หากความรักที่ดี คือการจับมือกันก้าวผ่านทั้งความสุขและทุกข์ แต่ถ้าความทุกข์นั้น คือปัญหาด้านการเงินที่ (เหมือนจะ) เป็นเรื่องส่วนตัว เราจำเป็นต้องบอกคนรักไหมว่ามีหนี้สินที่ไม่รู้จะจัดการยังไงดี และกำลังเครียดเรื่องนี้อยู่ ?
ช่วงนี้หลายคนอาจจะเจอปัญหาค่าใช้จ่ายสูงขึ้นสวนทางกับรายได้ บ้างก็เงินไม่พอใช้จนต้องไปกู้หนี้ยืมสินที่พ่วงมาด้วยความรู้สึกตึงเครียด แม้จะเป็นความรับผิดชอบของเราที่ต้องบริหารเงินในกระเป๋าของตัวเอง แต่การมีคนรักอยู่ข้างๆ แล้วไม่เคยพูดถึงปัญหาเหล่านี้อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีสักเท่าไร
ทำไมเราควรบอกแฟนว่ากำลังเจอปัญหาด้านการเงิน ?
ในเว็บไซต์ fool.com เคยทำแบบสำรวจชาวอเมริกัน 1,012 คน พบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ ‘หนี้’ กลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ ไม่ใช่เพราะว่าคนรักมีหนี้สินหรือเพราะจำนวนเงินที่ไปหยิบยืมมา แต่เป็นเพราะ ‘การปิดบังหรือโกหก’ เกี่ยวกับหนี้สินของตัวเอง
“การคุยเรื่องหนี้สินกับคนรักเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบ เพราะคู่ชีวิตเป็นเรื่องของทีมเวิร์คและการเผชิญความทุกข์ยากไปด้วยกัน แล้วถ้าคุณกำลังจะแต่งงาน นี่เป็นโอกาสดีในการฝึกทักษะเหล่านั้น” คริสเชน คันนิงแฮม (Chrishane Cunningham) นักบำบัดในสังกัด Chicago Counseling Collective กล่าว ซึ่งการเป็นทีมเวิร์คที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงการใช้หนี้ร่วมกัน หรือกดดันให้อีกคนช่วยจ่าย แต่เป็นการรับฟัง ให้กำลังใจกัน หรือบางคนอาจจะคิดหาวิธีแก้ไขไปด้วยกันก็ได้
ส่วนชาร์ลอตต์ คาวเลส (Charlotte Cowles) คอลัมนิสต์ด้านการเงินของ The Cut เขียนถึงเรื่องนี้ว่า “เป็นปกติถ้าอยากจะปกป้องคนที่เรารักจากปัญหาของตัวเราเอง และรู้สึกว่าอยากจะจัดการทุกอย่างก่อนจะมีคนรู้ แต่ยิ่งนานเท่าไร สิ่งที่คุณเลี่ยงไม่พูดถึงก็ยิ่งดูเหมือนคำโกหกและมีผลกระทบใหญ่กว่าที่ควรจะเป็นมากขึ้นเท่านั้น”
เพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ สำคัญต่อ ‘การวางแผน’ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างกินข้าวร้านไหน ไปเที่ยวทริปนี้ใช้งบเท่าไร ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการแต่งงาน มีลูก ซื้อบ้าน ซื้อรถ เพราะถ้าอีกฝ่ายหนึ่งวางแผนอนาคตเอาไว้ แล้วมารู้เรื่องหนี้สินหรือปัญหาการเงินของอีกคนในตอนที่สายเกินไป ก็อาจจะทำให้ภาพฝันที่วาดเอาไว้และความเชื่อใจพังทลายลงไปพร้อมๆ กัน
ยิ่งเป็นคู่ที่จดทะเบียนสมรส ต่อให้เป็นหนี้สินส่วนตัว แต่ถ้าใช้ทรัพย์สินตัวเองจ่ายไม่หมด สุดท้ายแล้วก็ต้องนำสินสมรส (ไม่เกินครึ่งหนึ่ง) ไปจ่ายแทน แม้จะไม่ได้ใช้เงินของคนรักโดยตรง แต่กลับกลายเป็นว่าคนรักต้องแบกรับภาระหนักขึ้น ทั้งค่าบ้าน ค่ารถ ค่ากิน ค่าอยู่ หรือบางคนอาจจะส่งลูกเรียนหนังสือ ส่วนคนที่ยังไม่ได้สร้างครอบครัวร่วมกัน การปิดบังปัญหาเรื่องเงินอาจทำให้การวางแผนกิจกรรมที่ทำร่วมกันไม่สอดคล้องกับงบในกระเป๋า นานวันเข้า นอกจากเงินจะไม่พอใช้แล้ว ยังสะสมความอึดอัดเอาไว้จนกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ได้ในอนาคต
แต่จะคุยยังไงให้มีขอบเขตและไม่อึดอัด ?
การคุยเรื่องเงินย่อมมีขอบเขต ทั้งมุมของคนพูดที่ไม่โยนปัญหาไปให้อีกฝ่าย หรือคนฟังที่ไม่ถามจี้จนล้ำเส้น โดยคริสเชนแนะนำว่า ถ้าจะเริ่มพูดเรื่องนี้ เราควรสื่อสารจุดประสงค์ให้ชัดเจนก่อน “อธิบายว่าคุณต้องการสร้างชีวิตคู่ร่วมกันโดยที่คุณซื่อสัตย์ต่อกัน และนั่นเป็นเหตุผลที่คุณบอกเรื่องนี้กับเขา” ซึ่งนอกจากการบอกว่าเป็นหนี้อะไร จำนวนเท่าไรแล้ว เราควรให้เวลาอีกฝ่ายได้ค่อยๆ คิดประมวลผลเรื่องนี้ก่อนจะกลับมาคุยกันอีกทีเมื่อพร้อม
และสิ่งสำคัญที่สุดคือการเล่าว่าเรา ‘คิดหาทางออก’ หรือ ‘วางแผน’ ว่าจะจัดการปัญหานี้ยังไงบ้าง เพราะเราไม่ได้บอกเพื่อขอให้คนรักแก้ปัญหาแทน แต่บอกเพราะเรื่องนี้สำคัญต่อการวางแผนสิ่งที่ต้องใช้จ่ายร่วมกันและต้องการกำลังใจจากคนที่เรารัก โดยแบบสำรวจของ fool.com พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (70.7%) หวังให้คู่รักตั้งเป้าหมายทางการเงิน มากกว่าคาดหวังให้มีเงินเดือนสูงๆ (32.6%) หรือจ่ายค่าบัตรเครดิตแบบเต็มจำนวนทุกเดือน (54.4%) นั่นหมายความว่าคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการรู้จักวางแผนและตั้งเป้าหมายทางการเงิน มากกว่าสถานะทางการเงินหรือตัวเลขในบัญชีซะอีก
นอกจากนี้ ชาร์ลอตต์ คาวเลส ได้เขียนในเว็บไซต์ The Cut ว่า ถ้าทั้งคู่เพิ่งจะเคยคุยเรื่องเงินกัน ‘ครั้งแรก’ เธอไม่แนะนำให้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากคนรักทันที เพราะเราอาจจะยังไม่รู้สถานะการเงินไปจนถึงวิธีการใช้เงินของอีกฝ่าย เลยอาจจะกลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นได้ในวันข้างหน้า ดังนั้นทางที่ดีเราควรจะคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองอย่างถึงที่สุดก่อน
แต่ถ้าใครยังไม่ได้มีปัญหาเรื่องนี้ ก็อาจจะเริ่มพูดคุยเรื่องเงินทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติ วิธีคิดเกี่ยวกับการใช้เงิน เป้าหมายทางการเงิน ซึ่งบทสนทนาเหล่านี้อาจจะช่วยลดความรู้สึกกดดันเมื่อต้องคุยเรื่องที่ใหญ่ขึ้นมาได้
“ฉันพบว่าเรื่องเงินจะถูกพูดขึ้นมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ถ้าเราปล่อยให้มันเกิดขึ้น ยิ่งเราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่พิเศษมากเท่าไร เรายิ่งพูดถึงมันยากขึ้นเท่านั้น” อแมนดา เคลย์แมน (Amanda Clayman) นักบำบัดด้านการเงินให้สัมภาษณ์กับ npr
แม้หลายครั้งอาจจะรู้สึกว่าการพูดคุยเรื่องเงินกับคนรักฟังดูเป็นเรื่องเครียด แต่ในอีกมุมหนึ่ง จริงๆ แล้วการพูดคุยเรื่องการเงินก็อาจจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ได้เหมือนกัน เพราะถ้าเราพูดเรื่องนี้กับคนรักได้ นั่นอาจหมายถึงความไว้วางใจและเรากำลังมองเห็นภาพอนาคตร่วมกันอย่างจริงจังอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก