เราอยู่ในโลกสมัยใหม่ โลกที่อะไรๆ ก็ต้องเป็นรูปธรรม ไม่นานมานี้พวกสาขาและคณะวิชาที่เกี่ยวกับความคิด เกี่ยวกับอะไรที่เป็นนามธรรม เริ่มถูกเพ่งเล็งว่า ‘ไม่มีประโยชน์’ – ประโยชน์ในแง่การตอบสนองกับตลาดแรงงาน จากความคิดดังกล่าวนำไปสู่คำถามมากมายว่า ‘ความรู้’ และ ‘การศึกษา’ แบบไหนที่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น ภายใต้สายตาจากผู้มีอำนาจดังกล่าว วิชาปรัชญา ในฐานะวิชาสำคัญว่าการคิด ย่อมต้องถูกเพ่งเล็งเป็นแขนงต้นๆ
‘ภู-พีรจุฬา จุฬานนท์’ ลูกชายคนเดียวของวีรพร นิติประภาเจ้าของ ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ยังคงเชื่อในวิชาปรัชญา ปัจจุบันศึกษาสาขาวิชาปรัชญาในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา อะไรที่ทำให้คนเจนวายเลือกศึกษาวิชาปรัชญาในระดับสูง โลกสมัยใหม่และในดินแดนที่ไม่ค่อยชอบให้คิดยังต้องการวิชาปรัชญาไหม การคิดที่เราบอกว่าสำคัญเราจะคิดแบบไหน คิดแล้วยิ่งทุกข์ไหม และในที่สุดนักเรียนเรื่องความคิดคิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่าเอาแค่คิด แต่ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้เรื่อง
The MATTER : คุณคิดว่ายุคนี้ปรัชญายังจำเป็นไหม
ภู : ผมคิดว่าการเรียนปรัชญาที่มีลักษณะเป็นวิชาชีพจริงๆ อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่คนทุกคนควรเรียนลงลึกอะไร แต่จริงๆ แล้วมันก็เป็นการต่อยอดอะไรต่างๆ ในชีวิตอยู่แล้วครับ สิ่งที่นักปรัชญาทำคือการคิดที่มากกว่ากระบวนการคิดในชีวิตประจำวัน ซึ่งผมว่าในแง่นี้ทุกคนก็ทำอยู่แล้ว อยู่ที่ว่ามากหรือน้อย เลยอาจจะพูดได้ว่าปรัชญาก็สำคัญกับคนรุ่นนี้ไม่ต่างกับคนรุ่นอื่น
และถ้าถามว่าสิ่งที่นักปรัชญาทำคืออะไร เราก็อาจจะแยกได้เป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งก็คือ critical thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์ เป็นการคิดแบบตั้งคำถามกับอะไรก็ตามที่มันถูกยอมรับเป็น authority เราก็ตั้งคำถามว่ามันใช่แบบนั้นจริงไหม หาเหตุผลที่จะมาสนับสนุนหรือแย้งสิ่งที่คนทั่วไปคิดอยู่
ซึ่งผมว่าการคิดเชิงวิพากษ์ ไม่ต้องเป็นสิ่งที่จำกัดอยู่แค่ปรัชญานะ คนที่เรียนอะไรก็แล้วแต่มันมีการคิดเชิงวิพากษ์อยู่หมดแหละ เรียนวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ก็ต้องมีกระบวนการคิดแบบนี้ แต่สิ่งที่ทำให้ปรัชญาแตกต่างออกมาคือส่วนที่สองที่เราเรียกว่า reflective thinking หรือการคิดใคร่ครวญ
มันคือการที่เราคิดเรื่องต่างๆ ว่าความหมายของมันคืออะไร ถามหาว่าที่ทางหรือกระบวนการคิดอันนี้มันอยู่ในความคิดชุดอื่นๆ หรืออยู่ร่วมกับมนุษย์ในภาพกว้างอย่างไร ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ปรัชญาให้โดยเฉพาะ ในขณะที่ศาสตร์อื่นๆ ที่ใช้การคิดเชิงวิพากษ์อาจไม่ได้มีข้อหลังนี้ ซึ่งผมคิดว่าการคิดทั้งสองแบบเป็นสิ่งที่สำคัญกับคนรุ่นใหม่ครับ
