เท้าของคุณเทียบอยู่ที่จุดสตาร์ท เตรียมพร้อมสำหรับการวิ่งแข่ง แต่เมื่อหันไปมองคนข้างๆ จุดเริ่มต้นของเขา กลับล้ำหน้าคุณไปไกลเหลือเกิน
หลายคนคงเคยได้ยินคำเปรียบเทียบว่า ชีวิตของเราก็เหมือนต้องการวิ่งแข่งที่จุดเริ่มต้นของแต่ละคน ตั้งต้นแตกต่างกันออกไป ด้วยฐานะของครอบครัว สภาพแวดล้อม การเข้าถึงบริการสาธารณะ สภาพสังคมและการเมือง ยิ่งในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูงแล้ว จุดเริ่มต้นของแต่ละคน ยิ่งห่างกันไกลกันหนักกว่าเดิม
ดังนั้น การใช้เงินเพื่อซื้อคุณภาพชีวิตดีๆ จึงเป็นทางออกที่หลายคนเลือกเพื่อจะเพิ่มแรงถีบให้ออกจากจุดสตาร์ทได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกหลานของตนอยู่ในสังคมที่มีคุณภาพ
แต่สงสัยกันไหมว่า ทุกวันนี้ เราใช้เงินซื้อสังคมดีๆ กันมากเกินไปไหม?
ต้องใช้เงินจึงจะได้สังคมที่ดี
ซื้อสังคมให้ลูก เป็นคำที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ เมื่อหลายคนเชื่อว่า การจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และเหมาะสมกับการเติบโตของเด็กนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เงินมหาศาล
เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา มีคลิปรีวิวโรงเรียนอินเตอร์ชื่อดังแห่งหนึ่งในเมืองไทย ที่แม้ค่าเทอมจะแพงแสนแพงในสายตาชนชั้นกลาง แต่อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ตึกอาคาร หลักสูตร แนวทางการสอน รวมไปถึงบุคลากรของโรงเรียน ก็ดูจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กเติบโตได้อย่างมีความสุข และสมบูรณ์พร้อมแน่ๆ
แล้วต้องมีเงินเท่าไหร่กันนะ? เราถึงจะได้อยู่ในสังคมแบบนั้น
ถ้าอยากเข้าเรียนโรงเรียนอินเตอร์ เงินที่เราต้องเตรียมไว้สำหรับค่าเทอม ก็มีตั้งแต่หลักแสนไปถึงหลักล้าน แต่ถ้าโรงเรียนอินเตอร์ไม่ตอบโจทย์ก็มีโรงเรียนรูปแบบอื่นๆ ให้เลือกรองลงมา อย่างโรงเรียนทางเลือก หรือโรงเรียนเอกชน แต่ถ้าจ่ายไม่ไหวจริงๆ หรือมองว่าโรงเรียนของรัฐตอบโจทย์กว่า หลายคนก็เลือกส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งมีค่าเทอมถูกกว่ามาก
นิดนก–พนิตชนก ดำเนินธรรม นักเขียนและผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ The Rookie Mom เล่าว่า เธอต้องเตรียมเงินอย่างน้อยปีละ 120,000-140,000 สำหรับค่าเทอมของลูก โดยค่าใช้จ่ายนี้ ยังไม่นับรวมค่าเรียนภาษา หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย
นิดนกเล่าต่อว่า ยิ่งเด็กที่อยู่ในช่วงวัยอนุบาล ยิ่งต้องได้โรงเรียนที่เข้าใจและปล่อยให้เด็กได้เติบโตแบบเด็ก ซึ่งจริงๆ แล้ว โรงเรียนอนุบาลในหลายประเทศก็เป็นแบบนั้น แต่สำหรับประเทศไทย โรงเรียนแบบนี้กลับหาได้ยาก ที่มีส่วนใหญ่ก็คือโรงเรียนอินเตอร์และโรงเรียนทางเลือก ซึ่งโรงเรียนอินเตอร์ที่เพียบพร้อมมากจริงๆ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงมาก ทำให้เธอตัดสินใจเลือกโรงเรียนทางเลือกให้ลูกแทน
“ที่จริง มันไม่ควรเป็นทางเลือกด้วยซ้ำ มันควรเป็นค่า default และโรงเรียนกลุ่มนี้ก็ราคาไม่ถูก ถูกกว่าอินเตอร์แต่ก็ถือว่าสูงอยู่ดี ก็เป็นอีกต้นทุนที่ต้องยอมจ่าย ด้วยความหวังว่า นอกจากบ้านแล้ว โรงเรียนจะมอบ mindset ที่เพียงพอสำหรับเขาที่จะเติบโตขึ้นในโลกข้างหน้า ในแบบที่มันก้าวหน้าหน่อย ไม่ต้องไปเสียเวลากับกฎระเบียบคร่ำครึที่ยังไม่ขยับไปไหนกันซักที”
อย่างไรก็ดี วิธีการเตรียมพร้อมและเลือกโรงเรียนให้กับลูกของผู้ปกครองแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป โดย นทธัญ แสงไชย นักเขียนและโปรดิวเซอร์พอดแคสต์ เล่าว่า ปัจจัยสำคัญของโรงเรียนที่เขาเลือกให้กับลูกคือ ต้องเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน และเป็นโรงเรียนที่ลูกอยู่แล้วมีความสุข จากนั้น ค่อยมาพิจารณาค่าเล่าเรียนของลูกอีกทีหนึ่ง
