มีงานศึกษาชื่อ ‘Taxi Brains Project’ ของ ฮิวโก สเปียร์ส (Hugo J Spiers) นักประสาทวิทยาทางความคิด แห่งมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจลอนดอน (University Collage London) ที่เป้าหมายคือการช่วยนักวิทยาศาสตร์เรียนรู้และต่อกรกับโรคอัลไซเมอร์ จากการช่วยเหลือของเหล่าพี่ๆ คนขับแท็กซี่ที่ลอนดอน โดยเขาบอกว่าคนขับแท็กซี่ที่ลอนดอนนั้นเชี่ยวชาญเรื่องถนนหนทางเป็นอย่างมาก ต้องจำถนนทุกสายในรัศมีกว่า 10 กิโลเมตร เมื่อขึ้นรถไปนั่งแล้วบอกปลายทางถนนที่เป็น 1 ใน 60,000 กว่าสาย (รวมถึงทางเดินรถทางเดียวและจุดห้ามเลี้ยวต่าง ๆ ด้วย) คนขับแท็กซี่ที่มีประสบการณ์ตั้งแต่ 2-4 ปีสามารถพาคุณไปยังเป้าหมายได้ทันที
คนขับแท็กซี่คนหนึ่งบอกกับฮิวโกว่ามันเหมือนเป็นห้องรับแขกที่เขารู้ว่าโซฟาอยู่ไหน โต๊ะหนังสืออยู่ตรงไหน เดินไปห้องครัวยังไง ภาพในหัวเกิดขึ้นแบบอัตโนมัติเหมือนกับถนนทุกสายในลอนดอนเลย
สิ่งที่ฮิวโกและทีมของเขาพบก็คือระหว่างที่สมองของคนขับแท็กซี่กำลังจดจำข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้ พื้นที่สมองส่วนที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ของพวกเขาจะขยายใหญ่ขึ้น (ซึ่งก็เป็นสมองส่วนเดียวกันของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่ขนาดเล็กลง) และโตกว่าคนทั่วไป ซึ่งผลลัพธ์ตรงนี้ก็สามารถตีความได้ว่าสมองของมนุษย์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราสามารถเปลี่ยนแปลงสมองจากสิ่งที่เราทำได้ ไม่ว่าจะอายุมากแค่ไหนก็ตาม
สิ่งนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Neuroplasticity’ ซึ่งเป็นความสามารถของสมองในการเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำหรือสิ่งกระตุ้นที่เรารับมาจากข้างนอก อาจจะเป็นการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ, เล่นเกมส์, อินเทอร์เน็ต ฯลฯ เมื่อก่อนเราเชื่อกันว่าสมองจะหยุดสร้างเซลล์ประสาทใหม่เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุหนึ่ง แต่ที่จริงแล้วสมองส่วนฮิปโปแคมปัสของมนุษย์ในวัยผู้ใหญ่และชรายังมีเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ที่สามารถกลายไปเป็นเซลล์ประสาทอยู่มากมาย
จากประสบการณ์ตรงของตัวเองที่ผ่านมา ส่วนตัวแล้วเมื่อก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเหมือนอย่างทุกวันนี้ ผมสามารถนั่งอ่านหนังสือเป็นเวลานาน ๆ ได้ทั้งวันโดยแทบไม่ต้องทำอะไรเลย มีบ้างในระหว่างช่วงเวลาเบื่อๆ ที่อาจไปนั่งทอดหายใจมองพระอาทิตย์ตกดิน แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าช่วงเวลาเบื่อๆ ไม่มีอะไรทำนั้นจะไม่มีอยู่แล้ว อินเทอร์เน็ตและการเชื่อมต่อนั้นดึงความสนใจของผมให้ติดกับมันได้อยู่ตลอดเวลา และดูเหมือนว่าจะแย่ลงไปเรื่อยๆด้วย
ปฎิเสธไม่ได้ว่าอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เป็นแบบนี้ มันทำงานอยู่เบื้องหลังเงียบๆ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสมองเราโดยที่ไม่รู้ตัว
ซึ่งในบางกรณีกลายเป็นนิสัยแย่ๆ ที่อยากเลิกแต่ทำไม่ได้สักที
Norman Doidge จิตแพทย์และนักเขียน (หนังสือ The Brain that Changes Itself) พูดเอาไว้ว่า
“ถ้าเราหยุดที่จะฝึกฝนทักษะทางความคิด ไม่ใช่แค่เราจะลืมมันไปเท่านั้น : สมองของเราจะเอาพื้นที่ที่ว่างอยู่นั้นไปเชื่อมต่อกับทักษะอื่นๆที่เราทำอยู่ต่างหาก”
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถึงแม้ว่า neuroplasticity จะเป็นความหวังเล็กว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็สามารถสร้างนิสัยแย่ได้เช่นเดียวกัน จากที่เคยเชี่ยวชาญทักษะบางอย่างเช่นการอ่านหนังสือได้นานๆ โฟกัสกับงานได้ยาวๆ ตลอดทั้งวัน กลายเป็นไถฟีดนานหลายชั่วโมงไม่รู้จบบนโซเชียลมีเดียก็ได้
นี่คือเหตุผลว่าทำไมสมองส่วนฮิปโปแคมปัสของคนขับแท็กซี่ในลอนดอนถึงโตกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป เพราะพวกเขาใช้ทักษะนี้ทุกวันและเชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างของคนขับแท็กซี่ฟังดูเข้าใจไม่ยากและชัดเจน แต่มีเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่เราใช้ในชีวิตประจำวันที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความคิดของเราเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง “นาฬิกา” ที่ก่อนหน้าจะมีอุปกรณ์บอกเวลาตัวนี้ คอนเซปท์ของคำว่า ‘เวลา’ นั้นเป็นเหมือนกับสายน้ำไหลเชื่อมต่อกันไม่มีขาด แต่พอมีนาฬิกาปุ๊บความเข้าใจเรื่อง ‘เวลา’ ของเราก็เปลี่ยน ตอนนี้เราหั่นเวลาออกเป็นชั่วโมง นาที และวินาที และกลายเป็นคอนเซ็ปต์เรื่องของเวลาที่เราใช้ทำนู่นทำนี่ ไอเดียของ productivity ก็เกิดขึ้น ทำตรงนี้ก่ีนาที ตรงนั้นกี่ชั่วโมง เป็นต้น
ในหนังสือ The Shallows: What the Internet Is Doing to Our Brains เขียนโดย Nicholas Carr ได้แบ่งวิธีการที่เราจะสร้างทักษะใหม่ๆให้กับตัวเราเองออกเป็น
- Top Down Control – หรือการฝึกฝนโดยใช้สมองเป็นคนสั่งงาน เช่นการอ่านหนังสือ ที่เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนเพื่อที่จะทำให้อ่านหนังสือและโฟกัสได้นานขึ้น นี่เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนและเรียนรู้
- Bottom Up Control – นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยธรรมชาติ ความรู้สึกหรือสัมผัสทั้งหลายนั้นจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่อยู่รอบตัว ซึ่งความสนใจของเราจะเปลี่ยนไปหาสิ่งกระตุ้นเหล่านี้อยู่เสมอ ซึ่งเมื่อก่อนสมองสร้างส่วนนี้ขึ้นมาเพื่อความอยู่รอด เวลามีภัยมาใกล้ตัวก็สามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงที
ย้อนกลับที่งานวิจัยของคนขับแท็กซี่อีกครั้งหนึ่ง ข้อมูลต่อมาที่น่าสนใจก็คือว่าสมองส่วนฮิปโปแคมปัสนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน หน้ากับหลัง ส่วนฮิปโปแคมปัสที่โตนั้นคือส่วนหลังเพียงอย่างเดียว ทางกลับกันคือส่วนหน้านั้นกลับหดเล็กลง ซึ่งก็อาจจะทำให้คนขับแท็กซี่เหล่านี้จำเรื่องอื่นได้ยากกว่าคนปกติเช่นเดียวกัน
เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้
ไม่ได้ทำให้เราฝึกฝนการสร้างทักษะแบบ
Top Down Control เลยแม้แต่น้อย
นิโคลัสเขียนเอาไว้ว่า
“การใช้งานอินเทอร์เน็ตของเรานั้นมีหลายอย่างที่ดูขัดแย้งกันอยู่ แต่อย่างหนึ่งที่จะสร้างผลกระทบในระยะยาวต่อความคิดของเราคือ : อินเทอร์เน็ตดึงความสนใจของเราไปเพื่อที่จะกระจายมันออกให้กว้างที่สุดต่างหาก”
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ดึงความสนใจของเราไปแล้วกระจายมันออกไปในทุกทิศทาง สนับสนุนให้เกิดความวุ่นวายและทำนู่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา
ยกตัวอย่างตอนนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วที่เราจะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตหลายชิ้นในเวลาเดียวกัน หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์เครื่องเดิมก็มีการเปิดหลายหน้าต่าง หลายแอพพลิเคชั่น หลายจอ ส่วนหนึ่งอาจจะเปิดเพลงจาก spotify อีกส่วนหนึ่งอาจจะกำลังเขียนบทความอันนี้อยู่ อีกส่วนหนึ่งอาจจะเปิด browser ทิ้งเอาไว้หน้า facebook เผื่อมีคนมาคอมเมนท์โพสต์ที่ลงไป
อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสร้างฮอร์โมนโดปามีนชั้นดี เป็นระบบที่สนับสนุนการสร้างความวุ่นวาย ทุกอย่างที่เราทำเป็นรางวัลของความสุขชั่ววูบที่มาจากอินเทอร์เน็ต กลายเป็นวงจรของพฤติกรรมที่เราทำเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ตัว พูดอีกอย่างก็คือว่า neuroplasticity กำลังทำงาน แต่เป็นการทำงานที่ไม่ได้ส่งผลดีให้กับตัวเราเอง และอินเทอร์เน็ตก็ฝังทักษะที่เป็น Bottom Up Control ที่เราคอยตอบสนองต่อสิ่งเร้าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นด้านออกตลอดเวลา
แล้วก็เหมือนกับสมองของเหล่าคนขับแท็กซี่อีกนั้นแหละ เมื่อเราฝึกฝนทักษะใดทักษะหนึ่ง (เช่นการตอบสนองต่อ notification อย่างรวดเร็ว) สมองส่วนนั้นก็จะแข็งแรงขึ้น ในทางกลับกันมันก็ต้องแลกมาด้วยทักษะ Top Down Control อีกด้านหนึ่งที่จะหายไปด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งก็หมายความว่ายิ่งเราอนุญาตให้ตัวเองถูกอินเทอร์เน็ตควบคุมได้เท่าไหร่ เรายังสูญเสียความสามารถที่จะโฟกัสไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานๆ
คำถามต่อมาที่น่าสนใจก็คือว่า “แล้วเราทำอะไรได้บ้างรึเปล่า?” แน่นอนครับ อย่างที่บอกไปว่า neuroplasticity นั้นทำให้สมองเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเมื่ออินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไปทางหนึ่ง เราซึ่งตอนนี้รู้แล้วว่ามันมีผลกระทบยังไง
เราก็พอจะมีทางปรับนิสัยให้สมดุลมากกว่านี้
ที่บอกว่าสมดุลก็เพราะว่ามันคงเป็นเรื่องยากที่จะตัดอินเทอร์เน็ตหรือพาตัวเองออกไปอยู่ถ้ำกลางป่าเพื่อจะแก้ไขปัญหา และถึงแม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะสร้างนิสัยแย่ๆ ให้กับเรา มันก็มีประโยชน์มหาศาลเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นไอเดียที่จะเป็นทางออกที่ดีก็คือการ ‘ลด’ กิจกรรมหรือสิ่งกระตุ้นที่เป็นตัวก่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และ ‘เพิ่ม’ กิจกรรมที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากจะเป็น และที่สำคัญก็คือสร้างสภาพแวดล้อมที่ตนเองอยู่นั้นให้เหมาะสมกับสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นด้วย
ยกตัวอย่างกิจกรรมง่ายๆ การอ่านหนังสือ ซึ่งเป็น Top Down Control ที่จะช่วยให้เราโฟกัสในการอยู่กับอะไรบางอย่างได้นานยิ่งขึ้น อย่าไปคิดว่าหนังสือมันน้ำเยอะ อ่านบทสรุปออนไลน์ห้านาทีก็จบแล้ว แต่นั้นยิ่งทำให้เห็นว่าการโฟกัสกับหนังสือนานๆ ยาวๆ สักเล่มสำคัญขนาดไหน ถ้าเป็นไปได้ก็ปิดอินเทอร์เน็ตเป็นช่วงเวลาที่กำหนด เริ่มต้นจาก 10 นาทีแล้วก็ค่อยๆ เพิ่มความยาวขึ้นไปเรื่อยๆก็ ได้
โชคดีที่ประเด็นเรื่องนี้เป็นที่สนใจของหลายๆ คนและมีแอพพลิเคชั่นมากมายทั้งบนโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยทำให้เราโฟกัสง่ายและนานขึ้น แต่ต้องอย่าลืมว่าการปรับเปลี่ยนสมองนั้นเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ต้องอาศัยความสม่ำเสมอและความอดทน เพราะฉะนั้นให้โฟกัสไปที่ผลลัพธ์ของสิ่งดีๆ ที่ตามมากับพฤติกรรมที่กำลังทำ อ่านหนังสือให้เยอะขึ้น คุยกับเพื่อนฝูงและคนใกล้ชิดมากขึ้น ฯลฯ
อินเทอร์เน็ตมีผลต่อสมองของเราในแบบที่เครื่องมืออื่นๆในประวัติศาสตร์ไม่เคยทำได้มาก่อน มันเป็นนวัตกรรมที่ทรงพลังและทำให้เราเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆได้เพียงแค่ปลายนิ้ว แต่มันก็มีผลเสียและราคาที่ต้องจ่ายถ้าใช้อย่างไม่ระมัดระวังเช่นเดียวกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก