มาอีกแล้วกับแคนาดาดินแดนอินดี้ เมื่อจัสติน ทรูโด นายกที่ไม่ได้มีดีแค่หล่อแต่มาพร้อมกับทัศนคติสุดก้าวหน้า พี่แกบอกกับ New York Times ว่าเราเนี่ยจะเป็น ‘ประเทศหลังรัฐชาติประเทศแรก’ (first postnational state) และบอกว่า “เป็นประเทศที่ไม่มีอัตลักษณ์ของชาติและไม่มี ‘วัฒนธรรมกระแสหลัก’ (no core identity, no mainstream) ในแคนาดา”
อ่านถึงตรงนี้แล้วอาจจะสับสนว่า อุ๊ย ถ้าไม่มี ‘ชาติ’ แล้วเราจะอยู่กันยังไง เพราะคำว่า ‘ชาติ’ ในช่วงนี้ดูเป็นอะไรบางอย่างที่ผู้หลักผู้ใหญ่ออกมาบอกว่าเราต้องทำเพื่อชาตินะ ความมั่นคง อะไรทั้งหลาย ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติ จนชาติฟังดูเป็นเรื่องใหญ่ แล้วเราจะละทิ้งมันไปได้ยังไง
แนวคิดเรื่องละทิ้งความเป็นชาติของแคนาดา แสดงออกจากแนวนโยบายเรื่องผู้อพยพของแคนาดาเองนั่นแหละ ที่พี่แกค่อนข้างเปิดประตูให้คนอื่นเข้าไปตั้งถิ่นฐานได้ ในขณะที่ประเทศอย่างกลุ่มยุโรปกลับมีท่าทีตรงกันข้าม อังกฤษเองก็บอกว่าไม่เอาแล้วความเป็นยูโรเปี้ยน ฉันคือชาติอังกฤษที่มีตัวตนเฉพาะของตัวเอง จะแยกแล้ว จะเอาคนจากชาติอื่นๆ เข้ามาแบ่งทรัพยากรทำไม ไม่เอาแล้ว
คำว่า ‘ชาติ’ ในแง่หนึ่งมันคือสำนึกของความเป็นคนชาติเดียวกัน และในขณะเดียวกันมันก็มีการแบ่งแยกตัวเองออกจากชาติอื่นๆ อยู่ในนั้นด้วย ในมุมของแคนาดาคือการบอกว่า โอเค ชาติของฉันคืออะไรก็ได้ ไม่มีอะไรที่เป็นของของฉัน ไม่มีอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ที่เป็นกระแสหลัก และพร้อมๆ กันนั้นมันก็เลยทำให้ไม่มีความเป็นชายขอบ (marginal) อีกต่อไป
ดูอุดมคติ แต่ก็เป็นไอเดียที่ก้าวหน้าและน่าสนใจมาก
ความซับซ้อนและการเกิดขึ้นของ ‘ชาติ’
เราได้ยินคำว่าชาติ และเราก็ต่างมีสำนึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชาติ แต่เอาเข้าจริงคำว่า ‘ชาติ’ หรือ nation เป็นคำที่มีความซับซ้อนในตัวเองและเป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นมาในยุคสมัยใหม่เมื่อไม่นานมานี้ นักคิดหลายคนบอกว่าชาติเป็นนวัตกรรมของยุคสมัยใหม่ (modernity) สมัยก่อนเราอยู่กันเป็นอาณาจักร ทำสงครามหรือติดต่อค้าขายกันไป แต่ประชาชนหรือผู้ปกครองในตอนนั้นก็ไม่ได้มีสำนึกเรื่องความเป็นชาติ
‘ชาติ’ คืออะไรแน่ ด้วยแนวคิดรวมๆ ชาติคือชุมชนที่เรารู้สึกว่ามีบางอย่างร่วมกัน เกิดในพื้นที่เดียวกัน มีวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตร่วมกัน รากศัพท์ของคำว่า ‘ชาติ’ หรือ Nation ก็เกี่ยวข้องกับการมีกำเนิดร่วมกัน ซึ่งแน่ล่ะ ถ้าแค่เรามีชาติกำเนิดบนผืนแผ่นดินเดียวกันมันก็ไม่ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นคนชาติเดียวกันเท่าไหร่ แต่ถ้าเราพูดภาษาเดียวกัน มีอาหารการกิน แต่งกาย มีสีผมสีผิวที่คล้ายๆ กัน แบบนี้ก็จะรู้สึกว่าโอเค เราเป็นคนชาติเดียวกัน
ดังนั้น ชาติ จึงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการใช้แบ่งแยก ‘เรา’ กับ ‘คนอื่น’ ผ่านพรมแดนและวัฒนธรรมที่เราแตกต่างจากคนอื่น
แล้ว ‘หลังชาติ’ (post nationalism) มันจะเป็นยังไง
การแบ่งแยกคนในโลกด้วยเชื้อชาติและพรมแดนมันมีปัญหา เช่น ในชาติที่บอกว่านี่คือเอกลักษณ์หลักของชาติ มันทำให้ส่วนอื่นๆ กลายเป็นส่วนที่ด้อยลงไปโดยปริยาย (อย่างบ้านเราก็อาจจะเป็นเรื่องศาสนา) การแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติหลายครั้งนำไปสู่การกีดกันและความรุนแรงต่อ ‘คนอื่น’ ที่ไม่เหมือนกับ ‘เรา’
แถมพอโลกเราพัฒนาขึ้น การติดต่อสื่อสารข้ามชาติ ด้วยเทคโนโลยี ความรู้ และนวัตกรรม ทำให้โลกเราไร้พรมแดนมากขึ้น สิ่งที่เคยเป็นเอกลักษณ์ที่ต่างกันมากๆ เริ่มถ่ายเทและผสมผสานกัน (อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) เช่น เมืองหรือวิถีชีวิตอย่างในกรุงเทพฯก็อาจไม่ได้มีลักษณะที่ต่างกับเมืองอื่นๆ (เท่าสมัยก่อน) ก่อนนี้เราก็มีคนเสนอแนวคิดเรื่อง ‘สำนึกการเป็นพลเมืองของโลก’ มากกว่าที่จะตระหนักและแบ่งแยกกันด้วยเชื้อชาติ สีผิว ศาสนาหรือวัฒนธรรม
คำทั้งหลายที่คิดกันขึ้นมาส่วนใหญ่มันก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นรูปธรรม หรือต้องสุดโต่งอะไรขนาด เช่น Postnation ก็ไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดของ ‘ชาติ’ ขนาดว่าโอเคต่อไปนี้จะไม่มีชาติแล้วนะ เรามาล้มเลิกพรมแดน ล้มล้างไอ้ระบบต่างๆ ของรัฐและความมั่นคงไปเลย ซึ่งแคนาดาเองก็ไม่ได้บอกว่าเป็นแบบนั้น ความมั่นคงความปลอดภัยอะไรก็ยังมีเหมือนเดิมน่า
การเสนอคำทั้งหลายขึ้นมา เช่น หลังชาติ หรือ postnation ก็คือการเสนอไอเดียหรือแนวคิดที่เป็นนามธรรม ที่จะบอกว่า ต่อไปนี้เรามาลองดำเนินตามวิสัยทัศน์ประมาณนี้กันดูนะ จากการที่เราให้ความสำคัญเรื่องชาติ เรื่องความเป็นเรา เรื่องเอกลักษณ์ เรามาลดๆ ความเป็นตัวเองลงเพื่อเปิดรับคนใหม่ๆ เข้ามาร่วมกันสร้างความเจริญรุ่งเรืองกันต่อไป
จากการสร้างกำแพง เลยไปสู่การพังกำแพงเส้นแบ่งต่างๆ แทน