ขณะเดียวกัน นทธัญมองว่าเขาอยากให้ลูกได้เติบโตและเรียนรู้สังคมจากการเผชิญกับสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง มากกว่าที่ตัวเขาจะเข้าไปกำหนดและบงการทุกอย่าง
ถึงอย่างนั้น เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็มีเหตุการณ์ที่เด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1 ของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ถูกครูพี่เลี้ยงทำร้ายร่างกาย โดยคำบอกเล่าของผู้ปกครองกล่าวว่า พวกเขาต้องทำงานหาเงินอย่างหนัก มาจ่ายค่าเทอมกว่าแสนบาท เพื่อให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดีๆ และเป็นการซื้อสังคมที่ดีและมีคุณภาพให้กับลูก แต่สุดท้ายก็ยังเกิดเหตุการณ์แบบนั้นได้
หลายคนมองว่า เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า เราต้องดิ้นรนให้หนักขึ้น เพื่อจะซื้อสังคมที่ดีให้กับลูก ขณะที่หลายคนก็กล่าวว่า ไม่ว่าเด็กจะเรียนโรงเรียนแบบไหน ก็ไม่ควรต้องมาพบเจอกับเหตุการณ์แบบนี้
นทธัญเล่าว่า ในบางประเทศผู้ปกครองสามารถไว้ใจโรงเรียนได้ เพราะแต่ละโรงเรียนมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน ตามที่รัฐจัดสรรให้ ดังนั้นแล้ว สิ่งที่เขาอยากได้จากรัฐก็คือ โรงเรียนที่จะทำให้ผู้ปกครองสามารถไว้ใจได้ว่า เมื่อลูกพ้นจากสายตาไปแล้วจะได้รับการดูแลที่ดีและอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย
“เราอยากไว้ใจโรงเรียนได้ ที่เราต้องไปดู ไปหาโรงเรียนให้ลูก ก็เพราะว่าเราต้องไว้ใจโรงเรียน เราต้องไปดูบรรยากาศโรงเรียนว่ามันเหมาะกับลูกเราไหม ต้องไปดูว่า ลูกเราชอบที่นี่หรือเปล่า เขาจะเติบโตได้เองหรือเปล่า เรื่องเงิน เรื่องโรงเรียนใกล้บ้านก็อีกเรื่อง แต่เหล่านี้มันเกิดมาจากการที่เราต้องหาโรงเรียนที่เราไว้ใจได้ก่อน”
เมื่อความเหลื่อมล้ำคือปัญหาหลัก
หลายคนมองว่าตนเองสามารถควบคุมสังคมในระดับสถาบันครอบครัวให้กับเด็กๆ ได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเข้าสู่วัยอนุบาล โรงเรียนก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตเด็กอย่างมาก โดยเด็กบางคนอาจใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนมากกว่าที่บ้านด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมผู้ปกครองหลายคน จึงอยากให้ลูกของตัวเองได้ไปศึกษาในโรงเรียนที่มีสังคมที่มีคุณภาพ และสามารถมอบชีวิตที่ดีให้กับเด็กได้
แล้วคุณภาพสังคมที่ว่านี้ หมายถึงอะไรกันแน่?
หากอ้างอิงตามองค์กร UNESCO แล้ว คำว่าคุณภาพสังคม หมายถึง การมีความพึงพอใจในการปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น อาหาร สุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อม รายได้ และทรัพยากรธรรมชาติ
ขณะที่มูลนิธิคุณภาพสังคมแห่งยุโรป นิยามความหมายของคำนี้ไว้ว่า สิ่งที่ครอบคลุมถึงคุณภาพชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งพวกเขาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณชีวิตของตนให้ดีขึ้นได้
หรือก็คือ คุณภาพชีวิตคือปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ที่ส่งเสริมให้ชีวิตของคนๆ นึงดีได้นั่นเอง
ทีนี้ คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมเราต้อง ‘จ่ายเงินแพงๆ’ ถึงจะได้คุณภาพชีวิตดีๆ กันนะ ทั้งที่ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่ สังคมดีๆ ก็เป็นสิทธิที่ทุกคนควรเข้าถึงไม่ใช่เหรอ?
จริงๆ แล้ว เราไม่ควรจะต้องจ่ายเงินแพงๆ เพื่อจะได้รับปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐาน ที่ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับกันอยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับกันว่า สำหรับประเทศไทยนั้น ปัญหาที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ความเหลื่อมล้ำ
อย่างที่รู้กันดีว่า โรงเรียนแต่ละแห่งในประเทศไทยนั้น มีประสิทธิภาพในการสร้างสังคมที่ดีให้กับเด็กได้แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งที่มาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนก็คือ การจัดวางให้เกิดระบบของการแข่งขันระหว่างโรงเรียน ด้วยสารพัดวิธีที่จะดึงให้เด็กเข้ามาเรียนในโรงเรียนของตัวเอง เพื่อให้มีเด็กเข้าไปเรียนในโรงเรียนนั้นๆ จำนวนมาก แล้วโรงเรียนที่มีเด็กเรียนเยอะก็จะได้รับเงินรายหัวสูงตามขึ้นไปด้วย
ขณะที่โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย ก็จะได้รับเงินรายหัวน้อย ทำให้ไม่มีเงินไปจัดสรรทรัพยากรดีๆ ให้กับเด็กได้ ยิ่งกว่านั้นหากโรงเรียนนั้นยังไม่สามารถหานักเรียนมาเพิ่มได้ ก็อาจถูกสั่งให้ยุบทิ้งไปก็ได้ด้วยเช่นกัน
ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำยังเชื่อมโยงไปอีกหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือสิทธิในเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐ ก็ล้วนเกี่ยวโยงกับการได้อยู่ในสังคมที่มีคุณภาพทั้งหมด
นอกจากนี้ หากว่ากันตามกฎหมายแล้ว รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ แต่เราก็มักจะเห็นกันว่า หลายโรงเรียนก็ยังมีการเก็บค่าบำรุงการศึกษา หรือใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติม โดยอ้างว่า เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับเด็ก
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ ครุจุ๊ย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ขับเคลื่อนเรื่องการศึกษามานาน กล่าวถึงสาเหตุที่เราไม่มีการศึกษาที่ ‘ฟรี’ จริงๆ ว่า เป็นเพราะเงินอุดหนุนโรงเรียนจากรัฐไม่เพียงพอ โรงเรียนจึงมีห้องเรียนพิเศษอย่าง ห้องเรียน GIFTED หรือห้องเรียน EP เสริมมา
“กลายเป็นว่า รัฐเราไปสนับสนุนการเรียนแบบที่มันเหลื่อมล้ำเอง ในการเขียนระเบียบของรัฐด้วยซ้ำ เพราะอย่างโครงการ English Program (EP) ก็เป็นห้องเรียนที่กำหนดขึ้นมาโดยรัฐ ถามว่าให้งบมาไหม ไม่ แต่ก็ให้ทำ โรงเรียนก็ต้องไปเก็บเงินมาจากผู้ปกครองต่ออีกทอดหนึ่ง”
กุลธิดาเสริมว่า ธรรมชาติของคนก็อยากให้ลูกหลานของเราได้อยู่ในสังคมที่ดีที่สุด แต่รัฐกลับสร้างและสนับสนุนให้เกิดตัวเลือกใหม่ๆ มามากมาย แทนที่จะสนับสนุนเงินอุดหนุนที่เป็นเหตุเป็นผล เพื่อสร้างการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ
อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของปัญหานี้ก็คือ ระบบราชการ ซึ่งครอบคลุมถึงวิธีการทำงาน การจัดสรรทรัพยากร การออกแบบหลักสูตร วิธีการประเมิน รวมไปถึงเรื่องทางวัฒนธรรมต่างๆ ในระบบราชการ ซึ่งมีส่วนกีดกันการสร้างสรรค์สังคมที่คุณภาพให้กับเด็ก
“ตัวอย่างเช่น ตึกที่เก่าไปแล้ว โรงเรียนอยากจะทุบทิ้ง ก็ทุบไม่ได้นะ เพราะไม่มีงบส่วนค่าทุบ ก็ต้องเป็นซากปรักหักพังอยู่ในโรงเรียนให้อันตรายอยู่อย่างนั้น หรือถ้าอยากสร้างแบบตึกเหมือนโรงเรียนนานาชาติ ก็ทำไม่ได้นะ เพราะคุณมีแบบตึกของราชการอยู่ โรงเรียนจึงสร้างตึกที่เหมาะสมกับเด็กไม่ได้ด้วย”
คุณภาพชีวิตที่ดี เป็นสิทธิของทุกคน
เด็กที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย นั่งเรียนร่วมห้องกับเด็กที่มาจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน
ภาพนี้อาจดูเป็นอุดมคติที่เกิดขึ้นได้ยากในบ้านเรา แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน Viikki ในกรุงเฮลชิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ โดยที่ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเทอม หรือค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์การเรียนให้กับลูกหลานของตัวเองเลย
อย่างที่เรารู้กันดีว่า ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า การศึกษาดีที่สุดในโลก ซึ่งคำบอกกล่าวนี้ก็ได้มาด้วยระบบการศึกษาคุณภาพสูงที่ภาครัฐจัดให้ประชาชน และไม่ได้เป็นผลมาจากนโยบายด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มาจากนโยบายด้านสังคมที่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
“ระบบการศึกษาที่มีความเสมอภาคสูงของฟินแลนด์ไม่ได้มาจากปัจจัยด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียว โครงสร้างพื้นฐานของสวัสดิการรัฐในฟินแลนด์มีบทบาทสำคัญในการให้โอกาสเด็กทุกคน รวมทั้งครอบครัวของพวกเขามีสถานะที่เท่าเทียมกันในการเริ่มต้นเส้นทางการศึกษาที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุ 7 ขวบ” พาซี ซัห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) นักการศึกษาชาวฟินแลนด์กล่าว
นอกจากนี้ ในหนังสือ Finnish Lessons 2.0 ของซัห์ลเบิร์ก ยังระบุด้วยว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของชีวิต โดยเขาได้เปรียบเทียบข้อมูลรายได้ประชากรในประเทศกลุ่ม OECD กับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของ PISA และได้ข้อสรุปว่า การกระจายรายได้ของประชากรมีความสัมพันธ์กับผลการเรียนของเด็ก แม้จะไม่เด่นชัดมากนัก แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ยิ่งสังคมมีความเสมอภาคมากเท่าไหร่ นักเรียนก็ดูจะมีผลการเรียนดีขึ้นเท่านั้น
“คนส่วนใหญ่มองว่าระบบการศึกษาของรัฐเป็นบริการสาธารณะ” ซัห์ลเบิร์กเสริม
ถึงแม้สังคมรัฐสวัสดิการจะถูกมองเป็นรูปแบบของรัฐที่ใครหลายคนต้องการ แต่รัฐสวัสดิการก็มีรูปแบบแตกต่างกันออกไป
ภาคภูมิ แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับ The 101 ว่า การที่เราจะสร้างรัฐสวัสดิการเหมือนประเทศในแถบสแกนดิเนเวียนั้น เราต้องผ่านเงื่อนไขหลายประการ หากสถาบันทางการเมือง สถาบันทางเศรษฐกิจ กลไกตลาด สถาบันทางสังคมและสถาบันครอบครัวของเราไม่เหมือนเขา เราก็เป็นรัฐสวัสดิการแบบเดียวกันกับที่สแกนดิเนเวียไม่ได้
“สมมติว่าเราอยากเป็นรัฐสวัสดิการแบบสวีเดนมาก เราปรับนโยบายตามสวีเดนทั้งหมด แถมเงื่อนไขให้ด้วยว่าเรามีเงินพอ มีความเป็นไปได้ทางการคลังที่จะสร้างรัฐสวัสดิการเหมือนสวีเดนทุกอย่าง แต่ถ้าเรามีสถาบันทางการเมืองที่สร้างความไว้วางใจให้ประชาชนไม่ได้ ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ แล้วเราจะเป็นรัฐสวัสดิการเหมือนสวีเดนได้หรือเปล่า?”
ดังนั้นแล้ว การจะปรับแก้ให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ โดยไม่เป็นอภิสิทธิ์สำหรับชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งนั้น จึงไม่ใช่แค่การมุ่งเน้นแก้ปัญหาด้านการศึกษา แต่ต้องอาศัยปัจจัยหลายประการกว่าจะไปถึงสังคมในฝัน ที่พร้อมสนับสนุนให้ทุกคนเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก
รัชวดี แสงมหะหมัด. (2560). ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา: คุณภาพสังคมที่คนไทยมองเห็น, วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์, ปีที่ 8 (1), 37-39.
อเล็กซานเดอร์ เพทริง และคณะ. (2562). รัฐสวัสดิการกับสังคมประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์