หลายคนอาจเคยผ่านตากับข้อความเหล่านี้…
รับออกแบบกราฟิก ราคาเริ่มต้นที่ 20 บาท รับออกแบบโลโก้ ราคาเพียง 500 บาท รับออกแบบอะไรก็ได้ แก้ได้ไม่อั้น จนกว่าคุณจะพอใจ
ด้วยราคาที่ถูกกว่าการกินชาบูหนึ่งมื้อ เลยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะมีคนเข้าใจว่างานออกแบบเป็นเรื่องง่ายๆ เพราะเสียเงินไม่กี่พันบาทก็ได้โลโก้หรือกราฟิกมาไว้ใช้สบายใจเฉิบ จนอาจมีคนตกใจ ถ้าไปจ้างนักออกแบบเฉพาะทางแล้วถูกเรียกเงินหลักหมื่นหลักแสน
DELL เลยอยากพาคุณไปรู้จักกับสี่อาชีพนักออกแบบที่กำลังกุมขมับว่าจะทำยังไงให้คนเข้าใจดีว่างานที่ดูเหมือนไม่น่าจะต้องออกแบบอะไรมากเนี่ย จริงๆ แล้วต้องเสียน้ำตาไปเท่าไหร่กว่าที่จะได้งานไฟนอลสักชิ้น
นักออกแบบฟอนต์ (Type Designer)
“ทำไมเราต้องการชุดตัวอักษรใหม่ด้วย?”
ผลงานของอาชีพนี้ปรากฏอยู่แทบทุกช่องทางการสื่อสาร แต่ชื่อของนักออกแบบฟอนต์กลับไม่เป็นที่คุ้นหูสักเท่าไหร่ ทั้งที่ไทยเองก็มีบริษัทรับออกแบบฟอนต์โดยเฉพาะ แถมยังมีนักออกแบบที่ได้รับการยอมรับจากเวทีโลก ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ทุกคนจะเข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องการฟอนต์ใหม่ๆ ยิ่งทุกวันนี้มีฟอนต์ฟรีให้เลือกใช้ตั้งเยอะแยะ
ที่จริง เหล่านักออกแบบฟอนต์ก็ไม่ได้เอามีดมาจี้ว่าต้องจ้างฉันทำฟอนต์เดี๋ยวนี้ เพราะพวกเขาเข้าใจว่าฟอนต์ไหนๆ ก็ใช้ได้เหมือนกันแหละ แต่ถ้าเกิดคุณอยากพิมพ์บอกรักใครสักคน แล้วอยากให้คำว่ารักของเรานั้นเป็นที่จดจำแก่คนที่หมายปอง อยากให้ข้อความมันทิ่มแทงทะลุเบ้าตาจนเขาต้องเอาไปนอนฝัน และอยากให้ข้อความนั้นแสดงออกถึงตัวตนของเราเต็มที่ ค่อยมาจ้างก็ไม่สาย เพราะหน้าที่หนึ่งของนักออกแบบฟอนต์คือการสร้างบุคลิกให้เตะตาต้องใจ เหมือนเวลาไปจ้างช่างให้ตัดเสื้อผ้าสำหรับคุณโดยเฉพาะนั่นแหละ
แต่ใช่ว่ารูปลักษณ์ดูดีแล้วจะพอ สำหรับนักออกแบบฟอนต์แล้ว อีกหน้าที่คือการทำให้ตัวอักษรเหล่านั้นอ่านได้อย่างลื่นไหล พวกเขาต้องนั่งจ้องคอมพ์ตาแข็ง หาองศาเหลี่ยมมุมที่จะทำให้ตัวอักษรแต่ละตัวอ่านสบายตา ทดลองปรินต์ลงกระดาษ ใช้ในคอมพ์ เปิดในมือถือ และอีกสารพัดช่องทางการสื่อสาร หมดเวลาไปหลายเดือน เพื่อทำชุดตัวอักษรให้พร้อมใช้งานได้ในทุกรูปแบบ คราวนี้ คุณอยากจะพิมพ์บอกรักใครตัวเท่าบ้าน หรืออยากพรรณนาความในใจยาวห้าหน้าเอสี่ก็จะชวนอ่านและดูน่าจดจำ (ส่วนจะจีบติดมั้ยก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขียนแล้วแหละนะ)
