน เขาก็ยังคงนำบุคลิกนี้มาใช้ด้วย เช่นกัน หากไม่มีใครลุกขึ้นมาท้วงติง เขาอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังเป็นแบบไหนในสายตาคนอื่น
หรือบางคนก็รู้ว่าตัวเองนั้นเป็นคนที่ปากร้ายแค่ไหน แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทำให้เขาเชื่อว่า เขาทำสิ่งนี้ได้ และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปสุภาพกับใครก็ตามที่เขาไม่ได้สนใจความรู้สึก การรับมือกับคนทั้งสองแบบจึงอาจจะต้องใช้วิธีที่ต่างกัน
หากเขาไม่รู้ตัวว่ากำลังเป็นคนที่มีคำพูดร้ายกาจ
- ลองผลักดันด้วยวิธีอื่น
บอกไปตามตรงว่าวิธีที่เขาฟีดแบคกกลับมาแรงๆ คอนเมนต์แรงๆ นั้นไม่ได้ผล มิหนำซ้ำ ยังส่งผลเสียกับคนฟังมากกว่าจะได้แรงขับเคลื่อนอย่างที่เขาหวังไว้ อาจจะไม่ต้องขอร้องให้เขากลายเป็นคนสุภาพอ่อนหวาน แต่ขอให้เน้นไปที่ความต้องการของเขามากกว่า ว่าเขาต้องการให้แก้สิ่งไหน ต้องการอะไร โดยไม่ต้องมีเรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องจะดีกว่า - สะท้อนกลับไปด้วยความสุภาพ
เราไม่จำเป็นต้องเกรี้ยวกราดตามเขาไปด้วย ตาต่อตา ฟันต่อฟัน อาจยิ่งทำให้เรื่องนี้ไปกันใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อเจ้านายไม่รู้ตัวว่าเขากำลังปากร้ายอยู่ หากเราปากร้ายตอบกลับไป แม้เขาจะไม่รู้ตัว แต่เขาสัมผัสได้แน่นอนถ้าหากเขาเป็นฝ่ายถูกกระทำเสียเอง และเรื่องจะกลับตาลปัตรกลายเป็นความไม่สุภาพของเราเสียเอง ลองสะท้อนกลับไปด้วยความสุภาพ ให้เขาเห็นอย่างชัดเจนว่า เรากำลังใจเย็นและควบคุมทุกอย่างให้มันอยู่ในมู้ดโทนที่ไม่เกรี้ยวกราด เขาจะรู้ตัวเมื่อบรรยากาศนั้นขัดกับกับสิ่งที่เขากำลังแสดงออกไป
หากเขารู้ตัวดีและตั้งใจจะเป็นคนปากร้าย
- แชร์ผลลัพธ์ให้กว้างขึ้น
หากเราโดนคนเดียวแล้วเล่าให้คนอื่นฟัง อาจจะมีทั้งคนที่เข้าอกเข้าใจ และมีทั้งคนที่คิดว่าเรากำลังจุกจิก คิดมาก หรือจับผิดหัวหน้าอยู่ เราเลยต้องหาพยานมาเจอเรื่องนี้กับเราด้วย ไม่ได้บอกให้ลากเพื่อนมาโดนด่าไปพร้อมกัน แต่ลองหาจังหวะที่เราจะได้พูดคุยกับเจ้านายในตอนที่มีคนอื่นอยู่ด้วย ไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมากเท่าห้องประชุม แค่สักสองถึงสามคน ให้มากพอที่จะมีประสบการณ์ร่วมกันและยืนยันกับ HR หรือคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าได้ว่า เจ้านายของเรากำลังมีพฤติกรรมแบบไหน เพราะเสียงของคนหลายคนที่มีประสบการณ์ร่วมกัน ย่อมมีน้ำหนักมากกว่าเสียงของเราคนเดียวแน่นอน - รายงานเรื่องนี้กับผู้มีอำนาจโดยตรง
หากไม่อยากต้องมานั่งเล่นเกมการเมืองในออฟฟิศ ไม่อยากทำให้มันกลายเป็นสงครามประสาท การไปรายงานเรื่องนี้กับคนที่มีอำนาจโดยตรงก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี อาจจะเป็น HR หรือคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า ว่าเรากำลังเจอกับปัญหาอะไร ส่งผลกระทบกับเราและคนอื่นๆ ในออฟฟิศิย่างไร และเรารับมือกับเรื่องนี้มาแล้วอย่างไรบ้าง แน่นอนว่า หากมีคนร่วมชะตากรรมไปยืนยันด้วยย่อมช่วยให้คำพูดของเรามีน้ำหนักมาขึ้น แต่ถ้าหากเราฉายเดี่ยวก็ใช่ว่าจะฟังไม่ขึ้นเสมอไป อย่างน้อยก็เป็นการเปิดแผลให้กับเรื่องนี้ว่ากำลังมีคนที่เดือดร้อนอยู่จริงๆ
เพราะเรื่องนี้ปัญหาไม่ใช่แค่เรามองว่าคำไหนมันหยาบคาย คำไหนมันสุภาพ แต่เรากำลังมีปัญหาอยู่กับการจัดการอารมณ์และการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมของเจ้านาย เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นแค่ปัญหาส่วนตัวที่เราจะทำเป็นหลับหูหลับตาได้ และที่สำคัญ หาแก้เกมในเรื่องนี้ เราเองก็ไม่จำเป็นต้องกลายเป็นคนแบบเดียวกันเพื่อความสะใจที่ได้ตอกกลับก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก