ค่ำคืนของวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 รัฐบาลมีคำสั่งให้สลายการชุมนุมครั้งใหญ่ หลังจากมีผู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นจำนวนมาก บริเวณถนนราชดำเนิน จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ‘พฤษภาทมิฬ’
รายงานจากสื่อต่างชาติระบุว่า การชุมนุมในครั้งนั้นอาจมีผู้ร่วมชุมนุมถึง 150,000 คน จนกระทั่งเกิดการสลายการชุมนุมในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียต่อประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย อย่างประเมินค่าไม่ได้ โดยกระทรวงมหาดไทยระบุว่า เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 44 ราย บาดเจ็บ 1,728 ราย และสูญหาย 48 ราย ซึ่งเชื่อกันว่าจำนวนจริงสูงกว่านั้นมาก
แม้เหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้ จะจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาแล้ว 33 ปี และกลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของประเทศไทย แต่คำถามที่ว่า “เราจะแยก ‘ทหาร’ ให้ออกจากการเมืองได้อย่าง?” นั้น ยังคงไม่หายไป

ภาพเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (Photo by AFP)
33 ปีผ่านไป อำนาจทหารในการเมืองยังเหมือนเดิม?
“เป็นประจักษ์พยานในตัวมันเอง ว่าสังคมไทยยังล้มเหลว ในการทำให้ทหารออกจากการเมือง” รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
นักวิชาการคนนี้ ระบุว่าหนึ่งในดัชนีชี้วัดว่า ความพยายาม ‘แยกทหารออกจากการเมือง’ ยังไม่สำเร็จก็คือ หลังจากการรัฐประหาร รสช. ปี 2534 ยังเกิดการรัฐประหารอีกถึง 2 ครั้ง ก็คือการรัฐประหารปี 2549 และ 2557
“การรัฐประหารเกิดขึ้นน้อยลงในโลก มันเป็นสิ่งล้าสมัย”
อาจารย์ประจักษ์ระบุด้วยว่า ในขณะที่รัฐทั่วโลกต่างพากันหลีกเลี่ยงการรัฐประหาร แต่ทหารไทยกลับแทรกแซงการเมืองอย่างมหาศาล โดยช่วงปีหลังๆ เราจะเห็นว่าการรัฐประหารแทบจะไม่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับเดียวกับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันการรัฐประหารส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นในประเทศที่ล้าหลังและด้อยพัฒนา
เขาย้ำว่า อิทธิพลของ ‘ทหาร’ ไม่ได้จำกัดแค่การรัฐประหาร แต่เมื่อย้อนดูการเมืองไทยหลัง ‘พฤษภาทมิฬ’ ก็อาจเห็นอำนาจในรูปแบบต่างๆ ซุกซ่อนในกลไกการเมืองอย่างแนบเนียน

ประจักษ์ ก้องกีรติ รองศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อำนาจทหารรูปแบบใหม่ ในระบบการเมืองแบบไทยๆ
“ตอนนี้ ผมว่ามีรูปแบบการครองอำนาจแบบใหม่” อาจารย์ประจักษ์มองว่า ปัจจุบันทหารอาจไม่ได้ปกครองด้วยการใช้อำนาจเพียงอย่างเดียว แต่เข้ามาบิดเบือนกลไกเชิงสถาบัน เช่น รัฐธรรมนูญ รวมถึงแทรกแซง ระบบพรรคการเมือง ระบบเลือกตั้ง “จนมันเละเทะไปหมด”
อาจารย์เล่าย้อนว่าหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหาร ปี 2557 ประเทศไทยก็ต้องอยู่ใต้การปกครองโดยเผด็จการทหารอย่างเต็มรูปแบบถึง 5 ปี ซึ่งแม้จะเกิดการเลือกตั้งในปี 2562 แต่ “สิ่งที่น่าสนใจคือ ทหารพยายามอยู่ในอำนาจยาว” โดยมีความพยายามตั้งพรรคการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญ ออกแบบกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมถึงบิดเบือนกลไกการเลือกตั้ง จนในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ก็สืบทอดอำนาจต่อได้อีก 4 ปี รวมกันแล้ว 9 ปี
อำนาจทหารแบบใหม่ที่ว่า อาจไม่ได้มีเพียงเท่านี้ โดยอาจารย์ยังระบุถึง ‘ปัญหาระบบพรรคการเมือง’ โดยเฉพาะกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ย้ายพรรค-ไม่ทำตามมติพรรค หรือที่เราเรียกกันว่า ‘สส.งูเห่า’ ซึ่งอาจารย์กล่าวว่า ต้นตอของปัญหานี้อาจย้อนกลับไปในช่วงที่ทหารยังครองอำนาจ เพราะเกิดการออกแบบระบบเลือกตั้ง ที่เอื้อให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อย
เริ่มต้นจากการที่ทหารตั้งพรรคของตัวเอง อย่างพรรคพลังประชารัฐ ที่อาจารย์ประจักษ์ระบุว่า “เป็นพรรคเฉพาะกิจ ไม่ได้มีอุดมการณ์ ไม่ได้มีนโยบายอะไรร่วมกัน” และเมื่อพรรคแตก ก็เกิดการแบ่งออกเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย จนเกิดปัญหา สส.หูเห่าหรือการดึงตัว สส. ข้ามไปข้ามมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะ “พรรคประเภทนี้ มันไม่ได้มีนโยบายและอุดมการณ์”
“มันทำให้ระบบการเมืองเละเทะ” อาจารย์ประจักษ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / POOL / AFP)
ทหารยังเป็นผู้เล่นทางการเมือง
ถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะลงจากอำนาจไปแล้ว แต่อำนาจของกองทัพก็ยังไม่หายไป โดยอาจารย์ย้ำว่า “ตัวกติการัฐธรรมนูญก็ยังอยู่ เราก็ยังเห็นธุรกิจกองทัพก็ยังอยู่ ปฏิบัติการ IO ที่สอดส่องประชาชนก็ยังอยู่”
แม้กระทั่งความพยายามใช้อำนาจข่มขู่นักวิชาการ และขัดขวางการใช้เสรีภาพทางวิชาการ ในกรณีอาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ หรืออาจารย์พอล แชมเบอร์ส ที่เคยถูกตรวจสอบหรือฟ้องจากงานที่พวกเขาศึกษา ก็ยังมีให้เราเห็น
อาจารย์ประจักษ์ชี้ว่า ทั้งหมดที่ว่ามานี้ล้วนเป็นสัญญาณว่า “ทหารยังเป็นผู้เล่นทางการเมือง” โดยถ้ามีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต กองทัพก็พร้อมจะเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอีกครั้ง
ประชาธิปไตยไทย ในวันที่ความรุนแรงมีต้นทุนต่ำ
เมื่อสังคมไทยต้องเจอความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ตามที่ว่ามา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ย่อมเปิดทางให้วัฒนธรรม หรือบรรทัดฐานอะไรบางอย่าง ก่อตัวและแทรกซึมอย่างเหนียวแน่น โดยอาจารย์ประจักษ์ชี้ว่า ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ คือหนึ่งในนั้น
เขาระบุว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีความพยายามเอาทหาร ทั้งระดับผู้บังคับบัญชา หรือระดับปฏิบัติ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง มาลงโทษ ทั้งนี้ผู้ดำเนินการรัฐประหารไม่เพียงแค่ไม่ถูกเอาผิด แต่ศาลไทยเองยังรับรองและให้ความชอบธรรม เพราะใครยึดอำนาจสำเร็จ ก็เป็นรัฐบาลต่อได้เลย กลายเป็นการสร้างคำอธิบายทางกฎหมายแบบผิดๆ ที่นำไปสู่บรรทัดฐานอันบิดเบี้ยว
ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่าง เกาหลีใต้ ชิลี หรืออาร์เจนตินา ก็เคยดำเนินคดีอดีตคณะรัฐประหารมาแล้ว นับเป็นวัฒนธรรมใหม่ ที่ปักหมุดอย่างชัดเจนว่า “การรัฐประหาร ต้องมีคนรับผิดชอบ การปราบปรามคนด้วยความรุนแรง ต้องมีคนรับผิดชอบ คุณไม่สามารถลอยนวลได้” ทำให้ทหารรุ่นหลังๆ ไม่กล้าทำตาม เพราะประเทศเหล่านั้น “ทำให้การรัฐประหาร มีต้นทุนสูง”
แต่สังคมไทยที่ยังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมหรือบรรทัดฐานดังกล่าวขึ้นมาได้ อาจถูกแทรกแซงโดยทหารได้ง่ายขึ้น เพราะทหารยังคงมีอิทธิพลอยู่สูง โดยอาจารย์ประจักษ์อธิบายว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะมีรัฐบาลพลเรือนแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการปฏิรูปกองทัพ ดังนั้นกฎหมายต่างๆ ทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ความมั่นคง กฎหมายที่เกี่ยวกับกลาโหม ธุรกิจกองทัพ ปฏิบัติการ IO ระบบทหารเกณฑ์ จนถึงการคอร์รัปชันในกองทัพ ก็ยังไม่ได้แก้
“พูดง่ายๆ อิทธิพลและอำนาจของกองทัพที่มีอย่างล้นพ้น ไม่ถูกแก้ไขเลย” อาจารย์ประจักษ์กล่าวว่า หากวันหนึ่งสังคมเกิดความแตกแยกมากๆ หรือเกิดวิกฤตบางอย่าง กองทัพซึ่งมีอิทธิพลอย่างมหาศาลอยู่แล้ว ก็สามารถอาศัยเหตุเหล่านั้น เพื่อเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง
“เพราะไม่มีต้นทุนอะไรที่เขาต้องจ่ายเลย ในอดีตเขาทำแล้วยังปกครองได้ ศาลก็ไม่เอาผิด เมื่อเป็นแบบนี้ ทหารก็ไม่ต้องคิดเยอะ มันไม่มีต้นทุน ไม่ต้องรับผิดอะไร”
แรงกดดันของสังคมคือ หัวใจการปฏิรูปกองทัพ
อาจารย์ประจักษ์กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจและน่ากังวล” ที่แม้จะเกิดกระแสความพยายามเอาทหารออกจากการเมืองไทย ในช่วงหลังเดือนพฤษภาคม 2535 แต่ “เราฉวยจังหวะ ที่เป็นหน้าต่างแห่งประวัติศาสตร์ตอนนั้น ที่มันเปิดขึ้นมา ไม่สำเร็จ”
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าประเทศเราจะสิ้นหวังเสียทีเดียว อาจารย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการเลือกตั้งปี 2566 เราก็เห็นนโยบายของทั้งพรรคเพื่อไทย และอดีตพรรคก้าวไกล ประสบความสำเร็จจากการชูนโยบายเปลี่ยนแปลงกองทัพ เพราะประชาชนจำนวนมากต้องการปฏิรูปกองทัพ นับเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อน ‘ฉันทามติ’ ที่เริ่มก่อตัวในสังคม

บรรยากาศการนับคะแนนการเลือกตั้ง ที่สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 (Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)
นักรัฐศาสตร์คนนี้ชี้ว่า ไม่มีกองทัพประเทศไหน จะยอมถอยออกจากการเมืองโดยสมัครใจ แต่จะถอยก็ต่อเมื่อมีเแรงกดดันจากสังคมสูงมากพอ จนเห็นว่า สังคมปฏิเสธการครองอำนาจของกองทัพ ปฏิเสธระบอบทหาร และปฏิเสธการรัฐประหารแล้ว
“เมื่อนั้นแหละ กองทัพถึงจะยอมปรับตัว และถอยออกมา นี่คือสิ่งที่ยังไม่เกิดในสังคมไทย คือพลังกดดันทางสังคม”
หากจะผลักให้ทหารถอยออกไปได้ อาจารย์ประจักษ์ระบุว่าต้องมี 2 สิ่ง หนึ่ง พลังจากเบื้องล่าง กล่าวคือสังคมต้องมีฉันทามติ โดยทุกกลุ่มในสังคมต้องไม่แตกแยกกัน ไม่ว่าแต่ละคนจะมีแนวคิดทางการเมืองแบบใด แต่อย่างน้อยต้องเห็นร่วมกันในประเด็นไม่เอารัฐประหาร หรือระบอบเผด็จการทหาร
สอง เจตจำนงของพรรคการเมือง และเอกภาพระหว่างพรรคการเมืองด้วยกัน โดยนักการเมืองทุกพรรคทุกกลุ่ม อย่างน้อยต้องร่วมกันปฏิเสธทหารที่มาแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมานักการเมืองไทยจำนวนมากยังเกรงกลัวทหาร ทั้งเอาใจทหารหรือไม่แตะต้องทหาร ด้วยกลัวว่าทหารจะทำรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง แต่อาจารย์ระบุว่า ในอดีตเราก็เห็นว่าความพยายามเหล่านั้นไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะแม้จะให้งบทหารเยอะๆ หรือไม่ปฏิรูปทหาร “แต่เราก็ไม่เห็นว่าเขาจะรักรัฐบาลพลเรือนขึ้นมา” เพราะวันหนึ่งที่มีวิกฤต เขาก็มาล้มรัฐบาลอยู่ดี
ค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์การปฏิรูปกองทัพ
“นักการเมืองต้องเอาประชาชนเป็นหลังพิง” อาจารย์กล่าวว่า หากจะปฏิรูปกองทัพให้สำเร็จ เราต้องสร้างเครือข่ายในภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อนำไปสู่การก่อตัวขึ้นของฉันทามติในสังคม ซึ่งจะเป็นตัวกดดันนักการเมืองอีกทีหนึ่ง
ส่วนรัฐบาลควรจะเริ่มเคลื่อนไหวในการปฏิรูปกองทัพบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถทำทั้งหมดได้ทันที แต่ก็ควรจะเริ่มจากประเด็นที่ทำได้ก่อน แล้วค่อยๆ ทำไปทีละส่วนอย่างต่อเนื่อง ดังที่อาจารย์เปรียบเทียบว่า “เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์” ที่มีเป้าหมายอย่างชัดเจนในการปฏิรูปกองทัพ ให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น
“เพราะประเทศเรายังต้องการกองทัพอยู่ แต่เราต้องการกองทัพที่เป็นมืออาชีพ เพื่อรับมือกับระเบียบโลกที่เปลี่ยนไป ความมั่นคงใหม่ที่ท้าทาย” อาจารย์ประจักษ์กล่าวว่า ประเทศเราไม่ต้องการกองทัพการเมืองแล้ว เพราะยิ่งกองทัพมาแทรกแซงการเมืองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ทหารในฐานะกองทัพมืออาชีพอ่อนแอลง
“มันก็มีโอกาสในการเอาทหารออกจากการเมือง แต่ต้องขยับให้ถูกทาง” อาจารย์ประจักษ์ระบุ