คาตาลัน แคว้นทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน ที่หลายคนคงได้เห็น ภาพความดุเดือดจากการลุกฮือ ประท้วงเรียกร้องเอกราชอย่างร้อนแรงของประชาชนหลายแสน ที่แม้รัฐบาลกลางจะรั้งแค่ไหน ขอยื้อไม่ให้เธอไป ถึงต้องใช้กำลังปราบปราม แต่ชาวคาตาลันก็ยืนยัน โบกธงแคว้น ชูป้าย เข้าคูหาลงประชามติขอแยกขาด เตรียมประกาศเอกราชอย่างแน่นอน
ขณะที่การเมืองในประเทศสเปนยังคงปะทุต่อเนื่อง แฟนบอลเอง ก็คงต้องคอยจับตากับข่าวนี้ไปด้วย เพราะทีมฟุตบอล เอฟซี บาร์เซโลนา สโมสรประจำท้องถิ่นคาตาลันที่อยู่คู่กับแคว้นมาอย่างยาวนาน อาจต้องโบกมือลาคู่ปรับตลอดกาลอย่าง เรอัล มาดริด ย้ายจากลีก ลาลีกาสเปน หาลีกใหม่ในการลงเตะ ซึ่งแน่นอนว่านอกจากลีกสเปนจะสูญเสีย ทีมที่เก่งกาจแบบนี้แล้ว ทีมชาติสเปนเองก็อาจจะสูญเสียสมาชิกนักเตะชาวคาตาลันที่โดดเด่น เช่นเคราร์ด ปิเก หรือ เชส ฟาเบรกัส
บาร์ซา และกีฬาฟุตบอล ไม่ได้เพิ่งจะเกี่ยวโยงกับการเมืองในยุคนี้ แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่การก่อตั้งสโมสรนี้ เราจะเห็นได้ว่าบาร์ซาผูกพันกับกระแสชาตินินม และเป็นเครื่องมือเรียกร้องเอกราชของชาวคาตาลันมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม และอยู่เคียงข้างการต่อสู้ของประชาชนคาตาลันมาตลอด
สโมสรเอฟซีบาร์เซโลนาในยุคแรก และแนวคิดสโมสรเป็นของชาวคาตาลัน
เอฟซี บาร์เซโลนา เป็นสโมสรที่ก่อตั้งโดยนักธุรกิจชาวสวิสเซอร์แลนด์ ในปีค.ศ.1899 ในช่วงแรกสโมสรไม่เข้าไปยุ่งเรื่องการเมืองเพราะยังมีชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากในสโมสร แต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 บาร์เซโลนาประสบปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้มีการเปิดรับนักธุรกิจและนักการเมืองเข้ามาถือหุ้น และสนับสนุนสโมสร จุดนี้นี่เอง ถือเป็นจุดเปลี่ยนริเริ่มแนวคิดให้สโมสรเป็นสโมสรของชาวคาตาลัน เป็นสถาบันที่สนับสนุนแนวคิดของประชาชน ตราสัญลักษณ์ของทีมมีการออกแบบใหม่ โดยมีการนำธงชาติคาตาลัน และสัญลักษณ์เซนต์จอร์จ พระผู้คุ้มครองเมืองมาเป็นส่วนนึงด้วย รวมถึงมีการใช้ภาษาคาตาลัน เป็นภาษาประจำสโมสร ระลึกวันชาติคาตาลัน ซึ่งเป็นวันที่สเปนสั่งห้ามเฉลิมฉลอง และยังสนับสนุนโครงการ Liga Regionalista’s ซึ่งต้องการเรียกร้องการปกครองตนเองของชาวคาตาลัน
ต่อมาในสมัยที่ สเปนถูกปกครองด้วยผู้นำเผด็จการ ในยุคของนายพลปรีโม เด ริเบรา แคว้นคาตาลัน และชาวคาตาลันสูญเสียอำนาจในการปกครองตนเอง และสโมสรถูกสั่งให้นำอัตลักษณ์ความเป็นคาตาลันออก ห้ามใช้ธงของสโมสร และภาษาคาตาลัน แต่มีการบังคับให้ใช้ธงชาติและภาษาสเปน เพื่อสำนึกร่วมของความเป็นชาติ แต่นั่นกลับยิ่งทำให้กระแสชาตินิยมของชาวคาตาลันรุนแรงขึ้น
ชาวคาตาลันใช้สนามฟุตบอลและสโมสรเอฟซี บาร์เซโลนาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาลเผด็จการ ในปี 1925 สมัยนายพลปรีโม ในการแข่งขันฟุตบอลของทีมชาติสเปนและอังกฤษ ระหว่างการบรรเลงเพลงชาติสเปน ชาวคาตาลันในสนามได้ผิวปากโห่ จนเพลงชาติต้องหยุดลง แต่เมื่อเป็นเพลงชาติอังกฤษ ชาวคาตาลันกลับส่งเสียงสนันสนุน เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านชัดเจน
แม้นายพลปรีโมเสียชีวิต แต่สเปนก็ยังคงกลับมาอยู่ใต้ระบอบเผด็จการอีกครั้ง ใต้การปกครองของนายพลฟรานซิสโก ฟรังโกที่มีนโยบายรวมชาติคล้ายคลึงกับปรีโม แต่แอดวานซ์กว่าตรงที่เขาพยายามใช้กีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลเป็นเครื่องมือปลูกฝังความเป็นหนึ่งเดียวในชาตินิยม ชูชัยชนะและความสำเร็จของทีมชาติสเปนว่าเป็นชัยชนะของรัฐบาล เข้ามาออกนโยบายที่เกี่ยวกับสโมสรท้องถิ่นมากขึ้น บังคับให้สโมสรเปลี่ยนชื่อจากภาษาอังกฤษเป็นสเปน บังคับให้นำธงคาตาลันออกจากธงสโมสร เปลี่ยนประธานสโมสรจากการเลือกตั้งเป็นการแต่งตั้งแทน และบังคับให้นักเตะทำความเคารพแบบฟาสซิสต์ด้วย แต่ชาวคาตาลันก็ไม่ยอมง่ายๆ กลับใช้สโมสรเป็นเครื่องมือแสดงการต่อต้าน ด้วยการฝ่าฝืน ไม่ทำตามคำสั่งระหว่างการแข่งขัน ไม่ใช้ธงสเปน ไม่ยอมทำความเคารพแบบฟาสต์ซิส และยังใช้สนามฟุตบอลนี่แหละ เป็นสถานที่แสดงออกวัฒนธรรมคาตาลันที่ถูกห้าม
“พวกเราต้องต่อสู้กับทุกสิ่งและทุกคน เพราะว่าพวกเราเป็นตัวแทน … บาร์ซ่าเป็นมากกว่าสโมสรฟุตบอล”
จุดเริ่มต้นของคู่ปรับ เอฟซี บาร์เซโลนา VS เรอัล มาดริด
ความเป็นอริ ศัตรูคู่ปรับตลอดการระหว่าง เอฟซี บาร์เซโลนา และเรอัล มาดริด นั้น นอกจากเกิดขึ้นเพราะการห้ำหั่นของนักเตะในสนามฟุตบอล แต่ยังมีปัจจัยที่ทั้งสองทีมถูกใช้เป็นนัยยะทางการเมืองอีกด้วย
ในยุคของนายพลฟรังโก ทีม เรอัล มาดริด กลายเป็นสโมสรที่ถูกนำความสำเร็จมาใช้ จากการได้รับชัยชนะจากยูโรเปียน คัพหลายสมัย โดยบางฝ่ายอ้างว่า เรอัล มาดริด เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการสนับสนุนฟรังโก ในขณะที่ บาร์เซโลนา เป็นสัญลักษณ์ตรงข้ามของฝ่ายต่อต้าน
ในอดีต อิทธิพลของ ฟรังโก มักจะมีผลต่อการแข่งขัน และอารมณ์ความรู้สึกระหว่าง เรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลนา อยู่เสมอ จากตัวอย่างในการแข่งขัน Copa del Generalísimo (คือการแข่ง Copa del Ray ที่ถูกเปลี่ยนชื่อเพื่อให้เห็นว่าระบอบฟรังโกสำคัญต่อสเปน) ปี 1943 ในการแข่งรอบแรก แม้แฟนๆ ชาวคาตาลันจะรู้สึกถึงความลำเอียงในการตัดสินครั้งนั้น แต่บาร์ซาสามารถเอาชนะเข้ารอบไปแข่งกับมาดริดได้ จุดพีคในการแข่งครั้งนี้ อยู่ในรอบนี้ เพราะก่อนการแข่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้เข้าไปในห้องแต่งตัวของนักเตะ พร้อมพูดว่า “อย่าลืมว่าพวกคุณบางคนมาลงแข่งได้ก็เพราะความกรุณาของฟรังโก ที่ให้อภัยพวกไม่รักชาติอย่างคุณ!” และภายหลังในนัดนั้นเอง บาร์ซาก็พ่ายแพ้ให้กับมาดริดไปถึง 11 ต่อ 1
ในการต่อสู้ของทั้งสองทีม จึงเป็นมากกว่าแค่การแข่งขันฟุตบอล แต่การเอาชนะเรอัล มาดริดยังเป็นคงเป็นสัญลักษณ์ของการเอาชนะระบอบฟรังโก จึงเป็นที่มาของคำขวัญว่า “Balcelona is more than a club” ที่ Narcís de Carreras กล่าวหลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานสโมสรในปี 1968 ว่า “พวกเราต้องต่อสู้กับทุกสิ่งและทุกคน เพราะว่าพวกเราเป็นตัวแทน … บาร์ซ่าเป็นมากกว่าสโมสรฟุตบอล”
ปัจจุบันทั้งสองทีมก็ยังคงเป็นคู่ปรับ และตัวแทนจากสองฝ่าย สองขั้วเหมือนเดิม ซึ่งถึงแม้เรอัล มาดริดจะไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของฟรังโกแล้ว แต่ยังเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางมาดริด ในการแสดงความรุ่งเรืองของสเปน รวมถึงได้รับเงินสนับสนุนและสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลกลางอยู่
บาร์ซาในการเป็นตัวแทนทางการเมืองในยุคปัจจุบัน
แม้จะไม่ได้ถูกปกครองด้วยเผด็จการแล้ว แต่ปัจจุบัน บาร์ซาก็ยังคงเป็นตัวแทนและสถานที่แสดงออกทางการเมืองของชาวคาตาลันมาโดยตลอด เช่นในการแข่งขันระหว่างบาร์ซากับอาร์เซนอล ในปี 2012 ชาวคาตาลันในสนามฟุตบอลได้ใช้กีฬาเป็นสื่อในการชูป้ายประกาศขนาดใหญ่โตว่า “คาตาโลเนียไม่ใช่สเปน” ซึ่งภาพนี้ก็ถูกถ่ายทอดออกไปตามสื่อต่างๆ มากมาย หรือในนัดการแข่ง Copa del Rey ในปี 2015 ที่แม้จะมีกษัตริย์ฟีลิเปที่ 6 จะเสด็จร่วมชมฟุตบอล ชาวคาตาลันก็ยังคงผิวปากระหว่างเพลงชาติสเปน และยังตะโกน “In, inde, independencia!” แสดงถึงการเรียกร้องเอกราชด้วย
ไม่ใช่เพียงแค่ระดับสโมสร แต่นักฟุตบอลของทีมก็ยังร่วมแสดงออกถึงความเป็นคาตาลัน เช่นในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2010 ที่สเปนคว้าแชมป์เป็นผู้ชนะ แม้สื่อใหญ่ๆ ของสเปนจะพยายามให้เห็นความเป็นหนึ่งของทีมชาติ แต่ชาวคาตาลันกลับมองว่าเป็นชัยชนะของบาร์ซา เพราะมีนักเตะของบาร์ซาในทีมถึง 8 คน ทั้ง ชาบี เฮอร์นานเดซ นักเตะทีมชาติสเปน ยังเคยกล่าวว่า “เขาไม่ได้ต้องการที่จะเล่นแบบอุทิศตนให้กับทีมชาติสเปน เพราะเขามีความรู้สึกถึงความเป็นคาตาลันอย่างชัดเจน”
การประท้วงลุกฮือในช่วงนี้ บาร์ซาเองก็ยังคงมีบทบาทต่อคาตาลันเหมือนในอดีต เห็นได้จากที่ ‘เป๊ป กวาร์ดิโอล่า’ อดีตผู้จัดการทีม ออกมาปราศัยรณรงค์การลงประชามติครั้งนี้ หรือนักฟุตบอลชาวคาตาลันชื่อดังก็มีส่วนร่วมในการออกเสียงประชามติครั้งนี้ เช่น ชาบี เฮอร์นานเดซ และ เคราร์ด ปิเก้ ที่ถูกแฟนบอลสเปนวิพากษ์วิจารณ์จนออกมาแถลงว่าพร้อมอำลาออกทีมชาติสเปน หากถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสโมสรยังได้แถลงการณ์หยุดซ้อม ถึงขั้นปิดสโมสรเพื่อให้นักเตะได้เข้าร่วมการประท้วงในการเรียกร้องประชาธิปไตย และเอกราชให้กับคาตาลัน
ทั้งล่าสุดโจเซฟ มาเรีย บาร์โตเมว ประธานสโมสรคนปัจจุบัน ยังได้ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของสโมสร โดยยืนยันว่า “บาร์เซโลน่าเป็นมากกว่าสโมสร คำนี้จะคงอยู่ตลอดไป และเราจะขอยืดหยัดอยู่เคียงข้างผู้คนของเรา เราขอประกาศว่าสโมสรบาร์เซโลน่าสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระของแคว้นคาตาลุณญา”
ทีมบาร์เซโลนา แสดงให้เห็นวัฒนธรรมของชาวคาตาลัน ที่ไม่สามารถแยกกีฬาออกจากการเมืองได้ ทั้งตัวสโมสรเองยังได้กลายเป็นสถาบันสำคัญของแคว้น ที่ประชาชนในปัจจุบันก็ยังคงมองว่าเป็นพื้นที่ในการแสดงออกที่ไม่ใช่แค่พื้นที่ของนักกีฬา หรือแฟนบอล เหมือนคำขวัญของทีมที่ว่า ‘บาร์เซโลนาเป็นมากกว่าสโมสร’
อ้างอิง
Russakorn Nopparujkul, (2016), Identity & Modern Culture: FC Barcelona Case Study
Mariann Vaczi, (2013), “The Spanish Fury”: A political geography of soccer in Spain. International Review for the Sociology of Sport
Andrew McDonald and Phil Denning,(2011), ‘More than a Club’. Football as Social Capital? FV Barcelona. Journal of Catalan Studie
http://www.huffingtonpost.com/
Illustration by. Namsai Supavong