สอบตก ทะเลาะกับเพื่อน เลิกกับแฟน ถูกเจ้านายด่า ลูกค้าไม่ซื้องาน เมื่อเผชิญเหตุการณ์เหล่านี้ อารมณ์หรือความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์บางอย่างจะก่อเกิดในจิตใจ แม้ว่าเราจะต้องการหรือไม่ก็ตาม เพราะมันคือ ‘ธรรมชาติ’ ของมนุษย์
ความโกรธและความเศร้าถูกจัดเป็นอารมณ์เชิงลบ (negative feelings) ด้วยทั้งคู่ เป็นอารมณ์ที่มนุษย์ใช้ตอบสนองความเจ็บปวดและความผิดหวัง แต่หลายครั้งเราจะสับสนว่าควรจะรู้สึกแบบไหนดี โกรธหรือเศร้า? บางคนเลือกที่จะเศร้ามากกว่า เพราะมองว่าความเศร้าไม่ทำร้ายใคร นอกจากตัวเอง บางคนเลือกที่จะโกรธ เพราะไม่อยากให้ตัวเองดูเป็นคนอ่อนแอ ซึ่งความจริงแล้วทั้งสองอารมณ์มีฟังก์ชันที่ช่วยให้เราก้าวผ่านปัญหาแตกต่างกัน และไม่ใช่อารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์อย่างที่เราคิด
Better mad than sad
เคยสังเกตมั้ยว่า เวลาเจอปัญหาหรือผิดหวังจากอะไรมา เรามักจะไม่ชอบตัวเองเวลานั่งจมอยู่กับความเศร้านานๆ จนไม่เป็นอันทำอะไร แต่จะชอบตัวเองเวลามีพลังลุกขึ้นมาต่อสู้มากกว่า ซึ่งพลังที่ว่านี้ก็มักจะสำแดงได้โดยมีความโกรธหรือความโมโหเป็นเชื้อเพลิง จึงทำให้หลายคนแนะนำต่อๆ กันมาว่า ‘โกรธสิ ดีกว่าเศร้า’ หรือ ‘Mad is better than sad’
แต่ด้วยสภาพสังคมที่ผู้คนถูกปลูกฝังมาให้สุภาพ อ่อนน้อม และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความโกรธที่ว่านี้จึงเป็นเหมือน ‘อารมณ์หรือความรู้สึกต้องห้าม’ ที่ผู้คนพยายามกดทับเอาไว้ไม่ให้หลุดรอดออกมา และมักจะรู้สึกกังวลหรือไม่สบายใจที่จะแสดงออกมาโดยตรง เพราะกลัวจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนเกรี้ยวกราด ก้าวร้าว ไม่มีมารยาท ทำให้ผลเสียที่ตามมาคือความเก็บกด และสุดท้ายก็กลับมานั่งเศร้าอยู่บ้านเงียบๆ คนเดียว โดยไม่รู้ว่าอะไรกำลังปะทุอยู่ในใจอย่างเงียบๆ
ซึ่งจริงๆ แล้วความโกรธเป็นอารมณ์ที่สื่อสารข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและตรงไปตรงมาที่สุด สังเกตได้จากเวลาคนรอบข้างกำลังโกรธ เราจะสามารถตรวจจับรังสีที่แผ่ออกมาได้อย่างรวดเร็วกว่าอารมณ์อื่นๆ เพราะความโกรธนั้นทรงพลังจนเห็นได้ชัด แม้คนๆ นั้นจะพยายามกักเก็บมันไว้แค่ไหนก็ตาม และที่เราสังเกตความโกรธของคนรอบข้างได้ไว เพราะความโกรธอาจเป็นอันตรายต่อเราได้ เราจึงต้องตื่นตัวตลอดเวลาเพื่อประเมินความอันตรายนั้น
ด้วยเหตุที่ว่านี้ ความโกรธจึงมาพร้อมกับ ‘พลังงาน’ เปรียบเสมือนกลไกป้องกันตัวเองไม่ให้รู้สึกอ่อนแอ แม้แต่การสบถออกมาด้วยคำหยาบ ก็มีผลวิจัยบอกว่าช่วยลดความเจ็บปวดทั้งทางจิตใจและทางกายภาพได้ด้วย บางคนจึงเลือกโกรธเพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่เจ็บปวดมากเกินไป และเพื่อที่จะเบี่ยงเบนให้ตัวเองไม่ฟุ้งซ่านจากความเศร้า นอกจากนี้ ยังทำให้เราโฟกัสไปยังสาเหตุที่ทำให้เราเจ็บปวด ไม่ว่าจะผู้คน สิ่งของ หรือสถานที่ เพื่อที่เราจะไม่กลับไปหาสิ่งเหล่านั้นอีก
ความโกรธทำให้เราลืมความเจ็บปวด
เพราะมัวแต่ยุ่งอยู่กับการคิดที่จะสู้กลับ
หรือพยายามเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นั้นให้แฟร์มากขึ้น
ดังนั้น ความโกรธ ความโมโห จึงเป็นแค่หนึ่งในอารมณ์ตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่ไม่จำเป็นจะต้องอันตรายหรือเป็นภัยเสมอไป หากเรานำอารมณ์นั้นมาเป็นพลวัตขับเคลื่อนให้ชีวิตลงมือทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ตัวเองหลุดออกจากห้วงเวลาหรือเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ มากกว่านำไปทำร้ายผู้อื่น หรือปล่อยไว้นานจนมันกัดกินจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ
But sad isn’t always bad
แม้ความเศร้าจะเป็นอีกหนึ่งอารมณ์ที่ตอบสนองความเจ็บปวดคล้ายความโกรธ แต่ดูจะเป็นอารมณ์ที่ไม่มีใครอยากลงไปคลุกคลีและใช้เวลาด้วยมากนัก อาจเพราะช่วงที่เราเศร้า เราจะไร้ซึ่งเรี่ยวแรงทำสิ่งต่างๆ มากสุดก็คือนอนร้องไห้บนเตียง มองไปนอกหน้าต่างอย่างไร้เป้าหมาย หรือถอนหายใจติดต่อกันโดยไม่รู้ตัว ความเศร้าจึงไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับและมักจะถูกปกปิดด้วยรอยยิ้ม ไม่ก็ความโกรธ
แต่ความเศร้าไม่ใช่ศัตรูตัวร้ายของมนุษย์อย่างที่คิด เพราะถ้าไม่มีความเศร้า เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าความสุขหน้าตาเป็นยังไง และการยอมรับหรือปลดเปลื้องความรู้สึกให้คนรอบข้างได้รู้ว่าเราไม่ไหวแล้ว ก็เป็นการเปิดประตูต้อนรับให้พวกเขายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้ทันเวลา เปิดโอกาสให้เราสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เพราะบางปัญหาเราอาจไม่สามารถผ่านมันไปได้ด้วยตัวคนเดียว
ความเศร้าดึงเราให้ลงไปสู่จุดต่ำสุดก็จริง
แต่นั่นทำให้เรารู้ว่าทางเดียวที่เหลืออยู่
จะมีแค่การปีนกลับขึ้นไปเท่านั้น
และถ้าความเศร้าเข้ามาปกคลุมจิตใจอย่างเลี่ยงไม่ได้ การที่เราเลือกปฏิเสธว่าทุกอย่างโอเค หรือเคี่ยวเข็ญให้ตัวเองต้องมีความสุข นั่นก็คือการมองโลกในแง่บวกที่เป็นพิษ (toxic positivity) ซึ่งวันหนึ่งเราจะพบว่าข้างในจิตใจสะบักสะบอมจนไม่เหลือสภาพ แต่การยอมรับความเศร้าจะทำให้เรามองเห็นปัญหามากขึ้น และรู้ว่าเราจะต้องจัดการกับปัญหานั้นในที่สุด ฉะนั้น การเศร้าให้สุดและขุดตัวเองขึ้นมาอีกครั้งอย่างมีสติ จึงเป็นวิธีรับมือที่ใจดีกับตัวเองมากที่สุดแล้ว
ทุกอารมณ์และความรู้สึกมีฟังก์ชันที่เป็นประโยชน์เสมอ แม้จะเป็นเชิงลบหรือไม่พึงประสงค์ก็ตาม อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้อารมณ์ไหนในการรับมือกับปัญหาตรงหน้า แต่ในบางเหตุการณ์อาจพบว่า เราสามารถเผชิญได้ทั้ง 2 อารมณ์ที่กล่าวมา เช่น ตอนเลิกกับแฟน หรือสูญเสียคนรักคนสำคัญกระทันหัน ซึ่งถ้าอ้างอิงจากทฤษฎี 5 stages of grief หรือระยะการก้าวผ่านความสูญเสียที่ได้แก่ การปฏิเสธความจริง (denial) ความโกรธ (anger) การต่อรอง (bargaining) ความซึมเศร้า (depression) และการยอมรับความเป็นจริง (acception) ก็จะพบว่า ก่อนมานั่งเศร้าเสียใจ ไม่มีเรี่ยวแรงทำอะไรสักอย่าง เราอาจจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟมาก่อนหน้านี้แล้วก็ได้ หรือว่าเราจะให้เวลากับความเศร้านั้นสักพักจนกว่าจะพอใจ เศร้าจนกว่าจะมองเห็นปัญหาชัดเจนมากขึ้น แล้วค่อยลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างด้วยพลังจากความโกรธก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ก็แล้วแต่ว่าเราจะเริ่มยืนอยู่ในสเตจไหนเป็นอันดับแรก เพราะบางคนอาจเจอครบทุกสเตจ บางคนอาจข้ามบางสเตจไปเลย แต่สุดท้ายทั้งสองอารมณ์จะนำทุกคนมาบรรจบที่การยอมรับความเป็นจริงให้ได้ในที่สุด
ทั้งความเศร้าและความโกรธเป็นอารมณ์พื้นฐานที่ทำให้มนุษย์ยังเป็นมนุษย์ ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็อย่าปฏิเสธหรือเก็บซ่อนเอาไว้เลยนะ แค่อย่าอยู่กับมันนานและพยายามรับมืออย่างมีสติที่สุดก็พอ
อ้างอิงข้อมูลจาก