The MATTER : ยิ่งคิดใคร่ครวญมาก ยิ่งทำให้เราทุกข์ใจหรือเปล่า
ภู : ผมไม่คิดว่ามันทำให้เราทุกข์ใจนะครับ กลับกันผมว่าชีวิตที่ดีก็ต้องประกอบด้วยชีวิตที่มีการคิดใคร่ครวญซึ่งไม่ใช่การเพ้อเจ้อ และอันที่จริง เราไม่สามารถมีชีวิตที่ดีได้โดยที่ไม่ตั้งคำถามว่าชีวิตที่ดีคืออะไร
แล้วในยุคปัจจุบันที่ชีวิตเราถูกหันเหไปหาเรื่องที่เป็นพื้นผิวมากขึ้น เราคุยกันเรื่องไลฟ์สไตล์เยอะ ซึ่งดูเหมือนว่าวิถีชีวิตสมัยใหม่จะมุ่งไปที่การปรับแต่งพื้นผิวเราให้มันเป็นแบบนั้นแบบนี้ การออกกำลัง การกินอาหาร มันทำให้เราลืมคิดใคร่ครวญไปว่าภายใต้พื้นผิวเหล่านั้น อะไรคือสาระสำคัญของชีวิต
The MATTER : การทำงานปรัชญาดูจะเป็นการทำงานกับความคิด กับเหตุผล แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งย่อมมีเรื่องของอคติและอารมณ์ เราจะจัดการตรงนี้อย่างไรให้คิดและวิพากษ์ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ได้จริง
ภู : ส่วนหนึ่งของการทำงานปรัชญา หรือว่าการเป็นนักปรัชญา ผมไม่ชอบใช้คำว่านักปรัชญาเท่าไหร่ เพราะผมรู้สึกว่ามันประหลาด รู้สึกว่ามันมีอาชีพนี้ด้วยเหรอ ภาษาอังกฤษก็เหมือนกัน เวลาที่เรียกตัวเองว่า philosopher มันก็รู้สึกว่าต้องแค่ไหน แค่คุณเรียนปรัชญาก็เป็นได้แล้วเหรอ หรือว่ายังไง
แต่ส่วนหนึ่งของการทำงานคือ ในที่สุดแล้วเราต้องรู้สึก comfortable กับการที่เราไม่ได้ปักใจเชื่อไปในทางใดทางหนึ่งในสิ่งที่เราไม่รู้ หรือไม่แน่ใจ ทิ้งพื้นที่ให้เรายังสามารถที่จะคิดต่อไปได้ หรือความสามารถที่จะลอยตัวอยู่ในอะไรบางอย่างที่มันไม่แน่นอน
สุดท้ายสิ่งที่เราเรียนรู้จากปรัชญาไม่ใช่ความรู้เกี่ยวกับโลก หรือชีวิต หรืออะไรต่างๆ หรอก แต่มันคือการ ตระหนักว่าจริงๆ แล้วเรารู้น้อยมากเกี่ยวกับตัวเราเอง เกี่ยวกับโลกที่เราอยู่ เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับโลกนี้ กับมนุษย์คนอื่นๆ
สิ่งที่เรียกว่าเป็นปรัชญา คือการที่เราไม่หยุดพยายามหาคำตอบให้กับคำถาม ถ้ามาถามตอนนี้ว่าชีวิตที่ดีคืออะไร หรือว่าความหมายที่เราควรจะแสวงหาให้กับชีวิตคืออะไร ผมก็ตอบไม่ได้ เพียงแต่อย่างน้อยเรารู้ว่ามันมีคำถามนี้อยู่ แล้วเราก็รู้ว่ามันไม่มีคำตอบในตอนนี้ เราก็ใช้ชีวิตแบบที่เราถามหาความหมายของมันไปพร้อมๆ กัน
ซึ่งก็ย้อนกลับมาที่คำถามว่าเราจะจัดการกับไบแอส กับอารมณ์ความรู้สึกที่เรามีอย่างไร ก็คิดว่ามันก็กลับมาตรงนี้คือถ้าเราเริ่มต้นจากการมองเห็นแม้กระทั่งไบแอส แม้กระทั่งความรู้สึกอะไรที่พร้อมจะผลักดันให้เราเชื่ออะไร เราก็สามารถที่จะต้านทานได้ว่าไบแอสมันไม่ได้ให้คำตอบที่ยุติคำถามในใจ เราก็ยังอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้โดยที่เราไม่ตกไปอยู่ภายใต้อำนาจของมัน
