ศาสนาคืออะไร? ประโยชน์ของศาสนาคืออะไร?
กระแสเกี่ยวกับคำถามและคำตอบข้างต้นในโรงเรียน กลายเป็นข้อถกเถียงกระทั่งข้อวิตกกังวลใจของบางคน สิ่งที่น่าคิดคือคำถามข้างต้นอย่าง ‘ศาสนาคืออะไร’ และ ‘มีประโยชน์อย่างไร’ ดูจะเป็นคำถามที่มีคำตอบแตกต่างกันออกไปตามแต่ละช่วงเวลา ถ้าครูถามในช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เราเองก็คงมีแนวทางในการตอบแบบหนึ่ง แต่ถ้าถามอีกครั้งในระดับอุดมศึกษา หรือเป็นคำถามเมื่อเราโตขึ้นแล้ว คำถามนี้อาจเป็น ‘คำถามเชิงปรัชญา’ ที่ด้านหนึ่งมนุษย์เองอาจยังคงถกเถียงกันมาเป็นยุคเป็นสมัย การเถียงที่เริ่มจากคำถามสั้นๆ เหล่านั้น
ประเด็นเบื้องต้นที่สุดซึ่งอาจสอดคล้องกับคำถามและคำตอบของนักเรียนคือ โดยทั่วไปเรามักแยกวิชาปรัชญาออกจากการศึกษาของเด็กๆ ให้การเรียนปรัชญาเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เป็นการศึกษาต่อความคิดที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน แต่ทว่าอันที่จริงแล้ว โลกการศึกษาในระดับโลกรวมถึง The MATTER เองก็พูดถึงความซับซ้อนระหว่างปรัชญา (อันหมายถึงการคิดและตั้งคำถามเชิงปรัชญา) มาโดยเสมอ มีการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น อาจารย์ด้านปรัชญา 2 ท่านคือ อ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ และอ.พิพัฒน์ สุยะ การคิดเชิงปรัชญาถ้าเรามองในมิติที่เรียบง่ายที่สุด มันคือการขบคิดทบทวนต่อสิ่งต่างๆ รวมถึง ‘ความรู้’ ที่อาจจะดูแน่นิ่งอยู่แล้ว ให้กลายเป็นบทสนทนาที่มีคุณภาพ สู่การเปิดความคิดและเปิดใจของทั้งผู้สอนและผู้เรียนไปพร้อมๆ กัน
ในโอกาสที่คำถามปรัชญาปรากฏขึ้นในโรงเรียน และในวันที่ 16 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันปรัชญาโลก (World Philosophy Day) The MATTER จึงชวนไปรู้จักข้อสอบจบมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นข้อสอบระดับชาติเหมือนเราสอบ Gat-Pat แต่ในหลักสูตรฝรั่งเศส นักเรียนมัธยมฯ ปลายต้องเรียนวิชาปรัชญาและนั่งลงสอบด้วย เราจะพาไปดูข้อสอบปรัชญาของการสอบ Baccalauréat (BAC) การสอบข้อเขียน 4 ชั่วโมงที่นักเรียนมัธยมฯ ปลายของฝรั่งเศสนับแสนคนต้องตอบ ไปจนถึงแง่มุมเรื่องการให้การศึกษาเชิงปรัชญาในโรงเรียน หรือในชั้นปีของเด็กๆ ที่ยังคงเป็นนักเรียนอยู่
ข้อสอบและการสอบปรัชญาของนักเรียนฝรั่งเศส
เวลาเราพูดเรื่องปรัชญาในระบบการศึกษา เรามักพูดถึงฝรั่งเศสในฐานะดินแดนของนักปรัชญา รวมถึงการเป็นแหล่งเกิดของแนวคิดทฤษฎีสำคัญต่างๆ โดยในขณะที่โลกส่วนใหญ่มักจัดให้วิชาปรัชญา เป็นวิชาที่อาจจะยากและซับซ้อนเกินไป แต่ฝรั่งเศสกลับใส่วิชาปรัชญาลงไปในหลักสูตรการศึกษาของเด็กๆ ในระดับมัธยมฯ ปลาย และจัดให้มีการสอบใหญ่ในทุกๆ ปี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการสอบวิชาปรัชญาด้วย
การสอบใหญ่เป็นการสอบจบการศึกษา ที่นักเรียนส่วนใหญ่สอบและต้องสอบให้ผ่าน โดยการสอบระดับชาตินี้สอบเพื่อนำคะแนนไปให้มหาวิทยาลัยพิจารณารับเข้าศึกษาต่อ การสอบจบในระดับมัธยมฯ ปลายของฝรั่งเศสนี้เรียกว่า Baccalauréat หรือ BAC ถือเป็นการสอบสำคัญที่มีอายุเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ในปี 1808 ซึ่งการสอบนี้เป็นหนึ่งในการเปิดโอกาสให้คนทุกคนเข้าสู่การศึกษาระดับสูง สอดคล้องกับบรรยากาศหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ด้วยเป็นการสอบแบบไม่ระบุตัวตน และเป็นผลคะแนนที่มหาวิทยาลัยจะใช้พิจารณาโดยไม่ดูภูมิหลังอื่นๆ เช่นในยุคก่อนหน้า จึงเป็นการเปิดความฝันให้ประชาชนได้เติบโต และสะสมความสามารถเพื่อไต่เต้าในชีวิตต่อไป
ทีนี้การสอบ BAC ได้ปรับเปลี่ยนรายละเอียด และเริ่มใช้ระบบใหม่ไปเมื่อปี 2021 ระบบเดิมของการสอบมีความคล้ายกับสมัยเอ็นทรานซ์ คือวัดผลด้วยการสอบใหญ่สุดท้ายเป็นหลัก แต่ยุคหลังปฏิรูปนั้นได้ใช้แง่มุมอื่นๆ มาวัดผลด้วย เช่น มีการเรียนหรือทดสอบไปในระหว่างเรียน โดยแม้ว่าจะเปลี่ยนวิธีการสอบจบ แต่แกนวิชาที่เราพูดถึงอย่างปรัชญา ยังคงเป็นวิชาหลักอยู่ ถ้ามองย้อนไปในการสอบแบบคลาสสิก นักเรียนที่เลือกแผนวรรณคดี (แผนศิลป์) วิชาปรัชญาที่จะสอบร่วมไปกับวิชาทางภาษา และความรู้พื้นฐานอื่นๆ ถือเป็นวิชาที่มีน้ำหนักคะแนนค่อนข้างมาก ซึ่งนึกภาพว่า ขนาดเราเรียนปรัชญาในระดับมหาวิทยาลัยยังรู้สึกว่าหินแล้ว ดังนั้นการสอบวิชาปรัชญาของนักเรียนฝรั่งเศส จึงถือเป็นหนึ่งในวิชาที่ขึ้นชื่อพอสมควร อนึ่งระบบมัธยมฯ ปลายของฝรั่งเศสมีการแบ่งสายเป็นสายสามัญและอาชีวะ ทั้ง 2 สายก็มีการสอบปรัชญาเหมือนกัน แต่ข้อสอบจะต่างชุดกัน
ความสุขเป็นเรื่องของเหตุผล ความสงบสุขเป็นเรื่องของความยุติธรรม
แล้วคำถามจะยากแค่ไหน การสอบ BAC เป็นข้อสอบมาตรฐาน ถือเป็นพิธีกรรมที่นักเรียนจะเข้าสอบพร้อมกัน ในเวลาเดียวกัน และตอบคำถามเดียวกัน ในปีปีหนึ่งมีนักเรียนร่วมสอบประมาณ 5-7 แสนคน ลักษณะข้อสอบที่ขึ้นชื่อว่า โจทย์เหมือนการสอบในมหาวิทยาลัยเลยคือ คำถามสั้นๆ และให้เขียนเรียงความอภิปรายหรือตอบประเด็นนั้นๆ ด้วยเวลาให้คิด 4 ชั่วโมง โดยไม่มีโน้ต ไม่มีอะไรติดตัวไป และตัวกระดาษคำตอบมีให้เพียง 4 หน้ากระดาษ แต่อาจารย์ผู้ตรวจจะบอกว่า นักเรียนส่วนใหญ่เขียนตอบกันประมาณ 6-10 หน้า บ้างก็บอกว่าตัวเองเปลี่ยนไปเป็นคนละคนหลังออกจากห้องสอบ
คำถามที่ว่ายากไหม คือตัวอย่างข้อสอบจากปี 2023 ครั้งนี้โจทย์ของการสอบออกมา 3 ข้อ แล้วให้เลือกตอบเพียงหนึ่งข้อ ลักษณะจะเป็นประเด็นคำถาม 2 ข้อ และถ้าไม่รู้จะตอบอะไรใน 2 ข้อนั้น ให้อธิบายบทตัดตอนจากข้อเขียนทางปรัชญามาอีกหนึ่งข้อ (อย่าลืมว่านักเรียนฝรั่งเศสต้องเรียนวิชาปรัชญา อย่างน้อยในปีสุดท้ายประมาณ 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) แต่ถ้าเราดูบทตัดตอนที่ตัดมาพบว่ายากมาก ปีนี้สำหรับสายสามัญตัดตอนมาจากข้อเขียนของโคลด เลวี-สเตราส์ (Claude Levi-Strauss) เป็นข้อเขียนจาก La Pensée sauvage หรือ The Savage Mind พูดเรื่องงานฝีมือ หรือการสร้างสรรค์เทียบการสร้างชิ้นงานของชนเผ่ากับคนตะวันตก ในมุมของงานช่างฝีมือทำนองนั้น ซึ่งมีความยากอยู่ประมาณหนึ่ง
สำหรับคำถามหรือโจทย์ 2 ข้อที่ให้อภิปราย ค่อนข้างเปิดกว้างและท้าทายทางความคิด ในปีล่าสุดข้อแรกเป็นคำถามเรื่องความสุขกับเหตุผลว่า ‘ความสุขเป็นเรื่องของเหตุผลไหม?’ (Is happiness a matter of reason? – Le bonheur est-il affaire de raison?) อีกข้อหนึ่งถามเรื่องความยุติธรรมกับสันติสุขว่า ‘การอยากได้ความสงบสุข คือการอยากได้ความยุติธรรมไหม?’ (Is wanting peace wanting justice? – Vouloir la paix, est-ce vouloir la justice?)
ถ้าเราดูจากคำถามแล้ว จริงๆ เป็นคำถามที่น่าสนใจและเปิดการขบคิด อธิบาย เปรียบเทียบ ไปจนถึงใส่มุมมองความคิดของตัวเองที่จะใส่ลงไปในคำอธิบายต่างๆ ได้ เช่น ความสุขเป็นเรื่องของเหตุผลจริงไหม? เราอาจนิยามความสุขก่อนว่า เราจะมองความสุขในแง่ไหน หรือคำถามเกี่ยวกับความสงบสุขและความยุติธรรม ทั้ง 2 อย่างนอกจากจะวัดความคิด ทักษะการอธิบาย หรือการดึงข้อคิดทางปรัชญาของนักปรัชญาอื่นๆ มาช่วยตอบแล้ว การตอบคำถามดังกล่าวยังอาจวนกลับไปสู่การใช้ชีวิต เช่น เราแสวงหาความสุขยังไง ความสุขคืออะไร โลกที่เราต้องการความสงบสุข มีเรื่องความยุติธรรม หรือความเป็นธรรมด้วยไหม
ดังนั้นการสิ้นสุดการศึกษาพื้นฐาน ในระบบการศึกษาที่มีปรัชญาเป็นส่วนประกอบสำคัญ การที่เด็กๆ จะกลายเป็นผู้มีการศึกษานั้น หากได้ย้อนคิดถึงประเด็นอย่างความสุขหรือความยุติธรรม ก็อาจนำไปสู่การใช้ชีวิตที่ได้ขบคิด และได้เข้าใจอะไรบางอย่างเพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากวิชาการอย่างเดียว
ปรัชญาและการเรียนในโรงเรียน
จากคำถามปีล่าสุดของข้อสอบนักเรียนจากฝรั่งเศสข้างต้น อาจพอทำให้เห็นมุมมองที่น่าสนใจของการให้การศึกษา ที่ผู้สำเร็จการศึกษามีประเด็นเรื่องการขบคิด ครุ่นคิด ทบทวนกับสิ่งต่างๆ และความเป็นไป ซึ่งในที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนในระดับก่อนอุดมศึกษา
สำหรับการใส่วิชาปรัชญาให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ก็เป็นข้อถกเถียงที่น่าสนใจ เช่น เด็กอาจจะยังมีความคิดที่ซับซ้อนไม่พอ หรือไม่มีประโยชน์ในการเรียนปรัชญาที่เป็นวิชาโดยตรง ในหลายพื้นที่ทั้งในสหรัฐอเมริกา รวมถึงไทยเอง ก็เริ่มมองเห็นกระทั่งผลักดันให้ปรัชญาเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของระบบการศึกษา ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาปรัชญาที่แข็งกระด้าง แต่อาจเป็นวิชาที่ว่าด้วยการคิด การตั้งคำถามทั้งในเชิงวิพากษ์ ขบคิดเรื่องต่างๆ หรือการคิดเชิงความรู้สึก (caring mind) บางคนก็บอกว่าเด็กๆ อาจมีความเป็นนักปรัชญาอยู่ในตัวเองแล้วด้วยซ้ำ เช่น การถามเรื่องง่ายๆ ที่ลึกๆ แล้วอาจจะยากและซับซ้อนอย่าง ‘เราฝันอยู่รึเปล่า’ นั่นก็เป็นคำถามเดียวกับนักอภิปรัชญา
ตัวอย่างและผลการศึกษาทดลองที่น่าสนใจ ในอังกฤษเองมีการทดลองสอนวิชาปรัชญา เป็นคลาสเรียนเฉพาะขึ้นมาหนึ่งวิชา โดยไม่ได้สอนปรัชญาโดยตรง แต่เป็นวิชาที่มุ่งเน้นวิธีการทางปรัชญา (philosophy-oriented lessons) การทดลองนี้ค่อนข้างใหญ่และกินเวลา 1 ปี ซึ่งทำการทดลองในโรงเรียนประถม 48 แห่ง และมีเด็กๆ เข้าร่วมการทดลองกว่า 3,000 คน ท้ายที่สุดการทดลองที่เรียบง่ายนี้ ก็นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางศึกษาที่ดีเกินคาด
วิธีการทดลองก็ง่ายๆ คือโรงเรียนจะมีคลาสพิเศษให้เด็กๆ ร่วมเรียน สอนแค่สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง โดยเป็นห้องเรียนที่จะชวนเด็กๆ มาขบคิดถึงเรื่องที่เป็นนามธรรมต่างๆ เปิดโอกาสให้คิด โต้แย้ง เสนอความคิดอย่างเป็นระบบในคลาสเรียนรวมถึงให้เวลาหยุดคิดกับประเด็นนั้นๆ ด้วย ซึ่งหลักการของคลาสนี้จริงๆ แล้วแค่ต้องการเพิ่มความมั่นใจของเด็กๆ ด้วยการถาม และฝึกให้โต้แย้งด้วยข้อโต้แย้งอย่างเป็นระบบ
ผลลัพธ์คือ เด็กๆ ในกลุ่มที่ได้เข้าห้องเรียนเพื่อการพัฒนาด้วยวิธีทางปรัชญานี้ มีผลการเรียนหรือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้น และถือว่าดีขึ้นในระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น ผลการทดลองยังพบอีกว่า ในภาพรวมเด็กๆ ที่ได้เข้าเรียนจะมีทักษะด้านการอ่าน และทักษะทางคณิตศาสตร์ดีขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน
และผลที่น่าพิจารณาอีกด้านของคลาสคือ ผลสัมฤทธิ์ในเด็กที่มีภูมิหลังด้อยกว่าคนอื่น (disadvantaged backgrounds) ก็มีผลเชิงบวกจากคลาสด้วย เพราะเด็กๆ กลุ่มนี้มีพัฒนาการด้านการอ่านที่ดีขึ้นภายในระยะเวลา 4 เดือน และมีพัฒนาการด้านการคำนวณดีขึ้นภายใน 3 เดือน
สรุปแล้วงานวิจัยรายงานว่า การมีคลาสที่มีพื้นฐานเป็นวิธีการหรือวิชาการทางปรัชญา ทำให้ครูมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเด็กๆ และส่งเสริมวัฒนธรรมการคิดที่เป็นรูปธรรม ได้ฝึกฝนทักษะในการฟัง พูด และใช้ตรรกะเพื่อโต้แย้ง โดยนอกจากทักษะในทางวิชาการแล้ว ยังได้ผลเชิงนามธรรม เช่น ความมั่นใจ ความอดทนอดกลั้น และความภูมิใจในตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากการมีหรือไม่มี ควรหรือไม่ควร สำหรับการใช้วิชาทางปรัชญาในโรงเรียนแล้ว ด้านหนึ่งการเพิ่มวิธีคิดทางปรัชญาเข้าสู่การเรียนการสอน อาจไม่ใช่แค่การเปลี่ยนทักษะของเด็กๆ เท่านั้น ในการสัมภาษณ์ของ อ.โสรัจจ์ ได้พูดถึงรูปแบบการเรียนด้วยวิธีทางปรัชญาว่า การปรับรูปแบบที่การเรียนไม่ใช่แค่การรับจากผู้สอน แต่เป็นการสร้างบทสนทนาภายในห้องเรียน ดังนั้นทักษะสำคัญคือ ผู้สอนเองอาจจะต้องมีวิธีการโต้แย้ง โน้มน้าว หรือมีข้อมูลกว้างขวางให้มากขึ้นกว่าคำตอบในกระดาษที่แน่นอนตายตัว
ดังนั้นตรงนี้เราอาจกลับมายังคำถามและคำตอบที่เป็นประเด็น โดยบริบทแล้วมุมมองต่อศาสนาเอง อาจสัมพันธ์กับมุมมองทางสังคมที่ให้ความสำคัญต่อศาสนาน้อยลง ผู้คนนิยามตัวเองว่า ไม่มีศาสนามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความยากในการโต้แย้ง คือการเปิดบทสนทนาไปสู่มุมมองอื่นๆ ที่อาจไม่ได้มีแค่ในแง่ลบ เป็นตัวแทนของกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย เป็นการเปิดบทสนทนาที่อาจไม่มีผิดมีถูก แต่อาจหาตรงกลางที่จะทำให้ผู้เรียนอยู่ร่วมกัน และมองเห็นความแตกต่าง ไปจนถึงเลือกเส้นทางของตัวเองต่อไปได้
อ้างอิงจาก
danthecampscorner.wordpress.com