เดินเข้าออฟฟิศแบบทักทายทุกคน หรือเดินพุ่งไปที่โต๊ะอย่างเงียบๆ เราเป็นคนแบบไหนในออฟฟิศ? หลายครั้งอยากเริ่มต้นพูดคุยกับคนในออฟฟิศ แต่เป็นคนพูดไม่เก่งเอาเสียเลย ชาวอินโทรเวิร์ตไม่เข้าใจสิ่งนี้ หรืออาจจะเป็นแค่คนที่คุยไม่เก่งเฉยๆ แต่คุยไม่เก่ง ไม่ได้แปลว่าคุยไม่ได้ มาดูกันว่าเราควรเริ่มคุยยังไง ไม่ให้กระอักกระอ่วนทั้งเราและคู่สนทนา
รีเสิร์ชจาก Washington State University ช่วยเล่าเรื่องการทำความรู้จักกับเพื่อนในที่ทำงานให้เราได้เห็นภาพว่า ใครสักคนกว่าจะมาเป็นเพื่อนกันในที่ทำงานได้เนี่ย ส่วนมากจะเกิดจาก self-disclosure การเปิดเผยตัวตน ที่เป็นทั้งเรื่องงาน ปัญหาที่ต้องเจอ หรือแม้แต่ชีวิตส่วนตัว นิสัยบางอย่าง ที่เราอาจไม่ได้เปิดเผยมันกับคนรู้จักผิวเผิน
จากหนังสือ ‘The Best Place to Work’ จิตแพทย์ รอน ไฟรด์แมน (Ron Friedman) แนะนำไว้ว่า คนที่คุยกันเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องงานเนี่ย พวกเขามีแนวโน้มจะเป็นเพื่อนกันได้มากกว่า
นั่นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายเหมือนกัน หากเริ่มต้นด้วยเรื่องงาน ปัญหาชวนปวดหัวในออฟฟิศ เจ้านายจอมเฮี้ยบ เดดไลน์ที่ขี่คออยู่ เราอาจจะไปได้ดีในประโยคสองประโยคแรก แต่สุดท้าย เราคุยเรื่องงาน เราก็จะได้คำตอบเรื่องงาน จากเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่จากเพื่อนจริงๆ จนสุดท้าย บรรยากาศขุ่นๆ ของการบ่นเรื่องงาน ก็พาลให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อยากต่อความยาวให้มันขุ่นไปมากกว่านี้แล้ว
มองรวมๆ มันอาจจะเป็นอัธยาศัยที่ดี ที่ช่วยสร้างความสนิทสนมได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะคุยเก่ง เข้ากับคนง่าย และใช้วิธีเดียวกันได้ทั้งหมด อยู่ดีๆ เราจะเดินไปเล่าเรื่องตัวเองให้เพื่อนฟังก็คงจะแปลกไปหน่อย
ลองมาดูวิธีเริ่มต้นผูกสัมพันธ์ด้วยการคุยแบบ ‘small talk’ ที่ไม่ใช่การคุยแบบจริงจัง คุยทักทาย เปิดบทสนทนา อย่างเป็นธรรมชาติและต้องการผูกมิตรต่อกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน หากยังไม่สนิทกันนัก อยากจะสร้าง small talk พอให้ผู้คนรู้ว่าฉันยังมีตัวตนอยู่ตรงนี้ ลองเริ่มต้นจากดินฟ้าอากาศอาศ การเดินทาง เรื่องใกล้ตัวไว้ก่อนก็จะดี เพราะข้อควรระวังของการคุยที่ไม่ใช่เรื่องงานนี้ คือ ต้องไม่คุยเรื่องส่วนตัวมากเกินไปจะดีกว่า
ไม่ต้องเร่งรีบตีซี้
เปิดมาถึง ไม่คุยเรื่องงาน ก็กระโดดเข้าไปในเรื่องส่วนตัว สวัสดีเพื่อนรัก นายกินข้าวมาหรือยังนะเช้านี้ รับรองว่าต้องพับเสื่อกลับบ้านแน่นอน มันไม่ใช่ความผิดใครทั้งหมดเสียทีเดียว แต่มันคือเรื่องของ self-disclosure การเปิดเผยตัวตน และในส่วนนี้ เราไม่อาจเร่งรัดมันได้เลย
คำแนะนำจากหนังสือ ‘Friendships Don’t Just Happen’ โดย ชาสต้า เนลสัน (Shasta Nelson) หากเรารุกหน้าเร็วเกินไป ในขณะอีกฝ่ายยังไม่พร้อมจะสนทนาขนาดนั้น เขาย่อมไม่เปิดเผยตัวตน ไม่อยากแลกเปลี่ยนข้อมูล จริงๆ ก็หมายถึงไม่อยากคุยกับเรานั่นแหละ