แต่นักปรัชญาก็เป็นมนุษย์ปกตินะครับ มีอารมณ์ ความรู้สึก ผมถึงคิดว่าการคิดวิพากษ์และคิดใคร่ครวญ เป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดเวลา รู้สึกตัวตลอดเวลาว่าตอนนี้เราคิดอะไรอยู่
The MATTER : สำหรับคุณแล้ว โลกนี้มีความจริงหนึ่งเดียวไหม
ภู : อันนี้ก็เป็นคำถามหนึ่งที่เราอาจจะไม่มีคำตอบตายตัวให้กับมันว่าตกลงมีแฟกต์หรือไม่มี หนังสือปรัชญาที่ผมอ่านเล่มแรกในชีวิตคือหนังสือของบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ ที่ชื่อว่า The Problems of Philosophy
ก็ยังแนะนำหลายๆ คนว่าถ้าเริ่มต้นสนใจปรัชญาก็ควรจะอ่านเล่มนี้ ถึงแม้ว่ามันจะเก่านิดนึง แต่มันก็ยังดีอยู่ เป็น introduction to philosophy ที่สั้นแล้วก็ให้ภาพว่าการเรียนปรัชญา หรืองานที่ปรัชญาทำคืออะไร
หนังสือเล่มนี้ก็ขึ้นต้นด้วยคำถามนี้เลยครับ ว่ามันมีอะไรสักอย่างบนโลกนี้ไหมที่เราเชื่อได้อย่างสนิทใจว่ามันเป็นจริง แล้วเหมือนหนังสือทั้งเล่มก็ชี้ให้เห็นว่ามันไม่มีอะไรเลยในโลกนี้ที่เราเชื่อได้อย่างสนิทใจ แต่กระนั้นงานของนักปรัชญาคือการหาว่ามันมีอะไรสักอย่างหรือเปล่าที่เราเชื่อได้ว่าเป็นจริง แม้ว่าในที่สุดเราอาจจะไม่ได้ไปถึงจุดนั้นก็ตาม
The MATTER : คุณเริ่มสนใจปรัชญาตั้งแต่ตอนไหน
ภู : จริงๆ ผมหันมาสนใจปรัชญาผ่านทางวิทยาศาสตร์ สมัยเรียนมัธยมผมสนใจวิทยาศาสตร์ เคยอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ แล้ว ณ จุดหนึ่งเริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาวิทยาศาสตร์ พบว่ารากฐานของวิทยาศาสตร์ที่ทั่วไปยอมรับนั้น เราเชื่อว่ามันเป็นความจริงโดยไม่ได้ตั้งคำถามเลย
พอเราเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่วิทยาศาสตร์อ้างว่ามันเป็นจริง ว่าแท้จริงแล้วมันจริงหรือเปล่า นั่นเลยเป็นจุดหักเหที่เรารู้สึกว่าก่อนจะไปถึงวิทยาศาสตร์ เราต้องมาถามก่อนนะว่าอะไรคือรากฐานของมัน ก็เลยเริ่มหันมาสนใจปรัชญา
The MATTER : แล้วคุณคิดในเชิงปรัชญา ทั้งวิพากษ์และใคร่ครวญตลอดเวลาเลยรึเปล่า
ภู : ผมรู้สึกว่าการเป็นนักปรัชญาจริงๆ คือสมาทาน เป็นพันธะหน้าที่ของเราที่จะคิดวิพากษ์ คิดใคร่ครวญในทุกรูปแบบ ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นวิชาชีพหรือจำกัดอยู่เฉพาะในการทำงาน ในแง่หนึ่งมันก็เป็นวิถีชีวิต เพราะฉะนั้นคนที่ตัดสินใจว่าตัวเองจะเป็นนักปรัชญา ก็หมายความว่าเราได้เลือกวิถีชีวิตแบบที่เราจะให้ความสำคัญกับการคิดทั้งสองอย่างที่ว่า
The MATTER : เราอาจมีเวลาครุ่นคิดได้ เพราะชีวิตไม่ได้ขัดสนหรือเปล่า
ภู : ผมยอมรับว่าปรัชญาเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยในชีวิตอย่างหนึ่ง แต่ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การที่คนไม่ได้มีชีวิตสะดวกสบายมากพอที่จะทำสิ่งนี้ เราก็ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า สภาพสังคมมันเป็นอย่างไรถึงทำให้คนจำนวนหนึ่งต้องใช้ชีวิตกระเสือกกระสนจนไม่มีเวลาถามหาความหมายของชีวิตให้กับตัวเอง
ผมเห็นด้วยนะ ว่าเรื่องของการคิดใคร่ครวญมาทีหลังเรื่องปากท้อง แต่ก็ไม่ได้มีใครมาบอกว่าชีวิตมนุษย์ควรจำกัดอยู่แค่นั้นนี่ เราไม่ได้เกิดมาเป็นเครื่องจักร เราไม่ได้แค่ทำงานอะไรสักอย่างเพื่อที่จะเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในสังคม โดยไม่เคยกลับมาถามว่าจริงๆ แล้วตำแหน่งงานที่เราควรจะมีในสังคมมนุษย์คืออะไร
และอีกสิ่งที่ผมจะพูดคือชีวิตที่ดีมันไม่ได้มีแค่ด้านเดียว มันไม่ได้มีแค่ความสุขสบาย ไม่ได้มีแค่ความพร้อมทางวัตถุ มันต้องมีอย่างอื่นด้วย เพราะวัตถุสิ่งของที่มันว่างเปล่า มันก็ไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของชีวิตมนุษย์ได้หรือเปล่า อันนี้ก็เป็นคำถามที่คนเรียนปรัชญาต้องเผชิญ
ที่พูดตอนนี้คือเป็นความอัดอั้นของผมเองด้วย เพราะผมไม่ได้ส่งมอบอะไรออกไปมากเท่าที่ควร ในสภาพที่โลกเป็นอยู่แบบนี้ แล้วผมก็คิดว่าคนทุกคนมีพันธะหน้าที่ที่จะทำให้มันดีขึ้น แล้วผมเองก็ยังอยู่กับการเรียนปรัชญา เวลาว่างก็ฟังดนตรี ดูละครเวที ในขณะที่เราไม่ได้มีความชอบธรรมที่จะมีความสุขสบายต่างๆ เหล่านี้ในชีวิตเลย
เพราะเวลาเดียวกันนั้นคนอื่นๆ ยังต้องหนีภัยสงคราม ยังต้องหาบ้านอยู่ ยังต้องเป็นกังวลเรื่องปากท้องวันต่อวัน รวมทั้งสภาพการเมืองที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง นี่เลยเป็น guilty pressure ที่ผมมี
The MATTER : คุณอยู่กับความคิดและให้ความสำคัญกับมัน แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยไม่ค่อยเอื้อให้วิพากษ์วิจารณ์หรือใคร่ครวญนัก ตรงนี้ทำให้ใช้ชีวิตยากไหม
ภู : ผมคิดว่าปัญหาคือ วัฒนธรรมของเรามันไปด้วยกันกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ดันเป็นแบบนี้มานานแล้ว ทำให้มันเป็นไปได้ยากตั้งแต่การคิดวิพากษ์ เพราะเราถูกสอนให้เริ่มคิดโดยผู้มีอำนาจ เรามีทั้งพ่อแม่ ครู อาจารย์ ศาสนา รัฐ ที่คอยบอกเราอยู่ตลอดเวลาว่าควรจะคิดเกี่ยวกับเรื่องอะไร อย่างไร
เพราะฉะนั้นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความคิดเชิงวิพากษ์มากๆ มันก็สวนทางกับสิ่งที่เราถูกสอนให้เป็น ในขณะเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจที่เราใช้ชีวิตอยู่ มันก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เรามีการคิดใคร่ครวญด้วย บางอย่างก็ถูกลดทอนไปในเรื่องของพื้นผิว เรื่องของไลฟ์สไตล์อย่างที่บอกไป
The MATTER : แล้วในฐานะนักปรัชญาควรทำอย่างไร กับภาวะที่ว่าของบ้านเมืองเรา
ภู : อันนี้ก็เป็นความอึดอัดใจของผมอีกอย่างหนึ่ง คือรู้สึกว่าบางทีสิ่งที่เราทำ มันไม่ได้เป็นสิ่งที่ที่นี่ต้องการจริงๆ หมายถึงว่าเมื่อผมกลับมาเป็นอาจารย์สอนปรัชญา เขียนหนังสือเกี่ยวกับปรัชญา มันก็คงไม่ได้ช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมที่นี่ได้มากนัก เพราะสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนในตอนนี้คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งมันอาจจะต้องอาศัยการทำงานแบบอื่นมากกว่าแค่การคิด การเขียน
แต่ผมคิดว่าความอึดอัดนี้น่าจะเป็นความอึดอัดที่นักปรัชญามีร่วมกันนะครับ เราคิดเยอะ เราพูดเยอะในเรื่องที่ว่าชีวิตมนุษย์ที่ดีในอุดมคติควรเป็นอย่างไร สังคมที่ดีในอุดมคติควรเป็นอย่างไร แต่ว่าสุดท้ายแล้วเราก็ต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วเพียงแค่การคิด การถามในเรื่องเหล่านี้ มันพาความเปลี่ยนแปลงมาจริงๆ หรือเปล่า
มันจะมีโควตของมากซ์ (Karl Marx) ตั้งแต่สมัยก่อนที่เขาจะมาเขียนหนังสือ Capital ครับ มากซ์บอกว่า ที่ผ่านมานักปรัชญาเพียงแค่ตีความโลกให้ต่างออกไป แต่สิ่งสำคัญที่ควรจะทำคือการเปลี่ยนโลกให้ต่างออกไปต่างหาก ซึ่งโควตนี้ถูกเขียนไว้บนตึกของมหาวิทยาลัยผมที่เยอรมัน
ซึ่งดูเหมือนว่ามันถูกยกออกมาตรงนั้น เพื่อที่จะเตือนใจคนในมหาวิทยาลัยทั้งหลายว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่การที่คุณมีแฟนตาซีเกี่ยวกับโลก ว่าโลกที่ดีจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่มันคือการลงมือทำแล้วก็เปลี่ยนมันให้ดีขึ้น
ย้อนกลับมาเรื่องที่ว่าจะทำการเปลี่ยนแปลงอะไรให้สังคมได้บ้างในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีหน้าที่อะไรไปกว่าการเป็นประชาชน มันค่อนข้างตอบยาก เพราะการเป็นประชาชน การเป็นพลเมือง มันก็ สื่อความหมายกลายๆ แล้วว่าเราได้ยอมรับเอาหน้าที่หรือฟังก์ชั่นของเราที่เป็นไปตามกลไกของรัฐ
ซึ่งในภาวะที่รัฐของเราไม่โอเค คำถามคือการใช้ชีวิตเป็นประชาชนในแบบที่รัฐยัดเยียดให้เราเป็น มันจะทำให้เราสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหนกัน เพราะสภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้มันก็ทำให้เราคิด หรือพูดอะไรไม่ได้มาก บรรยากาศโดยทั่วไปมันไม่ได้สนับสนุนให้เราคิดต่าง หรือคิดจะท้าทายความเชื่อที่คนในสังคมได้ยอมรับเอาไว้แล้ว
The MATTER : อยากหนีไปจากที่นี่ไหม
ภู : ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างด้วย ขึ้นอยู่กับว่าสุดท้ายแล้วผมอยากทำอะไรในชีวิต คือตอนนี้ ในแง่หนึ่งก็พยายามที่จะหนีจากการถามคำถามนี้ แล้วก็บอกกับตัวเองว่ามันยังไม่ถึงเวลาที่เราจะถามคำถามนี้กับตัวเอง ยังต้องเรียนอีกอย่างน้อย 4-5 ปี กว่าจะจบ แล้วค่อยตัดสินใจ
แล้วมันก็ไม่ได้เป็นการตัดสินใจที่ขึ้นอยู่กับตัวเราอย่างเดียว ในด้านหนึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าอะไรสำคัญในชีวิตของผม ณ ตอนนั้น ว่าผมอยากจะแค่ใช้ชีวิตของตัวเองให้ดี ทำงานปรัชญาแล้วมีความสุขอยู่กับมัน หรือว่าผมอยากจะทำอะไรให้ประเทศเรามันดีขึ้นได้บ้าง
ซึ่งถ้าผมตัดสินใจไปทางแรก มันก็มีเงื่อนไขอื่นๆ อีก เช่น เราจะหางานที่อื่นได้ไหม เพราะตลาดงานในโลกทุกวันนี้ก็ยากที่จะได้งานสอน ซึ่งถ้าผมหางานไม่ได้ มันก็เป็นไปโดยปริยายว่าผมจะต้องกลับมา ซึ่งพอผมกลับมาก็อยากจะสร้างความเปลี่ยนอะไรได้บ้าง มันก็เป็นคำถามต่อไปอีกว่างานสอน งานเขียน มันใช่ทางที่ถูกต้องไหม
หรือสุดท้ายผมจะแค่ใช้ชีวิตแบบไม่คิดมากไปกับที่นี่? โดยในแง่หนึ่ง แปลว่าเราก็สมรู้ร่วมคิดไปกับระบอบนี้ใช่ไหม? ซึ่งหลายคนเลือกที่จะทำอย่างนั้น แต่จะไปโทษเขาก็ไม่ได้ เพราะบางทีมันก็ต้องอาศัยความกล้ามากพอสมควร ในการจะทำอะไรให้มันเกิดผลลัพธ์ เพราะเราก็มีชีวิตของเรา มีครอบครัวที่ไม่อยากจะเอาเข้าไปเสี่ยง ขณะที่ก็มีบางคนที่ลงมือทำให้เกิดความยุติธรรม แต่ความเปลี่ยนแปลงมันก็ไม่ได้มาถึง
The MATTER : แล้วมองว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกันกับคุณ คิดวนอยู่แต่กับเรื่องตัวเองไหม
ภู : ผมไม่คิดว่าการหมกมุ่นกับตัวเองคือปัญหาสำคัญนะครับ ไม่ใช่ว่าเราไม่คิดถึงคนอื่น ไม่คิดถึงความทุกข์ยากที่มีอยู่ในโลกหรือว่าอะไร แต่ผมคิดว่าปัญหาของคนรุ่นเรา ไม่ใช่แค่คนที่อายุเท่ากับผม แต่รวมถึงคนที่อยู่ร่วมกับเรา ต่างเป็นกลุ่มคนที่ขาดพลังในการรวมตัวที่จะทำอะไรสักอย่างมากกว่า
มันไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อน เราเคยเห็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างในยุโรปก็มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาปี 1968 ในเมืองไทยเองก็มีสมัยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 14 ตุลาฯ ที่คนหมู่มากพร้อมใจลุกขึ้นมาเพื่อที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ผมรู้สึกว่าสภาพที่เราเป็นอยู่ปัจจุบัน มันทำให้การรวมตัวกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนมันเป็นไปได้ยากขึ้น
The MATTER : หมายถึงว่าเรากำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอยทางการเมืองใช่ไหม
ภู : ในแง่ของสภาพความเปลี่ยนแปลงมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน ผมคิดว่าการเมืองไทยก็ยังเป็นอย่างเดิมมาตั้งแต่สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกตรอง ถึงแม้ว่าภายนอกจะดูมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเยอะแยะ มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ผมรู้สึกว่าโดยพื้นฐานมันก็ยังเป็นแบบเดิมอยู่ เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ได้เสื่อมถอย แต่ก็ไม่ได้ดีขึ้น
ซึ่งคำถามที่ว่าถ้าเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเราจะทำยังไง ก็เป็นโจทย์ที่คนรุ่นเราต้องหาคำตอบ เพราะตอนนี้มนุษย์ก็มีความสนใจที่กระจัดกระจาย เวลาเราเข้าไปมีส่วนร่วมทางความคิด หรือส่วนร่วมทางอารมณ์มันจึงเกิดขึ้นแค่ช่วงสั้นๆ และหายไปเหมือนเวลาที่เราอยู่ในโซเชียลมีเดีย แล้วเราก็เห็นว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้มันเกิดขึ้น แล้วเราก็ผ่านไป มันเลยทำให้ยากที่เราจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับอะไรสักอย่างอย่างยั่งยืน
ผมว่าความฉลาดรู้ (intellectually) และอารมณ์ความรู้สึก (emotionally) ที่มีร่วมกัน เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนจำนวนมากรวมตัวกันได้ หรือความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากเพราะแต่ละคนก็มีวิถีชีวิต มีความสนใจที่ต่างกัน สภาพแวดล้อมทางสื่อเองก็ส่งเสริมให้เรามีความสนใจและการตอบสนองต่อสภาพความเป็นจริงที่หลากหลายเกินไป ผมเลยรู้สึกว่ามันยาก
ซึ่งมันก็เป็นคำถามที่น่าสนใจว่าเราจะไปอย่างไรต่อ ในภาวะที่การเมืองไม่โอเค ในขณะเดียวกันผมรู้สึกว่ามันก็มีกลไกอะไรต่างๆ ที่ทำให้เราสามารถหาทางออกชั่วครั้งชั่วคราวให้กับความอัดอั้นตันใจต่อสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่ มันเลยยังไม่มีการปะทุอะไรออกมา
The MATTER : ทางออกชั่วครั้งชั่วคราที่ว่าคืออะไร
ภู : ผมว่าเวลาที่เราอยู่บนเฟซบุ๊กมันก็อาจจะมีอะไรที่เราไม่พอใจ เราก็อาจจะเขียนโพสต์อะไรสักอย่างลงไป แล้วก็มีคนจำนวนมากมากดไลก์ เราก็รู้สึกว่าสารของเราได้ออกไปสู่คนอื่น ออกไปสู่ audience ที่มากดไลก์ เรารู้สึกพอใจที่เราได้โพสต์ หรือเรารู้สึกว่า เฮ้ย มันมีเรื่องนี้ มันมีเรื่องนั้นเกิดขึ้นที่ต่างประเทศ เรื่องผู้ลี้ภัยหรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เราก็รู้สึกว่าเออ เราต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ไปลงชื่อร่วมแคมเปญ
เราโพสต์ว่าเราได้ร่วมลงชื่อแล้วเราก็รู้สึกพอใจเพียงเพราะเราได้ทำสิ่งนั้น แล้วมันมีคนไลก์ เราก็รู้สึกว่าพอใจแล้ว อะไรประมาณนี้ ในระยะยาวเราก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่าสภาพที่เป็นอยู่มันกดดันเราเพิ่มขึ้น เพราะเรามีทางออกชั่วครั้งชั่วคราวแบบนี้ ที่ทำให้เราทนอยู่กับสภาพพวกนี้ได้ สุดท้ายแล้วมันทำให้เรามีความกระจัดกระจายและเสียพลังในการทำอะไรสักอย่างจริงๆ
The MATTER : ถ้าคุณมองว่าปรัชญาไม่ได้ขับเคลื่อนโลกได้ขนาดนั้น แล้วโลกที่ไม่มีปรัชญาล่ะ?
ภู : ผมอยากจะถามย้อนกลับไปมากกว่า ว่าโลกที่เราอยู่มันมีปรัชญามากน้อยแค่ไหน? มีคนอยู่จำนวนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่านักปรัชญา เรียนหนังสือ แล้วก็คุยกันถึงเรื่องต่างๆ ที่เราเรียกกันว่าเป็นหัวข้อทางปรัชญา ซึ่งถ้าคนเหล่านี้หายไปจากโลกแล้วโลกมันจะเปลี่ยนไปกว่าเดิมแค่ไหน ผมไม่แน่ใจเลย
อันนี้ไม่ได้หมายความว่าปรัชญาไม่ควรมีที่อยู่ในโลกมากว่าที่เป็นอยู่นะครับ เพราะแค่พูดถึงปรัชญาพื้นฐานพวกการคิดวิพากษ์และใคร่ครวญ ถามว่ามันมีพื้นที่อยู่ในชีวิตร่วมสมัยของคนทั่วไปมากแค่ไหน มันก็เป็นคำถามที่ตอบได้ยากมากแล้ว
The MATTER : รองจากเรื่องการเมือง หัวข้อที่คุยแล้วคุณรู้สึกสนุกกับการนำมาคิดในเชิงปรัชญาคืออะไร
ภู : (หัวเราะ) เอาจริงผมคุยเรื่องการเมืองในเชิงปรัชญาน้อยมาก ปัญหาทางการเมืองที่เราเผชิญอยู่มันก็ไม่ได้เรียกร้องการคิดใคร่ครวญในทางปรัชญามากมาย สภาพมันก็เห็นๆ กันอยู่ว่าเป็นแบบนี้ ไม่ต้องมีนักปรัชญามาบอกก็ได้ คำถามคือเราจะทำยังไงมากกว่า แล้วคำถามว่าทำอย่างไร มันก็ไม่ใช่คำถามที่ทางปรัชญาจะบอกได้
โดยทั่วไป ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่ชอบพูดเรื่องการเมือง แค่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องเร่งด่วน โดยธรรมชาติแล้วผมไม่ได้เป็นคนสนใจทางการเมือง นึกออกไหมครับ มันจะมีคนที่อยู่ในประเทศที่สภาพการเมืองโอเค แต่เขาก็ยังเชื่อมโยงได้ เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเขา ซึ่งผมไม่ได้เป็นคนแบบนั้น
ผมแค่รู้สึกว่าผมเป็นคนที่อยู่ที่นี่ เกิดที่นี่ โตที่นี่ ผมเห็นว่าปัญหามันคืออะไร ผมก็อยากให้มันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ก็เลยพูดเรื่องปรัชญาและการเมืองเยอะ มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดแบบนั้น
แต่ปกติแล้วผมก็ไม่ได้ชวนคนนั้นคนนี้คุยเรื่องการเมืองกลางโต๊ะอาหารนะ สภาพที่นี่ทำให้การคุยเรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวัง เป็นไปไม่ได้ที่เราจะคุยเรื่องนี้กันอย่างเปิดกว้าง ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาสู่คำถามล่ะครับ ว่าแล้วการเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร