วันหยุดยาวๆ กำลังจะมาถึงอีกแล้ว ช่วงหนึ่งของปีแบบนี้ ขอลาพักร้อนแถมไปด้วยซะเลย ได้เวลาชาร์จแบตยาวๆ ซะที
นอนฟังเสียงคลื่นอยู่สบายๆ ไลน์เด้ง เมลเข้า ขอบคุณพลังวิเศษ 4G ไวไฟหรืออะไรก็ตามจริงจริ๊ง ที่ทำให้การติดต่อง่ายดายขนาดนี้ หนีมาตั้งไกล เรื่องงานยังตามมาได้อีก แบบนี้จะเรียกลามั้ย เรียกม้าดีกว่า แต่เรื่องนี้ก็ค่อนข้างอ่อนไหวเนอะ เราลาพักออกมาคนเดียวก็จริง แต่งานต่างๆ ยังต้องดำเนินต่อ เราจะรับโทรศัพท์ดีไหม ตอบเมลดีรึเปล่า ตอบไปครั้งนึง หลังจากนี้การลาพักร้อนอาจจะกลายเป็นแค่การย้ายสถานที่ทำงานไปเลยก็ได้
การทำงานเป็นเรื่องของความเป็นมืออาชีพ (professionalism) การทำงานและการลาหยุดมีความหมายและเป็นกฎเกณฑ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง การลาหยุด—ก็ตามชื่อไง หมายถึงการให้สิทธิคนทำงานในการพักจากการทำงาน หลบลี้หนีออกจากออฟฟิศพักหนึ่งเพื่อใช้เวลาส่วนตัว การลาหยุดมีประโยชน์ทั้งกับคนทำงานและกับบริษัทเอง ในขณะที่ตำแหน่งหน้าที่ในบริษัทก็สำคัญตรงที่ว่า เราสามารถทิ้งงานและหายสาบสูญไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะความชัดเจนและการเคารพกันระหว่างเจ้านายลูกน้องก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้การทำงานราบรื่นและยาวนานมากขึ้น

ภาพจาก : Travis Credit Union
ลาพักบ้างก็ได้ ในโลกที่การลาพักเป็นเรื่องรู้สึกผิด
เราอยู่ในโลกที่ชีวิตหมายถึงการทำงาน หลายครั้งกลายเป็นว่า พออยากจะลาทั้งๆ ที่เป็นสิทธิบ้างกลับแอบรู้สึกผิดไปซะเฉยๆ
หลายคนทำงานจนติด อาจจะด้วยการทำงานยุคใหม่ที่เราทำงานกันแทบจะตลอดเวลาผ่านมือถือ พอหยุดจากการทำงานไปเราแอบรู้สึกเครียดๆ เพราะไม่รู้ว่าโลก(การทำงาน)ที่เราจากมามันเป็นยังไงแล้วบ้าง ในทางกลับกัน งานศึกษาจาก University of California พบว่าการเช็กอีเมลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นและเพิ่มระดับความเครียด มีงานสำรวจชายวัยกลางคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ พบว่า คนที่ทำงานโดยไม่ลาพักร้อนติดกัน 5 ปี มีแนวโน้มหัวใจวายเพิ่มขึ้น 30 % (แง่นี้คนที่ทำงานห้าปีโดยไม่หยุดเลยก็น่าจะเป็น workaholic และไลฟ์สไตล์ก็ไม่น่าจะเฮลตี้เท่าไหร่)
ทัศนคติเรื่องสิทธิในการลาพักและสาปสูญไปจากการทำงานค่อนข้างขึ้นอยู่แต่ละวัฒนธรรม ในเยอรมันมีการสำรวจพบว่า อีเมลหรือข้อความ 7 ใน 10 เป็นข้อความที่พนักงานตอบกลับมาระหว่างลาพักร้อน แต่ทัศนคติที่ตั้งคำถามว่า เมื่อเราลาแล้วเราขาดจากการทำงานได้แค่ไหนก็ค่อยๆ เข้มข้นขึ้นในคนทำงานอายุน้อย 37% ของพนักงานอายุต่ำว่า 29 บอกว่าไม่ต้องการที่จะยุ่งเกี่ยวกับการทำงานเลยช่วงลา ในขณะที่พนักงานที่อายุเกิน 30 มีจำนวนแค่ 1 ใน 4 (25%) ที่คิดเหมือนกัน ในขณะที่แคนาดาพนักงานจำนวน 40% บอกว่าปิดเมลบ็อกซ์ไปเลย และ 60% บอกว่านายจ้างไม่คาดหวังให้คนที่ลาต้องติดต่อได้แต่อย่างใด สมเป็นดินแดนในอุดมคติ
สำหรับการลาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญมักจะบอกว่าถ้าลาก็ลาให้ขาดไปเลย จะได้ประสิทธิผลกับชีวิต และกลับมาทำงานอย่างทรงพลังต่อไป

ภาพจาก : sellfapp.com
ลาแล้วลาเลยได้ไหม ขึ้นอยู่กับตกลงและการจัดการ
ถ้าเรามองว่าการหายไปของคนทำงานหนึ่งคน แล้วมันดั๊นเกิดปัญหา องค์กรไปต่อไม่ได้เพราะคนๆ เดียวลาพัก ก็ถือว่าองค์กรนั้นอาจจะมีปัญหาแล้วแหละ ไม่ว่าจะด้วยโครงสร้างที่ฝากความหวังไว้กับคนคนหนึ่ง หรือวิธีคิดกับการจ้างงานของลูกน้องที่เป็นเจ้าเข้าเจ้าของกันตลอดการจ้างงานชนิดไม่เว้นวันหยุด
การลาหยุดส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ ‘ถูกกำหนดไว้’ แปลว่าในแง่การทำงาน ทีมงานและหัวหน้าเองจะรู้ว่าในช่วงเวลานี้นะ คนนี้จะไม่อยู่นะ การบริหารจัดการ ฝากฝังงาน ฝากฝังหน้าที่จึงเป็นสิ่งที่ควรจะทำได้ การฝากงานจึงดูเป็นสิ่งที่ทำได้ตั้งในระดับหัวหน้าที่จะบริหารหมุนเวียนทรัพยากร ไปจนถึงตัวคนที่จะลาเองว่าจะฝากหน้าที่บางอย่าง หรือฝากใครสักคนช่วยดูแลในยามสุดวิสัย
สำหรับคนที่ลา เชื่อว่าในโลกวันนี้เราแอบเหลือบตาดูอีเมล ดูไลน์เสมอแหละ ก็อาจจะต้องพิจารณาว่า เออ กรณีนี้คือจำเป็นจริงๆ หัวหน้าไม่ใช่สักแต่จะเรียกมาทำงานๆ โดยไม่เกรงใจ แบบนี้ก็ต้องพึ่งพากันไป ถ้าเป็นกรณีอื่นๆ ก็อาจจะจัดการเวลาที่แน่นอนในการตอบเมล เช่น ช่วงเย็นๆ ว่างจริงๆ จะตอบให้นะถ้าจำเป็น ทำแบบนี้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานก็จะเข้าใจขอบเขตของเราว่า เอ้อ ลาอยู่นะ ไม่ใช่ว่าตอนไหนก็ได้เหมือนวันทำการ
ในโลกตะวันตก บริษัททั้งหลายจะพูดถึงความจำเป็นในการติดต่องาน เนื้องานที่ต้องคุยแม้จะพักผ่อนอยู่นั้นมีในสัญญารึเปล่า บริษัทที่มีความชัดเจนใหญ่ๆ จึงมักระบุไว้ในแนวทางการทำงานเลยว่า กรณีการติดต่อได้หรือไม่ได้ในตอนลาเป็นอย่างไร ต้องทำยังไง สำหรับโลกตะวันออกอย่างบ้านเราเอง ส่วนใหญ่จะกลายเป็นเรื่องของน้ำใจ ช่วยๆ กันไป ซึ่งบ่อยๆ ก็ค่อยๆ ชิน จนไม่รู้จะลาทำไม เรียกว่าทำงานผ่านเน็ตดีกว่า

ภาพจาก : Rojak Daily
ในกรณีที่พูดคุยกันได้ ฝ่ายหนึ่งก็เข้าใจว่าคนลาต้องการพัก ในขณะเดียวกันคนที่ลาพักก็เข้าใจว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้—แต่อย่าให้ถึงขนาดต้องหอบของกลับมากลางคันเลยเนอะ ก็ถือเป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป ถ้ามองในเชิงทรัพยากร การบริหารจัดการแบบนี้ก็ถือว่ามองคนทำงานเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทะนุถนอมกันไป คนทำงานก็ยินดีใช้ความสามารถให้อย่างเต็มสมรรถภาพ ในทางกลับกัน ก็มีบ้างที่แค่มองว่า เอ้อ ต้องทำให้สิ ทำไมไม่ได้ จะเรียกตอนนี้ แบบนี้ คนทำงานก็จะอยู่ยากหน่อยเนอะ ไม่ค่อยอยากทำงานให้
อ้างอิงข้อมูลจาก