เริ่มจากการพูดคุยเรื่องทั่วไปอย่างที่แนะนำในข้อแรก หากทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี เราเป็นฝ่ายเริ่มเปิดเผยเรื่องส่วนตัวของตัวเองก่อน จะช่วยให้อีกฝ่ายให้ความไว้ใจเรา และอาจจะแลกเปลี่ยนมันกลับมาอย่างรู้สึกไว้วางใจมากขึ้น สบายใจที่จะพูดมากขึ้นไปเอง ท่องเอาไว้ “ค่อยเป็นค่อยไป” เรื่องนอกเวลางาน ก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดีเช่นกัน
แชร์ความชอบ มองหาอะไรที่ตรงกัน
อีกข้อที่คุณจิตแพทย์ ไฟรด์แมน แนะนำไว้ในหนังสือเล่มเดิม การหาหัวข้อที่ทั้งคู่ชื่นชอบเหมือนกัน หรือมีร่วมกันเป็นหัวข้อในการพูดคุย เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรง
ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่เอ๊ะ เราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาชอบอะไร หรือมีอะไรเหมือนกับเรา ผายมือไปที่ข้อแรก เริ่มต้นคุยจากเรื่องสัพเพเหระ และผายมืออีกข้างที่ข้อสอง ค่อยๆ ลงลึกเรื่องราวส่วนตัว จนอีกฝ่ายอยากเล่าให้เราฟังเช่นกันว่า ตอนมหาวิทยาลัย เขาแสบเซี้ยวแค่ไหน หรือเขาชอบทำอะไรในคืนวันศุกร์หลังเลิกงาน
แต่ถ้าบังเอิญว่าเราและเขามีความชอบที่คล้ายคลึงกัน อันนั้นถือว่าเป็นบัฟพิเศษที่ให้เราไต่เลเวลการสนทนาได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องประมวลผลหาเรื่องคุยให้ยากเลย
พยายามให้หัวข้อและอารมณ์ในการคุยเป็นเรื่อง positive
ลำพังชีวิตทุกวันนี้ก็ถ่มถุยพอแล้ว แต่ละคนก็มีเรื่องลบในใจกันทั้งนั้น หากเราหยิบยื่นมันออกมาให้คนรอบข้างอีก เราจะกลายเป็นก้อนพลังงานลบช่างจ้อ ที่เอาแต่จะบ่นทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาไปเปล่าๆ และนั่นทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าตัวเองเป็นสนามอารมณ์มากกว่าการเป็นคู่สนทนาจริงๆ
แนะนำให้หลีกเลี่ยงความ negative ทั้งอารมณ์ที่พูดออกไปและประเด็นด้วยเช่นกัน คนที่เพิ่งรู้จักกัน คงไม่อยากฟังเรื่องราวอารมณ์บูดจากอีกฝ่ายมากนัก
และอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ประเด็น negative นั่นคือ การหลีกเลี่ยงประเด็นอ่อนไหวอย่าง ศาสนาและการเมือง ทุกอย่างง่ายมาก ข้อแรก มันไม่เหมาะที่จะเอาไว้คุยกับคนที่ไม่สนิท เพราะ ข้อสอง เราไม่มีทางรู้เลยว่าคู่สนทนาอยู่ฟากฝั่งไหน อินแค่ไหนกับเรื่องนี้
ใช้เวลานอกเวลางานด้วยกัน
จะสนุกแค่ไหน หากเรามาเจอหน้าเพื่อนที่ออฟฟิศ แล้วยังกลั้นขำไม่หาย ที่เขาเมาแอ้งแม้งเมื่อคืนหลังเลิกงานวันศุกร์
หากบทสนทนาเป็นไปได้ด้วยดี เรามี Small Talk สมใจอยากแล้ว การรักษาความสัมพันธ์ย่อมตามมา หากเรารู้สึกว่าสามารถเป็นเพื่อนกับคนๆ นี้ได้จริงๆ ไม่ใช่แค่สร้างบทสนทนาแก้เก้อ ลองใช้เวลานอกออฟฟิศด้วยกัน เริ่มต้นจากอะไรง่ายๆ อย่างการกินข้าวพร้อมกับกลุ่มเพื่อน เดินทางกลับทางเดียวกัน หรือนัดกันหลังเลิกงานก็ไม่ได้เกิดขึ้นยากอย่างที่คิด
การเริ่มต้นบทสนทนากันทั้งที่อยู่ออฟฟิศเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร นึกเรื่องคุยเอาไว้เลย เข้าออฟฟิศเมื่อไหร่ ลอง Small Talk กับเขาดูบ้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Businessinsider
Contactzilla
Thenational.ae