บางทีก็ไม่ค่อยแน่ใจ ว่าความดีหรือกระดาษทิชชู่ ถึงได้บางเบาและอ่อนไหว ต้องทะนุถนอมอะไรขนาดนั้น
ถ้าไม่ใช่ตัวร้ายโดยกำเนิด ดูเหมือนว่าใครๆ ก็อยากที่จะเป็น ‘เป็นคนดี’ กันทั้งนั้น บางคนถึงกับตั้งปณิธานว่าชีวิตนี้จะเป็นคนดี แต่การเป็นคนดีนี่ก็แปลกดี เรามักอยากเป็นคนดีกันโดยธรรมดาแหละ แต่เราก็ไม่ค่อยกล้าประกาศตัวว่าเราเป็นคดีเท่าไหร่ และที่แปลกอีกอย่าง ในสังคมไทย ความดีดูเหมือนจะบางเบามากๆ เพราะเวลาที่มี ‘คนดี’ ที่ถูกตั้งถาม มันก็ดูเหมือนว่าเราต้องทำอย่างเบามือที่สุด ราวกับว่ามันจะฉีกขาดหรือปลิดปลิวไปได้ง่ายๆ
ในอีกทางหนึ่ง ถึงเราจะรู้สึกว่าเราอยากเป็นคนดี เราจะเป็นคนดี แต่ด้วยความใหญ่โตของคำความดีงาม มันเลยทำให้เหมือนว่า ‘คนดี’ และ ‘ความดี’ มันมีความหมายที่สมบูรณ์ในตัวเอง แต่พอลงมาคิดจริงๆ แล้วก็ยังงงๆ ว่า ตกลงแล้วคนดีที่ว่า มันควรจะเป็นอย่างไร
The MATTER จึงชวนมาสำรวจ ‘นิยาม’ ของคนดี จากนักปราชญ์ทั้งหลายกัน
เสาหลักทั้ง 4: รากฐานของความดีจากยุคโบราณ
![Plato, The Republic “Clearly, then, it will be wise, brave, temperate [literally: healthy-minded], and just.”](https://thematter.co/wp-content/uploads/2016/07/คนดีquote1.jpg)
Plato, The Republic “Clearly, then, it will be wise, brave, temperate [literally: healthy-minded], and just.”
พูดถึงความโบราณและนักปรัชญา กรีกต้องมา และลูกพี่เพลโต อาริสโตเติลของเราก็ต้องมาด้วย
แน่นอนว่านักปรัชญาเช่น เพลโตและอาริสโตเติลเป็นรากฐานของอารยธรรมตะวันตก อาชีพหลักๆ ที่นักปรัชญาทำคือขบคิดใคร่ครวญเรื่องความเป็นไปของโลก หรือควรจะทำตัวอย่างไรดี ประเด็นเรื่องความดีงามและวิถีที่มนุษย์ควรจะเป็นจึงถูกคิดขึนมาด้วย และที่เจ๋งคือ ไอ้แกนเรื่องคุณธรรมของคนดีมันได้ยืนหยัดข้าจากยุคกรีกมาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคริสศาสนา ซึ่งยืนยงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ความหมายของคุณธรรมสำคัญ 4 ข้อ

ภาพอุปลักษณ์ของคุณธรรมทั้ง 4 ประการ วาดโดย Jacques Patin ศิลปินชาวฝรั่งเศส คุณธรรมทั้ง 4 ถูกแทนด้วยภาพของสตรีสี่คนที่ถือสิ่งของแตกต่างกันออกไป เช่น ความกล้าหาญถูกแทนด้วยการแบกเสาหิน ความยุติธรรมถือตาชั่ง ความอดกลั้นมาพร้อมกับถ้วย และความถี่ถ้วนคือการระงับงูที่กำลังฉก (บางครั้งมาพร้อมกับกระจก), ภาพจาก wikipedia.com
คุณธรรมหลัก 4 ประการ (cardinal virtue) เป็นรากฐานคุณสมบัติ 4 ข้อที่บอกว่าคนดีควรจะเป็นยังไง ประกอบด้วย Prudence Justice Temperence และ Courage ซึ่งมันก็หาคำแปลภาษาไทยที่ตรงๆ ยากพอสมควร เพราะแต่ละคำแต่ละคุณธรรมก็กินความค่อนข้างมาก
Prudence พจนานุกรมแปลว่า ความรอบคอบ นัยของ prudence เรียกว่าเป็นความรอบคอบก็ไม่ผิด แต่ไม่ใช่ความรอบคอบในความหมายทั่วๆ ไป ว่าออกจากบ้านแล้วอย่างลืมปิดแก้สนะ แต่หมายถึงความชาญฉลาด (รากศํพท์ภาษาละติน prudentia แปลว่า การมองเห็นล่วงหน้าหรือสติปัญญา) มีการคิดอบย่างรอบด้านโดยเฉพาะคิดว่าการกระทำอย่างไรที่ถูกต้อง พิเคราะห์ตามวาระและโอกาสที่แตกต่างออกไป ความรอบคอบในเชิงคุณธรรมเลยกินความทั้งการมีสติปัญญาในการคิดการยับยั้งชั่งใจในการทำสิ่งต่างๆ ตามเหตุผล
Justice แน่ล่ะว่าหมายถึงความยุติธรรม ความยุติธรรมในแง่ของคุณธรรมหมายถึงการหาจุดตรงกลางระหว่างความเห็นแก่ตัวกับความเห็นแก่ส่วนรวม ว่าเราควรได้อะไร คนอื่นควรได้อะไร ในความคิดของนักคิดตะวันตก โดยเฉพาะในทางคริสศาสนาที่รับเอาแนวคิดกรีกมาปรับใข้ อาทิ Sir Philip Sidney กวีกล่าวว่าความยุติธรรมเป็นเสมือนยอดของคุณธรรมทั้งปวง (“justice the chief of virtues”)
Temperance คล้ายๆ คำว่า temper ที่แปลว่าอารมณ์ ซึ่งก็มีความหมายคล้ายๆ กัน คือหมายถึงการรู้จักควบคุมอารมณ์และควบคุมตนเอง โดยเฉพาะการระงับความรู้สึกต่างๆ จากความโกรธเกรี้ยวฉุนเฉียว ความรุนแรง ไปจนถึงความหื่นกระหาย
Courage หรือ Fortitude ก็หมายถึง ความกล้าหาญ ซึ่งไม่เชิงว่าเป็นความไม่กลัวหรือกล้าบ้าบิ่น แต่ความกล้าหาญหมายถึงความอดทน หรือการมีกำลังที่จะทนทานหรือต่อสู้กับความยากลำบากและการเผชิญหน้าความกลัวหรือความไม่แน่นอนต่างๆ

Aristotle, Rhetoric: ‘The forms of Virtue are justice, courage, temperance, magnificence, magnanimity, liberality, gentleness, prudence, wisdom.’
ไอ้คุณธรรม 4 ประการ ต้นตอแรกเริ่มเป็นแนวคิดของเพลโต เพลโตพูดถึงไว้ใน The Republic ว่านครรัฐที่ดีต้องประกอบด้วยลักษณะ 4 ข้อที่ว่า และก็แจงเพิ่มว่า อย่าง Temperance หรือการมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่โกรธฉุนเฉียวง่ายๆ เนี่ย เหมาะกับทุกคนในสังคมเลยนะ โดยเฉพาะคนที่ผลิตสิ่งต่างๆ เช่น ชาวนา ช่างไม้ หรือคนเลี้ยงสัตว์ คือพวกนี้ถ้าขี้โมโหสงสัยไปลงกับข้าวของที่ตัวเองผลิตก็เจ๊งหมด ส่วนความกล้าหาญก็แน่ล่ะเหล่านักรบและหนุ่มๆ ทั้งหลายก็ควรจะมีคุณธรรมข้อนี้เป็นที่ตั้ง ส่วนนักปราชญ์ผู้ที่มีเหตุผลและผู้ปกครองก็ให้ถือคุณธรรมว่าด้วยสติปัญญาและการคิดอย่างรอบคอบเป็นสำคัญ ส่วนความยุติธรรมนี่น่าแปลก เพลโตบอกว่าไม่ใช่เรื่องของมนุษย์แล้ว แต่เป็นเหมือนกับพี่ใหญ่ที่คอยดูแลคุณธรรมที่เหลือ
พอมาถึงอาริสโตเติลศิษย์เพลโต ใน Rhetoric (วาทศิลป์) คราวนี้สงสัยเห็นว่าอาจารย์อธิบายสี่ข้อไม่ครบ คุณพี่เลยจัดเต็ม คือมีสี่ข้ออันนั้น แต่แถมความใจกว้าง ความนุ่มนวล การใช้สติปัญญาอย่างรอบคอบ คุณธรรมหลักทั้ง 4 ข้อ อยู่ในแนวคิดของอาริสโตเติลครบถ้วน ในทำนองเดียวกัน Cicero นักปรัชญาชาวโรมันก็มีการลดทอนคุณธรรมลงให้เหลือสี่ประการหลัก
ในสมัยคริสกาลในคัมภีร์ Wisdom of Solomon อันเป็นส่วนหนึ่งของไบเบิลก็พูดถึงสติปัญญาที่สั่งสอนคุณธรรม 4 ประการคือ temperance, prudence, justice และ fortitude ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับเอาความคิดนักปรัชญาโบราณมาใช้ โดยต่อมามีการนำเอาคุณธรรมในทางเทววิทยามาเพิ่มอีกสามข้อ คือ ศรัทธา (faith) ความหวัง (hope) และการเอื้อเฟื้อ (charity) เข้ามาเป็นคุณธรรม 7 ประการ ล้อไปกับบาป 7 ประการ ด้วย

Marcus Aurelius จักรพรรดิโรมัน เขียนไว้ใน Meditations (การครุ่นคิด – ภาษากรีกแปลตรงตัวคือสำหรับตัวเอง – to himself) อันเป็นงานเขียนที่ใช้เพื่อครุ่นคิดเตือนสติและพัฒนาตนเอง มีอิทธิพลแนวคิดแนวคิดปรัชญาแบบ stoic ที่เน้นความสำรวมและระงับความรู้สึกจากสิ่งเร้าต่างๆ คุณธรรมที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมตัวเองมีลักษณะสอดคล้องกับคุณธรรมในคริสศาสนาที่เน้นการระงับและงดเว้นจากสิ่งเร้า รวมไปถึงเงินทองและความหรูหราต่างๆ “goods” as opposed to “wealth or things which conduce to luxury or prestige.”
สู่ยุคแห่งเหตุผล

Earl of Shaftesbury เป็นนักคิดที่ย้อนกลับว่าจริงๆแล้ว ศีลธรรมของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล แต่เป็นการใช้อารมณ์หรือความรู้สึก (sentiment) ในการนำพาให้มนุษย์ทำหรือไม่ทำสิ่งต่างๆ ดังนั้น ‘ความรัก’ อันเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล เป็นอารมณ์ที่มนุษย์ทุกคนเคยเผชิญจึงเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์สร้างสรรค์สิ่งดีๆหรือกระทำความดี ขึ้นได้ ข้อคิดเห็นเรื่องความดีของพี่แกเลยจะดูเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกและก็ดูเป็นอุดมคติ น่าหมั่นไส้นิดๆ
‘To love the public, to study universal good, and to promote the interest of the whole world, as far as lies within our power, is surely the height of goodness’ (จาก Characteristics of men, manners, opinions)
จริงๆ คุณธรรมว่าด้วยเหตุผลก็ไม่เชิงว่าเป็นของใหม่ของโลกตะวันตกสมัยที่เราก้าวออกจากความคิดแบบศาสนจักร เพราะในยุคกรีกเอง เช่น อาริสโตเติลก็มีการพูดถึงเหตุผลในฐานะคุณธรรมหนึ่งที่สำคัญเหมือนกัน เช่น การไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ หรือการคิดทบทวนว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ให้ใครเดือดร้อน มันก็เป็นเรื่องของเหตุผลอย่างหนึ่ง (คือมีการใช้คิดตริตรองด้วยเหตุผลอย่างถี่ถ้วน ไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์) ซึ่งก็จะมีนักคิดที่บอกว่าจริงๆ ในการตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไร ที่มันดีๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องเหตุผลอย่างเดียว แต่เราใช้อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปร่วมประกอบด้วย

David Hume เป็นนักคิดที่เห็นด้วยว่ามนุษย์จะมีคุณธรรมได้ก็เพราะการใช้ความรู้สึกเข้าไปสัมผัส ข้อคิดเกี่ยวกับการเป็นคนที่ยิ่งใหญ่และมีคุณธรรมที่ยอดเยี่ยมนั้นจะเกิดจากการที่คนๆ นั้นมีคุณสมบัติที่ดีต่างๆ สถาปนาขึ้นในตัวคนๆนั้น ผลก็คือ คนที่มีความภาคภูมิใจและเคาระในตนเองจึงเป็นสัญญาณหนึ่งของคนที่มีคุณธรรมจรรยาที่ดี
‘whatever we call heroic virtue, and admire under the character of greatness and elevation of mind, is either nothing but a steady and well-established pride and self-esteem, or partakes largely of that passion.’ จากบทที่ 2 ‘Of Greatness of Mind’ ใน A Treatise of Human Nature

Martin Luther บอกว่าบางทีการที่เราทำสิ่งไม่ดีนิดๆ หน่อยๆ ก็เป็นเรื่องที่ดีอย่างหนึ่ง “Seek out the society of your boon companions, drink, play, talk bawdy, and amuse yourself.”
นอกจากที่ว่าไป นักคิดทังหลายต่างก็ยังครุ่นคิดว่าอะไรคือคนดี คนดีควรจะเป็นยังไง บางคน เช่น มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) นักเทววิทยาและนักปฏิรูปศาสนาก็บอกว่า ก็คิดว่าเป็นคนบาปหรือเป็นคนชั่วบ้าง เช่นการหาความสุขใส่ตัว กินเหล้าบ้าง เที่ยวบ้าง พูดจาทะลึ่งตึงตังบ้าง ก็เป็นส่วนหนึ่งของการมีคุณธรรมในชีวิต

Robert Mugabe มูกาบี เป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบันของประเทศซิมบับเว เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปต่อต้านชาวผิวขาว มูกาบีเป็นผู้ที่ปกครองประเทศด้วยความรุนแรง ผลงานสำคัญคือมีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 20,000 คน โดยพี่เขาได้แนะนำการใช้ชีวิตที่ดีงามไว้ดังนี้ “Don’t drink at all, don’t smoke, you must exercise and eat vegetables and fruit.”
บางคนเช่น Robert Mugabe ก็แนะนำวิถีที่แสนจะดีงาม คือให้งดเหล้างดบุหรี่ กินแต่ผักหญ้า ออกกำลังกายทุกวัน แค่ตัวพี่แกเองก็แค่เป็นผู้นำซิมบับเวย์ที่ใช้กำลังล้างเผ่าพันธุ์คนไปสองหมื่นคนเอง