คิดว่าหลายคนคงจะได้เห็นข่าวทวิตเตอร์ของน้องอิมเมจในช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้วกันแล้วนะครับ พอมีข้อความ ‘วิพากษ์วิจารณ์ประเทศไทย’ ออกมา ว่าหากเป็นเช่นนี้อีก 50 ปี หรือ 1,000 ปี ก็คงจะไม่เจริญกับเขาหรอกนั้น นอกเหนือจากความสงสัยว่าอิมเมจด่าอะไรอยู่กันแน่ ที่แม้อิมเมจจะออกมาบอกว่าด่ารถเมล์เพราะรอนาน แต่ก็มีหลายคนสงสัยว่าอาจจะไม่ใช่อย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วตั้งใจจะวิพากษ์ระบบโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้น
สิ่งที่ตามมาพร้อมๆ กันเป็นแพ็คคู่เห็นจะหนีไม่พ้นกระแสก่นด่าอิมเมจกลับไป พร้อมกับคำตอบคลาสสิคว่า “ไม่รักประเทศไทยก็ออกจากประเทศนี้ไปซะสิ”[1] หรืออธิบายข้างๆ คูๆ ว่าการวิพากษ์ประเทศมันไม่เหมาะอย่างไร…ว่าง่ายๆ คือการจะบอกว่า “ห้ามด่าประเทศไทย” นั่นแหละครับ
สิ่งที่เกิดขึ้นในย่อหน้าก่อนนั้นมีความผิดพลาดในหลายระดับทีเดียว แต่คงต้องเริ่มจากอะไรพื้นฐานมากๆ ก่อนว่า “ประเทศไทยเป็นของประชาชนคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งคนที่ชมและด่าประเทศนี้” ไม่ใช่ประเทศของใครคนใดคนหนึ่งที่เค้าพูดอะไรไม่เข้าหูก็จะชี้หน้าให้ย้ายกายหยาบออกจากประเทศได้ พวกนี้หลงตัวเองหนักครับ คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศอยู่พวกเดียว ถึงไปเที่ยวไล่คนอื่นออกนอกประเทศได้ ดูท่าทางวัฒนธรรมเผด็จการจะขึ้นสมองหนัก และเอาจริงๆ ในทางทฤษฎีผมจะอธิบายในตอนท้ายให้เข้าใจด้วยว่า ถึงอยากจะ ‘ออก’ จากประเทศนี้จริงๆ ก็ ‘ออกจริงๆ’ ไม่ได้
ความผิดพลาดที่สำคัญมีอีกอย่างน้อยสองประการ คือ ความไม่เข้าใจกลไกของรัฐชาติสมัยใหม่และปล่อยให้วิธีคิดแบบชาตินิยมล้นเกินชั่วขณะมอมเมา กับ การหลงผิดคิดว่าประเทศไทยนั้นสมบูรณ์แบบเหลือประมาณหรือไม่ก็หลงเข้าใจไปว่า การไม่ด่าไม่วิจารณ์จะทำให้อะไรๆ มันดีขึ้นได้ (ในกรณีที่มองเห็นจุดอ่อนประเทศอยู่บ้าง)
หากเราแบ่งพัฒนาการของรัฐชาติตามกลไกพัฒนาการทางการเมืองแล้ว เราจะพบว่ารัฐชาติหรือประเทศนั้นมีกลไกที่แตกต่างกันตามแต่ว่าในขณะนั้นรัฐชาติมีขึ้นเพื่อตอบสนองต่ออำนาจหรือความเป็นเจ้าของของใคร หรือง่ายๆ ก็คือคำถามว่า For whom? (เพื่อใคร) นั่นเองครับ
คำว่ารัฐที่มีอธิปไตยของตน (Sovereign state) ที่หมายถึงรัฐอันมีอำนาจในการปกครองตนเอง ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นหรือประเทศราชของใครอื่นนั้น จึงมีฐานสำคัญของคำตอบต่อคำถาม For whom? อย่างสำคัญมากที่ประเด็นว่า อำนาจอธิปไตยคืออะไร และเป็นของใคร เพราะผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็คือเจ้าของรัฐชาติ หรือผู้ที่รัฐชาติทำงานให้ด้วยนั่นเอง
ในยุคฟิวดัล อาจนับได้ว่าสถานะของอำนาจอธิปไตยมีความแตกกระจายและไม่แน่นอนสูง แต่อำนาจสูงสุดแม้จะอยู่กับราชาแต่ก็เพียงแต่ในนาม เพราะในทางปฏิบัติแล้วอำนาจก็กระจัดกระจายอยู่กับลอร์ดต่างๆ ในแต่ละพื้นที่หรือเขตอิทธิพลของตน ซึ่งส่งผลให้วิธีการมองประเทศในฐานะที่เป็นพื้นที่ร่วมที่รวมเป็นแผ่นผืนเดียวกัน โดยเฉพาะในเชิงอำนาจทางการเมืองนั้นแทบจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะอำนาจอธิปไตย หรือ Sovereign power ไร้ซึ่งเสถียรภาพและไม่มีความชัดเจนที่เด็ดขาดอย่างต่อเนื่องว่า สรุปมันเป็นของใครกันแน่
เมื่ออำนาจของลอร์ดถูกทำลายและรวมศูนย์ได้อีกครั้งภายใต้อำนาจของราชา อันทำให้เกิดเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มุมมองที่มีต่อพื้นที่ภายใต้ขอบเขตขัณฑสีมาหรือ Sovereign power ที่แน่นอนหนึ่งเดียวจึงเกิดขึ้น จนมาสมบูรณ์เมื่อเกิดเงื่อนไขสำคัญหลายประการขึ้น เช่น แยกอำนาจการปกครองของอาณาจักรออกมาจากศาสนจักร รวมถึงมีการแบ่งเขตแดนที่ชัดเจนระหว่างรัฐ ในปี ค.ศ. 1648 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Peace of Westphalia, การเกิดขึ้นของทุนนิยมการพิมพ์ อันนำมาสู่การสร้างสำนึกร่วมของความเป็นชาติร่วมกันของประชากรโดยรวมของรัฐ[2] หรือการสะสม ‘เชื้อมูลก่อนความเป็นชาติ’ ได้มากเพียงพอที่จะจุดกระแสความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันได้[3] เป็นต้น
ฉะนั้นรัฐชาติจึงเป็นสิ่งที่ใหม่พอสมควร และในระยะเริ่มต้นมันมีขึ้นเพื่อทำงานให้กับ ‘ราชา’ แห่งระบอบสมบูรณายาสิทย์ ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรือ Sovereign power โดยสัมบูรณ์ได้นั่นเองครับ
อย่างไรก็ดีในช่วงทศวรรษ 1780s เป็นต้นมา รัฐชาติเริ่มไม่ได้มีขึ้นเพื่อจะทำงานให้กับใครคนเดิมอย่างราชาสมบูรณาญาสิทย์อีกแล้ว เมื่อกระแสของระบอบประชาธิปไตยเสรีเกิดขึ้น และแพร่หลายไปทั่ว นั่นย่อมหมายความว่า วันคืนของเจ้าของรัฐชาติแบบเดิมต้องจบลง อำนาจอธิปไตยมาอยู่ที่ ‘ใครคนอื่น’ แล้ว และใครคนนั้นก็คือ ปนะชาชนทุกคนของรัฐนั่นเองครับ
แปลเป็นภาษาคนง่ายๆ ก็คือ “กลไกของรัฐสมัยใหม่มีขึ้นเพื่อรับใช้ประชากรของรัฐ!”
ประเทศไทยไม่ได้มีเจ้าของประเทศคือ ชาติ ศาสนา หรือพระมหากษัตริย์ครับ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เจ้าของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ที่ชัดเจนในทางหลักการก็คือ ‘ราษฎรทั้งหลาย’ หรือก็คือ ประชาชนชาวไทยทุกคนนั่นเอง นั่นหมายความว่า ‘ประเทศเกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้พวกเรา’ ไม่ใช่พวกเรามีตัวตนอยู่เพื่อรับใช้ชาติ
วิธีการอธิบายที่ว่า หากไม่ชอบประเทศไทย หากด่าประเทศไทย ก็อย่าอยู่ประเทศนี้หรืออย่าเป็นคนไทยอีกต่อไปเลยนั้น มันจึงเป็นวิธีคิดที่สะท้อนว่ามีคนในสังคมไทยจำนวนมากไม่สำเหนียกว่าตนเองนั้นคือเจ้าของประเทศ แต่เอาตัวเองไปผูกติดกับวิธีการมองรัฐชาติสมัยใหม่ยุคแรกเริ่ม ที่อำนาจอธิปไตย หรือ Sovereign power นั้นเป็นของเจ้าผู้ปกครอง และรัฐชาติเกิดขึ้นในฐานะกลไกสำคัญเพื่อรับใช้เจ้าผู้ปกครองเบ็ดเสร็จที่ถือครองอำนาจอธิปไตยนั้น ประชาชนในฐานคิดแบบนี้จึงมีหน้าที่รับใช้ชาติ เพราะการรับใช้ชาตินั้นเท่ากับเป็นการส่งผ่านการรับใช้ของตนไปให้ผู้ถือครองอำนาจอธิปไตยอีกต่อหนึ่งโดยปริยาย
ประเทศไทย ไม่ได้เป็นรัฐแบบที่ว่านี้อีกแล้ว ฉะนั้นการที่ยังมีคนหลงคิดดักดานอยู่ในกรอบคิดแบบนี้อยู่นั้น ก็นับได้ว่าเป็นความเฮงซวยของประเทศไทยที่สมควรจะถูกด่า และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงอีกเรื่องหนึ่งว่า สังคมประเทศเราทำอะไรกันอยู่ จึงยังคงดักดานอยู่ได้เช่นนี้
ฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าเอาจริงๆ แล้วประเทศไทยไม่ได้ไร้จุดอ่อน ไม่ได้ดีเลิศเลอ และหากเข้าประเด็นหลักที่สองจริงๆ จังๆ ผมคิดว่าเราควรเริ่มเข้าใจกันก่อนว่าประเทศไทยเป็นเพียงประเทศระดับกลางๆ ตาราง (หลังๆ นี่ค่อนไปในทางท้ายๆ ตารางด้วย) ที่ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ยาวนานอะไรพอจะจับไปโม้ได้อย่างที่มักจะอวดอ้าง มีอีกหลายประเทศที่หากนับประวัติศาสตร์โดยอิงกับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ล้วนๆ ไม่สนใจบริบททางโครงสร้างการเมืองแล้ว นับว่ายาวนานกว่าเรามาก เพราะประวัติศาสตร์ไทยมีก็ราวๆ 700 – 800 ปี ว่ากันตรงๆ นับว่าค่อนข้างใหม่เสียด้วยซ้ำ และเรื่อง ‘ความยาวนาน’ ของประวัติศาสตร์ติดที่ดินนี้ไม่ควรจะเอามาเป็นเรื่องโม้อะไรได้แต่แรกด้วย เพราะความยาวนานไม่ได้รับประกันว่าประเทศนั้นๆ จะเป็นประเทศที่ดี
หากนับกันในเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เท่านั้น หนึ่งในพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดในโลกอย่างลุ่มแม่น้ำไทกริสยูเฟติสนั้นปัจจุบันก็คือประเทศอิรักและอิหร่านนี่เอง ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานราว 5,000 ปี (หรือประมาณ 7 เท่าของประวัติศาสตร์ไทยตามที่นิยมนับกัน) ไม่ได้ทำให้ ‘ความเป็นประเทศในปัจจุบัน’ ของอิรักและอิหร่านดีขึ้นเลย ทั้งสองประเทศก็ยังคงมีปัญหาอีกล้านแปดมากมาย ที่ต้องพัฒนา ต้องปรับปรุง และโดนด่าวิจารณ์ไประหว่างกระบวนการนั้น…ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน
ไม่เพียงเท่านี้ หากว่ากันตามตรงการนับประวัติศาสตร์ของรัฐชาติสมัยใหม่นั้น อย่างดีที่สุดก็นับเริ่มได้ที่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาเท่านั้น ประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น (สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี) ไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทยหรือชาติไทยจริงๆ เพราะ ‘ตอนนั้นมันยังไม่มีประเทศ’ ครับ เป็นแค่อาณาจักร ถ้าว่ากันในภาษาวิชาการก็คือ เป็นได้เพียง ‘เชื้อมูลก่อนความเป็นชาติ’ เท่านั้น
ฉะนั้นแล้วหากพูดถึงประวัติศาสตร์ของชาติไทยจริงๆ อายุอานามก็ราวๆ ร้อยกว่าปีนี้เอง ไม่ได้มีอะไรไปน่าโม้เลย
แต่ที่ผมอยากจะถามมากไปกว่านี้ก็คือ “ประเทศไทยมีอะไรดี” ครับ?
โอเค เรามีอาหารอร่อย ราคาไม่แพง และมีชายหาดที่สวยมากแห่งหนึ่งของโลก แต่นอกเหนือจากนี้เล่า?
วัฒนธรรมที่งดงาม? เอาจริงๆ ก็วัฒนธรรมร่วมของทั้งภูมิภาคนะ และก็ยืมมากอีกมากมายล้านแปดเลยและหากว่ากันตามตรง ถ้าเชื่อว่าวัฒนธรรมมีความหลากหลายและงดงามในตัวเองหมด แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ว่าง่ายๆ คือ วัฒนธรรมทุกที่ก็มีความงดงามคนละแบบ แล้วจะนับเรื่องวัฒนธรรมงดงามเป็นข้อดีได้ด้วยหรือ? ในเมื่อมันก็ดีกันไปหมด
ไม่เพียงข้อดีที่จะนึกไม่ค่อยออกแล้ว ข้อเสียยังพาเหรดกันมาแบบตรึม… เราเป็นประเทศที่มีการทำรัฐประหารมากครั้งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก, เราเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากแห่งหนึ่งของโลก, เราเป็นประเทศที่รถติดที่สุดแห่งหนึ่งในโลก, เราเป็นประเทศที่การกระจายความเจริญห่วยแตกที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทุกอย่างกระจุกตัวเพื่อประเทศกรุงเทพฯ ทั้งหมด, เราเป็นประเทศที่มีเมืองหลวงดูดเอางบประมาณไปมากมาย แต่ก็พร้อมจะดูถูกจังหวัดอื่นว่าไม่เสียภาษี ไม่พอหลายๆ ครั้งยังช่วยสนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาลการเลือกตั้งจากคนที่เสียภาษีไปสร้างรถไฟฟ้าผ่านหน้าคอนโดพวกเขาอีก, เราเป็นประเทศที่มีการยิงคนตายเป็นร้อยกลางเมืองแล้วผู้เกี่ยวข้องก็ยังได้รับการเชิดหน้าชูตาต่อ, เราเป็นประเทศที่นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเพราะทำผัดไทยออกทีวีได้, เราเป็นประเทศที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไม่ให้เริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงเพราะถนนลูกรังยังไม่หมดประเทศ, เราเป็นประเทศที่น้ำท่วมอีสานเหนือเกือบทั้งภาคแต่คณะรัฐมนตรีไม่ลงพื้นที่ไม่พอ ยังมีแผนจะสั่งเครื่องบินรบเพิ่ม แล้วไปประกาศขอเงินบริจาคแก้ไขน้ำท่วมจากประชาชน, ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ (ไล่อีกเดือนก็ไม่ครบ)
แล้วคุณจะมาบอกผมว่า “ประเทศไทยด่าไม่ได้”? ถ้าไม่ด่า ไม่วิจารณ์ ปล่อยให้ย่ำอยู่กับที่แบบนี้ มันจะแก้อะไรได้มั้ยล่ะครับ? ก็ย่ำต๊อกอยู่กับที่ คุณรู้มั้ยครับ ประเทศอะไรที่คนในประเทศเค้าไม่วิจารณ์ไม่ด่าประเทศเค้าเลย หากใครจะวิจารณ์ก็ต้องออกจากประเทศก่อน?
เกาหลีเหนือ ครับ!!!
แล้วว่ากันตรงๆ นะครับ ข้อเสนอที่ว่า หากจะด่าประเทศนี้ หรือไม่รักประเทศนี้ ก็ออกจากประเทศนี้ไปเถอะเนี่ย นอกจากมันจะมาจากฐานความคิดที่ผิดมากๆ อย่างที่ผมอภิปรายไปแล้ว ว่ากันตรงๆ ต่อให้คิดจะทำจริงๆ ในทางทฤษฎีการที่จะสมัครใจจะออกจากความเป็นคนของประเทศนี้ ‘โดยแท้จริง’ ก็ทำไม่ได้หรอกครับ
เรื่องนี้ Giorgio Agamben ได้ให้คำอธิบายที่ร้ายกาจเอาไว้คือ การที่เราจะ “ออกจากอำนาจทางการเมืองและกฎหมาย” ของรัฐหนึ่งๆ ใดนั้น มันมีเงื่อนไขสำคัญครับชนิดที่ขาดไม่ได้เลย รู้ไหมครับว่าคืออะไร ไม่ใช่ความตั้งใจของเรา ไม่ใช่เงินในกระเป๋า ไม่ใช่การฝึกภาษาอะไรทั้งสิ้นครับ มันคือ ตัวกฎหมายเอง[4] กล่าวคือ การจะเป็นคนนอกอำนาจกฎหมายของรัฐนั้นๆ ได้ ก็ต่อเมื่อกฎหมายเขียนหรืออนุญาตให้เรากลายเป็นคนนอกกฎหมายก่อน ฉะนั้นต่อให้อยากจะเลิกเป็นคนไทยจริงๆ ก็เลิกไม่ได้หรอกครับ เพราะการจะยุติความเป็นคนไทย ก็ต้องอาศัยการอนุญาตโดยอำนาจของกฎหมายไทยอยู่ดี ฉะนั้นมันจึงเป็นรูปแบบของโครงสร้างทางอำนาจที่หากเข้ามาแล้ว ไม่สามารถออกไปได้ ‘โดยแท้จริง’ ตลอดกาลนี่แหละ
สรุปเลยก็คือ ผมคิดว่ามันชัดเจนมากว่าการด่าประเทศเป็นเรื่องที่ทำได้ (และพึงทำด้วย หากคิดเช่นนั้น) ฉะนั้นผมก็รู้สึกไม่เห็นด้วยนักที่อิมเมจจะต้องออกมาขอโทษที่ด่าประเทศนี้ แต่ในอีกทางหนึ่งก็รู้สึกเข้าใจได้ เพราะการเป็นคนที่มีต้นทุนทางสังคมพอสมควร ในสังคมที่ความดักดานเป็นใหญ่แบบนี้ ทางเลือกก็ดูจะมีแบบไม่ค่อยจะเลือกได้นัก ฉะนั้นที่อิมเมจต้องออกมาขอโทษกับการพูดอะไร ‘เบามากๆ’ อย่างนั้น (ไม่พอยังเสนอทางแก้ด้วย อย่างเรื่องมี welfare หรือสวัสดิการมากขึ้น) มันสะท้อนความไร้สติของสังคมนี้เป็นอย่างดีครับ ว่าสังคมนี้ไร้สติกันเกินไปแล้วจริงๆ
และเราก็คงต้องทนกับมันไปจนตาย เพราะจะหนีก็หนีไม่ได้ อะแกมเบ้นว่าไว้
อ้าอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู women.kapook.com/view176595.html
[2] โปรดดู Benedict Anderson, Imagined Communities
[3] โปรดดู Anthony D Smith, The Ethnic Origin of Nations
[4] โปรดดู Giorgio Agamben, Homo Sacer: Sovereign Power and Bare Life