ในขณะที่โลกนี้ซับซ้อน มีคำถามใหม่ๆ มาท้าทายความคิดความเชื่อต่างๆ ของเราทุกวัน แต่ดูเหมือนว่าบ้านเรายังคงหมกมุ่นและจมอยู่กับมาตราฐานหรือ ‘คำ’ บางคำอยู่อย่างเดิม – ความดี ก็เช่นกัน – ล่าสุดจากการปฏิรูปการศึกษาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาบอกว่า ต่อไปนี้นะ จะต้องหาทางทดสอบ ‘ความดี’ ให้ได้ด้วย จะมีการวิจัยและหาเครื่องมือมาทดสอบความดีของเด็กๆ ระดับมัธยมศึกษาให้ได้
แปลกดี เราทุกคนเมื่อโตขึ้น เจอโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น เราก็จะเริ่มเห็นว่าความดีที่สมบูรณ์แบบมันไม่มีจริง ความดีเป็นคุณสมบัติที่แสนจะอธิบายยาก ความดีขึ้นอยู่กับมุมมอง ขึ้นอยู่กับจุดยืน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และบางครั้งคำว่าความดีก็เป็นคำที่ออกจะอันตราย เมื่อเราใช้เพื่อนิยามตัดสินว่าคนนี้ดี และอีกคนไม่ดี ในโลกของความรู้ เราจึงมีวิชาจริยศาสตร์ (Ethics) เป็นการขบคิดและถกเถียงว่า ไอ้ความดี ความงามที่เรายึดถือเชื่อถืออาจจะไม่ใช่สัจจะหรือเที่ยงแท้ก็ได้
ขณะที่บ้านเราพยายามหาข้อทดสอบทางความดีให้กับน้องๆ มัธยมศึกษาตอนปลาย ในประเทศฝรั่งเศส ดินแดนแห่งนักปรัชญาคลาสสิกยาวมาจนถึงหลังสมัยใหม่ กลับมีพิธีกรรมที่ให้เด็กๆ ผ่านชุดข้อสอบที่ท้าทายความคิดความเชื่อของตัวเองก่อนที่จะจบ ม.ปลาย
Baccalauréat เป็นข้อสอบระดับชาติที่นักเรียน ม.ปลาย ฝรั่งเศสทุกคนต้องสอบ นักเรียนฝรั่งเศสไม่ว่าจากแผนการศึกษาไหนก็ต้องสอบ-ตอบคำถามปรัชญาในการสอบวัดผลระดับชาติ น้องๆ ในแต่ละแผนจะเจอกับคำถามสามข้อ (ข้อสุดท้ายจะเป็นบทตัดตอนจากข้อเขียนทางปรัชญาต่างๆ) ต้องเลือกตอบหนึ่งข้อในเวลา 4 ชั่วโมง
ในวันที่การศึกษาระดับ ม.ปลาย ของเรากำลังมองหามาตรฐาน The MATTER จึงอยากชวนไปอ่านและขบคิดกับข้อสอบวิชาปรัชญาประจำปี 2017 ข้อสอบที่กลับไปตั้งคำถามกับมาตราฐานบางอย่างของสังคม จากดินแดนที่ผลิตนักคิดและนักปรัชญาผู้วางรากฐานความคิดให้กับโลกใบนี้
…เพราะจากคำถามเล็กๆ ที่ถามเด็กๆ อาจนำไปสู่ความเข้าใจใหญ่ๆ ได้
To defend one’s right is to defend one’s own interests?
Défendre ses droits, est-ce défendre ses intérêts?
การที่เราปกป้องสิทธิของเรา เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองไหม?
นี่มันคำถามจากวิชาปรัชญาการเมืองรึเปล่าเนี่ย ตกลงแล้วสิทธิคืออะไรกันแน่ แล้วสิทธิเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของเราในฐานะพลเมืองแค่ไหน เราปกป้องสิทธิต่างๆ ของเราก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวเรามั้ย – ฟังดูแล้วน่าจะใช่ หรือมากไปกว่านั้น – การปกป้องสิทธิของเรา เช่น สิทธิมนุษยชน อาจเป็นการปกป้องผลประโยชน์ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง แต่เราปกป้องผลประโยชน์ของคนอื่นด้วยรึเปล่า
Can one free themselves from their own culture?
Peut-on se libérer de sa culture?
เราสามารถที่จะเป็นอิสระจากวัฒนธรรมของเราได้ไหม?
ดูจะเป็นคำถามที่เหมาะกับบ้านเราและตอบค่อนข้างยาก เช่นว่า คนไทยต้องมีความเป็นไทยไหม หรือในที่สุดเราแยกตัวเองออกจากรากเหง้าของเราได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ายิ่งเรามอง ‘วัฒนธรรม’ เป็นคำกลางๆ ถ้าวัฒนธรรม – ความคิด ความเชื่อบางอย่างของเรามีปัญหา เราจะปลดแอกตัวเองออกจากวัฒนธรรมภูมิหลังของเราได้มั้ย – อาจจะได้ แต่แค่นิยามคำว่าอิทธิพลของวัฒนธรรม ‘ของเรา’ ก็ถือว่าซับซ้อนมากแล้ว
Can reason make sense of everything?
La raison peut-elle rendre raison de tout?
เหตุผลอธิบายทุกอย่างได้หรือไม่?
อีกหนึ่งคำถามระดับอภิปรัชญา ในโลกสมัยใหม่ เรามีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เป็นที่ตั้ง ‘เหตุผล’ จึงเป็นเครื่องมือหลักที่เราใช้เพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ – ไหนลองหาเหตุผลของสิ่งนี้ซิ ซึ่งจริงๆ แล้ว เหตุผลอาจเป็น ‘วิธีการหนึ่ง’ ที่เราใช้เพื่ออธิบายสรรพสิ่งได้ – หรือบางสิ่งก็อาจจะอธิบายไม่ได้เลย ง่ายที่สุดคือเรื่องความรู้สึก เมื่อเราเป็นมนุษย์ หลายครั้งที่เราค้นพบว่าในพื้นที่ของอารมณ์และความรู้สึกนั้น เป็นดินแดนที่เหตุและผลเข้าไม่ถึง
Does a work of art necessarily possess beauty?
Une œuvre d’art est-elle nécessairement belle?
งานศิลปะจำเป็นต้องงามไหม?
คำถามเหมือนถามว่า ‘ศิลปะคืออะไร?’ ความงามคืออะไร แล้วหน้าที่ของศิลปะคือการมอบความเพลิดตาเพลินใจด้วยความสวยงามอย่างเดียวหรือไม่ คำถามนี้ชวนเรากลับไปขบคิดถึงฟังก์ชั่นของงานศิลปะ ไปจนถึงชวนเราขบคิดว่าอะไรคือความงามกันแน่ แน่ล่ะศิลปะไม่จำเป็นต้องงดงามก็ได้ ในขณะที่อีกด้าน ความงามคืออะไรกันแน่ งามสำหรับคนชาติหนี่ง คนยุคหนึ่งอาจจะไม่งามสำหรับเราก็ได้
Can knowing result merely from observing?
Suffit-il d’observer pour connaître?
เราจะ ‘รู้’ สิ่งต่างๆ ได้ด้วยการสังเกตการณ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นไหม?
ยากจัง ดูเหมือนว่าคำถามนี้จะตั้งใจถามจากวิธีคิดแบบประสบการณ์นิยม ที่เชื่อว่าเราจะ ‘รู้’ สิ่งต่างๆ จากการ ‘รับรู้’ – สัมผัส สังเกตสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเราเอง – ในขณะเดียวกันคำถามก็ดูจะกลับไปตั้งคำถามกับ ‘วิธีการแบบวิทยาศาสตร์’ ที่เชื่อว่าเรารับรู้สิ่งต่างๆ ได้โดยเริ่มต้นจากการ ‘สังเกต’ ในกระบวนการแบบวิทยาศาสตร์ จากสังเกตการณ์ ตั้งสมมุติฐาน ทำการทดลอง และสรุปผล นอกจากวิธีการแบบวิทยาศาสตร์หรือประสบการณ์ของเราแล้ว เราจะรู้สิ่งต่างๆ นอกจากผัสสะของเราได้ไหม จริงๆ ในโลกก็ดูจะมีความรู้ที่พยายามรับรู้เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมต่างๆ ที่เราไม่อาจสังเกตได้ เช่น ฟิสิกส์ทฤษฎี หรือการศึกษาความคิดและสิ่งที่เป็นนามธรรมต่างๆ
Is everything I have the right to do fair?
Tout ce que j’ai le droit de faire est-il juste?
สิทธิทุกอย่างที่เรามี มีความชอบธรรมหรือไม่?
เรื่องใหญ่มาอีกแล้ว ถ้าเรามองว่าสิทธิ คือสิ่งที่กฎหมายรับรองให้เรามีสิทธิในสิ่งต่างๆ แต่สิทธิทั้งหลายที่เรามีก็อาจจะไม่ ‘เป็นธรรม’ (fair) เท่าไหร่ ซึ่งแน่ล่ะว่า กฎหมายหรือการให้สิทธิอะไรย่อมไม่ได้ถูกต้องเที่ยงธรรมไปหมดอยู่แล้ว สิทธิบางอย่างอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ ไปจนถึงการใช้สิทธิในชีวิตประจำวันที่อาจมีการเบียดเบียนหรือความไม่เป็นธรรมอยู่ในนั้น
Is there such a thing as misuse of reason?
Y a-t-il un mauvais usage de la raison?
มีการใช้เหตุผลไปในทางที่ผิดบ้างไหม?
คำถามนี้เหมือนท้าทาย ‘เหตุผล’ ว่าเป็นเครื่องมือประเภทหนึ่ง เหตุผลจะถูกเอาไปใช้ในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ ในการถกเถียงสำคัญของการใช้เหตุผลที่ ‘ไม่ดี’ ตัวอย่างสำคัญก็อย่างเช่น การล่าอาณานิคม ความคิดเรื่อง ‘เหตุผล’ และความทันสมัยเป็นกรอบความคิดสำคัญที่คนผิวขาวใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการเข้ายึดครองเบียดเบียนพื้นถิ่นที่ล้าหลัง เชื่อเรื่องผีสาง และความไม่มีเหตุผล
Must one pursue happiness in order to find it?
Pour trouver le bonheur, faut-il le rechercher?
ความสุขเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาหรือไม่?
คำถามที่คัดง้างระหว่างปรัชญาแบบตะวันตกและตะวันออก ตัวคำถามดูจะเล่นกับความเชื่อแบบอเมริกาที่บอกว่าคนเรามีสิทธิที่จะแสวงหาความสุข (Life, Liberty and the pursuit of Happiness) นั่นสินะ ถ้าเราอยากมีความสุข เราต้องวิ่งหาไขว่คว้า หรือความคิดอีกด้านก็บอกเราว่าความสุขหาได้ในใจ – แต่ถ้าเรายากจน เป็นโรค นั่งอยู่ข้างถนน ความสุขในใจจะเกิดขึ้นได้ไหมนะ หรือเราต้องมีชีวิตเพื่อมีความสุขเป็นปลายทางจริงๆ ไหม
อ้างอิงข้อมูลจาก