เราพูดกันถึงความงามคือสิทธิพิเศษ แต่ในทางกลับกันก็เริ่มมีมุมมองว่า หรือความงามอาจจะเป็นอุปสรรค หาว่ามีแต่เปลือกก็เป็นได้ เวทีนางงามเองก็พยายามลบข้อกล่าวหา ด้วยการให้ความสำคัญกับประเด็นทางการศึกษา ความวิสัยทัศน์ มีการตอบคำถามที่นัยหนึ่งก็เป็นการพูดประเด็นใหญ่ๆ ให้ทั่วโลกฟัง
ถ้าเรามองว่าเวที การประกวดนางงามหรือกระทั่งตำแหน่งนั้นก็เป็นเหมือนเส้นทาง ณ ช่วงเวลาหนึ่งที่ดึงเอาสาวงามทั้งหลายเข้ามาร่วมเวทีกัน ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่า สาวงามจำนวนมาก ที่ด้านหนึ่งก็ค่อนข้างเป็นผู้หญิงแถวหน้าที่มีการคัดเลือกมาแล้วนั้น จะมีความสนใจ ความเชี่ยวชาญหรือความเก่งกาจพิเศษอะไรบางอย่านอกจากในใบหน้า รอยยิ้ม และเรียวขาของพวกเธอ
กระนั้นเอง เราจึงเริ่มเห็นนางงาม มิสยูนิเวิร์สเช่นล่าสุดกรณี มารีญา พูลเลิศลาภ ที่ออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน สาวงามเหล่านั้นแท้จริงแล้วพวกเธอก็ล้วนมีประเด็นที่พวกเธอสนใจ และบางครั้งก็ใช้สถานะจากตำแหน่งนั้นร่วมขับเคลื่อน เช่นมารีญาเองเธอเองก็ดูจะสนใจสังคม เคยมีผลงานเขียนกึ่งวิชาการเกี่ยวกับชีวิตนักโทษในเรือนจำด้วย หรือ ฟ้าใส ปวีณสุดา เองที่เธอจบการศึกษาศาสตร์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬาและความเคลื่อนไหว เธอเองก็ทำโครงการเกี่ยวกับผู้ที่มีปัญหาด้านร่างกาย
นอกจากนี้ ในประเด็นร้อนๆ ที่ผ่านมาในนามสงครามนางงามนั้น ทำให้เราเห็นว่าสุภาพสตรีแถวหน้าเหล่านี้ แม้ว่าจะอยู่ในวงการบันเทิง แต่พวกเธอก็มีความสนใจเชิงวิชาการ และยิ่งกว่านั้นพวกเธอก็ได้ทำวิชาชีพให้กลายเป็นวิชาการ นำเส้นทางอาชีพไปเป็นวัตถุแห่งการศึกเพื่อย้อนกลับมาเข้าใจสังคมต่อไป นอกจาก บุ๋ม ปนัดดา ที่มีงานเกี่ยวกับภาพลักษณ์แล้ว เรายังมีผลทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของ นุ้ย สุจิรา ที่ใช้มุมมองทางสังคมศาสตร์ศึกษา ‘นางงาม’ โดยตรง
กระนั้นแล้ว The MATTER จึงชวนไปดูงานวิชาการ และกึ่งวิชาการของเหล่านางงามทั้งของไทยและนานาชาติ จากงานศึกษาโลกนางงามและดินแดนของชื่อเสียง ถึงข้อเขียนกึ่งสังคมวิทยา และนางงามจากเกาหลีที่เป็นผู้เชี่ยวชาญศิลปะโบราณประจำชาติทั้งคายากึมและเทควอนโด
เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการผลิตนางงาม, สุจิรา อรุณพิพัฒน์
ผลงานชิ้นแรกขอกล่าวถึงงานศึกษาของคุณนุ้ย สุจิรา ผู้รับตำแหน่งนางสาวไทยประจำปี พ.ศ.2544 ปัจจุบันเรามักเห็นเธอในบทบาทพิธีกร ส่วนหนึ่งคือถ้าพูดถึงงานวิทยานิพนธ์สายสังคมศาสตร์ระดับบัณฑิตศึกษาของจุฬานั้น ถือว่าเป็นสาขาที่โหดหินขึ้นชื่อเพราะต้องการทั้งประเด็น การค้นคว้า และการเขียนที่ถูกต้องรัดกุมเพื่อเสนอประเด็นนั้นๆ อย่างคมคาย
งานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาชิ้นนี้ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะถือว่าทำโดย ‘คนในวงการ’ ซึ่งผู้วิจัยนั้นได้ศึกษาประวัติศาสตร์สังคม และบทบาทของเวทีนางงามด้วยกรอบความคิดในมิติของเศรษฐศาสตร์การเมือง พูดถึงทั้งตัวบริบท ความหมายของวงการและเวทีนางงาม ไปจนถึงความสัมพันธ์ของทุนทั้งนายทุน และตัวความงามเองที่ล้วนถูกใช้เพื่อแลกเปลี่ยน ต่อรองอยู่ในระบบเศรษฐกิจของไทยมาตั้งแต่ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แถมที่สำคัญคืองานวิทยานิพนธ์เล่มนี้มี ณรงค์ เพชรประเสริฐ ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองไทยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย
การสร้างภาพลักษณ์ผู้มีชื่อเสียงของธุรกิจบันเทิง ในประเทศไทย, ปนัดดา วงศ์ผู้ดี
หลังจากมีเรื่องฟาดฟันเชือดเฉือนกันอยู่พักหนึ่งทำให้คุณบุ๋ม ปนัดดาเข้ามาอยู่ในหน้าสื่อและความสนใจอีกครั้ง แน่นอนว่า ปนัดดา วงศ์ผู้ดีเป็นอดีตนางงามที่เรามักนึกถึงในฐานะผู้ที่ทำงานในเชิงวิชาการ – โดยส่วนตัวเธอนั้นจบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยรังสิต
อนึ่งแม้ว่าทางฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยไม่ปรากฏชื่อหัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเธอว่า เธอมีความสนใจด้านใด แต่ก็ปรากฏบทความวิชาการเผยแพร่ในโพรซีดิ้ง เอกสารเผยแพร่ของการประชุมวิชาการระดับชาติของทางมหาวิทยาลัยรังสิตประจำไป พ.ศ.2557 ซึ่งก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งงานศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตนั่นเอง ตัวงานวิจัยนี้เธอก็เน้นการทำความเข้าใจประเด็นเรื่องชื่อเสียงในธุรกิจบันเทิง กลยุทธ์การได้มา และการทำนุบำรุงรักษาเอาไว้
Trial By Combat : Thai Prison Boxing, Maria Lynn Ehren
มาที่ มารีญา พูลเลิศลาภ หลังจากเมื่อปี ค.ศ.2017 ที่เธอทำให้ทั้งประเทศช่วยกันตอบคำถามและรู้จักกับคำว่า social movement ล่าสุดเธอเองได้ออกมาหยัดยืน สลัดทิ้งโลกขมขื่นด้วยการกล่าวถึงกรณีการอุ้มหายอย่างตรงไปตรงมา แน่นอนว่ามารีญาเองเป็นผู้หญิงยุคใหม่ที่เธอเองนั้นจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก Erasmus University Rotterdam และปริญญาทางด้านบริหารธุรกิจจาก Stockholm University
โดยจุดยืนทางสังคมของเธอนั้นนอกจากจะเป็นจุดยืนในฐานะพลเมืองแล้ว มารีญายังมีความสนใจเกี่ยวกับความอยุติธรรมในสังคมและพื้นที่ชายขอบ เธอมีบทความกึ่งวิชาการ กึ่งสังคมวิทยา มานุษยวิทยาชื่อ Trial By Combat: Thai Prison Boxing เผยแพร่ใน Broadsight นิตยสารออนไลน์ ถึงจะเป็นงานชิ้นเล็กๆ แต่ก็มีการเลือกประเด็นที่น่าสนใจคือการไปดูเรื่องใช้กีฬามวยไทยในพื้นที่คุก พูดถึงประเด็นทั้งการกระทำผิด และผลกระทบความสัมพันธ์ของสมองกับวัฒนธรรมการชกมวย
Kinesiology, Paweensuda Drouin
อีกหนึ่งเจ้าของคำถามร้อนแรงระหว่าง privacy และ security สำหรับกรณีของฟ้าใส เธออาจจะไม่ได้สัมพันธ์วงวิชาการในแง่การทำงานวิชาการโดยตรง แต่ภูมิหลังทางการศึกษาของเธอมีความเก๋ และสัมพันธ์กับการทำงานและความสนใจ ฟ้าใสจบปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว (kinesiology) โดยพ่วงเกียรตินิยมระดับ Summa Cum Laude คือระดับสูงสุดติดมาด้วย สาขานี้ก็เป็นวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาหนึ่ง เกี่ยวข้องกับสรีระ การเคลื่อนไหวและปัญหาต่างๆ ซึ่งก็จะนำไปสู่ฟื้นฟูร่างกายและการเคลื่อนไหว เกี่ยวข้องกีฬาและสมรรถภาพร่างกายของมนุษย์
ทีนี้จึงไม่แปลกและดูจะสัมพันธ์กับโปรเจ็กต์ ABLE ที่เธอริเริ่มขึ้น ตัวโครงการนี้เธอเน้นไปที่เด็กๆ ที่มีภาวะทุพลภาพทางร่างกาย และเน้นปรับเปลี่ยนให้เด็กๆ กลับมาเล่นกีฬาและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อีกครั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มสุขภาวะในทุกๆ ด้านให้เด็กที่มีปัญหาทางร่างกาย โดยตัวโครงการจะให้ความรู้ของเธอไปปรับปรุงตั้งแต่ปรับกติกา และดัดแปลงอุปกรณ์กีฬาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ถือว่าเก๋ ใช้ความรู้ทางสรีระ และความสำคัญของกีฬาในมิติที่ช่วยเหลือเด็กๆ
Celebrity personal brand strategies on online social media : an exploratory study of Malaysian celebrities, Soo Wincci
ไปที่ประเทศมาลาเซียกับมิสเวิลด์ผู้เป็นทั้งศิลปิน นางงาม และผู้ฝักใฝ่การศึกษาจนมีปริญญาถึง 5 ใบ จากระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกกันเลยอย่าง ซู วินชี (Soo Wincci) โดยอาชีพของเธอเป็นนักร้อง เธอได้รับตำแหน่ง Miss World Malaysia ในปี ค.ศ.2008 โดยส่วนตัวของเธอนั้นเป็นทั้งคนทำงานและคนรักโลกวิชาการไปพร้อมๆ กัน
เธอเองจบปริญญาตรีทางด้านกฎหมายจาก University of Reading มีปริญญาโท 2 ใบคือบริหารธุรกิจหนึ่งใบจากออสเตรเลีย และด้านการทำเพลง (music production) จากสเปน โดยทางสายการผลิตดนตรีนั้นเธอยังทำ Post master’s degree ต่ออีกใบ และเธอยังจบระดับดุษฎีบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจจาก Open University Malaysia ตัววิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเธอก็มีเผยแพร่ ว่าด้วยกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ของคนดังมาเลย์โดยการใช้โซเชียลมีเดีย
Gayageum Prodigy, Lee Hanee
นอกจากจะสวยรับตำแหน่ง Miss Korea ในปี ค.ศ.2006 และเป็นตัวแทนประเทศเข้าชิง Miss Universe 2017 คุณ ลี ฮานุย (Lee Hanee) หรือ Honey Lee นั้นเรียกได้ว่าเป็นเทพีแห่งศิลปะวิทยาการระดับสมบัติของชาติเกาหลีกันเลยทีเดียว คือนอกจากเธอจะเป็นนักแสดง พรีเซนเตอร์แล้ว เธอยังเป็นนักดนตรี – นักเล่นคายากึม เครื่องดนตรีประจำชาติเกาหลีในระดับตัวท็อปทางการทีมชาติ
เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโททางด้านดนตรีเกาหลี สาขาดนตรีประจำชาติ (Gugak) เธอเองเข้าร่วมแสดงในเทศกาลคายากึมที่ใหญ่ที่สุด และเคยได้รับการขนานนามว่าเป็นนักคายากึมอัจฉริยะจาก Kumho Art Center สถาบันทางการดนตรีที่ได้รับการยอมรับสูงสุดแห่งหนึ่งของเกาหลี โดยตัวเธอเองก็อยู่ในครอบครัวนักดนตรีและนักวิชาการทางดนตรี แม่ของเธอ Moon Jae-suk ก็เป็นนักเล่นคายากึมที่มีชื่อเสียง จบปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ดนตรีเกาหลีและเป็นศาสตราจารย์ที่ Ewha Womans University ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าผลงานของ Honey Lee และการดนตรีของเธอก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของวงวิชาการดนตรีประจำชาติเกาหลี – นอกจากการเล่นเครื่องดนตรีของชาติแล้ว เธอยังเป็นนักเทควอนโด ได้รับสายดำอีกด้วย คือครบทุกสมบัติของชาติโดยแท้
อ้างอิงข้อมูลจาก