โบราณท่านว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี แล้วถ้ารักชาติ เราวิพากษ์วิจารณ์ชาติได้บ้างมั้ย ที่ลองคิดเช่นนี้ไม่ได้กำลังเปรียบว่าชาติอยู่ต่ำกว่าเราเหมือนวัวหรือลูกนะครับ แต่ยึดเฉพาะแก่นของสุภาษิตที่ว่าหากมีอะไรบางอย่างที่เป็นของเรา แล้วสิ่งนั้นกำลังเดินไปผิดที่ผิดทาง บางครั้งเราก็อาจต้องแสดงออกถึงความใส่ใจที่เรามีต่อสิ่งนั้นด้วยการใช้ท่าทีขึงขังรุนแรง เพื่อให้สิ่งที่เราหวงแหนกลับมาอยู่กับร่องกับรอย
แต่คิดอย่างนี้ก็อาจไม่ถูกนัก ที่พ่อแม่ตีลูกได้คงเป็นเพราะคิดว่าลูกอยู่ต่ำกว่า แต่ชาติเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สูงส่งเหนือเรา ดังนั้นลูกตีพ่อแม่ที่อยู่สูงกว่าไม่ได้ฉันใด เราก็ใช้ท่าทีรุนแรงต่อชาติไม่ได้ฉันนั้น การแสดงออกถึงความรักจึงน่าจะเป็นการเชื่อฟังสนับสนุน เหมือนลูกกตัญญูต่อพ่อแม่มากกว่า
คิดวนไปวนมา ก็เห็นว่าถ้าจะหาคำตอบคงต้องเริ่มจากตรงนี้แหละครับ จะแสดงออกถึงความรักชาติอย่างไร คงต้องเริ่มจากการเอาให้ชัดก่อน ว่าเราเห็นว่าชาติสัมพันธ์กับเราอย่างไร ถ้าชาติเป็นของและอยู่ใต้ความรับผิดชอบของเรา ท่าทีแข็งกร้าวก็อาจไม่ใช่สิ่งผิดแปลกเหมือนสุภาษิตโบราณที่ว่าไป แต่ถ้าเห็นว่าชาติศักดิ์สิทธิ์และอยู่เหนือเรา พฤติกรรมแบบนี้ก็เข้าข่ายอกตัญญู
ในภาษาไทยเราไม่มีคำเรียกที่แยกสองมุมมองนี้จากกันได้ชัดเจน แต่ในภาษาอังกฤษ มุมมองที่เห็นว่าเราเป็นเจ้าของชาติจะเรียกว่า ‘patriotism’ ในขณะที่มุมมองที่เห็นว่าชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะเรียกว่า ‘nationalism’ หรือที่เราแปลมาเป็นคำไทยคุ้นหูว่า ‘ชาตินิยม’
ที่เขาแยกสองคำนี้ออกจากกันชัดเจน ก็เพราะความขัดแย้งระหว่างมุมมองแบบ patriotism และ nationalism เกิดขึ้นทั่วโลกมาหลายร้อยปี
ย้อนกลับไปเจ็ดสิบแปดสิบปีก่อน คุณ Simone Weil ปัญญาชนสาวชาวฝรั่งเศส ได้อธิบายความรู้สึกรักชาติบ้านเมืองแบบ patriotism ไว้อย่างงดงามชัดเจน เธออธิบายว่าความรักชาติ หมายถึงความรู้สึกหวงแหนและผูกพันกับวัฒนธรรมเสรีภาพและสาธารณสมบัติในแผ่นดินแม่ ที่เธอและเพื่อนร่วมชาติเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างเท่าเทียม
ความรักแบบนี้เกิดจากทั้งอารมณ์และเหตุผล ที่เป็นเหตุผลก็เพราะเราตอบได้อย่างชัดเจนว่า เรารักชาติก็เพราะชาติน่ารัก ส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกก็คือ เรารู้สึกผูกพันต่อชาติของเราเท่านั้น ไม่ใช่ที่อื่น เพราะเสรีภาพและสาธารณสมบัติต่างๆ ที่เราเป็นเจ้าของอยู่นั้น งอกเงยขึ้นจากเนื้อดินและประวัติศาสตร์ของที่ชาติแห่งนี้ ชาติอื่นอาจให้อะไรได้มากกว่า แต่ไม่มีที่ไหนผูกพันอยู่ในวิญญาณของเราเท่ากับที่นี่
จากมุมมองนี้ เธอสรุปว่าหน้าที่หนึ่งของผู้รักชาติคือการประณามและต่อต้านเมื่อชาติเริ่มหันเหออกนอกลู่นอกทางไปจากชาติที่น่ารัก โดยเฉพาะในยามที่มีใครบางคนมากีดกันสิทธิความเป็นเจ้าของที่เธอหรือเพื่อนร่วมชาติบางส่วนถือครอง
ใช่แล้วครับ เธอสนับสนุนให้เราประณามและต่อต้านชาติในบางโอกาส เพราะว่าถ้าเรารักสิ่งๆ หนึ่งอย่างบริสุทธิ์ใจ ด้วยเหตุผลว่าเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งในวิญญาณของเรา ไม่ใช่เพราะมันศักสิทธิ์ยิ่งใหญ่ เราก็จะยอมรับและพร้อมรับผิดชอบต่อทั้งแง่มุมที่สง่างามและน่าอับอายของมัน เช่น ในยามที่ชาติบ้านเมืองของเธอสร้างความอยุติธรรมต่อเธอ เพื่อนร่วมชาติของเธอ หรือคนนอก
ในห้วงยามแห่งความบิดเบี้ยวแบบนี้ การประณามความน่าอับอายของชาติถือการกระตุ้นให้เราใคร่ครวญเกี่ยวกับวิญญาณส่วนที่เสื่อมโทรมของเราและเพื่อนร่วมชาติ นอกจากจะไม่ผิดแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงความรักชาติด้วยซ้ำ!
ในขณะเดียวกัน เธอก็เขียนหนังสือแสดงความห่วงใยต่อกระแสชาตินิยมแบบที่เรียกว่า nationalism ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ในยุคสมัยของเธอ ส่วนที่เธอเห็นว่าผิดเพี้ยนก็คือคนจำนวนมากปลุกระดมและเชื่อว่าชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเห็นว่าการแสดงออกถึงความรักชาติคือการภักดีและเชื่อฟังต่อความยิ่งใหญ่ดังกล่าวอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อ
เธอเห็นว่า กระแสชาตินิยมแบบบิดเบี้ยวดังกล่าวจะพัดพาเราไปสู่ระบอบเผด็จการและการกดขี่สิทธิเสรีภาพของเพื่อนร่วมชาติบางส่วน หรือพูดง่ายๆ ก็คือกระแสชาตินิยมดังกล่าวกำลังทำลาย ‘ชาติ’ ในแบบที่เธอรัก
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกระชาตินิยมบิดเบี้ยวจะทำให้เราความระแวงตลอดเวลาว่า มีต่างชาติที่อิจฉาหรืออยากได้ความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและทรัพยากรดังกล่าวพยายามหาทางพรากชาติไปจากเรา รวมถึงทำให้เรามองเพื่อนร่วมชาติที่ไม่พร้อมปกป้องความยิ่งใหญ่ของชาติเหมือนเรา เป็นพวกอ่อนแอ ไร้ศีลธรรม หรือทรยศ ‘ทางออกสุดท้าย’ จึงได้แก่การเรียกร้องให้มีผู้นำมาใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อดัดนิสัยหรือกำจัดพวกทรยศ และปกป้องประเทศจากข้าศึก
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คุณ Carlo Rosselli ปัญญาชนคนสำคัญของอิตาลี ก็ตั้งข้อสังเกตุต่อกระแสคลั่งชาติที่เกิดขึ้นในประเทศของเขาในทำนองเดียวกับคุณ Weil จนถูกขับไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น และถูกขนานนามว่าผู้ทรยศชาติ
เขาก็ประกาศอย่างองอาจต่อชาวอิตาลีที่เกลียดชังเขาว่า เขาภูมิใจที่เป็นผู้ทรยศชาติภายใต้สายตาของชาวอิตาลีในห้วงยามนี้ เพราะอิตาลีที่ชาวอิตาลีรักในขณะนั้น เป็นอิตาลีที่หลงผิด และไม่ใช่อิตาลีที่เขารัก หลังจากนั้น เขาก็แสดงออกความรักชาติในแบบของเขาด้วยการก่นด่าและเคลื่อนไหวต่อต้านชาติอย่างแข็งขัน จนพบกับความตายในที่สุด
อาจมีมุมมองชาติแบบอื่นๆ ให้พูดถึงอีกเยอะ แต่ถ้าให้เลือกจากสองมุมมองนี้ ผมก็รู้สึกว่า nationalism นั้นน่ากลัวเหลือเกิน แต่ชาติในแบบของคุณ Weli และ Rosselli นั้นดูบริสุทธิ์ใจและโรแมนติกกว่าเยอะ
แล้วถ้าหากเรายึดมุมมองที่ว่าเราเป็นเจ้าของชาติ เราจะแสดงออกความรักชาติอย่างไรได้บ้าง?
แน่นอนว่าง่ายที่สุดก็คือการลงแรงหรือเอาธุระกับปัญหาที่ตนเห็น แต่แนวทางอันน่ายกย่องนี้เพียงลำพังย่อมไม่พอ สำหรับในหลายเรื่องอย่างเช่นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การลงแรงและจิตสาธารณะของคนเพียงไม่กี่คนย่อมไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา ในกรณีเช่นนี้ การส่งเสียงให้เพื่อนร่วมชาติตระหนักถึงปัญหาย่อมเป็นวิธีแสดงออกอีกวิธีหนึ่ง
เช่นถ้าเราสนใจปัญหาที่ว่าโรงพยายาลจำนวนหนึ่งงบไม่พอ การแสดงออกถึงการรักชาติก็อาจหมายถึงการร่วมสนับสนุนการวิ่งระดมทุนของพี่ตูน แต่ถ้าเราสนใจปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องระบบการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เหมาะสม แบบนี้ก็ต้องอาศัยการกระตุ้น ยั่วล้อ วิพากษ์วิจารณ์ และรณรงค์พลังทางการเมืองเข้าไปแก้ปัญหาใช่มั้ยครับ
การเงียบต่างหากที่แสดงถึงความไม่รับผิดชอบ ไม่รัก และไม่ใส่ใจ