เคยสังเกตไหม อะไรที่ต้องระมัดระวัง มักจะเป็นสีเหลืองอยู่เรื่อยเลย ทั้งรถบัสโรงเรียนที่มีเด็กๆ อยู่ในนั้น ป้ายจราจร ป้ายเตือนตามสถานที่ต่างๆ หรือแม้แต่สัตว์โลก เราสามารถอนุมานว่า ชนิดไหนมีพิษได้ด้วยสีของมันเช่นกัน ทำไมการเตือนให้ตระหนักถึงความระแวดระวังนั้น ต้องเป็นหน้าที่ของสีเหลืองด้วยนะ?
เวลาใช้สีไปกับการออกแบบเนี่ย เรามักจะเดาไว้ก่อนว่า เป็นเหตุผลทางจิตวิทยานะ สีนี้ให้อารมณ์ ความรู้สึกแบบนี้ สีนี้ให้อีกแบบนึง เช่น สีกรมท่า ให้ความรู้สึกน่าเชื่อถือ สติปัญญา สีแดง ให้ความรู้สึกมีพลังงาน หนักแน่น เป็นต้น แต่ละแบรนด์เลยมีสี CI (corporate identity) แตกต่างกันไป เพราะพยายามหาให้เหมาะสมกับแบรนด์นั้นๆ ไม่ใช่แค่ตราสินค้าเท่านั้น ยังรวมถึงการออกแบบอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์และกลุ่มลูกค้าด้วย
การใช้สีในลักษณะนั้นมีอยู่จริง และไม่ได้ผิดอะไร แต่การเลือกใช้สีเหลือง เพื่อเป็นตัวแทนของความระมัดระวังเนี่ย ไม่ได้มาด้วยเหตุผลของจิตวิทยา ความรู้สึกเวลาได้เห็นสีนั้นๆ แต่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และความเป็นห่วงล้วนๆ เลยล่ะ
เมื่อปี ค.ศ.1939 แฟรงก์ ดับเบิ้ลยู ซี (Frank W. Cyr) จัดการประชุมขึ้นที่ Columbia University ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างมาตรฐานของการเดินทางไปโรงเรียนให้กับเด็กๆ โดยเริ่มจัดการจากรสบัสของโรงเรียนก่อนเลย เหตุผลที่เขาลุกขึ้นมาใส่ใจกับเรื่องนี้ ที่ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ในตอนนั้น เพราะเมื่อราวๆ สองปีก่อนหน้าที่จะเกิดการประชุมนี้ขึ้น เขาได้มีโอกาสไปทำงานที่รัฐอื่นๆ ในอเมริกา แล้วพบว่าเด็กๆ เดินทางไปโรงเรียนด้วยการโดยสารรถบรรทุกบ้าง รถบัสหลากสีบ้าง หรือบางคนนั่งรถม้าไปเรียนก็มี
แม้เราจะคุ้นเคยว่ารถบัสรับส่งนักเรียนในอเมริกา เป็นสีเหลืองมาตั้งนานแล้วนี่ (เท่าที่เราเห็นกันในภาพยนตร์) แต่ในตอนนั้นเนี่ย มันยังไม่ได้มีมาตรฐานเดียวกันหมด แต่ละโรงเรียนก็ใช้รถบัสในแบบของตัวเอง สีของตัวเอง บางแห่ง ใช้สีน้ำเงิน ขาว แดง สีเดียวกับธงชาติ เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีความรักชาติในตัวกันตั้งแต่ขึ้นรถมาโรงเรียน
เขาเลยเอาเรื่องนี้ไปพูดในที่ประชุม “สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน มันพรางสายตาไปหมดเลย ถ้าคุณคิดถึงเรื่องนี้อีกสักหน่อย มันทำให้เด็กๆ มีความรักชาติ ความหมายดีใช่ไหมล่ะ? แต่มันทำให้รถบัสมองเห็นได้ยากโว้ย! และผมคิดว่านั่นมันก็ไม่ได้ช่วยให้เด็กๆ รักชาติขึ้นมาเท่าไหร่หรอกน่า” (อันนี้เขาพูดถึงสีรถบัสนะ)
เอาล่ะ ไม่ได้การ เด็กๆ เดินทางไปโรงเรียนแบบชีวิตแขวนบนเส้นด้ายทุกเช้า หลังจากที่เห็นปัญหาเหล่านั้น เขาจึงต้องการปฏิวัติวงการรถบัสรับส่งนักเรียน ให้มีมาตรฐานเดียวกัน อันดับแรก เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ ที่ควรได้ใช้ยานพาหนะที่ปลอดภัย ผู้คนบนถนนสังเกตได้ง่าย และให้ความระมัดระวังเมื่อร่วมทางกัน สอง ค่าใช้จ่ายที่ลดลง หากมีการกำหนดสีเพื่อให้ใช้เหมือนๆ กัน นั่นหมายความว่าจะสามารถสั่งซื้อสีในจำนวนมาก เพื่อลดค่าใช้จ่ายลงได้
กลับมาที่การประชุม ที่ Columbia University เพื่อหามาตรฐานให้กับรถบัสโรงเรียน ระหว่างการคัดเลือกสี (อย่างเป็นจริงเป็นจัง) เขาแขวนชาร์ตสี 50 เฉดที่ต่างกันไว้บนผนัง จากสี lemon yellow ไปจนถึง deep orange-red เพื่อให้ในที่ประชุมเลือกสีกันนี่แหละ (รวมถึงผู้แทนจากอุตสาหธรรมรถบัสก็ได้เข้าร่วมประชุม) และแล้วก็ตกลงปลงใจกันที่สี orangish-yellow color
ส่งผลให้ United States General Services Administration (GSA) เรียกสีของรถบัสที่เพิ่งมีในตอนนั้นว่า ‘National School Bus Glossy Yellow’ ซึ่งมี hex code เป็น #f5a400 สำหรับใครที่อยากรู้ว่ามันอยู่ในเฉดไหนกัน เพราะมันก็ไม่ได้เหลืองเสียทีเดียว
สีนั้นก็ถูกใช้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่เอ๊ะ แค่เปลี่ยนเป็นสีเดียวกันเท่านั้นก็พอแล้วหรอ มันจะช่วยยกระดับความปลอดภัยให้เด็กๆ ได้ด้วยการเปลี่ยนสีเนี่ยนะ? คำตอบคือ ไม่ใช่แค่นั้น เพราะในที่ประชุมตอนนั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องลงมติกัน เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ ตั้งแต่ความสูงเพดานรถ หน้าต่าง ทางขึ้นลงรถ สีเหลืองที่เพิ่งได้มาก็เป็นหนึ่งในมาตรฐานใหม่จากที่ประชุมด้วยเช่นกัน
ทำไมใช้สีนี้จึงปลอดภัย?
ในที่ประชุมเลือกสีเหลืองอมส้ม หรือส้มอมเหลืองนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า มันสะดุดตา สังเกตได้ง่าย เรียกความสนใจจากสายตาได้ดีที่สุด ยิ่งอยู่บนยานพาหนะที่มีขนาดใหญ่แล้ว ยิ่งทำให้คนใช้รถใช้ถนน สังเกตเห็นรถบัสโรงเรียนได้ง่ายขึ้น แม้ในวันที่ทัศนวิสัยไม่ดี หรือในช่วงเช้ามืดที่อาจจะมีหมอกลง
และหลังจากนั้น สีเหลืองก็ถูกนำมาใช้กับสิ่งอื่นนอกจากรถบัสโรงเรียนด้วยเช่นกัน ตั้งแต่แท็กซี่ ป้ายจราจร หรือป้ายเตือนอันตราย เพื่อให้ตระหนักถึงความปลอดภัย ในโรงงาน หรือที่มีจุดเสี่ยงต่างๆ
แล้วทำไมมันถึงจะสุดตาที่สุด?
เรามองเห็นได้เพราะอะไร? อธิบายแบบง่ายๆ เพราะมีแสงมากระทบวัตถุ และสะท้อนเข้าตาเราอีกทีใช่ไหม? แล้วทีนี้ดวงตาของเรา มีส่วนที่เรียกว่า Cones เป็นเซลรับแสง หน้าตาเป็นแท่งสั้นๆ อยู่ที่ Fovea ที่เป็นจุดเล็กๆ บนเรตินาอีกที พอมองเห็นปุ๊บ ก็จะส่งสัญญาณไปที่สมอง
แต่เราไม่ได้มี Cones แค่อันเดียว เรามีอยู่นับไม่ถ้วนเลยล่ะ แต่ละอันมีความไวต่อแสงแตกต่างกันไป อันนี้ไวต่อสีนี้ อันนี้ไวต่ออีกสี ซึ่งสีที่ไวต่อ Cones นั้น แต่สีเหลือง ทำให้ Cones สองชนิดตื่นตัวพร้อมๆ กัน และส่วนอื่นๆ ของตา ก็ไม่ได้ไวต่อแสงสีฟ้าและสีม่วงสักเท่าไหร่นัก ทำให้สีเหลือง ที่เป็นสีคู่ตรงข้ามของสีม่วง โดดเด้งขึ้นมาบนดวงตาของเรา จนเราสังเกตได้ง่ายนั้นเอง
สีเหลืองจึงเป็นสีที่สะดุดตาอย่างมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ และถูกนำมาใช้เพื่อความปลอดภัย เพราะความสังเกตได้ง่ายของมันนี่แหละ
อ้างอิงข้อมูลจาก