แล้วไม่ต้องกลัวว่าฟอนต์ของคุณจะมีบุคลิกซ้ำใคร เพราะฟอนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นมีลิขสิทธิ์หมด ถ้าเกิดไม่ปล่อยให้ใช้ฟรี ก็ไม่มีทางที่ใครจะใช้ได้ (ถ้าเจอคนอื่นใช้ก็ฟ้องร้องได้เลย!) ดังนั้น มั่นใจได้เลยว่าฟอนต์ที่ถูกสร้างมาคือตัวแทนของคุณคนเดียวแน่นอน
นักออกแบบหน้าร้าน (Visual Merchandiser)
“อ้าว ไม่ได้แค่ใส่เสื้อผ้าให้หุ่นเฉยๆ เหรอ”
หน้าที่ของนักออกแบบหน้าร้านมีมากกว่าแค่หน้าร้าน เอาเข้าจริง พวกเขาควรเปลี่ยนชื่อตำแหน่งใหม่ด้วยซ้ำ เพราะขอบข่ายหน้าที่ของอาชีพนี้ไม่ใช่เพียงแค่ใส่เสื้อผ้า จัดท่าทางให้หุ่นแล้วจบกัน แต่นักออกแบบหน้าร้านมีเอี่ยวแทบทุกส่วน
นอกจากต้องคิดธีมและตกแต่งหน้าร้านให้ตอบโจทย์เจ้าของแบรนด์แล้ว พวกการจัดวางสินค้าต่างๆ ที่คุณเดินเข้าไปดูตรงราวนั้นบ้าง ชะเง้อมองข้างบนโน้นบ้าง ก็เป็นฝีมือของพวกเขา กางเกงแบบต่างๆ ที่เรียงกันสวยงาม หรือเสื้อผ้าไล่เฉดสีงามงดก็เป็นฝีมือของพวกเขา แสงไฟเข้มๆ อ่อนๆ ที่ช่วยขับเน้นให้สินค้าดูโดดเด้ง การเลือกเปิดเพลงฮิปๆ ตามกระแสหรือเพลงที่ฮิตทุกยุคทุกสมัยก็เป็นฝีมือของพวกเขาเช่นกัน
อาจมีคนคิดว่าไม่เห็นยากอะไร แค่รู้จักการออกแบบและตกแต่งภายในก็ทำได้แล้ว นักออกแบบหน้าร้านก็อาจคิดอย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าหน้าที่ของพวกเขาคือการออกแบบเพื่อความสวยงามแล้วจบเลย แต่ในความเป็นจริง การออกแบบหน้าร้านเกี่ยวข้องกับการทำมาค้าขายอยู่มาก คือถ้าร้านสวยงาม แต่แคชเชียร์นั่งตบยุง นักออกแบบก็อาจต้องปาดเหงื่อและเอาเท้าก่ายหน้าผากว่าจะทำยังไงให้คนอยากควักเงินซื้อของมากกว่านี้
การออกแบบหน้าร้านจึงเหมือนการสร้างนางกวักขึ้นมาเชิญชวนให้ทุกคนเดินเข้าไปภายใน เพื่อไปพบกับข้าวของที่ถูกจัดวางไว้ให้คุณคันไม้คันมืออยากหยิบกลับบ้านไปสักชิ้นสองชิ้น ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่คุณเดินห้างฯ แล้วเผลอเข้าไปในร้านและซื้อของโดยไม่ตั้งใจ ให้รู้ไว้ว่านั่นแหละคือฝีมือของอาชีพนี้
นักออกแบบอาหาร (Food Stylist)
“แค่ถ่ายรูปสวยก็เป็นได้แล้ว”
ในยุคที่ร้านอาหารพากันตกแต่งหน้าตาสารพัดเมนูเด็ดให้ดูสวยงานจนอยากหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย แล้วอัพขึ้นโซเชียลมีเดียกันทุกมื้อ นั่นแหละคือผลงานของ Food Stylist เลยไม่ใช่อาชีพที่แปลกสักเท่าไหร่ ทุกคนพอรู้ว่าพวกเขาเป็นคนคอยตกแต่งเมนูต่างๆ ให้งดงาม เป็นคนเนรมิตให้ภาพอาหารเห็นแล้วน้ำลายไหล แต่ความจริงแล้ว Food Stylist ยังมีอะไรมากกว่านั้น
หลายคนอาจคิดว่า Food Stylist คือการทำงานร่วมกับเชฟและตากล้อง นั่นก็จริง แต่แค่ส่วนหนึ่ง เพราะหลายต่อหลายครั้ง Food Stylist ถูกจ้างไปเพื่อคิดค้นเมนูหรือคอนเซปต์อาหารให้กับร้านต่างๆ ซึ่งพอเป็นแบบนี้ Food Stylist เลยอาจต้องลุยเดี่ยวตั้งแต่ต้นจนจบ และจำเป็นต้องมีสกิลทำอาหารกับถ่ายรูปติดตัว เพราะบางครั้งก็ต้องไปจ่ายตลาด เข้าครัว รวมถึงถ่ายรูปตามลำพัง
แต่นั่นยังไม่ใช่คุณสมบัติสำคัญ เพราะเอาเข้าจริง การเป็น Food Stylist ต้องปวดหัวกับการคิดว่าจะถ่ายแฮมเบอร์เกอร์ยังไงให้ไม่ซ้ำและไม่เก่า ถ่ายสปาเก็ตตี้ยังไงให้ดูมีคลาส ไปจนถึงต้องรู้จักการสร้างภาพ…เอ่อ…ไม่ได้หมายถึงนิสัยนะ หมายถึงการรู้จักพลิกแพลงวัตถุดิบต่างหาก
ด้วยข้อจำกัดทางด้านเวลาทำให้การถ่ายบางเมนูอาหารเป็นไปได้ยาก กว่าจะตกแต่งเสร็จ กว่าจะจัดแสงได้ หันมาอีกที อาหารอาจหมดความน่ากินไปแล้ว บางครั้ง Food Stylist เลยต้องเล่นแร่แปรธาตุ นำของที่เราคาดไม่ถึงมาเป็นตัวช่วยให้อาหารออกมาดูดี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะถ่ายกาแฟให้ติดฟอง ของจริงอาจยากไป ลองใช้ฟองสบู่แทนดีกว่า อยากถ่ายเครื่องดื่มเย็นๆ ต้องการให้เห็นน้ำแข็ง แต่ยังไม่ทันจะกดแชะ น้ำแข็งละลายไปแล้ว งั้นลองใส่ก้อนพลาสติกลงไปแทน อยากให้ไก่มีผิวเงางามชวนเอามีดหั่น แต่ที่ทำมายังดูขาดความชุ่มชื้นไปหน่อย งั้นลองเอาฟ็อกกี้มาฉีดใส่ดู หรือถ้าจะถ่ายสเต๊กตอนร้อนๆ ก็อาจไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ ไหนจะมัน ไหนจะควันพวยพุ่ง งั้นรอให้เย็นกว่านี้หน่อยแล้วกัน เผื่อตกแต่งเพิ่มเติมได้อีก
อย่างไรก็ตาม Food Stylist บางคนก็นิยมทำอาหารจริงๆ เลยเหมือนกัน ซึ่งการทำแบบนั้นก็ได้ฟีลเหมือนไปเล่นเกมโชว์ คล้ายว่าหูได้ยินเสียงนาฬิกาจับเวลาดังอยู่ตลอด โดยการทำแบบนี้มีความเสี่ยงตรงที่ว่าถ้าไม่เวิร์กก็ต้องทำใหม่ไปเรื่อยๆ การจะได้อาหารที่สวยงามสนใจเลยกินเวลายาวนานเป็นวันๆ (หรือข้ามวัน) เลยก็มี
นักออกแบบประสบการณ์การใช้งาน (Experience Designer)
“เอ่อ…นี่อาชีพอะไรนะ”
ถ้าอ่านแค่ชื่ออาชีพอาจต้องเกาหัวแกรกๆ พลางคิดสงสัยว่ามีอาชีพนี้บนโลกด้วยเหรอ พวกเขาทำงานอะไรกันไม่เห็นจะเคยได้ชมผลงาน แต่เอาเข้าจริง นักออกแบบอาชีพนี้อยู่เบื้องหลังประสบการณ์ในชีวิตของเราหลายอย่าง
เอาง่ายๆ เคยไหมที่หยิบมือถือขึ้นมากะเข้าเฟซบุ๊กเล่นๆ รูดหน้าจอไปมา เวลาดันผ่านไปหนึ่งชั่วโมงหน้าตาเฉย ลองเล่นแอพฯ ออกใหม่ แต่ทุกการใช้งานนั้นง่ายแสนง่ายแบบไม่ต้องอ่านคู่มือ ได้ข้าวของเครื่องใช้มาอย่างหนึ่ง แต่แพ็คเกจที่ห่อมานั้นสวยงามจนไม่กล้าแกะ หรือแม้กระทั่งเดินเล่นนิทรรศการแล้วอยากไล่อ่านข้อความในป้ายนั้นให้หมด สิ่งเหล่านี้แหละคือผลงานของ Experience Designer
ย่อหน้าที่แล้วอาจทำให้คนสับสนว่านั่นไม่ใช่หน้าที่ของโปรแกรมเมอร์ นักออกแบบแพ็คเกจจิ้ง หรือคนทำนิทรรศการหรอกเหรอ อันที่จริงก็ใช่ เพียงแต่ Experience Designer มีหน้าที่ทำให้งานของคนเหล่านั้นส่งต่อไปถึงผู้ใช้งานด้วยดี ยกตัวอย่างเช่นโซเชียลเน็ตเวิร์ก การทำฟีเจอร์ให้คนมาไลฟ์ แต่กว่าจะไลฟ์ได้ต้องเซ็ตมือถือประมาณสิบนาที คนเล่นก็คงเบื่อ พานให้ไม่อยากเล่นโซเชียลฯ เจ้านั่นไปดื้อๆ Experience Designer จะนำความหงุดหงิดของผู้ใช้ไปบอกทีมงานส่วนอื่นๆ ให้ปรับแก้ระบบจนใช้งานได้ง่ายที่สุด ทุกคนสามารถไลฟ์ได้ภายในสามวินาที หรืออยากทำนิทรรศการเผยแพร่ข้อมูลที่มนุษยชาติจำเป็นต้องรู้ แต่เข้าไปแล้วเจอข้อความยาวเป็นพรืด ราวกับปรินต์ข้อความจากโปรแกรมเอกสารมาให้อ่านกันดื้อๆ ข้อความที่ต้องการส่งสารก็อาจล้มเหลว Experience Designer ก็จะยื่นมือมาออกแบบตัวนิทรรศการให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้อ่าน จัดวางข้อความ รูปภาพ หรือใช้ลูกเล่นมาทำให้คนอยากติดตามไปเรื่อยๆ
ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่า Experience Designer จะเกี่ยวข้องแค่กับวงการไอทีหรือนิทรรศการเท่านั้น พวกเขากระจายตัวอยู่ในแทบทุกวงการ เพราะหน้าที่ของพวกเขาเป็นเหมือนคนกลางที่ต้องคอยเชื่อมผู้ผลิตกับผู้รับสารเข้าไว้ด้วยกัน ต้องหาข้อดีข้อเสีย คอยดูฟีดแบ็กจากผู้ใช้งาน นำกลับมาปรับปรุง เพื่อทำให้สิ่งนั้นดียิ่งขึ้นแล้วเดินหน้าต่อไปได้ในทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังต้องทำให้ลูกค้าสะดวกสบาย เพลิดเพลินจนลืมเวลา และรู้สึกประทับใจจนอยากกลับมาใช้งานสิ่งนั้นใหม่ได้อีกครั้ง