ความกังวลถึงงานที่ต้องส่ง ก่อตัวเป็นเมฆขมุกขมัวอยู่ในหัว จะลงมือทำเลยก็ยังไม่พร้อม เกิดอยากจะซักผ้า ล้างจาน ดูคลิปหมาแมวขึ้นมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้อยากทำ แต่พอรู้ว่าจะต้องทำงานแล้วก็ดันหาอะไรมาให้ตัวเองไม่ว่างจนไม่ได้ทำงานซะอย่างงั้น “เดี๋ยวค่อยทำก็ได้น่า” แบบนี้มากี่ชั่วโมงกันแล้วนะ ถ้าอยากแก้นิสัยแบบนี้ หลายคนอาจเคยคิดว่ามันอยู่ที่การจัดการเวลา ต้องเข้มงวดนะ มีตารางเวลา แต่ว่าจริงๆ แล้ว มันก็เป็นเรื่องของการจัดการอารมณ์เช่นกัน
นาฬิกายังคงทำหน้าที่บอกเวลาของมันอย่างแน่วแน่ แต่ช่วงนี้เหมือนจะได้งานเสริมเป็น เพิ่มความกดดันให้คนขี้เกียจ ที่เอาแต่เหลือบมองนาฬิกาแล้วไม่ยอมลุกไปทำงานเสียที ไม่ใช่ว่าไม่รู้นะว่าเวลาใกล้เข้ามาแล้ว แต่อยู่ดีๆ คลิปหมาแมวก็น่าดูขึ้นมา ผ้าก็เหมือนจะเต็มตะกร้า ต้องรีบไปซัก สารพัดภารกิจที่ไม่เคยอยากทำ หรือไม่จำเป็นต้องทำก็เกิดจำเป็นขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วน อาการแบบนี้พอจะเข้าข่าย ‘ผัดวันประกันพรุ่ง’ อยู่บ้าง พอพูดถึงคำนี้ขึ้นมา ทางออกของเรื่องนี้พุ่งตรงไปยังการจัดการเวลา ไหนลอง Time Blocking ดูสิ หรือจะเป็น To Do List ดีนะ มาจัดการเวลาให้ชีวิตกันเถอะ จะได้เลิกผัดงานไปก่อนแบบนี้ไง รับรองว่าได้ผลแล้วเราจะได้ไปนั่งทำงานในเวลาที่สมควรอย่างแน่นอน
ทิม พีชิล (Tim Pychyl) จาก Carleton University ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ ใช่ ด้านผัดวันประกันพรุ่งนี่แหละ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนผัดเก่ง แต่เพราะเขาเป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญและนักเขียนของหนังสือ Procrastination – Health & Well-Being, Counseling the procrastinator in academic settings และ Solving the Procrastination Puzzle: A Concise Guide to Strategies for Positive Change และ ดร.ฟยูเชีย ซีรอยส์ (Fuschia Sirois) จาก University of Sheffield พวกเขาไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการจัดการเวลาอย่างที่บอกไป แต่มันอยู่ที่การจัดการอารมณ์ด้วยต่างหาก หากเรามัวโฟกัสไปที่การจัดการเวลาเพียงอย่างเดียว อาจจะแก้ไขนิสัยนี้ไม่ได้ เพราะขาดกุญแจสำคัญอย่างการจัดการอารมณ์ไป แล้วมันเกี่ยวยังไงล่ะหรอ? มาดูกัน
มันเริ่มจาก ‘สิ่งที่เราต้องทำ’ นั้น เราสามารถพยากรณ์ได้เลยว่ามันจะทำให้เราเบื่อ เซ็ง ขนาดไหน อาจจะเพราะมันยากเกินไป ง่ายเกินไป หรือมีปัจจัยอะไรสักอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่น่าทำเอาเสียเลย แต่เลือกไม่ได้ มันต้องทำ เราก็เลยหานู่นหานี่ ที่มันสนุกกว่า ง่ายกว่า ตื่นเต้นท้าทายมากกว่า หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เรา ยังไม่ต้องทำมันในตอนนี้ เช่น ลุกขึ้นมาปัดกวาดเช็ดถูบ้าน ทั้งที่ปกติไม่ได้ชอบทำงานบ้านสักเท่าไหร่ แอบเจียดเวลาดูซีรีส์ตอนใหม่ที่จริงๆ รอไว้ดูหลังทำงานเสร็จก็ได้ เป็นต้น เพื่อให้เราได้มีข้ออ้างหลีกเลี่ยงสถานการณ์น่าเบื่ออย่าง ‘สิ่งที่เราต้องทำ’ ออกไปก่อน จากชั่วโมง เป็นหลายชั่วโมง จากฟ้าสว่างกลายเป็นมืดค่ำ
แม้จะดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็เคยเป็น แต่มีงานวิจัยชื่อ ‘Emotional distress regulation takes precedence over impulse control: If you feel bad, do it!’ ของ Case Western Reserve University ได้ทำการทดลองเรื่องแสนธรรมดานี้อย่างจริงจัง โดยเริ่มจาก ทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองรู้สึกเบื่อ ด้วยการให้พวกเขาอ่านเรื่องเศร้า พอจบแล้วก็บอกพวกเขาว่า เราจะมีทดสอบเชาว์ปัญญานะ แต่ปรากฎว่า ส่วนใหญ่พวกเขาเลือกจะไปเล่นวิดีโอเกมแก้เซ็ง แทนที่จะเตรียมตัวเพื่อการสอบ ทั้งที่รู้ว่ามันจะมาถึงก็ตาม เลยทำให้พอสรุปได้ว่า ความเบื่อหน่าย เซ็ง อารมณ์บ่จอยเนี่ย ทำให้มีแนวโน้มที่จะผัดวันประกันพรุ่งมากขึ้น
สิ่งนี้พอจะมีคำเรียกอยู่ว่า ‘hedonic shift’ ที่อธิบายถึง การให้ความสุขกับตัวเองชั่วคราว เช่นเดียวกับที่เราอยากจะทำอะไรขึ้นเพื่อเติมความสุขขึ้นมา ก่อนถึงเวลาที่ต้องไปทำสิ่งที่ต้องทำแล้วจริงๆ เจสสิก้า มายริกค์ (Jessica Myrick) จาก Indiana University ได้ทำแบบสำรวจผู้คนจำนวนหลักพัน ที่ช่วยยืนยันเรื่องนี้ว่า ผู้คนส่วนมากเลือกจะใช้เวลาดูคลิปหมาแมวเพลินๆ (ตามตัวเลือกในแบบสำรวจ) ก็เพราะว่ามันให้อารมณ์ด้านบวกกับพวกเขามากกว่า ไม่ใช่เพราะพวกเขามีเวลาเพื่อความบันเทิงไม่เพียงพอ (เลยต้องมาเบียดเบียนเวลาทำงาน แล้วไม่ได้ทำสักทีแบบนี้) และพวกเขามักจะทำแบบนี้เสมอแหละ เวลาที่รู้ว่าจะต้องทำไปทำอะไรที่มันไม่บันเทิงเอาเสียเลย แต่ผลสำรวจก็บอกเช่นกันว่า หลังจากนั้น พวกเขาก็รู้สึกผิดที่ใช้เวลาไปกับความน่ารักของหมาแมวมากกว่าจะลุกมาสะสางงานให้เสร็จ
แต่ผศ.ทิมก็ยืนยันว่าเรื่องแบบนี้มันแก้กันได้ และการแก้จะไม่ได้เป็นสารพัดเทคนิกจัดการเวลา แต่เป็นเรื่องของการจัดการอารมณ์ของเราแทน ด้วย Acceptance and Commitment Therapy (ACT) การยอมรับปัญหาที่มีและมุ่งมั่นที่จะปรับตัว ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้เรามีความยืดหยุ่นกับตัวเองมากขึ้น และได้หาวิธีแก้ไขปัญหาต่อไปด้วย อย่างการหาวิธีที่ง่ายที่สุดและไวที่สุดที่จะทำให้งานนั้นสำเร็จ อาจทำให้เราเจอวิธีใหม่ๆ ที่เร็วขึ้น สร้างสรรค์มากขึ้น จากความขี้เกียจที่อยากให้สิ่งที่ต้องทำมันผ่านพ้นไปไวๆ ก็ได้ หรืออาจจะเป็นการให้รางวัลตัวเองหลังจากการทำงานนั้นให้เรียบร้อย แทนที่จะให้รางวัลตัวเองด้วยการใช้เวลาไปกับเรื่องสนุกก่อนหน้า ลองย้ายความหอมหวานนั้นไปไว้หลังการทำงานดูสิ อาจจะทำให้เรารู้สึกกับช่วงเวลานั้นมากกว่าเดิม และไม่มีเมฆหมอกแห่งความกังวลคอยบดบังอีกด้วย
และรางวัลของเราหลังจากเสร็จบทความนี้ คงจะเป็นเล่นเกมยาวๆ ถึงเช้า กับโกโก้ปั่นสักแก้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Sciencedirect, 2, 3