ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เกส (Jorge Luis Borges) เป็นหนึ่งในนักเขียนร่วมสมัยที่ทรงอิทธิพลกับวิธีคิด และโลกวิชาการสมัยใหม่อย่างซับซ้อน พลังของบอร์กเกสคือการที่วรรณกรรม—เรื่องแต่งและจินตนาการกลับมาให้ภาพของโลกสมัยใหม่ ไปจนถึงให้ภาพที่เป็นรูปธรรมกับภาคทฤษฎีหลังสมัยใหม่ จริงๆ งานของบอร์เกสขึ้นชื่อเป็นนักเขียนที่ชวนปวดหัวมากที่สุด อ่านยาก เข้าใจยากมากที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย นอกจากบอร์เกสก็คงจะมี อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) ที่ใช้งานประเภทวรรณกรรมเพื่อเป็นสนามหรือตัวสาธิตของแนวคิดทางปรัชญา
งานของบอร์เกสนั้นมักถูกนิยามในนามงานประเภทสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือจริงๆ อาจจะอยู่ประเภทเหนือจริงด้วยก็ได้ เนื่องด้วยงานของบอร์เกสใช้ภาพที่ดูเหนือธรรมชาติหรือเหนือจินตนาการเพื่อกลับมาตั้งคำถามกับโลกแห่งความจริง จากห้องสมุดแปดเหลี่ยมที่พูดถึงความซับซ้อนของภาษา ไปจนถึงนิทานเรื่องแผนที่ที่โบลิยาร์ด (Charles Bolyard) เอาไปให้เปรียบเทียบกับความคิดเรื่องสัญญะมีอำนาจกว่าตัวจริง
14 มิถุนายน ถือเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของบอร์เกซ ซึ่งเขาเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1986 จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้กลับไปท่องในเขาวงกตแห่งภาษาและความหมายที่ไม่มีสิ้นสุด และไปยืนดูซากมหานครที่ถูกคลุมด้วยแผนที่ขนาดยักษ์
บรรณารักษ์ของห้องสมุดแปดเหลี่ยม
ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เกส เกิดที่เมืองบัวโนส ไอเรสในปี ค.ศ.1899 จริงๆ บอร์เกสเองมีความเกี่ยวข้องกับห้องสมุดมาแทบจะทั้งชีวิต เขาเรียนที่บ้านจนกระทั่งอายุ 11 ปี โดยด้านหนึ่งนั้นครอบครัวเองก็ค่อนข้างมีฐานะ บอร์เกสโตขึ้นโดยมีห้องสมุดขนาดใหญ่ที่บรรจุหนังสือกว่าพันเล่มอยู่ในนั้น ซึ่งบอร์เกสเคยบอกว่าสิ่งที่ส่งอิทธิพลกับตัวเขามากที่สุดในชีวิต ก็เห็นจะเป็นห้องสมุดของพ่อนี่แหละ บอร์เกสได้รับการการศึกษาจาก Collège de Genève หลังจากนั้นก็เริ่มเผยแพร่บทกวีและความเรียงแบบเหนือจริง นอกจากนี้อาชีพที่ทำก็เป็นภัณฑารักษ์ให้กับหอสมุดแห่งชาติ และเป็นอาจารย์ทางด้านวรรณคดีอังกฤษที่มหาวิทยาลัยแห่งบัวโนส ไอเรสด้วย
พอพูดถึงบอร์เกส งานชิ้นเอกที่สุดก็ต้องเป็นห้องสมุดในนามว่าห้องสมุดแห่งบาเบล The Library of Babel เรื่องสั้นที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ.1941 และกลายเป็นชื่อเรื่องหลักในรวมเรื่องสั้นชั้นหลังของบอร์เกสเมื่อมีการรวบรวมตีพิมพ์ในยุคต่อๆ มา ห้องสมุดของบอร์เกสเป็นห้องสมุดที่ไม่รู้จบ เป็นเหมือนภาพอุปมาของจักรวาลที่ว่า (น่าจะนะ) ถูกสร้างขึ้นได้ผ่านภาษาและถ้อยคำ
ตัวห้องสมุดมหัศจรรย์นี้ตามคำบรรยายคือเป็นห้องสมุดของที่ไม่รู้จบ ประกอบขึ้นด้วยห้องห้องหกเหลี่ยมจำนวนมาก โดยแต่ละห้องมีหนังสือในจำนวนเท่าๆ กัน หนังสือแต่ละเล่มประกอบขึ้นด้วยหน้ากระดาษ 410 หน้า แต่ละหน้ามีตัวอักษร 25 ตัว ผู้อาศัยในห้องสมุดนั้นก็ได้เดินไปเดินมาและเชื่อว่าคลังหนังสือเหล่านั้นได้บรรจุทุกอย่างของโลกใบนี้ไว้หมดแล้ว
ส่วนตัวก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ว่าห้องสมุดของบอร์เกสตีความไปทางใดกันแน่ ส่วนหนึ่งอาจจะหมายถึงการที่เราหลงอยู่ในโลกของจักรวาลของความหมาย และเชื่อว่ามีคำตอบบางอย่างอยู่ในหน้าหนังสือจำนวนมหาศาลนั้นซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ภาพของห้องสมุดที่มันไม่สิ้นสุด ข้อมูลมหาศาลนี้ก็ส่งผลกับศิลปินในยุคหลังที่โยง ‘คลัง’ ความและความเป็นไปได้จำนวนไม่รู้จบเข้าสู่การไหลของข้อมูล เช่นในโลกดิจิทัล ไปจนถึงมีการพยายามร่างแบบหน้าตาของห้องสมุดอย่างเป็นรูปธรรม
แผนที่ กับสัญญะที่เราเชื่อเหนือความจริง
นอกจากห้องสมุดแล้ว แผนที่เป็นอีกหนึ่งอุปลักษณ์สำคัญที่บอร์เกสเล่าขึ้นอย่างเหนือจริง แต่ก็กลับทำให้เราได้กลับมาทบทวนภาวะพิเศษของโลกแห่งความจริง ว่าในที่สุด เรามองเห็น ‘ความจริง’ ด้วยตัวของมันเอง หรือเรามองเห็นผ่านสัญลักษณ์ที่เราสร้างขึ้นกันแน่
ตัวนิทานนี้อยู่ในเรื่องสั้นเรื่อง On Exactitude in Science พูดถึงอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ที่มีความเกรียงไกรทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาการอย่างยิ่งยวด จนวันหนึ่งเจ้านครก็เลยบอกว่า ไหน ไปทำ ‘แผนที่’ ขึ้นมาหน่อยซิ ช่างแผนที่ก็รับเรื่องละไปผลิต สำรวจ รังวัดและสร้างแผนที่ขึ้นมาตามคำสั่ง
แต่อนิจจา ไม่ว่าจะทำแผนที่ในสัดส่วนไหน จากสัดส่วนเล็กๆ เจ้านครก็บอกว่าไม่พอ ให้ทำให้มันใหญ่ขึ้นอีก ทำไปทำมา แผนที่นั้นก็เลยเป็นขนาด 1:1 คือเซอร์มาก สุดท้ายเรื่องก็จบลงที่นครนั้นถูกคลุมด้วยแผนที่ขนาดมหึมาที่ตัวเองสร้าง ถึงกาลหายนะไปโดยปริยาย
บอร์เกสอาจจะกำลังวิพากษ์ความรู้ต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้น หรืออาจจะกำลังพูดถึงอาณาจักรของความหมาย โลกที่สัญลักษณ์ต่างๆ ถูกสร้างขึ้นเพื่อแทนความจริง แต่ในที่สุดพวกมันกลับใหญ่โต และทรงความหมายกว่าโลกความเป็นจริง ตัวสัญลักษณ์ที่ในที่สุดเต็มไปด้วยความหมายในตัวเอง ไม่ได้อ้างอิงกลับมาสู่ของความจริงก็เลยกลายเป็นตัวอย่างนิทานที่โบลิยาร์ดนำมาใช้เพื่ออธิบายภาวะหลังสมัยใหม่ใน Simulacra and Simulation
โลกเหนือจริงของชุดเรื่องสั้นของบอร์เกซ ด้วยตัวเองก็เลยเต็มไปด้วยความลึกลับ ในความน่ามหัศจรรย์เหนือจริงที่ดูแยกขาดออกจากโลกจริงๆ ที่เราอยู่ ในที่สุดกลับกลายเป็นว่าเรื่องแปลกประหลาดเหล่านั้นกลับทำให้คิดทบทวนกลับมาสู่โลกแห่งความจริง อะไรคือโลกของความหมายที่เราเหมือนเดินอยู่ในห้องสมุดที่ไม่รู้จบ ความเป็นจริง ความรู้อยู่ที่ตรงไหน หรือกระทั่งในโลกของกูเกิลแมพ เราเองอาจกำลังยึดถึงสัญลักษณ์และตัวแทน อยู่ในดินแดนของสัญญะมากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง
อ้างอิงข้อมูลจาก