เวลาเจอน้องฝึกงานที่ยังทำงานไม่เข้าที่ โปรเจ็กต์นี้ที่เป็นงานถนัดของเรา หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่กระตุกต่อมน้ำใจให้เราอยากเข้าไปช่วยเหลือคนที่อยู่ตรงหน้า เราอาจช่วยได้ในรูปแบบของคำแนะนำ ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ไปจนถึงสอนทำทีละขั้นตอน จนเราอาจข้ามเส้นของการให้ความช่วยเหลือไปสู่การก้าวก่ายหน้าที่หรืองานของคนอื่น จะชั่งน้ำหนักความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อไม่ให้กลายเป็นการก้าวก่ายจนสร้างความอึดอัดใจให้คนอื่น
การให้ความช่วยเหลือกันในออฟฟิศ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่เพื่อนร่วมงานต่างมีน้ำใจให้กันและกัน แต่ทว่าน้ำใจนั้นของเรา ไม่อาจยื่นให้คนอื่นได้ทุกเวลาและโอกาส ไม่เช่นนั้นเราอาจเข้าข่าย micromanaging การจัดการระดับไมโคร ที่อาจมาในรูปแบบของความหวังดี ลองแบบนี้สิ พี่ช่วยทำ แบบนี้ดีกว่า ผมทำมาแล้ว จนความหวังดีของเรานั้นอาจกลายเป็นการล้ำเส้นของผู้รับน้ำใจนั้นไป
ไม่ใช่ว่าอีกฝ่ายเขาไม่รับความหวังดี หรือเมินเฉยต่อน้ำใจของเรา แต่ความช่วยเหลือนั้นควรมาในเวลาและโอกาสที่เหมาะสม มากกว่าการหยิบยื่นมันออกไปเพราะฉันอยากให้ ฉันอยากทำ โดยไม่สนใจว่าผู้รับต้องการมันมากแค่ไหน หรือต้องการหรือไม่ในสถานการณ์นั้นๆ อีกฝ่ายคงอึดอัดเช่นกัน หากได้รับน้ำใจมาแล้วมันมากเกินความต้องการ แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธไป
แล้วเมื่อไหร่ที่เราจะให้ความช่วยเหลือได้บ้าง?
- เมื่ออีกฝ่ายขอความช่วยเหลือ สิ่งนี้น่าจะเป็นข้อที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้จริงที่สุด เมื่อการให้ความช่วยเหลือคนนู้นคนนี้ตลอดเวลา หรือแม้แต่ตอนเริ่มจับโปรเจ็กต์ชิ้นนี้เลยด้วยซ้ำ อาจสร้างความลำบากใจให้กับอีกฝ่าย เพราะความช่วยจะมาในเวลาที่ใครสักคนเดือดร้อน รอให้มีแสงไฟรูปค้างคาวขึ้นบนฟ้าก่อน สัญญาณขอความช่วยเหลือมาถึง เวลานั้นการให้ความช่วยเหลือของเรา ก็จะไปอยู่กับคนที่ต้องการจริงๆ โดยที่เราไม่ต้องคอยไล่ถามทีละคนว่าต้องการให้เราช่วยอะไรไหม
- ถามความสมัครใจ หากกลัวว่าอีกฝ่ายไม่กล้าขอความช่วยเหลือตรงๆ หรือเราเห็นว่าตอนนี้แหละ เขาต้องได้รับความช่วยเหลือแล้ว ก็อย่าเพิ่งเข้าไปชาร์จด้วยน้ำใจเต็มสองมือในทันที หากอีกฝ่ายยังไม่ร้องขอ ให้ลองถามก่อนทุกครั้งที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ว่าเขาต้องการไหม ต้องการให้เราทำอะไร ในระดับไหน เพราะความยินยอมพร้อมใจ คืออีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าเขายินดีรับความช่วยเหลือของเรา ไม่ใช่การก้าวก่ายจนส้ำเส้นของเราเอง
นอกจากจะมาในเวลาและจังหวะที่ถูกต้องแล้ว แม้อีกฝ่ายจะต้องการความช่วยเหลือ และยินดีที่จะรับน้ำใจจากเรา แต่นั่นก็ไม่ใช่ใบอนุญาตให้เราเข้าไปจัดการทุกอย่างแทนเขาอยู่ดี จะช่วยเหลือแค่ไหนดี เพื่อไม่ให้ล้ำเส้นจนอีกฝ่ายอึดอัดใจ ลองดูวิธีที่เราอยากแนะนำ ไม่ให้ micromanaging มาครอบงำ เมื่อเราอยากเข้าไปช่วยเหลือในงานและหน้าที่ของอีกฝ่าย
ถามถึงปัญหาและสิ่งที่เขาต้องการความช่วยเหลือ
ช่วยด้วยจ้า หนูทำสิ่งนี้ไม่ได้ แต่เมื่อเราเข้าไป ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถไป take over เอางาน เอาหน้าที่ทั้งหมดตรงนั้นของเขามาทำแทน แล้วบอกว่านี่คือการช่วยเหลือได้ เพราะนั่นคือการก้าวก่ายแบบไม่ต้องสงสัย
หากมีคนต้องการความช่วยเหลือ ควรถามก่อนว่า เขากำลังติดขัดหรือมีปัญหาในเรื่องไหน อะไรที่เขาอยากให้เราช่วย แล้วจึงประเมินว่าเราช่วยเขาในเรื่องนี้ได้จริงหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ช่วยในขอบเขตที่เขาต้องการ แต่ถ้ายังไม่ใช่ทั้งหมด ก็ต้องบอกตรงๆ ว่า เราช่วยเขาได้ในจุดนี้นะ แต่อีกจุดยังไม่ได้ อาจจะแนะนำเผื่อไปด้วยว่าหากต้องการความช่วยเหลือ ใครที่อาจให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้
ลงมือทำให้ดู แต่ไม่ทำให้ทั้งหมด
เช่นเดียวกับข้อที่แล้ว เพราะเราไม่อาจเอางานของอีกฝ่ายมาทำเองได้ (เพราะนั่นคืองานของเขา) การช่วยเหลือแบบทำให้ทั้งหมดอาจทำให้มีครั้งต่อๆ ไป ลองสาธิตวิธี หรือสอนทีละขั้นตอนให้อีกฝ่ายเข้าใจ และสามารถลงมือทำได้ด้วยตัวเองจะเป็นทางที่ดีกว่า
อีกนัยหนึ่ง คือการให้เขารับผิดชอบในงานของตัวเอง โดยมีเราเป็นพี่เลี้ยงหรือผู้ช่วย มากกว่าการให้ความช่วยเหลือให้เขาสะดวกสบาย
มั่นใจในความสามารถของอีกฝ่าย
อีกสาเหตุที่ทำให้ความช่วยเหลือมักเลยเถิดไปไกลจนกลายเป็นการรวบงานไว้ในมือเราคนเดียว เพราะเราไม่มั่นใจในความสามารถว่าอีกฝ่ายจะทำงานนี้ไปได้ลุล่วง จึงเข้าไปช่วยเหลือในทุกอย่างที่เราประเมินว่าเขาจะทำไม่ได้ แต่ช้าก่อน หากเราทำแบบนั้น อีกฝ่ายจะไม่เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าปัญหานี้แก้ยังไง ต่อไปจะต้องรับมือแบบไหน ลองปล่อยให้อีกฝ่ายได้ใช้ความสามารถของเขาในการแก้ปัญหา โดยมีเราคอยไกด์อยู่ข้างๆ ช่วยเสริมความมั่นใจว่าเขาจะผ่านปัญหานี้ไปได้
ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือ น้ำใจ หรือความหวังดี แต่เมื่อมีความรู้สึกของอีกฝ่ายมาเกี่ยวข้องแล้ว การถามความยินยอม ก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องถามไถ่กันตั้งแต่อันดับต้นๆ แม้แต่ในที่ทำงานก็ด้วย ถามถึงความเต็มใจของอีกฝ่าย ว่าอยากให้เราช่วยเหลือไหม ช่วยแค่ไหน เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดแล้ว โดยไม่ต้องมีปัญหาโดนปฏิเสธน้ำใจ หรือ hard feeling ของผู้รับว่าไม่ได้อยากให้ทำแบบนี้เสียหน่อย ตามมาในภายหลัง
อ้างอิงข้อมูลจาก