ถ้าวันหนึ่งเราจะอยากทำงานเป็น sex worker มันจะเป็นไปได้มั้ย?
ทุกวันนี้ sex worker ยังคงถูกตีตราจากทั้งรัฐและสังคม ในทางหนึ่งมี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่คอยจับ รีดไถ ข่มขู่คนทำงาน ในทางสังคมเองก็ยังคงมองว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ไม่ดี บางคนถึงกับมองว่าคนทำอาชีพนี้เป็นโรคจิตเลยก็มีเช่นกัน
มูลนิธิ Empower คือหนึ่งในองค์กรทีี่ออกมาผลักดัน เรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพราะทำให้การทำอาชีพนี้ถูกเอารัดเอาเปรียบในหลายทาง ทั้งจากเจ้าหน้าที่ จากเจ้านาย เจ้าสถานบริการ จากลูกค้าที่บางคนนั้นใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ยังเป็นกฎหมายที่ลดทอนคุณค่าความเป็นคนของพวกเขา นำไปสู่การเลือกปฏิบัติอย่างที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
เราไปคุยกับ ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานองค์กรมูลนิธิ Empower ซึ่งครั้งหนึ่งเธอเคยตัดสินใจทำงานเป็นผู้ให้บริการ และทุกวันนี้ก็ผันตัวมาเป็นคนที่คอยเรียกร้องเรื่องสิทธิของผู้หญิงที่ทำงานบริการให้ได้รับศักดิ์ศรี และการคุ้มครองเหมือนที่แรงงานอาชีพอื่นๆ ได้รับ เพราะพวกเธอทุกคนก็เป็นคนในสังคนหนึ่งเหมือนกัน
กฎหมายนี้มีปัญหายังไง อะไรเป็นอุปสรรคในการแก้ไข แล้วจะทำยังไงต่อไปในวันที่ต้องสู้กับรัฐและทัศนคติของคนในสังคม เราชวนไปอ่านความคิดเห็นจากเธอกัน
Empower คือใคร
Empower คือกลุ่มพนักงานบริการ เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาจากการรวมตัวกันของพนักงานบริการ ที่รวมตัวแล้วก็สร้างกลุ่มขึ้นมา นะคะ จนในที่สุดในปี 35 เราก็จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ เพราะฉะนั้น มูลนิธิ Empower ก็คือมูลนิธิที่เกิดขึ้นโดยพนักงานบริการ บริหารงานโดยพนักงานบริการ แล้วก็ดูแลชุมชนด้วยค่ะ
มีแรงต่อต้านหรืออะไรบ้างไหม ตอนมาทำเป็นมูลนิธิ
แรงต่อต้านส่วนมากก็จะมาจากการที่ต้องไปขอคนที่มีหน้าตาในสังคมมาเป็นประธานในตอนนั้น แล้วเราก็ไม่สามารถจะใช้ชื่อ ‘ศูนย์พิทักษ์สิทธิหญิงบริการ’ อย่างตอนแรกได้ เพราะว่ากระทรวงวัฒนธรรมไม่ยอม เราก็เลยต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘ส่งเสริมโอกาสผู้หญิง’ แทน เพราะตอนนั้นเราก็เป็นพนักงานบริการที่เป็นผู้หญิงทั้งหมดเลยค่ะ ก็มันก็มีประเด็นนิดๆ หน่อยๆ เวลาเราจัดกิจกรรม มีอะไรก็จะเป็นที่ฮือฮา อูย โสเภณีทำอันนั้น โสเภณีทำอันนี้อย่างนี้ ตื่นเต้นกันไปหมด
แปลว่ามันมีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ให้บริการค่อนข้างมากใช่ไหม
ใช่ๆ ค่ะ จริงๆ ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการทางเพศมีทุกเพศเนอะ ต้องบอกว่าทุกเพศเลย แต่ Empower เราดูแลกลุ่มพนักงานบริการที่เป็นผู้หญิงโดยส่วนมาก เพราะก็จะมีเพื่อนคนอื่นๆ ที่ดูแลส่วนอื่นๆ เช่น มูลนิธิ SWING หรือ มูลนิธิเอ็มพลัส ก็ทำงานกับทาง trangender แล้วก็มูลนิธิอิสรชนที่ทำงานกับ sex worker ที่เป็นคนเร่ร่อน คนข้างถนน ซึ่งเราก็ทำงานเป็นเครือข่ายกัน ในฐานะที่เราเป็นพนักงานบริการ
นิยามของ sex worker ว่ามันคืออะไรกันแน่
พนักงานบริการที่ทำงานนะคะ ก็จะมีทำงานอยู่ในสถานบริการต่าง ๆ เช่น บาร์เบียร์ อะโกโก้ อาบอบนวด คาราโอเกะ หรือบางครั้งก็จะเป็นการทำงานแบบไซด์ไลน์ ทำงานทางอินเทอร์เน็ต ยืนตามข้างถนนก็มี อีกลักษณะการทำงานก็คือในบ้านสาวอีกอันหนึ่ง
แต่มีเนื่องที่ต้องคุยกันคือเราก็พยายามจะให้สังคมเคารพ โดยไม่เรียกเราว่ากะหรี่ ไม่เรียกเราว่าโสเภณี ไม่เรียกเราด้วยคำหยาบคาย เราก็อยากจะให้ทุกคนเรียกเราว่าพนักงานบริการ สาเหตุก็เพราะว่าส่วนมากเราก็ทำงานในสถานบริการ ก็เท่ากับว่าเป็นแรงงานหนึ่งอยู่แล้ว สถานบริการก็จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปัญหาก็คือทำไมคนทำงานสถานบริการกลายเป็นคนผิดกฎหมาย ซึ่งมันไม่ยุติธรรมเลย นั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่เราลุกขึ้นต่อสู้เพื่อพยายามเอา พ.ร.บ.การค้าประเวณีนี้ออกไป
แปลว่าตัวกฎหมายฉบับปัจจุบันที่ยังใช้อยู่ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 มีปัญหายังไง
คืออย่างนี้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราบการค้าประเวณีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2503 นะคะ แล้วก็มาปรับเปลี่ยนในปี 39 เจตนารมณ์ของกฎหมายบอกว่าต้องการให้โอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ในอาชีพนี้ แต่ในมาตราต่างๆ กลับไม่มีการทำงานเพื่อพัฒนาตรงนี้เลย มีแต่การจับ ปรับ ล่อซื้อ ทลาย แล้วก็เอาผิดกับคนทำงานเท่านั้นเอง แล้วก็จุดสำคัญนะคะ พ.ร.บ.การค้าประเวณีตัวนี้เป็นช่องทางใหญ่ในการคอรัปต์ชั่น
คือถ้าคุณอยากทำงานคุณก็ต้องจ่ายส่วย อันนี้ชัดเจนเลย เราก็เลยพยายามจะยกเลิก พ.ร.บ.การค้าประเวณีเพื่อให้พนักงานบริการไม่ผิดกฎหมาย ไม่ถูกเอาผิดอีกต่อไป เขาเพียงเป็นแค่คนทำงานที่ต้องการดูแลตัวเองกับครอบครัว แล้วก็พนักงานบริการผู้หญิงโดยส่วนมากร้อยละ 80 เปอร์เซ็นเป็นแม่ แล้วเกือบ 100 เปอร์เซ็นคนที่ทำงานบริการเป็นผู้นำครอบครัวทั้งนั้นนะคะ
หลายคนก็ไม่ใช่อยู่ๆ มาทำงานตรงนี้ หลายคนก็ทำงานอย่างอื่นมาทุกอย่าง ทำมาหลายอย่างมาก กว่าจะมาถึงงานนี้ แต่ว่างานหลายๆ อย่างที่เราทำมันไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเรา นึกออกไหมคะ มันไม่สามารถดูแลคนข้างหลังได้ เงินวันละ 300 มันดูแลได้แค่ตัวเองเนอะ แต่ปากท้องที่อยู่ข้างหลังมันไม่สามารถที่จะดูแลตัวเองได้เลย พอมันไม่ตอบโจทย์ปุ๊บ เมื่อเราอยู่ในสถานะเบี้ยล่างของสังคม การที่เราจะยกสถานะครอบครัวขึ้นมาเป็นเรื่องยาก สมมติ มีพ่อที่เป็นคนกวาดถนน ก็เป็นเรื่องยากเนอะที่เราจะยกสถานะครอบครัวขึ้นมาออกจากชนชั้นแรงงาน
แล้วถ้าถามว่าทำไมจะต้องยกสถานะครอบครัว ก็เพราะว่า ถ้าหากว่าเราไม่ยกสถานะครอบครัว เราก็เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ของสังคมเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ก็เข้าไม่ถึงสิทธิเรื่องสุขภาพ สิทธิความยุติธรรม ก็เข้าไม่ถึง
ที่กังวลตอนนี้คือ คนในสังคมยังเข้าใจผิดว่า เราพยายามทำเรื่องให้ ‘ถูก’ กฎหมาย ซึ่งความเป็นจริงแล้วเรากลัวคำนี้มาก เพราะการถูกกฎหมายเท่ากับต้องมีกฎหมายใหม่มาระบุให้เราถูกกฎหมายเนอะ เราไม่ต้องการแบบนั้น เราแค่ต้องการการ ‘ไม่ผิด’ กฎหมายเท่านั้นเอง คือการยก พ.ร.บ.ออกไป ไม่อยากให้สังคมกังวลเลย เพราะว่ากฎหมายเมืองไทยยังมีอีกหลายฉบับค่ะที่เข้ามาดูแลและคุ้มครอง ถึงแม้ว่าไม่มีกฎหมายตรงนี้ก็ตามนะคะ อันนี้คือสิ่งที่จะบอกกับสังคม
คุยเรื่องกฎหมายไทยแล้ว หลายคนมักจะคุยกันว่ามีการใช้ศีลธรรมบางอย่างมาออกเป็นกฎ อย่างเช่นอย่างช่วงนี้ก็จะมีกฎหมายเรื่องการทำแท้ง หรือกฎหมายเบียร์ อะไรอย่างนี้ มุมมองของคุณทันตาคิดว่าเป็นยังไงบ้าง
คือกฎหมายไทยมันมีความย้อนแย้งเยอะ อ้างศีลธรรมจรรยาเยอะ ถ้าเราถามย้อนกลับไปในสังคมว่า การทำผิดศีลธรรมบางอย่าง ก็ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นผิดกฎหมายไม่ใช่หรือ แล้วแค่ผู้หญิงไปนอนกับใครสักคนแล้วได้เงินมา ถึงขั้นจะต้องจับเขาผิดกฎหมายอาญาเหรอ แล้วผิดกฎหมายอาญามันต้องมีประวัติทางอาญา เมื่อมีประวัติทางอาญา การที่เขาจะออกจากอาชีพแล้วไปเริ่มชีวิตใหม่เป็นเรื่องยากนะคะ ถูกไหม เพราะมันมีประวัติอยู่ตรงนั้นอะ
แต่ในสังคมก็ยังเข้าใจเราผิดนะ ว่าเราพยายามทำให้งานนี้กลายเป็นงานถูกกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่ การเอาพ.ร.บ.การค้าประเวณีออก เพื่อเราจะไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไปเท่านั้นเอง แต่ไม่ถูกกฎหมาย คำว่าถูกกฎหมายมันแปลว่าต้องสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาเพื่อระบุว่าใครถูกใครผิด ซึ่งเราก็ไม่ต้องการ เราเพียงแต่ต้องการยกเลิกกฎหมายออกไป แต่การยกเลิกกฎหมายออกไปไม่ได้แปลว่าเราจะอิสระเสรีนะคะ เมืองไทยมีกฎหมายเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.ปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ร.บ.แรงงาน พ.ร.บ.แอลกอฮอล์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่มันสามารถใช้มาควบคุม ดูแล คุ้มครองได้ แล้วมันไม่สามารถทำให้คนทำงานบริการเป็นอิสระขนาดนั้น
