ภาพยนตร์สัญชาติอิตาลี ‘Call Me by Your Name’ กำลังเป็นที่พูดถึงในหลายๆ สื่อ รวมถึงเป็นที่สนใจของบรรดานักวิจารณ์หลายคนทั่วโลก พร้อมกับกระแสการลุ้นเข้าชิงรางวัลออสการ์ เบื้องหลังเรื่องเล่าของเด็กหนุ่มวัย 17 ในเมืองเล็กๆ ของอิตาลีที่เคลื่อนไหวอยู่บนจอ มีตากล้องชาวไทยเป็นหนึ่งในทีมงานที่สำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้
‘สยมภู มุกดีพร้อม’ ผู้กำกับภาพที่กำหนดทิศทางสิ่งที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์ของหนังเรื่องนี้เล่าว่า “อาชีพเราเป็นอาชีพที่ต้องมองคนเป็นหลัก เราต้องมองเวลานักแสดงทำอะไร เวลาเราคุยกับใคร เราจะตีความได้อย่างรวดเร็ว”
นอกจาก Call Me by Your Name แล้ว สยมภูยังมีผลงานการกำกับภาพให้เห็นอย่างโดดเด่น ทั้งภาพยนตร์นอกกระแสอย่าง สุดเสน่หา, แสงศตวรรษ, ลุงบุญมีระลึกชาติ รวมไปถึงภาพยนตร์ในกระแสหลัก สยิว, เฉิ่ม, ไชยา นอกจากนี้ยังมีผลงานการกำกับภาพของหนังต่างประเทศ Antonia., Arabian Nights ซึ่งมีหน้ามีตาในเวทีโลกด้วยเช่นกัน
The MATTER ได้คุยกับ ‘สยมภู’ ถึงการทำงานที่ผ่านมา การก้าวไปทำภาพยนตร์ในรูปแบบต่างๆ ด้วยข้อจำกัดที่แตกต่างกัน การเป็นตัวแทนของผู้ถ่ายทอดเพื่อบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นบนจอให้เห็นด้วยสายตาที่เป็นกลาง และการมองโลกที่เปลี่ยนไปหลังจากการก้าวเข้ามาสู่อาชีพที่เรียกว่า.. ผู้กำกับภาพ
The MATTER : คุณเริ่มเข้ามาสู่วงการกำกับภาพได้อย่างไร
สยมภู : เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยช่างภาพ ส่วนใหญ่เป็นหนังโฆษณาในสังกัดของสยามสตูดิโอ แล้วก็หาทางมาถ่ายเองบ้าง เริ่มต้นสารพัดอย่าง แล้วก็มีหนังเข้ามาเรื่อยๆ
The MATTER : เห็นว่าผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ที่คุณมีส่วนร่วมคือ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ ทำงานกับพี่เจ้ย เป็นยังไงบ้าง
สยมภู : พี่เจ้ยส่งบทให้เรา เราอ่านสามชั่วโมงจบเลย ไม่รู้คนอื่นอ่านเขารู้สึกยังไง แต่เรารู้สึกสนุก ก็เลยทำกันดีกว่า ไม่ได้มีกรอบอะไรมาปิดกั้น เนื่องจากมันไม่ใช่หนังสตูดิโอ เราก็ทำตาม young blood แค่นั้น เราตีความกันยังไง เราก็ทำกันไป
หลังจากนั้นเราก็ไปดูโลเคชั่น ไปใช้ความรู้สึกในการดู พี่เจ้ยกลับมาก็มีการปรับบทตามสิ่งที่เขาไปเห็นหรือสัมผัสมา ซึ่งเราอยู่ในกระบวนการนั้นด้วยตั้งแต่ต้น เราอยู่ด้วยกันทุกวัน แต่ไม่ใช่การคุยเป็นกิจลักษณะมันคือการคุยกันไปเรื่อยๆ มองให้เห็นเป็นภาพเดียวกัน เราพัฒนาสิ่งที่อยู่ในหัวของเรา เขาก็พัฒนาสิ่งที่อยู่ในหัวของเขา แล้วก็จะมาจูนกัน
The MATTER : เปลี่ยนบทบาทมาสู่การทำภาพยนตร์ในกระแสหลักแล้วรู้สึกยังไงบ้าง
สยมภู : เราไม่ได้แยกว่ามันอินดี้หรือไม่อินดี้นะ เราแยกภาพยนตร์เป็นเรื่องๆ เราดูตามเนื้อหาของหนัง สิ่งที่ต่างกันก็คือผู้คนที่เกี่ยวข้อง ถ้าทำงานกับพี่เจ้ย มันก็มีแต่พี่เจ้ย แต่คราวนี้ทำงานกับคนอื่นที่อยู่ในระบบก็ต้องมีโปรดิวเซอร์ที่ใหญ่หน่อยเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ต้องคิดถึงเขานิดนึง
The MATTER : คุณเริ่มไปกำกับภาพให้ภาพยนตร์ต่างประเทศได้อย่างไร
สยมภู : หลังจากหนังเรื่อง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) มันแพร่กระจายไปทั่วโลก อาจจะทำให้มีผู้กำกับหลายๆ คนที่เขาชอบที่เราถ่ายอะไรแบบนี้ ก็เลยติดต่อมา มีคนหนึ่งติดต่อมาจากอิตาลี เขาบินมาหาเราที่นี่เพื่อจะเอาบทมาเสนอ เราก็พาเขาไปเที่ยวเชียงใหม่ด้วยกัน นั่งคุยกันในรถไปแล้วก็ตกลงทำหนังเรื่องนั้น (Antonia.) เหมือนพอเรามีผลงานนอกจากในไทยให้คนอื่นเขาได้เห็น ก็มีคนอื่นๆ ติดต่อตามมา เราก็ไปทำงานให้เขาแค่นั้นเอง
The MATTER : แล้ว Call Me by Your Name ที่กำลังถูกพูดถึงล่ะ มาทำเบื้องหลังเรื่องนี้ได้ยังไง
สยมภู : เขาอาจจะชอบตอนเราถ่าย Antonia. ถ้าเขาไม่แฮปปี้ก็คงไม่ติดต่อละมั้ง (หัวเราะ) ตอนนั้นเรากำลังแก้สีหนังอยู่ที่ปารีส แล้ว Luca Guadagnino โปรดิวเซอร์ใหญ่ของหนังเรื่อง Antonia. เขาโทรศัพท์มาบอกว่ากำลังจะทำหนังเรื่องนึงกับผู้กำกับชื่อ James Ivory อยากให้เราไปถ่าย ก็ยื่นโทรศัพท์ให้เราคุย เราก็ยินดีมาก เพราะเราเป็นแฟน James Ivory อยู่แล้ว เขาก็ส่งบทมาให้ ซึ่งสุดท้ายกลายเป็น Luca Guadagnino เองที่มากำกับเรื่องนี้
The MATTER : เห็นว่าเรื่องนี้ใช้เลนส์ระยะ 35 mm. ในการถ่ายทำทั้งเรื่อง ซึ่งเป็นกิมมิคที่หลายคนพูดถึง ทำไมถึงเลือกใช้วิธีการถ่ายแบบนี้
สยมภู : เราอยากทำ มันก็ challenge ตั้งแต่ต้น แล้วไอเดียนี้มันก็อยู่ในตัวเรามานานแล้วเหมือนกัน แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ทำ ปรากฏว่าผู้กำกับเขา approach เรามา ทำไมจะไม่ทำล่ะ เราก็ไปดูความเป็นไปได้ในทางเทคนิค
เราคิดว่ามันได้ผลในแง่ของมุมมองที่เป็นกลางและธรรมชาติ ไม่ได้บังคับให้คนดูเข้าไปใกล้มาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้มันออกไปไกลเกินไป มันทำให้องค์รวมของหนังสมดุลมากขึ้น เนื่องจากสิ่งที่ผู้กำกับทำงานกับนักแสดง มันตอบสนองกับกล้องแบบนี้ก็เลยพอดีกัน เป็นสายตากลางๆ เหมือนเราไม่ได้ใส่เลนส์อื่นเข้าไป เพราะสายตาเราจริงๆ เราก็มองเห็นกันแบบนี้ เหมือนเราเห็นชีวิตของพวกเขา อารมณ์ที่ไหลไปเรื่อยๆ ซึ่งนั้นคือสิ่งที่เป็นความต้องการตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว
The MATTER : การกำกับภาพในอุณหภูมิแสงที่แตกต่างกันมีความยากง่ายยังไง
สยมภู : วิทยาศาสตร์ทางด้านฟิล์ม ด้านการถ่ายภาพ มันถูกพัฒนามาจากคนซีกโลกเหนือ อย่างยุโรปหรืออเมริกา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอ้างอิงมาตรฐานของฟิล์ม มันมาจากค่าเฉลี่ยของซีกโลกของเขา แต่มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายสักทีเดียว เนื่องจากเราก็ใช้ฟิลเตอร์คอลเลกชั่นได้
สิ่งสำคัญที่สุด คาแร็กเตอร์ของภูมิภาคเรามีความชื้นในอากาศที่น่าจะส่งผลเยอะเหมือนกัน แบคกราวน์ที่อยู่ไกลๆ บ้านเรามันขมุกขมัว ไม่เห็นดีเทล มีควัน มีความชื้นในอากาศเยอะ contrast มันเลยจะดูน้อย
แต่ถ้าเกิดเป็นทางยุโรป ความแห้งของอากาศมันไม่มีความกระเจิง ทำให้ contrast ระหว่างสีต่างๆ มันจะชัดเจน แยกรายละเอียดได้ดีกว่า สีของท้องฟ้าที่ยุโรปมันจะเป็นสีที่เข้ม ส่วนบ้านเราจะเป็นสีฟ้าที่มีสีขาวเจืออยู่ เราคิดว่าน่าจะเป็นผลจากความกระเจิงของแสง แล้วก็ความชื้นในอากาศ
The MATTER : รู้สึกยังไงที่หลายคนเชียร์ให้ Call Me by Your Name เข้าชิงออสการ์
สยมภู : ก็รู้สึกขอบคุณนะครับ แต่สำหรับเรามันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องอะไรมากมายหรอก เราคิดว่าเราก็ต้องทำงานต่อไปแหละ มีหนังเรื่องอื่นๆ ที่ต้องทำต่อไปอีก ถ้ามันได้จริงๆ เราก็ดีใจนะ แต่ถ้าไม่ได้ เราก็ไม่ได้รู้สึกเสียใจอะไร
เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนนะ เพราะเวลาเราดีลกับเอเจนต์ เราก็ดีลแบบที่เราเป็นแหละ เขาก็อาจจะ push ให้เป็นนู่นเป็นนี่ แต่เราก็ไม่เอา เราเป็นในแบบที่เราเป็น ไม่งั้นเราก็จะทำงานออกมาได้ไม่ดี
The MATTER : ทำไมคุณถึงมักเลือกที่ใช้ถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม
สยมภู : กล้องฟิล์มมันคุยกับเราได้ง่ายกว่า มันสื่อให้เรารู้สึกมากกว่า เวลาเรามองผ่านกล้องดิจิทัลในสิ่งเดียวกัน เราไม่รู้สึกกับสิ่งที่นักแสดงกำลังทำ เราไม่รู้สึกกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ข้าง ในความเห็นของเรามันเป็นแค่สิ่งสองสิ่งที่ไม่เหมือนกัน มันเป็นอุปกรณ์เหมือนกับปากกา ดินสอ พู่กัน แต่มันต่างกันที่ผลลัพธ์
จริงๆ เราเป็นคนแรกๆ ในประเทศไทยที่โดดเข้าไปหากล้องดิจิทัลเลยนะ เนื่องจากมันเป็นยุคที่เราเติบโตพอดี แต่มันก็เป็นช่วงที่ความรู้ยังไม่ถูก establish อย่างมั่นคงในประเทศไทย
The MATTER : ตลอดการทำงานที่ผ่านมา คุณเรียนรู้อะไรจากการเป็นผู้กำกับภาพบ้าง
สยมภู : เราเป็นคนที่มองคนได้เร็ว เนื่องจากอาชีพเราเป็นอาชีพที่ต้องมองคนเป็นหลัก เราต้องมองเวลานักแสดงทำอะไร เวลาเราคุยกับใคร เราจะตีความได้อย่างรวดเร็ว สายตาเรามันชัดเจนขึ้น เนื่องจากเราทำงานกับสิ่งนี้ตลอดเวลา
The MATTER : เวลาดูหนังที่คุณชอบ มีผลยังไงกับการสร้างงานของคุณบ้าง
สยมภู : มีแน่นอน แต่บางทีเราก็ตอบไม่ได้ว่ามันมาจากเรื่องอะไร เราไม่แม้แต่พยายามจะจำชื่อว่าใครทำเรื่องอะไร เราจำเฉพาะเนื้อหาของมัน
เราคิดว่าการดูภาพยนตร์น่าจะมีผลมากกว่า เราซึมซับเนื้อหามันโดยตรง ทำให้เรามีมุมมองนู่นนี่นั่นมากกว่าการเป็นช่างภาพ มัน define วิธีการมองของเราต่อสังคม ช่างภาพมันก็เป็นแค่งานๆ หนึ่งที่เราต้องทำ แต่ทำให้เราทำด้วยความรู้สึก ทำโดยมีความรับผิดชอบต่อคนอื่น
The MATTER : มีหนังแบบไหนอีกบ้างที่คุณอยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำ
สยมภู : หนังสงครามก็อยากทำนะ มันใหญ่ดี ตู้มตั้มดี แต่มันก็ต้องอยู่ที่บท หนังซีจีเยอะๆ ก็อยากทำ แต่ก็ต้องพร้อมนะ ไม่ใช่แบบซีจีที่ขัดสนไปหมด
จริงๆ เราอยากทำหนังทุกอย่างแหละ ถ้าเราอ่านบทแล้วดี แล้วผู้กำกับก็ต้องเป็นคนที่เราอยากจะอยู่ด้วยสัก 3 เดือน ถ้าแค่ 15 นาทีแล้วไม่อยากอยู่ เราก็คงไม่ทำ
อ่านรีวิวหนังสือ Call Me by Your Name โครงเรื่องของภาพยนตร์ได้ที่ https://thematter.co/thinkers/call-name-by-your-name/39496
With assistance of Anittha Rintarasoontorn