กรุงเทพฯ เพิ่งได้รับรางวัล ‘2020 Asian Townscape Awards’ สำหรับการปรับภูมิทัศน์บริเวณคลองโอ่งอ่างจากแหล่งน้ำเน่าเสียเสื่อมโทรม ให้กลายเป็นทางเดินสองฝั่งคลองสุดงาม และมีเรือคายัคให้พาย
พอไล่ดูภาพจากสื่อของรัฐบาลก็ชวนให้เคลิมเคลิ้มอยู่ว่ากรุงเทพฯ กำลังกลับไปเป็นเมืองแห่งสายน้ำ มีคลองสวยงามใสสะอาด ปลาน้อยใหญ่ผลุบโผล่เหนือผืนน้ำ ไม่มีขยะนานาชนิดไม่ว่าโฟม พลาสติก หรือกระทั่งเศษอาหาร
โอ้ กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง …. เหรอ ?
ขณะที่หัวหน้ารัฐบาลพูดอย่างภูมิใจกลางสภาว่า “คลองโอ่งอ่างเคยสวยเท่านี้ไหม?!” เคลมว่าผลงานคลองโอ่งอ่างเป็นผลงานระดับชิ้นโบว์แดง The MATTER ได้มีโอกาสขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามมุมเมืองของกรุงเทพฯ เพื่อดูสภาพคูคลองสายสำคัญและสายที่ขี้นชื่อ (ในเรื่องความสกปรก) รวมถึงพูดคุยกับคนในพื้นที่ถึงปัญหาและสภาพคลอง และนี่คือภาพที่เราเห็น
(1)
คลองนาซอง (ประชาสงเคราะห์)
คลองนาซองทอดตัวอยู่ในซอยประชาสงเคราะห์ กึ่งกลางระหว่างถนนเส้นดินแดงและรัชดา มันเป็นหนึ่งในคลองที่สำนักงานจัดการคุณภาพน้ำ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานครทำการสำรวจสำรวจเมื่อปี 2019 และพบว่ามีค่า BOD หรือปริมาณจุลินทรีย์ในน้ำสำหรับการย่อยสารอินทรีย์ ซึ่งยิ่งมีมากแสดงว่าแหล่งน้ำยิ่งเสื่อมโทรมมาก และคลองนาซองเน่าเสียติดอันดับ 1-5 ของกรุงเทพฯ
บ้านหลังหนึ่งติดกับคลองนาซอง คู่สามีภรรยาเป็นช่างเย็บเสื้อบอกกับเราว่า ตั้งแต่พวกเขามาอยู่ที่นี่ได้ราว 10 ปี คลองแห่งนี้ก็เน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นมานานแล้ว
“มันเน่ามาตั้งนานแล้ว เน่ามาตลอด แต่ก็อยู่จนชินแล้วล่ะ” สามีที่กำลังเย็บผ้าพูดถึงกลิ่นจากคลองนาซอง
“บางครั้งก็เห็นงูหลามตัวเท่าแขนเหมือนกัน มันก็คงมีปงปลาอะไรอยู่บ้างแหละ” เขาพูดถึงสัตว์ที่พบเห็นในลำคลองแห่งนี้ ซี่งนอกจากงูหลามก็มีตัวเงินตัวทอง
ป้าสุนีย์ (นามสมมุติ) คนเก่าคนแก่ที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดกับคลองนาซองมานานเล่าว่า “เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน คลองนี้มันใสมาก น้ำสะอาด มีปลาเยอะ มีต้นมะขามสองข้างทาง แต่มันก็แย่ลงมาเรื่อยๆ จนเป็นแบบที่เห็นนั่นแหละ”
เธอเล่าว่าอยู่กับคลองแห่งนี้จนชิน ปัญหาเรื่องกลิ่นเลยไม่ได้เป็นปัญหามาก แต่บางครั้งที่ฝนตกหนักร่วมกับการปล่อยน้ำจากที่เก็บน้ำก็ทำให้มีน้ำท่วมเข้าบ้านด้วยเหมือนกัน
“ถ้ามันกลับมาสะอาดได้ก็ดีนะ อยากให้เหมือนคลองโอ่งอ่างเหมือนกัน เห็นเขาออกข่าวดูดีทีเดียว” ป้าพูดขึ้นเมื่อเราถามถึงความหวังต่อคลองแห่งนี้
“ภาครัฐก็เข้ามาทำนู้นนี่ตลอดแหละ ล่าสุดก็เข้ามาวัดความสกปรกมั้ง” ป้าสุนีย์เล่า “แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้สักทีนะ อาจเป็นเพราะชุมชนที่อยู่ต้นน้ำทิ้งขยะลงน้ำด้วยมั้ง พอน้ำมันมาขยะก็เลยมาด้วย มันก็ไม่หายเน่าสักที” ป้าทิ้งท้าย
(2)
คลองไผ่สิงโต (คลองเตย)
คลองไผ่สิงโต ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับชุมชนคลองเตย มันเป็นคลองสายหนึ่งที่ค่อนข้างกว้างและยาว โดยจากการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2562 ของสำนักงานจัดการคุณภาพน้ำ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานครมันเป็นคลองที่มีความสกปรกติดอันดับ 1 จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำใน 305 จุดทั่วกรุงเทพฯ
และเมื่อเดินทางมาถึงคลองแห่งนี้ ภาพของขยะที่ลอยคลออยู่เหนือผิวน้ำ น้ำสีเขียวที่ไหลเอื่อยจนเหมือนไม่ขยับ และกลิ่นเหม็นเน่าที่โชยออกมาก็เป็นการยืนยันผลการเก็บข้อมูลข้างต้นได้ดีทีเดียว
“40 กว่าปีก่อนน้ำสะอาดมาก มีคนมาจับปลา มีคนมาโดดน้ำเล่นตลอด” หญิงชราที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังหนึ่งร่วมกับลูกสาวและสามีของลูกสาวเล่าให้เราฟัง ก่อนจะเสริมต่อว่าปัญหาคลองไผ่สิงโตอย่างหนึ่งคือเรื่องของขยะ เพราะบริเวณที่คลองไหลผ่านมีชุมชมแออัดอาศัยอยู่ รวมถึงมีบางจุดที่เป็นจุดทิ้งขยะของชุมชน
นอกจากนี้ อีกเหตุผลหนึ่งที่หญิงชราและลูกสาวคิดว่ามีส่วนอย่างมากต่อคุณภาพน้ำที่ย่ำแย่คือ การปล่อยน้ำเสียจำนวนมากจากโรงงานยาสูบลงสู่คลองไผ่สิงโต
“มีเจ้าหน้าที่มาเก็บตัวอย่างน้ำไปวิจัยตลอด แต่นานๆ กว่าจะมาขุดลอกคูคลองทีหนึ่ง ครั้งล่าสุดนี่ก็มากกว่า 3 ปีแล้ว” ชายหนุ่มแฟนของลูกสาวหญิงชราพูดขึ้น
“ถ้าเป็นแบบคลองโอ่งอ่างได้ก็ดี แต่อยากให้มาขุดลอกคูคลองบ่อยๆ มากกว่า พอทิ้งไว้นานขี้ดินที่ถมกันเรื่อยๆ มันก็เน่าทีนี้ก็เหม็น” เขาแสดงความเห็น
(3)
คลองลาดพร้าว (วัดลาดพร้าว)
ต้องบอกก่อนว่าตัวผู้เขียนเองมีความผูกพันธ์กับคลองลาดพร้าวอยู่ไม่น้อย และเท่าที่จำความได้ ภาพคลองลาดพร้าวในทรงจำของผู้เขียนไม่ต่างจากแหล่งเก็บขยะดีๆ นี่เอง โดยเฉพาะบริเวณวัดลาดพร้าวที่ผู้เขียนเคยพูดคุยกับคนไร้บ้านคนหนึ่งที่คอยเก็บขยะจากคลอง ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า “มันสกปรก เหม็น รำคาญ”
แต่ล่าสุดที่ได้ลงพื้นที่ คลองลาดพร้าวเปลี่ยนไปอยู่บ้าง ถึงแม้อาจยังมีกลิ่นและสีที่ไม่น่าอภิรมย์นัก แต่ภาพขยะลอยมาตามสายน้ำที่เคยมีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ ก็น้อยลงมากแล้ว และสัตว์น้ำก็มีโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
หลวงพ่อรูปหนึ่งในวัดลาดพร้าวเล่าให้ฟังว่า มีการขยายคูคลองและมีบริษัทต่างชาติบวกกับกลุ่มเก็บขยะเอกชนเข้ามาช่วยเก็บขยะในคลองลาดพร้าว ทำให้ขยะลดลงไปมากแล้ว
“เมื่อก่อนขยะเยอะมาก น้ำเสียบ่อย แต่ตั้งแต่มีบริษัทต่างชาติที่เขาร่วมกับภาคเอกชนเข้ามาช่วยก็ดีขึ้นมาก เห็นว่าเก็บกันได้เป็นหลายพันตัน”
ทางด้านชาวชุมชนฝั่งตรงข้ามวัดลาดพร้าวก็ให้ความเห็นคล้ายกันว่า “ตั้งแต่มีการขยายคลองก็ดีขึ้นมาก น้ำเน่าลดลง ขยะก็ลดลง” ชายคนหนึ่งเจ้าของร้านชำเล่าให้ฟัง
“ขยะยังลอยมาเยอะอยู่นะช่วงน้ำหลาก มีกลิ่นอยู่บ้างโดยเฉพาะตอนน้ำขึ้น แต่พูดถึงมันก็ดีขึ้นมาก เห็นมีเรือมาเก็บขยะเช้า-เย็นตลอด”
ชายเจ้าของร้านชำเสริมว่าทุกวันนี้ ชาวชุมชนตรงข้ามวัดลาดพร้าวสามารถกลับมาจับปลาในคลองได้แล้ว บางครั้งพวกเขาก็ได้ปลาช่อนบ้าง ปลาดุกบ้าง ซึ่งดูแล้วเป็นทิศทางที่ดีสำหรับอนาคตของคลองลาดพร้าว
(4)
คลองแสนแสบ
“อันนี้กลิ่นน้ำหรอ พี่นึกว่ากลิ่นขยะ” พี่อี๊ด (นามสมมุติ) หนึ่งในชาวบ้านริมคลองแสนแสบพูดขึ้น ขณะที่เราซื้อไก่ย่างข้าวเหนียวจากเธอ
คงไม่ต้องสาธยายอะไรมาก สำหรับคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นคลองที่ยาวที่สุดในประเทศไทยโดยมีระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร และเชื่อมต่อจากคลองในกรุงเทพลงสู่แม่น้ำบางปะกง และถูกใช้สำหรับเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำสายหลักสายหนึ่ง
เด็กหนุ่มคนหนึ่งกระโดดลงจากเรือโดยสารมาที่โป๊ะอย่างขำนาญ กะด้วยสายตาเขาน่าจะมีอายุราว 20 ปี “ผมก็นั่ง (เรือ) ประจำแหละพี่ ตั้งแต่เรียนมัธยมแล้ว มันถูกอะ” เหตุผลในการใช้คมนาคมทางน้ำของเขาแสนง่าย กระชับ และชัดเจน
“พูดถึงหลังๆ มานี้มันก็ดีขึ้นนะ มีเรือมาเก็บขยะบ้าง มีทางเดินสองข้างทางบ้าง” เขาพูดแล้วมองลงไปในน้ำสีเขียวเข้ม และทำจมูกฟุดฟิด “แต่เรื่องสี กลิ่น ขยะ มันก็อีกเรื่องนะ มีครั้งหนึ่งผมกระโดดลงจากเรือพลาดแล้วขาตกลงไปในน้ำ โถ่พี่ อย่าให้พูดเลย เพื่อนเลิกคบอะ ไปนั่งเรียนไม่มีใครคุยด้วย” เด็กหนุ่มพูดแล้วหัวเราะร่วนโชว์ฟันขาวเรียง
“ผมผูกพันธ์กับคลองแสนแสบนะ แต่ไม่รู้จะแก้ยังไงเหมือนกัน ผมไม่เคยทิ้งขยะลงในน้ำเลยนะ แต่ไม่รู้คนอื่นเขาทิ้งหรือเปล่า” เขาทิ้งท้ายถึงปัญหาในคลองแสนแสบ
นอกจากเด็กหนุ่มแล้ว สองสามีภรรยาคู่หนึ่งที่มีบ้านอยู่ริมน้ำเล่าให้เราฟังว่า “30-40 ปีที่แล้วมันก็สะอาดนะ แต่ทุกวันนี้ก็อย่างที่เห็น เหม็นจนชิน” และ “ก็เห็นภาครัฐเขานั่งเรือมาเก็บขยะมาอะไรอยู่ตลอดนะ แต่มันคงได้เท่านี้แหละ” หนึ่งในนั้นพูดขึ้นอย่างตัดพ้อต่อโชคชะตาของคลองแสนแสบ
(5)
เวนิสตะวันออก?
‘เวนิสตะวันออก’ เป็นสมญานามที่ชาวต่างชาติเคยตั้งให้กับกรุงเทพฯ เมื่อช่วงต้นปี 2400 เพราะตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เริ่มมีการขุดคูคลองทั่วกรุงเทพกว่า 1,600 เส้น รวมเป็นความยากมากกว่า 2,600 กิโลเมตร และคลองเหล่านั้นก็ถูกใช้สำหรับการคมนาคม เกษตรกรรม ไล่มาจนถึงการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน
แต่คำถามคือทุกวันนี้ เราใกล้เคียงกับชื่อของเวนิสตะวันออกมากขนาดไหน ?
จากข้อมูลของสำนักระบายน้ำกรุงเทพฯ พบว่าตั้งแต่ปี 2558 – 2562 มีการเก็บขยะจากคลองในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้มากถึง 387,261 ตัน โดยมากที่สุดคือปี 2560, 2558, 2559, 2561 และ 2562 ตามลำดับ ซึ่งย่อมส่งผลต่อสุขอนามัยของชาวกรุงเทพฯ ที่อาศัยอยู่ริมคลองสายต่างๆ
แต่ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ตามมาจากขยะในคูคลองคือ ขยะปริมาณมากไหลลงสู่ทะเล
โดยล่าสุดมีการรายงานว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่มีขยะไหลลงสู่ทะเลมากที่สุดติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก และหากจะถามว่ามีปริมาณขยะมากขนาดไหน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กล่าวกับสำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ว่าในปี 2563 ขยะไหลผ่านปากอ่าวแม่น้ำลงทะเลเฉลี่ยวันละ 25,741 ชิ้น/ วัน หรือคิดเป็น 9,395,465 ชิ้น/ ปี โดยพบมากสุดเป็นขยะจำพวกพลาสติกแผ่นบาง, พลาสติกแข็ง, วัสดุผ้ากับไฟเบอร์ และอื่นๆ ตามลำดับ
ในปี 2562 ธรรมศาสตร์ได้ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนจัดกิจกรรม “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงสมุทรปราการ ปี 2” และสามารถเก็บขยะได้มากกว่า 3,215 กิโลกรัม แบ่งเป็นขยะพิษกว่า 100 กิโลกรัม
ในโครงการดังกล่าวยังพบอีกว่าไม่มีจังหวัดไหนที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน และน้ำมีค่าปริมาณออกซิเจนละลาย (DO) สูงกว่า 6 มิลลิกรัม/ ลิตรเลย โดยจุดที่คุณภาพน้ำเน่าเสียที่สุดอยู่ในกรุงเทพฯ โดยมีค่า DO แค่ 1.7 มิลลิกรัม/ ลิตรเท่านั้น
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่อยากให้ติดตามดูคือ ความคุ้มค่าของนโยบายจัดการคลองในกรุงเทพฯ โดยในบทความ “ความน่ายินร้ายของ ‘คลองโอ่งอ่าง’ กับรางวัล ‘ต้นแบบ’ การพัฒนาเมืองที่เต็มไปด้วยคำถาม” ที่ลงในเว็บไซต์ The Momnetum ผู้เขียนชี้ว่าการปรับภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่างในระยะรวมทั้งหมด 1,500 เมตร ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในบทความเดียวกันยังชี้ถึงความพยายามแก้ไขปัญหาคลองแสนแสบ ที่ตั้งแต่ปี 2558-2560 รัฐบาลได้มอบประมาณกว่า 6,800 ล้านบาทแก่ กทม. เพื่อหวังฟื้นฟูคลองแสนแสบให้กลับมาใสสะอาด แต่ทำไม่สำเร็จ ทำให้รองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เตรียมอัดงบประมาณและโครงการอีกกว่า 84 โครงการลงไปเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบให้ได้
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตามดูว่าความพยายามแก้ปัญหาคลองแสนแสบครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงการเล่นลิเก และเงินจำนวนมากสูญเปล่าไปกับแม่น้ำอีกครั้ง
อันที่จริง การแก้ไขปัญหาคลองในกรุงเทพฯ ที่รัฐบาลพยายามทำถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีทีเดียว แต่ไม่ถึงกับเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องซาบซึ้งขอบคุณ หรือรัฐบาลต้องเอามาอวดราวกับเป็นถ้วยทองอยู่ดี เพราะการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้วไม่ใช่หรือ และเงินเดือนที่ถูกโอนเข้าบัญชีคนในคณะทำงานของรัฐบาลทุกวันนี้ ก็เงินภาษีประชาชนทุกคนทั้งนั้นไม่ใช่หรือ
อ้างอิง: