“Today I escaped from anxiety. Or no, I discarded it, because it was within me, in my own perceptions — not outside.”
“วันนี้ฉันหนีจากความกังวล ไม่สิ, ฉันวางความกังวลลง, เพราะความกังวลนั้นอยู่ในตัวฉัน ไม่ได้อยู่ภายนอก”
– Marcus Aurelius, Meditation
“We should always be asking ourselves: “Is this something that is, or is not, in my control?”
“เราควรถามตัวเองตลอดเวลาว่า นี่เป็นสิ่งที่อยู่ในความควบคุมของเราหรือไม่”
– Epictetus, Enchiridion
หมายเหตุ – คำว่า ช่างแม่ง ในที่นี้ ใช้เพื่อให้สม่ำเสมอกับระดับภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า Not Giving A Fuck ซึ่งมีความหมายต่างจาก ‘ช่างมัน’ เฉยๆ มากพอสมควร
รู้สึกไหม? ยิ่งโตขึ้น ก็ยิ่งมีเรื่องจุกจิกกวนใจซ้ายขวาเยอะขึ้นตาม เรื่องจำเป็นและไม่จำเป็นปะปนกันจนแยกไม่ออกว่าเรื่องไหนจำเป็นจริง หรือเรื่องไหนจริงๆ ไม่จำเป็นแต่แค่ดูเหมือนจำเป็นเฉยๆ ในภาวะแบบนี้ เราดูเหมือนจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้คนอื่นพอใจ เพื่อให้ได้การยอมรับ ความนับถือ หรืออย่างน้อย ก็เพื่อให้ตัวเองรู้สึก ‘เหมือนได้ทำอะไรสักอย่าง’ ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่พอมานั่งคิดดูย้อนหลังแล้ว ในสถานการณ์นั้นๆ เราอาจจะไม่ต้องไปแคร์หรือไปสนใจขนาดนั้นก็ได้
ทั้งๆ ที่ในสถานการณ์นั้นๆ เรา ‘ช่างแม่ง’ ก็ได้
ผมคิดว่า ความรู้สึกอยาก ‘ช่างแม่ง’ น่าจะเป็นความรู้สึกร่วมของใครหลายๆ คน เราต่างรู้สึกว่ายิ่งโตมา ก็ยิ่ง ‘ช่างแม่ง’ ได้น้อยลงๆ มีเรื่องที่ไม่อยากทำ ไม่อยากเป็น แต่ก็ต้องทำ ต้องเป็น เยอะขึ้นๆ ความรู้สึกร่วมเหล่านี้พออัดรวมกันมากเข้า ไม่มีที่ปลดปล่อย – พออยากปลดปล่อยความรู้สึกนี้ แต่ไม่รู้วิธี หรืออาจจะต้องการแรงผลักนิดๆ หน่อยๆ – ก็อาจเป็นสาเหตุให้หนังสือสอนวิธี ‘ช่างแม่ง’ อย่าง The Subtle Art of Not Giving a Fuck ของ Mark Manson ขายดิบขายดีจนติดอันดับเบสท์เซลเลอร์ของอเมซอนหลายสัปดาห์
“ศิลปะอันแยบยลแห่งการช่างแม่ง” ของมาร์ก แมนสัน
จริงๆ หนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนังสือประเภท Self-help เล่มหนึ่ง และก็คล้ายกับหนังสือ Self-help ทั่วๆ ไปที่มักจะบอกในสิ่งที่ลึกๆ คุณก็รู้อยู่แล้ว แต่คุณแค่อยากให้มีคนมาบอก ออกแรงผลัก หรือกระตุ้นให้คุณมีแรงบันดาลใจเท่านั้น – หนังสือ The Subtle Art of Not Giving A Fuck ก็พยายามบอกกับเราในทำนองนี้ว่า ‘บางเรื่อง ช่างแม่งบ้างก็ได้’
มาร์กบอกว่า ถึงแม้การช่างแม่งจะดูง่ายดาย (ก็แค่ช่างแม่งอะเนอะ) แต่จริงๆ แล้วมันมีอะไรซับซ้อนกว่านั้นมาก ประเด็นที่เขายกขึ้นมาก็คือ พวกเราส่วนมากมักใช้ชีวิตโดยแคร์สิ่งรอบตัวมากเกินไปในสถานการณ์ที่จริงๆ ไม่ควรแคร์ เช่นแคร์ว่าพนักงานเติมน้ำมันทอนเงินมาเป็นเศษเหรียญมากไป แคร์ว่ารายการทีวีที่เราชอบไม่ได้ไปต่อ แคร์ว่าเพื่อนร่วมงานไม่ยอมถามว่าเราไปเที่ยวไหนมาวันหยุด ฯลฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องหยุมหยิมมาก เมื่อเราแคร์ทุกสิ่ง เราก็จะรู้สึกว่าเราควรจะได้รับความสุขจากการแคร์ทุกสิ่งนั้นตลอดเวลา ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ผิด (Because when we give too many fucks, when we choose to give a fuck about everything, then we feel as though we are perpetually entitled to feel comfortable and happy at all times, that’s when life fucks us.)
มาร์กบอกว่าจริงๆ ธรรมชาติของมนุษย์นั้นถูกสร้างมาให้แคร์สิ่งรอบตัวมากเกินไป เช่น เด็กที่ร้องไห้ตาบวมเพราะไม่ได้ใส่หมวกสีที่ชอบ เรื่องหยุมหยิมขนาดนี้ยังแคร์ไปทั้งที่ไม่รู้จะแคร์ทำไมเลย พอโตมา เราก็อาจจะยังแคร์เรื่อง ‘หยุมหยิม’ อยู่ แค่เราไม่รู้ว่าเรื่องพวกนั้นมันหยุมหยิมเพราะมันดูสำคัญกับเราเฉยๆ
ขอสรุปเรื่องหลักการช่างแม่งของมาร์ก แมนสัน ไว้สั้นๆ ดังนี้
- เขาคิดว่าการช่างแม่งไม่ใช่การไม่รู้สึกรู้สา แต่เป็นการโอเคกับความแตกต่าง การช่างแม่งคือการไม่สนใจสิ่งต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค แล้วพยายามทำทุกสิ่งเท่าที่ทำได้เพื่อให้บรรลุผล (ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่แม่ของมาร์กถูกหลอกเอาเงิน เขาก็ไม่ได้ช่างแม่งว่าเออ เงินเสียไปแล้วช่างมันเถอะ แต่เขาโกรธจนรู้สึกว่าจะฟ้องคนที่หลอกเอาเงินให้ถึงที่สุด เพราะช่างแม่งว่าอะไรจะเกิดขึ้น)
- เขาคิดว่าการช่างแม่งในสิ่งที่ควรช่างแม่ง นั้นต้องเริ่มจากการแคร์ในบางเรื่องที่สำคัญก่อน (พูดให้เข้าใจง่ายคือ ให้เลือก ‘แม่ง’ ที่ควรจะ ‘ช่าง’) แต่มาร์กก็ให้เราไปตัดสินใจเอาเองว่าเราคิดว่าเรื่องไหนสำคัญหรือไม่สำคัญบ้าง
- เขาคิดว่าเรามีจำนวนเรื่องที่แคร์ได้ในชีวิตจำกัด ไม่ใช่ว่าแคร์ทุกเรื่อง ให้สนใจว่าเราใช้พลังงานในการแคร์เรื่องหรือคนที่ไม่จำเป็นมากเกินไปหรือเปล่า
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว แค่อาจต้องการคนมาเตือนแรงๆ เฉยๆ ไหนๆ ก็ไหนๆ ลองอ่านบล็อกโพสท์ที่เป็นช่วงต้นของหนังสือเล่มนี้ได้
นอกจากนี้ ยังมีหนังสือในทำนองเดียวกันอีกเล่ม ชื่อ The Life-Changing Magic of Not Giving A Fuck ของ Sarah Knight ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วคล้ายๆ กับของมาร์ก แมนสัน นี่แหละ (ชื่อหนังสือดูปราดเดียวก็คงรู้ว่าเป็นการล้อหนังสือจัดบ้านของมาริ คอนโด ฮ่าๆ)
ปรัชญากับการช่างแม่ง
มีคนพยายามเปรียบเทียบการช่างแม่งกับหลักปรัชญาคลาสสิกหลายสำนัก ขึ้นอยู่กับคำว่าช่างแม่งของคุณนั้นจะหมายถึงอะไร เช่น “ช่างแม่งเพราะคุณทำอะไรไม่ได้เลย” ก็ถูกเปรียบเทียบกับหลักคิดแบบ Fatalism, “ช่างแม่งเพราะจริงๆ แล้วมันไม่ได้มีความหมายอะไร” ก็ถูกเปรียบเทียบกับ Nihilism, “ช่างแม่งเพราะสิ่งที่ชาวบ้านแคร์กันทั้งหลายน่ะมันก็ต่างเป็นเรื่องงี่เง่า” ถูกเปรียบเทียบกับ Cynicism และ “ช่างแม่งเพราะอย่าไปแคร์อะไรจนเกินเหตุเลย” (Don’t get worked up about anything) ถูกเปรียบเทียบกับ Stoicism
เราลองมาดูกันอย่างคร่าวๆ ว่าแต่ละอิสซึ่มที่มีคนพยายามเปรียบเทียบเนี่ยมันคืออะไรบ้าง:
Fatalism คือหลักปรัชญาที่บอกว่า ‘เราไม่มีอำนาจควบคุมอะไรเลย ทั้งการควบคุมอนาคต หรือกระทั่งควบคุมพฤติกรรมของตนเอง เหตุการณ์ในอนาคตเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นก็จงสยบยอมต่ออำนาจที่เหนือการควบคุมเถอะ” (ดังนั้นก็ช่างแม่งเหอะ)
Nihilism (Existential Nihilism) คือหลักปรัชญาที่คิดว่าจริงๆ แล้วชีวิตก็ไม่ได้มีความหมาย เป้าหมาย หรือคุณค่าอะไร (ดังนั้นก็ช่างแม่งเหอะ)
Cynicism คือสำนักคิดปรัชญากรีกโบราณที่บอกว่าเราจะมีความสุขได้โดยการฝึกฝนและใช้ชีวิตในแบบที่เป็นธรรมชาติของตน โดยปฏิเสธความปรารถนาทั้งหลายอย่างเช่นความร่ำรวย พลังอำนาจ ความต้องการทางเพศหรือยศถาบรรดาศักดิ์ (ดังนั้นก็ช่างแม่งในเรื่องที่คนอื่นเขาเห็นว่าสำคัญกันเหอะ)
และ Stoicism คือสำนักคิดปรัชญาที่เชื่อว่าเส้นทางสื่อความสุขคือการยอมรับในปัจจุบันอย่างที่มันเป็น ไม่ให้ตัวเราถูกควบคุมด้วยแรงปรารถนาหรือความกลัว ใช้ใจเราทำความเข้าใจกับโลกรอบข้างและพยายามทำบทบาทของตน
การเปรียบเทียบเหล่านี้อาจมีความเหลื่อมหรือไม่นาบสนิทกันในแนวคิด (ขึ้นอยู่กับว่าคุณจับตรงไหนมาเทียบ) แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ – ที่น่าสนใจคือ ในสี่สำนักนี้ มักมีคนเปรียบเทียบเซนส์ของการ ‘ช่างแม่ง’ โดยเลือกแม่งที่จะช่าง (เช่นวิธีคิดในหนังสือของมาร์ก แมนสัน) กับสำนัก Stoicism มากที่สุด
บางคนบอกว่า จริงๆ แล้ว หลักคิดแบบ Stoicism กับการช่างแม่งก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ถึงแม้ทั้งสองจะมีหลักการที่ ‘การวางเฉย’ เหมือนๆ กัน แต่การช่างแม่งแบบ How to not give a fuck นั้นใช้การวางเฉยเป็น ‘เครื่องมือ’ ไม่ได้ใช้เป็น ‘วิธี’ (means) ไปสู่ ‘ชีวิตดี’ ที่ชาวสโตอิกเรียกว่า Virtuous Life
ความต่างตรงนี้จะสำคัญหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคน เพราะบางคนก็เห็นว่าการช่างแม่งกับสโตอิกนั้นเหมือนกันอย่างเหลือเชื่อ
ถึงแม้มาร์ก แมนสัน จะไม่ได้บอกว่าการช่างแม่ง (ของเขา) เหมือนกับหลักคิดแบบสโตอิกตรงๆ แต่เขาก็ยอมรับว่าแนวคิดของเซเนกาและอีพิกทีทัส (ซึ่งเป็นสโตอิก) นั้นมีเสน่ห์กับเขาเสมอมา เขาบอกว่าสิ่งที่ส่งผลกับเขาน่าจะเป็นส่วนที่ซ้อนทับกันระหว่างปรัชญาเซนและหลักคิดแบบสโตอิกมากกว่า
แล้วอะไรอยู่ในความควบคุมของเรากันแน่: แม่งแบบไหนที่ควรจะช่าง
เมื่อเรารู้แล้วว่า เราควรจะช่างแม่งเฉพาะเรื่องที่อยู่นอกการควบคุม เราทำอะไรไม่ได้ และเราควรไปแคร์เรื่องที่เราควบคุมได้ คำถามก็คือ “เราเชื่อว่าเราควบคุมอะไรได้แค่ไหน”
Locus of Control หรือ ‘พื้นที่ควบคุม’ คือการพยายามศึกษาเรื่องความเชื่อของแต่ละคน ว่าคิดว่าสามารถควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ผ่านทางความพยายามและความสามารถ ซึ่งเรียกว่าบุคลิกภาพแบบ Internal Locus of Control หรือว่าคิดว่าเหตุการณ์ต่างๆ อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น ผ่านผู้มีอำนาจภายนอก หรือผ่านโชคชะตาฟ้าดินมากกว่า แบบนี้เรียกว่าบุคลิกภาพแบบ External Locus of Control
เอาง่ายๆ ที่สุดคือมีพวกฉันกำหนดชะตาชีวิตลิขิตเอง กับพวกโทษฟ้าดิน (ซึ่งก็เหมือนทุกสิ่ง คงไม่มีใครอยู่สุดโต่งไปทางฟากใดฟากหนึ่ง แต่เป็นส่วนผสมของทั้งสองอย่าง ขึ้นกับว่ามีส่วนผสมของอะไรเยอะกว่ากัน และส่วนผสมนี้ก็จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่คนนั้นๆ กำลังเผชิญด้วย)
มีแบบทดสอบว่าเรามีความเข้มข้นของ Internal หรือ External Locus of Control มากกว่ากันด้วย (แบบทดสอบคลาสสิกมากตั้งแต่ปี 1966) ลองไปตรวจสอบตัวเองได้ที่ : http://www.psych.uncc.edu/pagoolka/LC.html
พอรู้จักตัวเองดีขึ้น เมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ เราก็อาจฉุกคิดได้บ่อยขึ้นด้วยว่าเรื่องนี้ควร ‘ช่างแม่ง’ หรือควรแคร์
แถม: นี่เป็นโฟลวชาร์ตง่ายๆ เพื่อลองเช็คว่าเราช่างแม่งเรื่องที่กำลังเจอได้หรือไม่ จากหนังสือ The Life-Changing Magic of Not Giving A Fuck ซึ่งอาจช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
อ้างอิง / อ่านเพิ่มเติม
บทสัมภาษณ์ Mark Manson เรื่อง Stoicism
http://observer.com/2016/11/on-stoicism-and-not-giving-a-fck-an-interview-with-mark-manson/
หนังสือ The Subtle Art of Not Giving A Fuck / Mark Manson
https://www.goodreads.com/book/show/28257707-the-subtle-art-of-not-giving-a-f-ck
หนังสือ A Guide to the Good Life: The Ancient Art of Stoic Joy
https://www.goodreads.com/book/show/5617966-a-guide-to-the-good-life