ถ้าเลือกได้ อยากไปเรียนในโรงเรียนแบบไหน?
A. กฎระเบียบเคร่งครัด ตรวจทรงผมทุกวัน มีการบ้านทุกคืน ใครท่องจำได้เก่งเท่ากับชนะเลิศ
B. นักเรียนทุกคนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ อยากเน้นด้านไหนก็เลือกเองได้ กฎระเบียบไม่กดขี่เด็ก
ร่ายมาแบบนี้ หลายคนก็คงเลือกช้อยส์ B. กันอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เพราะอะไรทุกคนถึงไม่สามารถเลือกช้อยส์นี้ได้ ยิ่งกว่านั้น ทำไมการเรียนรู้แบบนี้ ถึงไม่ใช่เรื่องปกติในสังคมไทย
จ่ายแพงเท่าไหร่ ยิ่งประกันคุณภาพเท่านั้น – ความเชื่อที่ไม่ควรมาแฝงฝังเข้ากับระบบการศึกษา แต่ก็กลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไปไม่ได้ เมื่อสังคมบีบโรงเรียนเป็นสินค้า และผู้ปกครองต้องดิ้นรนทำงานหาเงิน เพื่อให้ลูกหลานได้รับสินค้าและบริการที่ดี
แล้วโรงเรียนที่แพงเหล่านี้มีอะไร ทุกคนถึงขวนขวายอยากให้ลูกได้เรียนแบบนั้น The MATTER อยากชวนมามองย้อนกลับกันว่า ในโรงเรียนที่ค่าเทอมหลักแสนเหล่านี้เป็นยังไง แล้วทำไม ‘สิ่งดีๆ’ ที่ทุกคนควรเข้าถึงได้นี้ จึงกลายเป็นของที่ถูกจำกัดไว้แค่คนมีเงินเท่านั้น
ครู 1 คน ดูแลเด็กแค่ 20 คน
ยิ่งครูมีเด็กในความรับผิดชอบน้อยเท่าไหร่ ยิ่งสามารถดูแลเด็กเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่
ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนที่มีงบประมาณเหลือเฟือจึงมักจะลงทุนกับบุคลากรครู จ้างงานครูที่มีความสามารถจำนวนมาก เพื่อให้สัดส่วนการดูแลเด็กของครูหนึ่งคนไม่มากจนเกินไป
อย่างโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ อีกหนึ่งโรงเรียนที่ขึ้นชื่อลือชา ก็ระบุสัดส่วนของครูกับคลาสเรียนไว้ว่าอย่างชัดเจนว่า ในระดับชั้นเตรียมอนุบาลและอนุบาลหนึ่ง จะมีเด็กในคลาสราว 15-17 คน และจะมีครูดูแล 1 คน พร้อมครูผู้ช่วยอีก 2 คน
ส่วนในปีถัดๆ มา คลาสนึงก็จะมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นมาเป็น 20-22 คน โดยมีครูประจำชั้นดูแล 1 คนพร้อมด้วยครูผู้ช่วยอีก 1 คน
ข้อความที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ของโรงเรียน กล่าวถึงความสำคัญของสัดส่วนครูต่อนักเรียนเอาไว้ว่า การจำกัดสัดส่วนครูกับเด็กไว้เช่นนี้ ก็เพื่อให้เหล่านักเรียนมีความสุขและประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้าน จึงต้องจัดวางไว้เช่นเดียวเพื่อให้ได้มาตรฐาน
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก literacentre ยังระบุว่า การที่ครูคนหนึ่งดูแลรับผิดชอบนักเรียนไม่มากเกินไป จะช่วยให้ครูสามารถช่วยดูแลตรวจทานจุดที่นักเรียนแต่ละคนติดปัญหาบางอย่างได้ และสามารถโฟกัสกับการพัฒนาเด็กได้มากกว่าเดิมด้วย ซึ่งยิ่งสัดส่วนของครูต่อจำนวนเด็กน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นปัจจัยเสริมให้ประสิทธิภาพในการดูแลเด็กของครูดีมากขึ้นเท่านั้น
ย้อนกลับมามองโรงเรียนรัฐบาลหลายๆ แห่งในประเทศไทย ครูหนึ่งคนดูแลเด็กในชั้นเรียนราว 50 คนโดยไร้ผู้ช่วย เรื่องดูแลเด็กก็แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะครู ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ ‘ครู’ แต่ยังต้องไปจัดแจงเอกสารกองพะเนินจนบางครั้งก็ต้องแจกใบงานให้เด็กๆ เรียนรู้กันเอง เพื่อไปเร่งเคลียร์ภาระงานอื่นแทน
สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
ห้องเรียนทันสมัย อุปกรณ์ครบครัน สนามกีฬาหลากหลาย ภาพในฝันของพื้นที่การเติบโตที่เด็กๆ ควรได้ใช้สอยกันทุกคน แต่แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ยังเป็นเพียงของที่ถูกสงวนเอาไว้ให้กับบ้านของคนที่มีเงินพร้อมเท่านั้น
อย่างในเว็บไซต์ของโรงเรียน Brighton College ก็ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า เนื้อที่ของโรงเรียนถูกจัดสรรไว้สำหรับการเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างไรบ้าง เช่น โรงยิมสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ศูนย์ฟิตเนสชั้นนำ โรงละครระดับโลก 650 ที่นั่ง สตูดิโอเต้นและสตูดิโอยิมนาสติก และลู่กรีฑาที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เป็นต้น
หรืออย่างโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ ก็มีพื้นที่สำหรับเด็กๆ ให้ได้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง พร้อมด้วยทะเลสาบสำรับกิจกรรมและกีฬาทางน้ำต่างๆ เช่น การเล่นเรือใบ พายเรือคายัค แข่งพายเรือมังกร กิจกรรมผจญภัย และการแข่งเรือแพ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ ยิ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ใครหลายคนอยากส่งตัวเองหรือลูกหลานไปเข้าเรียนในโรงเรียนที่เพียบพร้อม แม้จะต้องจ่ายเงินแสนแพง แต่ก็คุ้มเกินกว่าจะตีค่าได้
ขณะที่ โรงเรียนรัฐบาลหลายๆ แห่ง เด็กๆ ยังต้องนั่งโต๊ะเก้าอี้ที่ชำรุด ห้องเรียนไม่มีเครื่องปรับอากาศจนทำให้วันที่ร้อนเกินไปเด็กๆ ก็ไม่มีสมาธิในการเรียน มีสนามกีฬาที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือหากฝนตกหนักท่วมก็คงท่วมเจิ่งนองจนต้องถอดถุงเท้า-รองเท้าเดินกันในโรงเรียน
สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้ในแทบทุกด้าน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ปกครองหลายคนจะอยากให้ลูกหลานได้เรียนในโรงเรียนที่พร้อมชนิดที่ว่า เรื่องพื้นฐานก็ไม่ต้องห่วง ส่วนเรื่องกิจกรรมเสริมอื่นๆ ก็ต้องดีที่สุด เพื่ออนาคตที่สดใสของเด็กๆ
วัฒนธรรมการศึกษาที่เด็กเป็นศูนย์กลาง
เรียนจบด้วยคะแนนดีๆ เพื่อไปเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม เป็นแรงงานขับเคลื่อนสังคมต่อไป นี่คือภาพเป้าหมายของการศึกษาในระบบการศึกษาไทย
แล้วหากจะเป็นเช่นนี้ มันมีปัญหาตรงไหนหรือ?
แน่นอน หากเด็กอยากเติบโตไปเป็นอาชีพที่อยู่ในกระแสหลัก และเรียนรู้ได้ดีกับกรอบของสังคม ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ เด็กทุกคนล้วนมีความถนัด ความสามารถ ความชอบที่แตกต่างกันออกไป และระบบการศึกษาของไทยไม่ได้ให้พื้นที่เติบโตกับเด็กที่แตกต่าง
สังเกตได้ง่ายๆ จากป้ายไวนิลหน้าโรงเรียนที่มักชื่นชมเด็กที่สอบติดอีเวนท์ทางวิชาการสำคัญๆ เช่น โอลิมปิกคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ ไปจนถึง ป้ายชื่นชมเด็กที่สอบติดคณะแพทย์ฯ คณะวิศวะฯ เป็นต้น
แล้วเด็กที่ไม่ตรงกรอบเหล่านี้หายไปไหน? พวกเขากลายเป็นคนที่ล้มเหลวในสังคมไปอย่างนั้นเหรอ? ความคิดแบบนี้ทำให้ผู้ปกครองหลายคนยอมกัดฟันส่งลูกเรียนในโรงเรียนที่จะพาเด็กๆ หลุดพ้นจากกรอบวัฒนธรรมการศึกษาเดิมๆ สู่วัฒนธรรมการศึกษาที่โคจรรอบเด็กอย่างแท้จริง
“ระบบการศึกษาไทยยังติดกับดักของเสรีนิยมใหม่ที่มุ่งเน้นการผลิตนักเรียนเพื่อเข้าไปตอบสนองอุตสาหกรรมต่างๆ ตามกระแส หรือแม้แต่การเน้นให้เรียนหนักแต่ขาดการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้นักเรียนไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของกระบวนการเรียนรู้ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งในท้ายที่สุดนักเรียนและครูก็จะขาดกำลังใจและหมดไฟกับการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา” เสฎฐวุฒิ ยุทธาวรกูล ครูสังคมศึกษาในระดับมัธยมปลาย ให้สัมภาษณ์ไว้ใน bookscape
ขณะเดียวกัน โรงเรียนที่ค่าเทอมแพงๆ โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติ มักจะนำเอาหลักสูตรและวัฒนธรรมการศึกษาจากประเทศนั้นๆ มาปรับใช้กับเด็กๆ อย่างเช่น โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ ที่ออกแบบหลักสูตรตามช่วงวัยให้สมกับพัฒนาการของเด็กๆ พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะชีวิตต่างๆ นอกเหนือจากวิชาการ ตามความสนใจของนักเรียนไปด้วย
ใครๆ ก็อยากเรียนที่ดีๆ
การศึกษาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง สิ่งอำนวยความสะดวกล้ำเลิศ และบุคลากรที่ดูแลเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล้วนเป็นสิ่งที่ใครต่อใครก็อยากได้
แต่เมื่อความเหลื่อมล้ำยังคงกลืนกินทั่วทั้งสังคม ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่การศึกษาจะถูกทำให้กลายเป็นสินค้าอย่างนึงที่มือใครยาวก็สาวได้สาวเอา ยิ่งทุนทรัพย์มากพร้อมเท่าไหร่ โอกาสในการเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น
ไม่ต้องไปถึงโรงเรียนนานาชาติ แต่ในบรรดาโรงเรียนรัฐบาลเอง คุณภาพและความพร้อมของโรงเรียนก็แตกต่างกัน เพราะงบประมาณที่ถูกคิดตามค่าหัวของนักเรียน ยิ่งโรงเรียนไหนมีจำนวนเด็กมาก ก็จะยิ่งได้งบประมาณจากส่วนกลางมากขึ้นเท่านั้น ส่วนโรงเรียนที่ไม่สามารถดึงเด็กมาเข้าเรียนได้ ก็จะถูกหั่นงบไปเรื่อยๆ จนถูกยุบไปในที่สุด
ดังนั้นแล้ว ปัญหานี้จึงเชื่อมโยงไปกับความเหลื่อมล้ำในสังคมด้านอื่นๆ อย่างแยกไม่ขาด ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐ และการมีส่วนร่วมในการเมือง
นั่นแปลว่า หากระบบการเมืองเข้มแข็งแล้ว คุณภาพการศึกษาของประเทศก็จะดีตามขึ้นไปด้วย
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกนิด เช่น หากคุณอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาที่เห็นค่าการศึกษาของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ ประเด็นทั้งหลายที่กล่าวไปนี้จะไม่ใช่เรื่องที่ต้องจ่ายเงินแสนแพงเพื่อให้ได้มาเลย เพราะหลายประเทศต่างเห็นความสำคัญของการศึกษา พัฒนาระบบอย่างมองเด็กเป็นศูนย์กลาง และจัดสรรให้เป็นสวัสดิการให้อย่างเพียบพร้อม
อย่างในกลุ่มประเทศ OECD (เช่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์) ก็กำหนดให้สัดส่วนครูต่อจำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาอยู่ที่ นักเรียน 21 คน ต่อคุณครู 1 คน โดยทุกคนสามารถเข้าเรียนในคลาสที่มีสัดส่วนเช่นนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าศึกษาในโรงเรียนนานาชาติที่ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินแพงๆ
หรือหากเอ่ยไปถึงฟินแลนด์ ที่ถูกยกให้เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก เด็กนักเรียนทุกชนชั้นสามารถนั่งเรียนอยู่ในห้องเดียวกันได้ ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องดั้นด้นส่งลูกเรียนโรงเรียนไกลบ้าน แค่เดินไปไม่กี่ก้าวก็เข้าถึงโรงเรียนคุณภาพดีได้ – ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้มาจากปัจจัยทางการศึกษาโดดๆ แต่มาจากระบบการเมืองที่เข้มแข็ง และโครงสร้างพื้นฐานของสวัสดิการรัฐที่ฝังรากลึก จนทำให้ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ มีความเสมอภาคอย่างแท้จริงได้
หันกลับมาที่ไทย ที่ระบบการเมืองยังคงไม่เข้มแข็ง ภาครัฐไม่ได้เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ปิดกั้นการเข้าไปตรวจสอบของประชาชน จนไม่อาจสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนได้ ระบบการศึกษาที่ดีอย่างที่หลายคนวาดหวังว่า ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จึงกลายเป็นของสงวนให้กับอภิสิทธิ์ชนผู้มีอันจะกินของประเทศนี้เท่านั้น
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก