ช่วงนี้มีข่าวเรื่องเด็กทำเรื่องแบบเด็กๆ เราก็รู้สึกกันว่า เด็กมันก็ซนไปตามประสา ตามเรื่องตามราว เด็กมันก็ใสๆ น่ารัก
แต่ว่าเอ๊ะ พอเรากลับมาดูพวกนิทาน ที่เราเล่าให้เด็กน้อยทั้งหลายฟัง นิทานที่ตกทอดมาจากอดีต เดี๋ยวก็ฆ่า ตัดแขนตัดขา ควักลูกตา เอามาทำอาหารกิน
เดี๋ยวนะ ทำไมมันแหม่งๆ นี่มันนิทานหรือหนังฆาตกรรมฟะเนี่ย
‘ความเป็นเด็ก’ มาจากไหน?
เราอาจจะรู้สึกว่า เอ้า เด็กมันก็เป็นขั้นตอน ‘ตามธรรมชาติ’ ตามวัยของเราไง เกิดมาเป็นแบเบาะทารก แล้วค่อยๆ โตขึ้น เป็นเด็กน้อยใสๆ เรียนรู้ไปจนเข้าวัยรุ่น แล้วค่อยกลายเป็นผู้ใหญ่
แต่ อันที่จริงแล้ว มีนักคิดจำนวนมากไปสำรวจแล้วบอกว่า โนจ้ะ ไอ้ ‘ความเป็นเด็ก’ หรือ childhood ที่หมายถึงช่วงวัยประมาณ 7-12 ขวบเนี่ย มันไปโยงกับแนวคิดว่าเป็นวัยที่ต้องการการปกป้องดูแลและรับการศึกษาอย่างเหมาะสม อย่างสะอาดๆ คลีนๆ แนวคิดเรื่องความเป็นเด็กที่ว่ามันเป็นสิ่งที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาแถวๆ สมัยใหม่ (modern era) นี้เอง
ถ้าพูดแบบสรุปๆ ก็ประมาณว่าสมัยก่อนอย่างช่วงยุคกลาง มันจะไม่มีแนวคิดเรื่องเด็ก หรือการที่เด็กทุกคนต้องเข้าโรงเรียนเพื่อเตรียมตัวอย่างเหมาะสมไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ การศึกษาสมัยก่อนก็อาจจะมีระบบโบสถ์เข้าไปเพื่อผลิตออกมาเป็นพระ มหาวิทยาลัยในยุคแรกก็เปิดขึ้นเพื่อผลิตกลุ่มอาชีพเฉพาะเช่นแพทย์ ทนายความหรือเสมียนข้าราชการ คือไม่มีแนวคิดเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อเตรียมเด็กๆ ที่ใสซื่อบริสุทธิ์ก่อนออกไปเผชิญโลกกว้าง นักคิดคนสำคัญคือ Hugh Cunningham ที่พูดถึงพัฒนาการที่เปลี่ยนไปของความเป็นเด็กในงานเขียนชื่อ Invention of Childhood (2006)
อิทธิพลสำคัญของการสร้างแนวคิดเรื่องความเป็นเด็ก หรือการมองเด็กในฐานะผ้าขาวและเชื่อมโยงเข้ากับความไร้เดียงสามาจากแนวคิดที่เปลี่ยนไปในการมองมนุษย์
แนวคิดเดิม ถ้าเราจำได้ ในสมัยกลาง แนวคิดที่เกี่ยวกับมนุษย์คือเรามองว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมบาป (จากอาดัมและอีฟ) ในความคิดแบบเดิมมองว่ามนุษย์เกิดมาเป็นสีดำ และต้องใช้ศาสนา ศรัทธาและการชี้นำของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อชำระและกลับเข้าสู่แสงสว่าง
แต่หลังจากปฏิวัติเข้าสู่โลกสมัยใหม่ จากแนวคิดเรื่องบาปกำเนิดเลยเริ่มเปลี่ยนไปสู่การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มากำหนดนิสัยหรือพฤติกรรมต่างๆ ไอ้ไอเดียที่ว่าเด็กคือผ้าขาวมันเลยมาตอนนี้ นักปรัชญาคนที่ต้นคิดเรื่องมนุษย์เกิดมาเป็นเหมือนผ้าใบว่างๆ แล้วค่อยปรับเปลี่ยนหรือได้รับอิทธิพลไปตามภาวะแวดล้อมก็คือเฮีย John Lock พี่แกเรียกแนวคิดมนุษย์คือผ้าขาวว่า tabula rasa ดังนั้น พอรากฐานความคิดเรื่องมนุษย์เกิดมาเป็นสีดำกลายเป็นสีขาว ครอบครัวเลยมีภาระที่จะต้องแต่งแต้มหรือรับผิดชอบกับผลผลิตของตนเองอย่างเหมาะสม ตรงนี้เองที่แนวคิดเรื่องความเป็นเด็กรวมไปถึงไอ้การสร้างระบบการศึกษาหรือพัฒนาการปฐมวัย ของเล่นเด็ก เอนฟาโกรทั้งหลายเริ่มเกิดขึ้น
นิทานกับการห้าม : ความรุนแรงกับความกลัว
ถ้าเรากลับไปที่เรื่องของนิทาน นิทานส่วนใหญ่เป็นผลผลิตของสังคมที่มีมาอย่างเนิ่นนานก่อนมีแนวคิดเรื่องความเป็นเด็ก รวมไปถึงถ้าเรามองสภาพความเป็นอยู่ในสมัยก่อน มันมีความโหดร้ายในการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว ต้องมีการเข้าป่า มีสัตว์ร้าย โรคภัย รวมไปถึงโจรผู้ร้ายและภัยหนาว ดังนั้นเอง ฟังก์ชั่นหนึ่งของนิทานมันไม่ใช่เรื่องของการทำให้นอนฝันดี แต่มันคือรูปแบบหนึ่งของการสอนและคำเตือน หรือเรียกโหดๆ ว่า มันคือคำขู่นั่นแหละ
นิทานมันเล่าเรื่องง่ายๆ ซิมเพิลๆ ระหว่างความดีและความเลว นัยของความความดี แง่หนึ่งมันเป็นการบอกว่านี่ไงนะ ทางนี้แหละคือทางเธอทางควรไป ถ้าไม่ เธอจะต้องพบเจอกับความวิบัติหายนะ เจอกับโศกนาฏกรรมที่โคตรน่ากลัว
ในระดับจิตวิทยา นักจิตวิทยาชื่อ Bruno Bettelheim เสนอความสำคัญของลักษณะเหนือธรรมชาติรวมถึงองค์ประกอบโหดๆ ไว้ใน The Uses of Enchantment: The Meaning and Importance of Fairy Tales (1975) โดยบอกว่าความโหดทั้งหลาย แม่มด การห้าม คำสาป จริงๆ แล้วเป็นระบบสัญลักษณ์ที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้และเติบโตเทียบเคียงกับโลกแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะมิติทางสังคมต่างๆ เป็นการเตรียมหนูน้อยทั้งทางร่างกายและจิตใจก่อนที่จะไปเจอกับสังคมจริงๆ
จริงๆ แนวคิดเรื่องความเป็นเด็ก ว่ามีมาเมื่อไหร่ที่พูดนี้ก็จะเป็นเรื่องของฝั่งตะวันตกเป็นหลัก แต่ถ้าเราลองดูนิทานต่างๆ ของไทยเองก็จะพบองค์ประกอบที่โชกเลือดและสยดสยองไม่แพ้กันเลย The MATTER จึงขอรวมฉากสยองของนิทานไทยเทศมาชวนคิดต่อไว้ในโอกาสนี้
รองเท้าแก้วโชกเลือด
ซินเดอร์เรลลา เป็นรูปแบบนิทานที่น่าสนใจ คือ โครงเรื่องแบบที่ว่ามีเด็กหญิงที่ถูกกดขี่ ไม่ได้ในสิ่งที่ควรได้ มีแม่เลี้ยงใจร้ายกลั่นแกล้ง สุดท้ายไปเจอเจ้าชายรูปงาม แล้วตามหากันจนเจอ โครงเรื่องประมาณนี้เป็นสิ่งที่ทั่วโลก ในจีน เวียดนาม หรือฉบับเก่าแก่ที่สุดคืออียิปต์ ก็มีแนวเรื่องไปในทำนองเดียวกัน แต่ประเด็นสำคัญของเรื่องแม่เลี้ยงใจร้ายคือในโลกของผู้ชายเป็นใหญ่ นิทานเลยมักเล่าถึงโลกที่ผู้หญิงต้องปกครองกันเอง พูดถึงที่มีอำนาจ และปลายทางก็คือความงี่เง่าที่ทำให้โชกเลือดไปตามๆ กัน
ในซินเดอร์เรลล่าฉบับกริมม์ (เรียกว่า Aschenputtel) แม่เลี้ยงที่ใจร้าย พี่แกใจร้าย (หรือใจดีไม่รู้) แม้แต่กับลูกสาวตัวเอง ตอนที่เจ้าชายเอารองเท้า (ฉบับเยอรมันเป็นรองเท้าทองคำ) มาให้ลอง อีลูกสาวดันตีนโตเกินไป คุณแม่เลยบอกว่า ตัดนิ้วเท้า (กับอีกคนให้ตัดส้นเท้า) ทิ้งสิจ๊ะที่รัก เพราะถ้าลูกได้เป็นพระราชินีแล้ว ก็ไม่ต้องใช้ตีนอีกต่อไป สวยๆ ฉลาดๆ ปลายทางพอนางซินได้แต่งงานอีนางพี่สาวนอกไส้ขาพิการยังไม่พอใจ ก็ยังจะไปเคลมความเป็นญาติ ผลคือมีนกพิราบช่วยกันลงโทษ เบาๆ ด้วยการไล่จิกควักลูกตาของสองสาว ไล่ออกจากพิธีเสกสมรสไปซะ
หนูน้อยหมวกแดง
จริงๆ หนูน้อยหมวกแดงเรื่องที่เรารู้จักก็โหดนะ อะไรคือการเล่าเรื่องเด็กผู้หญิงวัยขบเผาะไปเยี่ยมคุณยาย แล้วสุดท้ายไปเจอหมาป่าแฝงแล้วจับกินซะ ในนิทานหลายเวอร์ชั่นเรื่องจะจบแค่หนูน้อยหมวกแดงถูกหมาป่ากิน และเรื่องส่วนใหญ่ ตอนที่หมาป่าจะเชิญชวนให้หนูน้อยหมวกแดงขึ้น ‘ร่วมเตียง’ จะมีฉากให้หนูน้อยหมวกแดงเปลือยกาย ก่อนจะร่วมเตียงและเขมือบเข้าไปซะ
ดังนั้น มิติที่ลึกลงไปของหนูน้อยผ้าคลุมแดง จะเห็นว่ามีนัยเรื่องเพศซุกซ่อนอยู่เสมอ สีแดงที่อยู่บนร่างกายของเด็กหญิงวัยเจริญพันธุ์มันย่อมเกี่ยวข้องกับการปลุกเร้า ล่อลวง หรือความยั่วเย้าทางเพศ และถ้าคิดให้รุนแรงไปกว่านั้น สีแดงอาจเชื่อมโยงเข้ากับเลือดประจำเดือนของเด็กหญิงวัยแรกแย้ม และแน่ล่ะ ประเด็นของหนูน้อยหมวกแดงคือการออกนอกลู่นอกทาง จนทำให้หมาป่าได้ข้อมูลบางอย่างไปและสามารถสวมรอยและเขมือบหนูน้อยหมวกแดงได้ ฉากที่หนูน้อยหมวกแดงเปลือยกายขึ้นร่วมเตียงเลยมีนัยทางเพศติดมาอย่างไม่ต้องสงสัย การที่หนูน้อยพูดถึงร่างกายที่เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อและเส้นขนของหมาป่าบนเตียงเลยอาจมีนัยถึงอย่างอื่น หรือแม้แต่จินตภาพตอนที่ผ่าร่างเด็กหญิงแล้วเต็มไปด้วยน้ำเมือก
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเหมือนอุทาหรณ์ให้กับเด็กหญิงที่คู่ขนานไปกับโลกที่เด็กหญิงกำลังจะเจอเมื่อเป็นสาว (ส่วนใหญ่นิทานจะพูดเรื่องเซ็กส์แทรกไว้ในความรัก ว่าไม่น่ากลัว เช่นเจ้าชายกบ พูดถึงอะไรที่ลื่นๆ ยืดหดได้ แต่ด้วยรักก็สวยงามเอง ส่วนหนูน้อยหมวกแดงเหมือนออกนอกลู่เลยเล่าในแง่ที่น่ากลัว)
เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ : ความสุขในสุคติภพ
เรื่องราวเด็กหญิงขายไม้ขีดไฟว่าด้วยโศกนาฏกรรมในคืนก่อนวันคริสมาสต์ คือวันคริสมาสต์มันต้องเป็นวันที่โคตรรื่นรมย์น่าชื่นชมยินดี แต่นิทานของแอนเดอร์สันเล่าเรื่องเด็กหญิงยากจนที่ต้องเอาไม้ขีดไปขายให้หมด สุดท้ายเมื่อจุดไม้ขีดแต่ละก้าน เด็กหญิงถึงจะได้เห็นภาพและความสุขที่เธอพึงได้รับ เมื่อเธอจุดไม้ขีดทีละก้านจนหมด ในฉบับดั้งเดิม เมื่อไม้ขีดหมดเด็กหญิงจึงตายลงท่ามกลางความหนาวเหน็บของคืนวันคริสมาสต์ จริงๆ แล้วแอนเดอร์สันบอกว่าจบดีนะเพราะว่าเด็กหญิงได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขบนสวรรค์ แต่จริงๆ แล้วนิทานเรื่องนี้สอนให้เรารู้ถึงความเหลื่อมล้ำและปลายทางของความยากจน
Gourmet and Cuisine ไปกับปลาบู่ทอง
ในตอนนางซินเราบอกว่าโครงเรื่องแบบแม้เลี้ยงใจร้ายกับลูกเลี้ยงเป็นเรื่องที่พบได้เกือบทั่วโลก ของไทยเราถ้าดูโครงเรื่อง ก็มีปลาบู่ทองนี่แหละที่คล้ายๆ ซินเดอร์เรลล่า ส่วนเรื่องความโหด นิทานพื้นบ้านของเราดูจะโหดไม่แพ้กัน อย่างปลาบู่ทองนี่ก็มีความเชฟกะทะเหล็ก มีการ ‘ฆ่าแกง’ คือฆ่ากันด้วยวิธีที่โคตรจะในครัวเรือน อ้างอิงกับการทำอาหารแถมเอาไปกินให้หายแค้น เช่น แม่ของนางเอื้อยกลับชาติมาเกิดเป็นปลา พอรู้ว่าเฮ้ย นี่อีแม่มันโว้ย ก็จับมาขอดเกล็ดนอนเค้เก้ในครัวให้นางเอื้อยมาเห็น ก่อนจะทำเป็นอาหารกินเข้าไป พอมาเกิดเป็นมะเขือก็เอามาหั่นทำแกงกินอีก ในทางความรู้สึกมันคือการกินคนอยู่ดีปะ คือฆ่าซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่พอ ต้องกินด้วยถึงจะสมใจ สุดท้ายนางเอื้อยก็โดนฆ่าด้วย วิธีฆ่าก็ครัวเรือนอีกแล้ว คือให้ตกลงไปในหม้อน้ำร้อน นี่รายการ Hell Kitchen ยังต้องกราบ Hannibal ต้องมาขอดูงานอะ ฆ่าให้ทรมานน้อยๆ ก็ไม่ได้ ต้องต้มสดกันเลย
นางสิบสองกับการควักลูกตาและรับประทานบุตรหลาน
อีกสองเรื่องสุดท้ายขอเท้าความเล็กน้อย นิทานไทยที่กลายมาเป็นวรรณคดีจำนวนหนึ่งมันมีที่มาจาก ‘ปัญญาสชาดก’ ซึ่งเราเรียกกันว่าชาดกนอกนิบาต จริงๆ ไม่ปรากฏว่าใครแต่งแต่คาดกันว่าเป็นเถระชาวล้านนาโบราณที่เอานิทานที่เล่าๆ กันในแถบสุวรรณภูมิมาแต่งเลียนชาดก 500 ชาติของลังกา (เรียกว่าชาดกในนิบาต คือเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าเล่าถึงพระชาติในอดีต) ว่าไปพระเถระรูปดังกล่าวก็ทำตัวคล้ายๆ พี่น้องตระกูลกริมม์ คือทำการรวบรวมนิทานที่เล่ากันปากต่อปากให้กลายเป็นบันทึกลายลักษณ์ นิทานเช่นนางสิบสอง ก็มีที่มาจากรถเสนชาดก หรือสังข์ทองก็มาจากสุวรรณสังข์ชาดก เนื้อเรื่องในชาดกก็คล้ายๆ กัน แปลว่านิทานที่เราเล่ากันในแถบบ้านเราก็โหดใช่ย่อย
นางสิบสองนี่ขาโหดเลย นิทานอะไรมีการจับผู้หญิงไปขังไม่พอ ให้ควักลูกตาออกมาอีก มีการบรรยายถึงความเจ็บปวดทรมานด้วยนะ และที่โหดกว่านั้นคือจับไปขัง ควักลูกตาไม่พอ นางทั้ง 11 ที่โดนควักลูกตาสองข้าง(มีคนนึงโดนควักไปข้างเดียว) ก็หิวโหย คลอดลูกออกมาพอดีตายหมดเลยต้องกินลูกตัวเองประทังชีวิต
นี่คิดว่านิทานฝรั่งชิดซ้ายเลย ของไทยเราสาแก่ใจมาก มีการกินลูกตัวเอง ยังกะหนังซอมบี้
พระสังข์กับ Saw ภาคปฐมกาล
พระสังข์ก็มาจากชาดกชื่อสุวรรณสังข์ ด้วยความที่เป็นชาดก พระเอกของเราเลยถูกเรียกว่าเป็นพระโพธิสัตว์ แต่พระสังข์ของเราเป็นพระเอกนักบู๊ โลดโผนแถมเวรี่แสบแถมโหดไม่เบา ตอนสำคัญคือตอนเลือกคู่ต้องมีการแข่งขันหาคนที่เหมาะสมเหมือนแข่งโอลิมปิก ถ้าจำได้จะมีหกเขยมาแข่งกับเจ้าเงาะ (ที่ด้านในเป็นพระสังข์) ในการทดสอบคือมันมีสามรอบ แต่ละรอบให้ไปหาเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อปลาที่ดีที่สุดมา พระสังข์ของเรามีมนต์เรียกเนื้อเรียกปลาได้ เลยทำให้หกเขยผู้เข้าแข่งขันหาเนื้อสัตว์ตามกำหนดไม่ได้ พอดีไปเจอพระสังข์ตอนถอดรูป ดูรูปทองมีออร่าแรงแถมเห็นว่ามีทั้งเนื้อ ปลา หมูอะไรอุดมสมบูรณ์ไปหมดเลยไปขอแบ่งเพื่อเอามาให้พระเจ้าแผ่นดินดู พ่อคุณพระสังข์ก็มีข้อแลกเปลี่ยนที่แบบคิดได้ไง คือเอาเนื้อแลกเนื้อ หกเขยต้องเฉือนเนื้อของตัวเองเพื่อแลกกับเนื้อสัตว์คือนิ้ว จมูกและใบหู