จะปีใหม่แล้ว ทุกอย่างมันต้องใหม่ เราเองก็ต้องเป็นคนใหม่
แหม่ สิ้นปีต่อต้นปีทีไรในใจของเราก็เหมือนมีไฟคุโชนอยู่ในใจ ปีนี้กำลังจะหมดไปเป็นเวลาที่ดีที่เราจะได้ทบทวนสะสางว่าเอ๊ะ ชีวิตเราที่ใช้ๆ มาทั้งปีนี่มันมีอะไรต้องแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงมั้ยนะ และจึงได้เวลาประกอบพิธีกรรมสำคัญในช่วงเริ่มปีใหม่แบบนี้ คือการตั้ง ‘ปณิธานปีใหม่’
ดูแลสุขภาพ ลดน้ำหนัก กินผักผลไม้ นอนไม่ดึก งดเหล้า เลิกบุหรี่ เล่นโซเซียลให้น้อยลง มีความสุขให้มากขึ้น เก็บเงินเก็บทอง
ปณิธานปีใหม่ หรือ New Year Resolution ด้วยลักษณะแบบที่ว่ามักจะเป็นลิสต์ เป็นข้อๆ ว่าปีใหม่นี้เราจะทำอะไรบ้าง 1 2 3 4 เพื่อเป็นการเริ่มต้นใหม่ เป็นคนใหม่ ทำให้ชีวิตดีขึ้น ด้วยคำว่า Resolution มีความหมายหลักๆ สองอย่าง คือ การย่อยออกมาให้เป็นหน่วยเล็กๆ อีกความหมายหนึ่งเลยหมายถึงการหาคำตอบหรือไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ด้วยก็ได้ การเอาคำว่า Resolution มาใช้กับการแยกแยะเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดและเป็นการตั้งคำสัญญาให้กับตัวเองเพื่อให้ตัวเองดีขึ้นนั้น พบการใช้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และใช้กันเรื่อยมาในช่วงศตวรรษที่ 19 จนปัจจุบัน
คำสัญญาศักดิ์สิทธิ์
ดูเหมือนว่าปณิธานปีใหม่อายุมันไม่ค่อยยาวเท่าไหร่เลยเนอะ แต่เดิมมนุษย์เราก็มีการให้คำสัญญาเนื่องในวาระครบรอบปีกันมา นับย้อนไปไม่ยาวมาก ก็แค่ 4000 ปีเท่านั้นเอง แถมพบในหลายอารยธรรมทั่วโลก
ชาวบาบิโลเนียโบราณ อารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของมนุษย์มีการให้คำสัญญากับทวยเทพในทุกๆ การต้นเริ่มของปีใหม่ซึ่งเป็นเทศกาล 11 วันในเดือนมีนาคม สิ่งที่ชาวบาบิโลนทำคือการคืนข้าวของและจ่ายหนี้สินของปีที่ผ่านมาให้เรียบร้อย (เออ ดีเนอะ) ซึ่งการเริ่มต้นปีใหม่ของอาณาจักรโบราณนั้นสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนที่ผูกโยงอยู่กับวงจรการเพาะปลูก เดือนมีนาคมสำหรับพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำไทกริส ยูเฟรติส เป็นช่วงที่ฤดูใบไม้ผลิกำลังมาเยือน เหล่าพืชผลทั้งหลายกำลังถูกลงแปลงเพาะปลูก
คำสัญญาที่ชาวบาบิโลนตั้งไว้เนื่องในการขึ้นปีใหม่ดูจะเป็นคำสัญญาที่มีความแข็งแรงในระดับหนึ่ง ไม่ได้เปราะบางเหมือนกับปณิธานปีใหม่สมัยใหม่ที่พังยับไปได้ง่ายๆ ภายในไม่กี่เดือน ชาวบาบิโลนเชื่อว่าหากสามารถยึดคำสัญญาหรือปณิธานที่ตั้งต่อทวยเทพเอาไว้ได้แล้วนั้น เหล่าเทพเจ้าก็จะมีเมตตาและประทานพรลงมา ในทางกลับกันถ้าไม่ทำตามสิ่งที่ตั้งไว้ ทวยเทพก็จะไม่โปรดอีกต่อไป
เครื่องบูชาแด่เทพสองใบหน้าแห่งเดือนมกราคม
ในทำนองเดียวกัน เมื่อจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) แห่งอาณาจักรโรมันโบราณย้ายวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม ช่วงเริ่มต้นปีใหม่ ชาวโรมันมีการตั้งปณิธานต่อเทพเจ้าชื่อ Janus (อันเป็นที่มาของเดือน January) เทพ Janus เป็นเทพเจ้าที่มีสองหน้า เป็นเทพแห่งการเริ่มต้นและการสิ้นสุดลง ใบหน้าทั้งสองทำหน้าที่มองย้อนไปยังอดีตและมองไปข้างหน้าสู่สิ่งใหม่ๆ
คำสัญญาที่ชาวโรมันมอบให้ Janus ถือเป็นเครื่องบูชาอย่างหนึ่ง
สัญญาลูกผู้ชายของอัศวินยุคกลางในวันคริสต์มาส
ในช่วงสมัยกลาง อันเป็นช่วงเวลาที่คริสต์ศาสนาและการปกครองแบบศักดินาสวามิภักดิ์มีอิทธิพลต่ออารยธรรมในยุโรป สมัยนั้นอัศวินมีบทบาทสำคัญในการเป็นพลังให้กับแต่ละนายเหนือหัว (Lord) ในช่วงสิ้นสุดคริสต์มาส เหล่าอัศวินทั้งหลายจะรับเอา ‘คำสัญญาของนกยูง (peacock vow)’ อันเป็นการยืนยันต่อเกียรติและกฏแห่งอัศวิน
การอุทิศต่อคำสัญญาของอัศวินในช่วงปีใหม่จะรวมถึงการใช้เวลาเพื่อใคร่ครวญถึงความผิดพลาดในอดีตและแก้ไข (resolving) เพื่อพัฒนาตัวเองในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งนอกจากอัศวินแล้วเหล่าคริสตศาสนิกชนที่มีศรัทธาแรงกล้าก็จะรวมกันที่โบสถ์ในคืนวันปีใหม่เรียกว่า watchnight services อันเป็นการรวมตัวกันเพื่อสวดมนต์และตั้งปณิธานในช่วงค่ำและสิ้นสุดในตอนเที่ยงคืนเพื่อต้อนรับวันปีใหม่ที่กำลังมาถึง
ดูเหมือนว่าคำสัญญาที่มนุษย์เรามอบให้เพื่อใช้ชี้นำการใช้ชีวิตในอดีตจะเป็นคำสัญญาที่ไม่ค่อยยับเยินเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่เป็นการสัญญากับบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเอง – เพื่อให้มนุษย์เป็นคนที่มีความเป็นอุดมคติมากขึ้นตามความเชื่อหรืออุดมการณ์บางอย่าง ถ้าสัญญากับเทพเจ้ามันก็น่าจะเกี่ยวกับการเป็นคนดีกว่าเดิม สัญญากับอุดมคติของลูกผู้ชาย มันก็น่าจะเป็นการขัดเกลาตัวเองให้มีความเป็นอัศวินที่สมบูรณ์พร้อมมากขึ้น
คำสัญญาปีใหม่ในอดีตกาลจึงมักเป็นคำสัญญาที่ศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง การจะเลิกรักษาสัญญาจึงไม่ง่ายดายเท่าไหร่
เอาล่ะ เราอยู่ในโลกสมัยใหม่ ความเป็นอุดมคติของเราที่อยากผอม สุขภาพดี มีความสุข ก็เป็นคำสัญญาที่น่ารักษาเอาไว้เหมือนกัน คำสัญญาต่อตัวเราเองก็สำคัญพอๆ กับคำสัญญากับคนอื่นหรือสิ่งอื่นแหละ