เพียงแต่ว่าเมื่อไม่มีกฎหมาย พ.ร.บ. ปราบปรามการค้าประเวณีแล้ว พนักงานบริการก็จะเข้าสู่ภายใต้กฎหมายแรงงานโดยอัตโนมัติ เขาจะถูกคุ้มครองโดยกฎหมายแรงงานโดยอัตโนมัตินะคะ ซึ่งจะทำให้ไม่มีใครไปเอาเปรียบเขาได้อีก แล้วเขาก็จะเสียภาษีอย่างถูกต้องได้ ไปถามพนักงานบริการว่า อ้าว จะเสียภาษีไหมถ้างานนี้ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป พนักงานบริการทุกคนบอกเหมือนกันเลยค่ะว่า เสียภาษีให้รัฐมันเป็นหน้าที่ของประชาชน เขาอยากเสียภาษีมากกว่า เพราะว่าการเสียภาษีให้รัฐบาล มันถูกกว่าที่เขาเสียค่าส่วย นึกออกไหมคะ ถูกกว่ากันเยอะค่ะ
แต่รัฐบาลต้องมาอธิบายด้วยนะว่าเงินภาษีที่เก็บจากประชาชนเอาไปทำอะไร ไม่ใช่ว่าคาดหวังให้ประชาชนจ่ายภาษีๆ แต่ตัวเองไม่มาบอกว่าภาษีเอาไปทำอะไรอย่างนี้มันก็ไม่ได้เนอะ
แล้วเป้าหมายที่อยากแก้กฎหมายเป็นยังไง
เราวางเป้าหมาย สิ่งแรกที่ต้องไปให้ถึงคือให้พนักงานบริการเป็นคนที่ไม่ผิดกฎหมาย ต้องไม่เป็นอาชญากรอีกต่อไป เพราะฉะนั้นแล้วเราก็ต้องคอยระวังด้วยว่าจะมีคนพยายามทำกฎหมายให้กลายเป็นจดทะเบียนโสเภณี อันนี้น่ากลัว เพราะว่าถ้าทำแบบนั้นมันก็จะกลายเป็นคนที่จดทะเบียนถูกกฎหมาย คนที่ไม่จดทะเบียนผิดกฎหมาย แล้วหลายคนทำอาชีพนี้เพียงระยะสั้น ไม่มีใครอยากจดทะเบียน
เคยมีกระทรวงมาสำรวจ ก็คือกระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ เขาไปจ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยทำวิจัยออกมาเรื่องของการจดทะเบียนนะคะ เขาร่างมา 99 มาตราเลย แล้วก็บอกว่า คนที่จะจดทะเบียนโสเภณีได้ จะต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป นั่นแปลว่าคนที่อายุ 18 19 ถูกทิ้งแล้วนะ อันดับที่สองคนที่จดทะเบียนต้องไม่มีสามี ไม่จดทะเบียนสมรส อันดับสาม คนที่จดทะเบียนโสเภณีได้ ถ้ามีลูก ลูกต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป ถ้าลูกอายุ 20 ปี เราจะทำทำไม ใช่ไหม ในขณะที่เราจะทำเพื่อเลี้ยงลูกอะ
แล้วอีกอันหนึ่งที่ตลกกว่านั้น เขาบอกว่าต้องแถลงว่าเป็นโรคจิต เขาเชื่อว่าคนที่มาเป็น sex worker หรือคนที่มาขายบริการทางเพศได้คือคนที่มีปัญหาทางจิต นี่คือทัศนคติที่เหยียดหยามคนอื่นมากๆ นะ อันนี้เป็นความคิดที่เหยียดหยามที่ไม่ได้ต่างจากคนที่เขาคิดว่าคนที่เป็นเกย์ เป็นกะเทย คือเป็นโรคจิตอะ ประมาณเดียวกันเลย นี่เป็นทัศนคติที่เหยียดคน ซึ่งพี่ไม่เข้าใจว่าทำไมกระทรวงถึงเอาคนที่มีทัศนคติในเชิงลบแบบนี้มาทำวิจัยได้อย่างไร แล้วทำวิจัยออกมาในแนวทางที่ตัวเองคิดทั้งหมด ไม่ได้มีความเป็นกลางใดๆ ทั้งสิ้น
Empower เองได้รวบรวมข้อดีข้อเสียของกฎหมายของแต่ละประเทศเกี่ยวกับพ.ร.บ.การค้าประเวณีของต่างประเทศด้วยนะ เรารวบรวมมาเพื่อชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย ว่าการทำให้ถูกกฎหมายเป็นยังไง การกระทบสิทธิยังไง การไม่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ไม่มีกฎหมายพ.ร.บ.การค้าประเวณี เพราะฉะนั้นคนที่ทำงานค้าประเวณีนี้เนี่ย ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่มีกฎหมายมาบอกว่าเขาถูกกฎหมายนะ แค่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการค้าประเวณีเลย
รายงานที่ประเทศไทยต้องทำให้อเมริกาทุกปีเรื่องของการค้ามนุษย์ ประเทศไทยตกมาอยู่อันดับ 3 จนกระทั่งปีนี้ขึ้นนำมาอยู่อันดับ 2+ เพราะว่าถ้าติด 3 ครบสามปี นี่โดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไง แต่นิวซีแลนด์อยู่ในอันดับ 1 ตลอด คือทำงานด้านการค้ามนุษย์ยอดเยี่ยมตลอด เห็นข้อแตกต่างไหมคะ แล้วในขณะเดียวกันประเทศเม็กซิโกออกมาประกาศยกเลิกพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการค้าประเวณี เพื่อยุติปัญหาการค้ามนุษย์ เห็นชัดเจนนะว่ากฎหมายการค้าประเวณีเนี่ยมันเป็นช่องทางการคอรัปต์ชั่น เมื่อไหร่ที่เจ้าหน้าที่ได้รับเงิน เขาก็จะปิดหูปิดตา เจ้าของร้านเอาคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีเข้ามาทำงานเขาก็ไม่มอง นึกออกไหม นี่เป็นช่องทางการค้ามนุษย์นะคะ
แต่ก็มีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับ sex worker อย่างเช่นส่วนใหญ่ก็คือโดนลักพาตัวมา หรือว่าโดนหลอกมา สถานการณ์ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง
ไม่มีแล้วค่ะ สถานการณ์แบบนั้นมันตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว สมัยก่อนอาจจะมี ก็เป็นไปได้ มีแมงดา มีนู่นนี่นั่น แต่สูญพันธุ์หมดแล้วค่ะ ถ้าน้องอยากจะทำงานบ้านสาว บ้านสาวในที่นี้ก็คือด้านซ่องเนอะ มีสำเนาทะเบียนบ้านบัตรประชาชนไหม มีใครรับรองไหม ใครเป็นคนแนะนำมา น้องต้องสมัครงานนะคะ ไม่ใช่ว่าเดินเข้าไปแล้วขอทำงานได้เลยนะ นี่ขนาดบ้านสาวนะ เหมือนกันค่ะ ตอนนี้สถานบริการทุกที่ ถ้าเราจะไปทำงาน เขาจะถามหาเอกสารหลักฐาน ทุกคนต้องสมัครงานเหมือนกัน พวกเราไปเป็นแรงงานค่ะ คือคนทำงานเท่านั้นเอง
แปลว่าผู้ให้บริการเขาเลือกมาทำงานนี้เองใช่ไหม
ใช่ เขาเลือกที่จะทำเอง ไม่ได้เหมือนอดีตที่จะมีไปตกเขียวมา ไปฉุดกระชากลากถูกันมา มันไม่ใช่แล้ว แต่สื่อในประเทศไทยเราเนี่ยผลิตซ้ำ แล้วก็ทำให้คนในสังคมยึดติดกับภาพนั้นตลอดเวลา ซึ่งไม่ได้เข้าใจว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้คนที่คุมบ้านสาว ที่เขาเรียกว่าแมงดา ปัจจุบันก็ไม่มีนะ แต่คนในสังคมยังไม่เข้าใจ ยังไม่รู้
อาจจะเป็นความกังวลของสังคมที่คิดไป ว่าถ้าไม่มี พ.ร.บ.ตัวนี้ เด็กจะเข้าไปทำงาน แต่มันเป็นไปไม่ได้ อย่างที่พี่บอกมันมีกฎหมายอื่นเยอะแยะ ซึ่งถ้าไม่มีพ.ร.บ.ปราบปราบการค้าประเวณี มันจะยิ่งช่วยได้มากขึ้น เพราะว่าจะชัดเจนว่าอะไรคือค้ามนุษย์ อะไรคือค้าประเวณี ทุกวันนี้เนี่ยมันถูกเอามาตีมั่วกัน สมมติว่าจับมาในคดีค้ามนุษย์ แต่พอจ่ายเงินให้กลายเป็นค้าประเวณี นึกออกไหม มันคนละเรื่องกันเลย
อีกอย่าง ตราบใดถ้าคนที่ทำงานค้าประเวณีที่อยู่ในสถานบริการ ถ้าเกิดว่าเขาไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป เวลาเห็นเจ้าของร้านเอาเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้ามา หรือเอาเด็กเข้ามาทำงานในร้าน เขาแจ้งได้เลย เขามีอำนาจพอที่จะจัดการได้ เพราะเขาไม่ต้องโดนจับอยู่แล้วนึกออกไหม เขาสามารถช่วยเหลือได้ คนที่ช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้ดีที่สุดคือคนที่อยู่ข้างใน นี่คือสิ่งที่จะส่งผลกระทบที่ดีต่อคนด้วยซ้ำ กับการเอาพ.ร.บ.อันนี้ออก เมืองไทยก็ได้หน้านะ ไม่มีโสเภณีอีกต่อไป มีแค่แรงงานในภาคบริการเท่านั้น นี่คือสิ่งที่สังคมคิดไม่ถึงไง
แปลว่าการที่เรายกเลิกพ.ร.บ.ตัวนี้ จะทำให้ปัญหาบางอย่างถูกมองเห็นแล้วสามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น มีการควบคุมได้ดีขึ้นใช่ไหม
ใช่ค่ะ พ.ร.บ.ในประเทศไทยมีถึง 800 ฉบับอะ โอเว่อร์มาก แม้คณะกรรมการกฤษฎีกายังพูดเลยว่าเมืองไทยมีเยอะเกินไป คุกมีเยอะกว่าโรงพยาบาลอีก ซึ่งประเทศที่เจริญไม่ควรมีคุกเยอะขนาดนี้ ความผิดนิดนึงก็กลายเป็นอาญาซึ่งคนที่เข้ามาทำงานตรงนี้ บางคนเขาเข้ามาแค่ช่วงจังหวะชีวิตหนึ่งของเขาเท่านั้นเอง แต่พอติดคดีอาญาปุ๊บเนี่ย มีประวัติทางอาญา ทีนี้เขาจะไปเริ่มชีวิตใหม่มันยากละ แล้วอย่างนี้เรียกว่าให้โอกาสได้ยังไง เจตนารมณ์ของกฎหมายไม่เคยถูกนำมาใช้เลย สักแต่สักล่อซื้อ ทลาย มีแต่ความรุนแรง วิ่งเข้าไปถ่ายรูปจับผู้หญิงหนึ่งคนนี่ใช่ผู้ชายที่เป็นตำรวจไม่รู้กี่สิบ อาวุธครบมือ ไปจับผู้หญิงตัวเล็กๆ คนเดียว แล้วไปจับในขณะที่เขาแก้ผ้าอีก ไม่เคยให้เกียรติ ละเมิดสิทธิอีกต่างหาก แล้วเวลาไปล่อซื้อนะ พอมีอะไรกันก็เอาถุงยางเป็นหลักฐาน เอาเงินที่จ่ายเป็นหลักฐาน ไปเอาเขาฟรีอีก
ก็คือวิธีการของทางรัฐที่พยายามจะจัดการมันก็มีความลดทอนความเป็นมนุษย์มากๆ
ถูกต้อง เมื่อไรที่เราเจอความรุนแรง แล้วเราจะไปแจ้งความ เรากลับถูกจับก่อน เพราะฉะนั้นพนักงานบริการก็เลยเลือกที่จะไม่แจ้งความ เมื่อก่อนมีคดีรุมโทรมผู้หญิงที่ทำงานคาราโอเกะ แม่ของเด็กเยาวชนที่มารุมโทรมพูดเลยว่า เอ้า เป็นอาชีพของเขาอยู่แล้ว ลูกฉันน่ะเป็นคนดี ลูกฉันน่ะมีอนาคตอีกไกล ทำไมต้องมาจับลูกฉัน
เท่ากับว่ากฎหมายคือสิ่งที่กดขี่แล้วก็ลดทอนความเป็นมนุษย์ของพนักงานบริการมากๆ เลยใช่มั้ย
นี่คือความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่กดขี่ แล้วยิ่งไปกว่านั้น พอเราเป็นทำงานเป็นคนที่ผิดกฎหมาย ร้านจะออกกฎที่เอาเปรียบเรายังไงก็ได้ เช่น มาสายหักนาทีละ 5 บาท เงินเดือนไม่มี แต่วันไหนไม่มาทำงานต้องเอาเงินไปจ่ายให้ร้าน 300 ทุกวัน วันไหนหายไปอาทิตย์หนึ่งพอกลับมาต้องจ่ายเงินให้ร้าน 3000 เพื่อที่จะได้กลับมาทำงาน โคตรเอาเปรียบ
แต่ถามว่าทำไมผู้หญิงยังต้องทำงานนี้ ทั้งที่ถูกเอาเปรียบ ทั้งๆ ที่เสี่ยงต่อการถูกจับ เพราะงานนี้เป็นงานที่ตอบโจทย์ชีวิตของเขา สร้างรายได้ที่สามารถดูแลครอบครัวได้นะคะ อย่างพี่ที่เคยทำเนี่ย มีลูกสองคน ทำงานทุกอย่าง เมื่อสามีทิ้งพี่ก็ทำงานทุกอย่างเลย ใครให้ไปรับจ้างทำงานบ้านก็ไป ใครให้ไปเป็นเซลล์ขายประกันชีวิต ไปขายเอมเวย์ ไปขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ขายรถยนต์ มอเตอร์ไซต์ ทำหมดเลย แต่ทำงานเยอะขนาดนี้ก็ไม่มีเงินซื้อให้ลูกกิน จนมาทำงานนี้ถึงพอใช้จ่าย
หลายคนไม่ได้คิดถึงเรื่องกฎหมายก่อนที่จะทำงาน หลายคนคิดถึงเรื่องของครอบครัว โดยเฉพาะผู้หญิงที่มักถูกโยนความรับผิดชอบ แล้วเมืองไทยไม่เคยมีรัฐสวัสดิการให้กับคนเป็นแม่ หรือคนที่ดูแลครอบครัว ไม่เคยคิดว่างานของแม่ หรืองานในครอบครัว การดูแลครอบครัวเนี่ย เป็นคุณภาพทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ยุโรปเขาทำแล้วนะ เขาคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วนะคะ แล้วเขาทำรัฐสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งถ้าหากว่าคนเป็นแม่ได้เงินรัฐสวัสดิการ หรือคนที่ดูแลครอบครัวได้เงินสวัสดิการนี่สามารถอยู่ได้จริงนะ จะลดจำนวน sex worker ลงไปได้เกินกว่าครึ่งเลย
ถ้างั้นเหตุผลที่มาทำอาชีพนี้คือเรื่องทางเศรษฐกิจ?
ในตอนแรก พวกเรามักไม่ได้คิดถึงเรื่องรักในอาชีพหรอกค่ะ อย่างพี่ก็ไม่ได้คิดเรื่องรักในอาชีพ แต่คิดว่างานนี้มันตอบโจทย์ชีวิต เรารู้สึกว่างานนี้มีบุญคุณกับเรา เพราะว่างานนี้ทำให้พี่ส่งลูกเรียนจบปริญญาตรีได้ 2 คน นึกออกไหม ในฐานะความเป็นแม่เรารู้สึกภูมิใจที่สามารถทำให้ลูกได้เรียนจบปริญญาตรีได้ อย่างน้อยเราได้ให้ต้นทุนกับชีวิตของเขา พี่รู้สึกว่างานนนี้เป็นบุญคุณด้วยซ้ำ
แล้ววันนึงเราก็กลับมาคิดว่า เอ๊ะ ร่างกายนี้มันก็ของเรานี่หว่า ทำไมเราถึงทำไม่ได้
ทำไมการที่ผู้ใหญ่สองคนจะตัดสินใจมีความสัมพันธ์กัน
แล้วมีอะไรตอบแทน หรือไม่มีอะไรตอบแทน มันไม่ควรมี
กฎหมายอะไรมาอยู่ข้างๆ เตียงไหม
คือควรจะเป็นสิทธิส่วนบุคคล มันไม่ควรมีกฎหมายมากำหนดว่าควรมีเซ็กซ์แบบไหนถูกกฎหมาย มีเซ็กแบบไหนผิดกฎหมาย พี่ก็เริ่มรู้สึกแบบ เอ๊ะ ไปๆ มาๆ เนี่ย ร่างกายนี้เป็นของเราจริงๆ หรือเปล่า เราเริ่มรู้สึกว่าร่างกายเนี่ยเป็นของสังคมเหรอ เราไม่มีสิทธิทำอะไรกับร่างกายเราเลยเหรอ ซึ่งมันตลกที่สุดก็คือตอนที่พี่ไปหาหมอ แล้วพยายามจะขอหมอทำหมัน บอกว่าคุณทำหมันไม่ได้ ต้องให้สามีมาเซ็น พี่ก็ตกใจ แบบ อ้าว ร่างกายเป็นของสามีฉันเหรอ อ้าวก็ฉันมีลูกสองคน ฉันอย่างจะทำหมันแต่ทำไมทำไม่ได้ อึ้งมากเลย สามีเวลาเขาไปทำหมันไม่จำเป็นต้องให้เมียเซ็นเลยนะ เออ ตลกไหม
เหมือนกับว่า จริง ๆ แล้วสังคมก็ตกอยู่ในวังวนของอำนาจปิตาธิปไตย?
ใช่ ชายเป็นใหญ่ อำนาจชายเป็นใหญ่ จริงๆ มันเป็นเรื่องของโครงสร้างเลย กฎหมายทุกฉบับบอกว่า ‘เพื่อที่จะคุ้มครองดูแลผู้หญิง’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โคตรเอาเปรียบ วันที่พี่ไปหย่ากับสามีนะ จดทะเบียนหย่าเสร็จเนี่ย สามีหันไปจดทะเบียนกับอีกคนได้ทันที ในขณะที่พี่ไม่มีสิทธิ์ ต้องรอ 100 วัน เพื่อที่จะชัดเจนว่าไม่มีลูกในท้อง ถึงจะแต่งงานใหม่ จดทะเบียนใหม่ได้ พี่ก็ถามว่าทำไม เขาก็บอกว่า กฎหมายมีไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้หญิง มันคุ้มครองตรงไหน ถ้าคุ้มครองต้องไม่ให้ผู้ชายจดใหม่สิ ใช่ไหม ถ้าคุ้มครองก็ต้องมารับผิดชอบ เขาบอกอีกว่าเผื่อผู้ชายคนใหม่มาจดกับเรา เขาจะได้ชัดเจนว่าลูกในท้องเป็นของใคร อ้าว อย่างนี้คุณคุ้มครองใคร
หรือถ้าคุณจะไปกู้เงิน คุณต้องให้สามีคุณเซ็นรับรองนะคะ แต่ถ้าสามีคุณกู้เงิน สามีคุณกู้เงินได้เลยไม่ต้องให้เมียเซ็นอะ นั่นสิ นี่กฎหมายเมืองไทยเป็นแบบนี้ ยังมีกฎหมายหมายอย่างที่เอาเปรียบผู้หญิงเยอะค่ะ กฎหมายทำแแท้งเองก็เหมือนกัน ไม่มีผู้หญิงคนไหนที่อยากจะทำแท้งหรอกค่ะ เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะท้องเพื่อมาทำแท้งแน่นอน แล้วก็เปอร์เซ็นของคนทำแท้ง ส่วนมากก็เป็นผู้ใหญ่ค่ะ เกินกว่า 60 เปอร์เซ็นเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานทั้งนั้น ส่วนมากมีครอบครัวแต่ไม่มีปัญญาจะเลี้ยงลูก ถ้าไม่อนุญาตให้เขาทำแท้ง ก็อนุญาตให้เขามีลูกได้ แล้วรัฐบาลต้องมารับผิดชอบดูแล ไม่ใช่ให้มา 600 บาท
เหนื่อยไหมคะ กับการที่ต้องผลักดันเรื่องที่ต้องต่อสู่กับโครงสร้างที่ฝังรากลึกมานานมาก
ก็… Empower ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี 28 เนอะ ตอนนี้ก็ 35 ปี แล้ว เราต่อสู้มาตลอดค่ะ แต่เรามีความเชื่ออยู่อย่างนึงค่ะ คือถึงมันจะสำเร็จในอีก 100 ปีข้างหน้า แต่เราก็จะทำวันนี้ค่ะ เพราะว่าอีก 100 ปีเราจะได้แน่ๆ ค่ะ ดีกว่าเขาบอกว่าอีกร้อยปีเราถึงจะได้ เราเลยไม่ทำอะไรเลย แบบนั้นอีก 100 ปี เราก็ไม่ได้อะไรไม่ใช่หรอคะ
เราทำไปเรื่อยๆ สักวันเราก็จะได้ค่ะ เราเชื่อแบบนั้น นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราทำอยู่ทุกวันนี้ค่ะ