ทุกวันนี้เราอยู่กับสื่อและข้อมูลข่าวสารเสียจนเป็นเรื่องปกติ แทบจะนึกกันไม่ออกแล้วด้วยซ้ำว่ายุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตเป็นยังไง มันเป็นยุคที่คนที่จะเผยแพร่ข่าวมีแค่นักข่าว คนที่มีกล้องส่องหน้าตลอดเวลามีแค่ดารานางแบบ คนที่สื่อจะให้ความสนใจมีแค่คนที่มีชื่อเสียงและอำนาจ เพราะยุคนี้ต่อให้ไม่ต้องง้อสถานีโทรทัศน์ที่ไหนๆ เราก็ถือคติว่าแค่ฉันมีมือถือกับอินเทอร์เน็ตซะอย่าง อยากจะเป็นนักข่าว นักแสดง นักร้อง หรือแม้แต่ตั้งตัวเป็นคนดังสักครั้ง ก็ไม่ยากจนเกินเอื้อมอีกต่อไป
ย้อนกลับไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน ใครจะไปคิดเนอะ ว่าวิทยาการกับนวัตกรรมต่างๆ มันจะพาเรามาได้ไกลแล้วก็เร็วขนาดนี้ แน่นอนว่ามันไม่ได้ยื่นเฉพาะแง่ดีงามของมันให้เราเท่านั้น ก็อย่างที่เห็นกันว่ามันก็เป็นดาบสองคมดีๆ นี่เองแหละ เพราะเมื่อคุณพาตัวเองออกไปถูกจับจ้อง มันก็มีความเสี่ยงตามมาว่าคนที่ติดตามจับจ้องคุณเขามีเจตนายังไง แล้วถ้าวันหนึ่งก้าวพลาด ผลที่ตามมาจะเป็นยังไง จะมีคนตามให้กำลังใจและพร้อมให้อภัย หรือจะต้องจมกระแสธารแห่งความโกรธาลงไปอย่างเดียวดาย
ย้อนกลับไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน ใครจะไปคิดเนอะ
ว่าวิทยาการกับนวัตกรรมต่างๆ มันจะพาเรามาได้ไกลแล้วก็เร็วขนาดนี้
อันที่จริงเรื่องแบบนี้ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่อยู่มากสำหรับสังคมเรา ถ้าเทียบระยะเวลาที่สื่อถูกย่อให้เล็กลงจนทุกคนสามารถเข้าถึงและพกพามันไปได้ทุกที่ กับระยะเวลาของยุคของสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เพราะฉะนั้นก็คงไม่แปลกถ้าเราจะได้เห็นอะไรที่ชวนให้รู้สึกแปลกใหม่ หรือเจอปัญหาที่ขลุกขลักไปบ้าง
จะว่าไป ก่อนหน้านี้พวกเราก็มีแพลตฟอร์มคล้ายๆ กันนี้บนสื่อหลักแล้วเหมือนกัน แพลตฟอร์มที่ว่าก็คือพื้นที่สื่อที่คนทั่วไปที่ไม่ใช่สื่อมวลชน คนดัง หรือผู้มีอำนาจต่างๆ จะสามารถเข้าถึงในฐานะผู้ถ่ายทอดบ้าง ในมุมที่เป็นผู้กระทำ (Active) ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ (Passive) เช่น ‘นักข่าวพลเมือง’ ของไทยพีบีเอส ที่มีมาตั้งแต่แรกก่อตั้งสถานีเมื่อปีพ.ศ. 2551 แล้วก็ยังคงมีบทบาทอยู่จนถึงวันนี้
เรามีโอกาสพูดคุยกับ คุณสมเกียรติ จันทรสีมา ผอ.สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ผู้ที่อยู่กับวงการนักข่าวพลเมืองในไทยมาตั้งแต่ยุคแรกๆ เลยถือโอกาสไถ่ถามถึงบทบาทของนักข่าวพลเมืองตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งถึงในยุคที่โซเชียลมีเดียมีบทบาท มันมีกระบวนการทำงานและการปรับตัวยังไง และพลังของเสียงจากพลเมืองนั้นมันจะพาสังคมไปยังจุดไหนได้บ้าง
คิดว่านิยามของนักข่าวพลเมืองเป็นยังไง
นักข่าวพลเมืองที่ไทยพีบีเอสเกิดจากแนวคิดของผู้บริหารในยุคนั้นที่เห็นความสำคัญของการเปิดพื้นที่กับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และมันก็เป็นทัศนคติหลักอันหนึ่งของไทยพีบีเอสเลย เจตจำนงขององค์กรเองก็มีแง่ของการสร้างการเรียนรู้ และเป็นเครื่องมือในการยกระดับและพัฒนาสังคมให้ขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งการมีส่วนร่วมก็สำคัญ
ซึ่งมันก็มีคนตั้งคำถามเยอะนะ ว่าตกลงคุณจะเป็นนักข่าวหรือจะเป็นพลเมือง มันใช่นักข่าวแน่หรือเปล่า ผมคิดว่ามันเป็นไปในแง่ที่จะไปเสริมพลังคนมากกว่า เพราะในยุคก่อน การที่คนจะสื่อสารมันเป็นเรื่องยากมาก เพราะสังคมรู้สึกว่าข่าวเป็นเรื่องของมืออาชีพ ต้องมีทิศทางกำกับมากมาย เป็นการสื่อสารบนพื้นที่ปิด คนที่เข้าถึงก็มีอยู่ไม่กี่กลุ่ม ถ้าชาวบ้านจะมีพื้นที่บนข่าวก็อาจจะเป็นข่าวแปลกๆ ข่าวร้ายๆ ดังนั้นเราก็ต้องก้าวข้ามตรงนั้นให้ได้ นักข่าวพลเมืองก็มาจากความต้องการไปเสริมพลังเขา ว่าคุณเองก็สามารถเป็นนักข่าวได้ คุณเองก็สามารถเป็นคนที่ถูกยกขึ้นมาสื่อสารได้
พลังการสื่อสารมันอยู่ในมือของคน คือถ้าไม่ไปติดกับกรอบความคิดเดิม ทุกคนก็เป็นนักข่าว เป็นนักสื่อสารได้
พลังการสื่อสารมันอยู่ในมือของคน
คือถ้าไม่ไปติดกับกรอบความคิดเดิม
ทุกคนก็เป็นนักข่าว เป็นนักสื่อสารได้
ตามนิยามแล้ว หมายความว่าใครก็ตามที่เป็นพลเมืองก็เป็นนักข่าวพลเมือง
ใช่ครับ พลเมืองทุกคนมีสิทธิในการสื่อสาร แต่คุณจะเป็นนักข่าวพลเมืองได้ก็ต่อเมื่อคุณลุกขึ้นมาสื่อสาร บางคนอาจจะบอกว่านักข่าวพลเมืองเป็นของไทยพีบีเอส แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เขาเป็นเจ้าของตัวเอง ปกติเขาก็เป็นคนทั่วไป อาจจะเป็นชาวไร่ ชาวนา ชาวประมง ข้าราชการ แต่เมื่อไหร่ที่เขาลุกขึ้นมาใช้พื้นที่สาธารณะในการสื่อสาร เขาก็เป็นนักข่าวพลเมือง
อย่างนั้นเรานับรวมชาวเน็ตได้ด้วยเหมือนกันรึเปล่า
ผมว่าปัจจุบันทุกคนก็มีสิทธิในการสื่อสารกันอยู่แล้ว แต่ว่าก็ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะที่อยู่บนสื่อกระแสหลัก พวกสื่อเก่า หรือกระทั่งเว็บไซต์ในยุคก่อนบางเว็บ
และที่สำคัญคือ ผมคิดว่าตัวนักข่าวพลเมืองที่ทำงานกับไทยพีบีเอสก็มีประเด็นที่เราแลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นกัน โดยเขาก็เป็นเจ้าของประเด็นที่จะพูดเรื่องที่ตัวเองอยากจะสื่อสารเองอยู่แล้ว เราจะตระหนักเสมอว่าอะไรคือประโยชน์สาธารณะของการสื่อสารจากนักข่าวพลเมือง อันนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามตั้งคำถาม ไม่แพ้เรื่องสิทธิในการสื่อสารกับเรื่องความเป็นเจ้าของประเด็น สองส่วนนี้ทำให้ข้อความที่ส่งไปมันมีพลังและมีคุณค่าทางประเด็น และตอบโจทย์ประโยชน์สาธารณะ ทำให้นักข่าวพลเมืองไปไกลมากกว่าแค่โยนมันลงไปเฉยๆ แล้วปล่อยให้หายไปกับกระแสลม
ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้การทำงานของนักข่าวพลเมืองง่ายขึ้นไหม หรือต้องปรับตัวอะไรไหม
ผมว่านอกจากเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือที่ถูกลงแล้ว ชาวบ้านตามชุมชนเดี๋ยวนี้ เวลาเขาพูดถึงการสื่อสาร เขาจะพูดกันว่าตรงนี้เราทำเองได้แล้ว เราไม่จำเป็นต้องรอสื่อกระแสหลักมาทำ เราสามารถถ่ายภาพ ถ่ายคลิป เขียนอะไรสั้นๆ ขึ้นไปยังบนอินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดียได้ วิธีนี้ทำให้การสื่อสารไปได้ไกลกว่าถ้าเทียบกับเมื่อสัก 10-20 ปีก่อน ที่แม้ทุกคนจะมองว่าการสื่อสารสำคัญก็จริงแต่ไม่ใช่สิ่งแรกที่จะทำ
สมัยก่อนชาวบ้านต้องรอนักข่าวเข้ามาทำหลายๆ อย่างให้ แต่ทุกวันนี้พวกเขาลุกขึ้นมาสื่อสารเอง และก็อาจจะมีทักษะที่แข็งแรงขึ้นด้วย เขารู้ว่าจะดึงดูดยังไงให้สื่อมวลชนสนใจในประเด็นที่เขาต้องการด้วย มันก็เป็นความก้าวหน้า แต่ในทางกลับกัน ตอนนี้มันก็มี Information เต็มไปหมดเลย มันล้นจนกระทั่งคนอาจจะเบื่อ อันนี้เราก็ต้องกลับมาตอบให้ได้ว่าประโยชน์สาธารณะจากการเสพสื่อคืออะไร
สมัยก่อนชาวบ้านต้องรอนักข่าวเข้ามาทำหลายๆ อย่างให้
แต่ทุกวันนี้พวกเขาลุกขึ้นมาสื่อสารเอง
คิดว่ามันสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรไปแล้วบ้าง หรือคาดหวังว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอะไรอีกบ้าง
ต้องเข้าใจว่าสื่อที่ทำตรงนี้ไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาให้ แต่มันเป็นแค่ตัวช่วยให้เกิดความเข้าใจในชุมชนมากขึ้น หรือกระทั่งมันมีหลายกรณีที่เราเห็นว่าเมื่อชาวบ้านเอาคลิปวิดีโอที่ออกอากาศกับไทยพีบีเอสไปฉายให้หน่วยงานรัฐดู หรือฉายให้ชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ดูกันก่อนจะเริ่มคุย มันก็ทำให้วาระมันชัดเจนขึ้น แต่แน่นอนว่ามันก็ไม่ได้เกิดขึ้นแบบนี้ทุกที่ มันก็ขึ้นกับขนาดของปัญหา ความลึกซึ้งของปัญหา และเจตจำนงของคนในชุมชนด้วย ในชุมชนหลายที่ที่เราเจอ เขาก็เรียนรู้การใช้สื่อ ว่าสื่อจะช่วยทำให้ประเด็นมันชัดเจนขึ้นได้ แต่สื่อคงไม่ได้ไปทำแทน เพียงแต่เป็นเครื่องมือที่เขาหยิบมาใช้ได้
ในบางปัญหาที่มันไม่ซับซ้อนเราก็อาจช่วยได้ เช่นเรื่องความทุกข์เฉพาะหน้า ความทุกข์รูปธรรม ก็อาจจะต้องมีความร่วมมือเอกชนหรือรัฐฯ มาช่วยแก้ แต่เรื่องที่มีความซับซ้อนทางสังคม ที่ต้องมองเข้าไปถึงโครงสร้างปัญหา มันก็ต้องใช้เวลา แต่อย่างที่บอกคือมันต้องเริ่มต้นจากการมีสนามความสร้างสรรค์ทางความคิด
ต้องมีข้อควรระวังอะไรไหมในการก้าวเข้ามาเป็นนักข่าวพลเมือง
ประเด็นนี้น่าสนใจครับ เพราะเราอาจจะเห็นตัวอย่างของผู้สื่อข่าวที่โดนฟ้องร้อง หลายๆ เคสก็รุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บเสียชีวิตก็มี แต่จริงๆ แล้ว กรณีที่เราถึงขั้นถูกฟ้องร้องแล้วตัดสินว่าผิดก็มีแค่กรณีเดียว ผมว่าประเด็นสำคัญคือตัวชาวบ้านหรือนักข่าวที่เป็นเจ้าของประเด็นเอง เขาเข้าใจสถานการณ์ดีว่าประเด็นที่เขาต้องการสื่อสารมันมีความละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง หรือมีความขัดแย้งรุนแรงแค่ไหน พอถึงจุดนึงการสื่อสารของเขามันจะช่วยระงับความขัดแย้ง หรือทำให้ความขัดแย้งนั้นขยายจนมาปะทะกับตัวเองหรือคนรอบตัวไหม ถ้าหากว่าถึงขั้นนั้นเราก็น่าจะต้องเลือกทำงานกับเครือข่าย หรือส่งให้คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ หรือให้นักข่าวมืออาชีพเข้ามาดูแลมากกว่าการใช้การสื่อสาร เพราะการสื่อสารมันน่าจะมีเป้าหมายชัดเจนในแง่ของการสื่อสารเพื่อสันติภาพ คือไม่ได้ลดความขัดแย้งเสียทีเดียว แต่ทำให้ความขัดแย้งนั้นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ให้มันเห็นทางออก ไม่ใช่นำไปสู่ทางตัน
การสื่อสารมันน่าจะมีเป้าหมายในแง่ของการสื่อสารเพื่อสันติภาพ
ทำให้ความขัดแย้งนั้นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์
ให้มันเห็นทางออก ไม่ใช่นำไปสู่ทางตัน
ตลอดระยะเวลา 9 ปี มีผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง
นักข่าวพลเมืองมันย้อนแย้งกับนักข่าววิชาชีพมาตั้งแต่ต้น การพัฒนานักข่าวพลเมืองเราก็ได้นักข่าววิชาชีพมาช่วยทำหลักสูตรอบรม แต่บางคนก็ยังมองว่ามันมีปัญหาในเชิงวิชาชีพ เป็นความด้านเดียว มีความอคติ แต่ทั้งหมดนี้มันก็อยู่บนฐานของการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งช่วยให้มันเกิดการยกระดับของการสื่อสารสาธารณะ และชาวบ้านทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกว่าเขาอยากให้เรื่องของเขาออกบนสื่อกระแสหลัก แม้ว่าคนจะดูน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อดูภาพรวมทั้งระบบ แต่มันก็ยังโอเค พื้นที่ของสื่อกระแสหลักก็ยังฟังก์ชั่น เขาก็ยังพอใจที่ได้สื่อสารและได้ผลิตสื่อที่เปิดให้เขาได้สื่อสาร โดยที่ไม่ได้มีค่าตอบแทนใดๆ เลย เรามีแค่พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ และพื้นที่ในการออกอากาศเท่านั้น
จนถึงวันนี้ก็ยังเชื่อในการทำงานของนักข่าวพลเมือง
นี่เป็นประเด็นสำคัญเลย เราเชื่อว่าชาวบ้านทุกคนสื่อสารได้ นักวิชาชีพส่วนหนึ่งอาจจะไม่เชื่อ แต่ผมเชื่อ คนที่ทำงานตรงนี้ต้องมีความเชื่อพื้นฐานว่าชาวบ้านทำได้ เพราะถ้าไม่เชื่อตั้งแต่ต้นมันจะไม่เกิดงานที่ผ่านมาเลย