สัปดาห์ที่ผ่านมา ตามสไตล์ของสังคมญี่ปุ่นที่แต่ละปี บริษัท U-Can บริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการจัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะของตนเองผ่านระบบทางไกล ก็จะออกมาประกาศ ‘คำยอดนิยม’ ของปีนี้ว่าเป็นคำอะไร ซึ่งแต่ละปีก็จะเป็นข่าวอยู่เสมอ เพราะก็ถือเป็นการมองย้อนกลับไปหนึ่งปีที่ผ่านมาได้อย่างน่าสนใจ และยังเป็นการดูเทรนด์โดยรวมได้ง่ายๆ ก็ว่าได้ บางปีก็เป็นวลีจากละครดัง บางปีก็เป็นมุขเด็ดของตลกที่ขายดี แต่ที่น่าสนใจคือปีนี้ผมคิดว่าคำว่า ‘Reiwa’ ชื่อของรัชศกใหม่จะเป็นคำยอดนิยมของปีไป แต่กลายเป็นคำว่า ‘One Team’ ที่ปาดหน้าเข้ามาคว้าตำแหน่งตรงนี้ไปเสียอย่างนั้น แต่พอทราบสาเหตุแล้ว ก็ได้แต่คิดว่าการที่คำๆ นี้เป็นคำยอดนิยมของสังคมญี่ปุ่น ก็มีความหมายแฝงอยู่ไม่น้อย
One Team คือคำขวัญของทีมชาติรักบี้ของญี่ปุ่นที่โค้ช เจมี่ โจเซฟ (Jamie Joseph) เป็นผู้มอบให้กับทีมเพื่อลงแข่งทำศึกรักบี้โลกในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งทีมชาติญี่ปุ่นก็โชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมต่อเนื่องจากครั้งก่อนที่เกือบผ่านรอบแบ่งกลุ่ม ซึ่งก็มาประสบความสำเร็จในครั้งนี้ และเป็นครั้งแรกที่ทีมชาติญี่ปุ่นผ่านรอบแบ่งกลุ่มไปได้ ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของทีมและทำให้รักบี้กลายเป็นกีฬายอดฮิตของชาวญี่ปุ่นไปเลยทีเดียว จากที่ไม่ได้เป็นกีฬาที่รู้จักในวงกว้าง กลายเป็นว่า ไม่ว่าใครก็คุยกันเรื่องรักบี้กันหมด
แต่ทำไมต้องเป็นคำว่า One Team?
ที่โค้ชโจเซฟมอบคำนี้ให้กับทีมก็เพื่อรำลึกเวลาลงสนามเสมอว่าในทีมชาติญี่ปุ่น แม้จะได้ชื่อว่า ‘ทีมชาติญี่ปุ่น’ แต่นักรักบี้ที่ลงเล่นก็มีหลายคนที่ไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่น หรือไม่ได้ถือสัญชาติญี่ปุ่นด้วยซ้ำ แต่ก็ลงสนามในนามทีมชาติ โค้ชโจเซฟจึงใช้คำนี้เพื่อสื่อความหมายว่า ไม่ว่าจะมาจากที่ไหน เกิดที่ไหน สัญชาติอะไร แต่เมื่อลงสนาม ทุกคนก็ถือเป็น One Team หนึ่งเดียวกัน ซึ่งภาพของทีมชาติรักบี้ของญี่ปุ่น ก็ถือเป็นตัวแทนของภาพสังคมญี่ปุ่นในอนาคตก็ว่าได้ครับ
ในอดีต ถ้าใครดูฟุตบอลมานานพอ ก็คงจะคุ้นกันว่า ทีมชาติฟุตบอลญี่ปุ่นก็มีนักเตะต่างชาติที่ลงเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่นด้วยการโอนสัญชาติอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่รุ่นคลาสสิกอย่าง รุย รามอส (Ruy Ramos) ตามด้วย วากเนอร์ โลเปซ (Wagner Lopes) หรือ อเล็กซ์ (Alex) รวมไปถึง มาร์คัส ทูลิโอ ทานากะ (Marcus Tulio Tanaka) นักเตะบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่นที่เลือกเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของทีมชาติญี่ปุ่นในยุคนั้น ก่อนที่จะยกระดับตัวเองจนปัจจุบันใช้ตัวนักเตะชาวญี่ปุ่นล้วนๆ เล่นกันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
แต่พอชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันมาดูรักบี้ทีมชาติญี่ปุ่น ก็มีหลายความเห็นที่งุนงงว่า ทุกคนลงสนามในนามทีมชาติญี่ปุ่นแท้ๆ แต่กลับเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว ในทีมชาติรักบี้ญี่ปุ่นซึ่งลงแข่งในรักบี้โลกครั้งที่ผ่านมา สมาชิกทีมชาติทั้งหมด 31 คน มี 15 คนที่ไม่ได้ถือสัญชาติญี่ปุ่น และมาจาก 7 ประเทศ ตัวโค้ชโจเซฟเองก็เป็นชาวนิวซิแลนด์ที่เคยลงเล่นให้ทีมชาตินิวซิแลนด์ก่อนที่จะหันมาเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่น และมารับตำแหน่งโค้ชทีมชาติในภายหลัง
ถือเป็นเรื่องน่าสนใจ และไม่แปลกที่ชาวญี่ปุ่นจะงุนงง ขนาดคนดูกีฬาอย่างผมยังงงเลยครับ เพราะถ้าเป็นฟุตบอล เมื่อเลือกเล่นให้ทีมชาติใดทีมชาติหนึ่งไปแล้ว ก็ไม่สามารถเลือกเล่นให้ทีมชาติอื่นได้อีก ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเพิ่มกฎนี้มาเมื่อปี ค.ศ. 1962 เพราะก่อนนั้น นักเตะดังของทีมรีล มาดริด อย่างอัลเฟรโด้ ดิ สเตฟาโน่ (Alfredo Di Stéfano) ยังลงเล่นให้ทั้งทีมชาติอาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปนได้อยู่เลย
แต่ระบบของรักบี้ต่างออกไปครับ เงื่อนไขในการลงเล่นให้ชาติใดชาติหนึ่งในฐานะนักกีฬารักบี้ไม่ได้เข้มงวดเท่า เพราะเงื่อนไขหลักๆ มีสามข้อคือ
- เกิดในประเทศนั้น
- พ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย คนใดคนหนึ่งมีสัญชาตินั้น
- อยู่ประเทศนั้นติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 ปี (ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2020 จะเปลี่ยนเป็น 5 ปี)
- อาศัยอยู่ในประเทศนั้นรวมระยะเวลา 10 ปี
แค่ผ่านเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งในนี้ก็มีสิทธิ์ลงเล่นให้ชาตินั้นแล้วครับ ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือระบบของวงการรักบี้ เขาไม่ได้ระบุว่า ลงเล่นให้ทีมชาติไหนแล้วต้องเล่นให้ทีมชาตินั้นตลอด ตัวอย่างชัดๆ ก็โค้ชโจเซฟนี่ล่ะครับ ที่แต่เดิมก็เคยเล่นให้ทีมชาตินิวซีแลนด์มาก่อน แล้วพอย้ายมาเล่นให้ทีมในญี่ปุ่นได้ระยะหนึ่ง ก็กลับมาลงเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่นแทน และปัจจุบันก็กลายมาเป็นโค้ชทีมชาติ
ถ้าจะมองกันง่ายๆ คือ ‘สิทธิ์’ ในการเลือกเล่นให้ทีมชาติไหนของกีฬารักบี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ‘สัญชาติ’ เลยครับ แต่เป็นเรื่องสิทธิ์ตามเงื่อนไขต่างๆ เท่านั้น จะว่าไปก็คล้ายๆ กับ ‘พาสปอร์ต’ สำหรับหลายๆ ชาติที่สามารถถือพาสปอร์ตหลายเล่มได้ (แน่นอนว่าไม่ใช่ชาวไทยหรือญี่ปุ่นแน่นอน) ซึ่งแต่ละคนก็มีสิทธิที่จะใช้พาสปอร์ตนั้นๆ ตามสะดวก เรียกได้ว่าวงการรักบี้ข้ามขอบเขตของเรื่องรัฐชาติไประดับหนึ่งก็ว่าได้ เพราะคุณไม่จำเป็นต้องมีสัญชาตินั้นเพื่อลงเล่นให้กับทีมชาติ ต่างกับกีฬาอื่นๆ
อันนี้ถ้ามองในมุมมองของชาตินิยมจ๋าๆ ก็อาจจะมองว่า
คนที่เลือกเล่นให้ทีมชาติอื่นเป็น ‘คนขายชาติ’ หรือ ‘คนทรยศ’ ก็ว่าได้
แต่ในมุมมองพวกเขาเองก็อาจจะมองว่า ถ้าได้ทำประโยชน์ให้กับที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ก็ถือเป็นเรื่องดีก็ว่าได้นะครับ และด้วยความที่รักบี้โลกแข่งทุก 4 ปี (เหมือนบอลโลกหรือโอลิมปิก) ด้วยเงื่อนไขอยู่อาศัยในประเทศนั้น 3 ปี นักรักบี้ที่ลงแข่งกับทีมชาติหนึ่ง ในรักบี้โลกรอบถัดไป อาจจะลงเล่นให้กับทีมอื่นแทนก็ได้
มีคนอธิบายว่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะรากของกีฬารักบี้เกิดจากชาวอังกฤษที่เมื่อไปค้าขายหรือไปยึดชาติอื่นเป็นชาติอาณานิคม ก็สอนกีฬารักบี้ให้คนชาตินั้น พอชาตินั้นตั้งทีมชาติ คนอังกฤษก็ลงเล่นให้ด้วย ระบบมันเลยค่อนข้างจะเปิดกว้างมาแต่ไหนแต่ไร วงการนี้เขาชินกับการที่คนที่ไม่ได้มีสัญชาตินั้นๆ แต่ลงเล่นให้ทีมชาติมานาน เอาจริงๆ ก็ไม่ได้มีแต่ทีมชาติญีปุ่นที่ทำแบบนี้หรอกครับ
และที่บอกว่า ทีมชาติรักบี้ญี่ปุ่นชุดนี้ อาจจะเป็นภาพสะท้อนของสังคมญี่ปุ่นก็ว่าได้คือ ในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน ก็มีชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มาอยู่เพื่อทำงาน เรียน หรือกระทั่งลักลอบอยู่ ซึ่งผมก็เคยเขียนถึงเรื่องเหล่านี้หลายรอบ รวมไปถึงเรื่องของ ‘ลูกครึ่ง’ กับการยอมรับในสังคมญี่ปุ่นอีกด้วย และทีมชาติรักบี้ญี่ปุ่นชุดนี้ ก็ตามที่บอกไปว่า เกือบครึ่งทีมไม่ได้เป็นชาวญี่ปุ่นเสียด้วยซ้ำ แต่ทุกคนก็ลงเล่นในนามทีมชาติ ‘ญี่ปุ่น’ ตามสิทธิของตนเอง และทุกคนก็พยายามเต็มที่เพื่อสร้างผลงานให้กับทีมชาติ (และก็อาจจะหมายถึงผลงานของตัวเองด้วย) เรื่องนี้จึงเหมาะกับคำว่า One Team ของโค้ชโจเซฟเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นคนสัญชาติอะไร แต่ทุกคนก็ทุ่มเทเพื่อ One Team ที่หมายถึงทีมชาติญี่ปุ่นนั่นเอง
ซึ่งในทีมญี่ปุ่นชุดนี้ก็มีเรื่องน่าสนใจไม่น้อย ตัวอย่างเช่นกัปตันทีม ไมเคิล ลีทช์ (Michael Leitch) แม้จะเป็นชาวนิวซีแลนด์เชื้อสายฟิจิ แต่เขาก็ย้ายมาเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 15 ปี และอยู่ญี่ปุ่นมาตลอด ปัจจุบันก็พูดภาษาญี่ปุ่นได้ดีกว่าภาษาอังกฤษไปแล้ว หรือ คูจีวอน (Koo Jiwon) ชาวเกาหลีที่พ่อเขาเองเคยเล่นให้ทีมชาติเกาหลีมาก่อน แต่ตัวเขาก็อยู่ญี่ปุ่นมานานตั้งแต่มัธยมจนได้สิทธิลงเล่นให้กับทีมชาติญี่ปุ่น และทำผลงานได้ดีในการแข่ง แม้ในช่วงเวลานั้น (จนถึงตอนนี้) ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่นจะจัดอยู่ในสภาวะย่ำแย่มาก ซึ่งพ่อของเขาเองก็เข้าใจว่าไม่แปลกที่ชาวเกาหลีจะโดนโห่ แต่ก็บอกให้ลูกชายเล่นให้เต็มที่ ซึ่งเขาก็ทำได้ดีจนชนะใจผู้คนได้
ทั้งการเลือกคำว่า One Team มาเป็นคำขวัญของทีม และการเลือกคำนี้เป็นคำยอดฮิตของปี ต่างก็มีความหวังว่าคอนเซปต์นี้จะส่งไปถึงสังคมญี่ปุ่น รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีอาเบะ ให้เข้าใจว่า หลายต่อหลายคน แม้จะไม่ได้เกิดมาเป็นคนญี่ปุ่น แต่ก็พร้อมที่จะทุ่มเทเพื่อญี่ปุ่น ไม่ต่างกับสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันที่มีความจำเป็นต้องเปิดรับชาวต่างชาติมากขึ้นเพราะปัญหาประชากรหดตัว ก็อยากให้คนในสังคมเข้าใจเช่นกันว่า แม้จะเป็นชาวต่างชาติ แต่หลายคนก็ดีใจ และภูมิใจที่ได้อยู่ในสังคมญี่ปุ่น และพร้อมจะทุ่มเทเพื่อประโยชน์ของญี่ปุ่นเช่นกัน เหมือนกับทีมชาติรักบี้ญี่ปุ่นชุดนี้ ที่คงไม่มีใครกล้าว่าได้ว่าพวกเขาไม่ได้ทุ่มเทเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก