สองสามปีนี้เป็นปีที่เฟซบุ๊ก ‘อ่วม’ จริงๆ นะครับ
อ่วมขนาดที่นิตยสาร Wired ฉบับมีนาคมยังแสดงภาพความอ่วมออกมาเป็นรูปคุณมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ที่ถูกทุบตีจากทุกฝ่ายจนน่วม, เฟซบุ๊กในช่วงสองสามปีหลังนั้นมีปัญหาไม่เว้นแต่ละวัน ตั้งแต่ข้อกล่าวหา (ซึ่งต่อมาเป็นความจริง) ว่ายอมรับเงินจากรัสเซียเพื่อให้เข้ามามีส่วนแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ผ่านระบบโฆษณา, การสนับสนุนข่าวปลอมและคลิกเบท, สื่อเองก็รักเฟซบุ๊กน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเฟซบุ๊กเองก็มีบทบาทในการผลักให้พวกเขาตายเร็วขึ้น แถมยังบีบ ‘รีช’ พวกเขาจนแทบหายใจไม่ออก, คนที่เคยลงทุนหรือมีตำแหน่งบริหารในเฟซบุ๊กก็ออกมาแสดงความเสียใจกับสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้น จนในปีที่ผ่านมา คุณมาร์กเองก็ต้องหันมาทบทวนชีวิตดูใหม่ เดินทางไปเยี่ยมคนให้ครบทุกรัฐในสหรัฐอเมริกา เพื่อจะได้ออกจาก ‘ฟองสบู่’ ของตัวเองบ้าง และในปี 2018 เขาก็ประกาศว่าเป้าหมายหลักของชีวิตเขาในปีนี้คือการปรับปรุงเฟซบุ๊กให้ดี ให้เป็นที่ที่เขาจะบอกลูกๆ ว่า “พ่อสร้างสิ่งนี้” ได้อย่างภาคภูมิใจ
การปรับปรุงเฟซบุ๊กในปีนี้ถูกปล่อยออกมาเป็นลูกคลื่น บางลูกพูดถึงการปรับปรุงนิวส์ฟีดให้โชว์เรื่องราวจากเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น บางลูกก็บอกว่าจะเน้นข่าวจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ และบางลูกก็บอกว่าจะเน้นข่าว ‘ท้องถิ่น’ มากขึ้น เพราะมาร์กเชื่อว่าข่าวท้องถิ่นเท่านั้นที่จะกระตุ้นการมีส่วนร่วมกับเมืองได้อย่างแท้จริง – เขาพูดกระทั่งว่า ไม่แคร์หรอกว่าคนจะใช้เฟซบุ๊ก (เป็นจำนวนชั่วโมง) ลดลง แต่ที่สำคัญคือเวลาที่คุณใช้เฟซบุ๊ก ต้องเป็นเวลาที่มีคุณภาพ
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเชื่อได้สักแค่ไหน
เมื่อสักสัปดาห์ที่แล้ว เริ่มมีรายงานว่าเฟซบุ๊กไปจดสิทธิบัตรชิ้นใหม่ (จดไว้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่แล้ว แต่เพิ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ Patent Office ของสหรัฐอเมริกาในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้) สิทธิบัตรชิ้นนี้มีชื่อตรงไปตรงมาว่า “ระบบการแยกแยะชนชั้นทางสังคมเศรษฐกิจของผู้ใช้โดยดูจากข้อมูลประกอบ” (Socioeconomic Group Classification Based On User Features)
ถึงตรงนี้เราก็ต้องไม่ลืมนะครับว่าเฟซบุ๊กเคยมีปัญหาการ ‘กีดกัน’ คนบางกลุ่มมาก่อนหน้าแล้ว เช่น ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาว่าผู้ลงโฆษณาสามารถเลือกที่จะไม่แสดงโฆษณากับคนบางเชื้อชาติหรือบางผิวสีได้ (เช่น โฆษณาขายบ้าน ก็สามารถกันคนผิวดำออกได้) พอสื่อรายงานเรื่องดังกล่าว เฟซบุ๊กก็ยอมถอยด้วยการปิดฟีเจอร์นี้ออก
แต่ก็ดูเหมือนเฟซบุ๊กจะยังยึดมั่นแนวทางนี้อยู่? – ในสิทธิบัตรชิ้นใหม่ ระบบจะแยกแยะ ‘ชนชั้น’ ของคุณออกมาด้วยตัวแปรต่างๆ เช่นข้อมูลประชากร การเป็นเจ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลการใช้อินเทอร์เนต ข้อมูลการเดินทาง ข้อมูลในครัวเรือน
ภาพประกอบในสิทธิบัตรแสดงตัวอย่างการแยกแยะความน่าจะเป็น ว่าคุณอยู่ในชนชั้นกลางแค่ไหน โดยดูจากอายุของคุณก่อน แล้วหลังจากนั้นจึงไล่เรียงมายังคำถามตามโฟลวชาร์ต เช่น คุณมีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เนตได้กี่เครื่อง (ถ้ามี 0 เครื่อง ก็จะมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นชนชั้นกลางต่ำลง ถ้ามีมากกว่า 2 เครื่อง ก็อาจสูงขึ้น) และดูจากการศึกษา ว่าหากคุณจบปริญญาสูงหน่อย ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น ในขณะที่อีกด้านนำข้อมูลว่าคุณเป็นเจ้าของบ้านไหมมาคิด (ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าของบ้าน ก็จะมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นชนชั้นกลางต่ำลง 5%) และยังแบ่งแยกตามที่อยู่ของบ้านด้วย เช่น ถ้าอยู่ใน Palo Alto (ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเขตที่มีรายได้สูงมากๆ จนคนแซวว่า “เฟซบุ๊กไม่เข้าใจเลยว่าคนชั้นกลางคืออะไร” เนี่ย) ก็จะมีความเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นตัวเลข ‘เป๊ะๆ’ นะครับ แต่เป็นเพียงการแสดงตัวอย่างสิ่งที่ระบบเรียนรู้จักรกลอาจแยกแยะเมื่อผ่านการเรียนรู้ข้อมูลแล้วเท่านั้นเอง
(เฟซบุ๊กไม่ใช้คำว่า “ชนชั้นต่ำ” หรือ “lower class” แต่ใช้คำว่า “ชนชั้นแรงงาน” หรือ “working class” ในสิทธิบัตร)
แน่นอนว่าเฟซบุ๊กจดสิทธิบัตรนี้เพื่อแบ่งแยกชนชั้นให้ผู้ลงโฆษณาลงโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (ในสิทธิบัตรเขียนว่าระบบนี้จะถูกใช้โดย “third parties to increase awareness about products or services to online system users” ซึ่งแปลว่าถูกใช้เพื่อโฆษณานั่นแหละ) เราต้องยอมรับว่าผู้ลงโฆษณา ก็ดูตัวแปรพวกนี้เป็นหลักในการลงโฆษณาเช่นกัน หากเปรียบเทียบกับโลกก่อนหน้า ผู้ลงโฆษณาสินค้าหรู อาจไม่เลือกลงโฆษณาในนิตยสารที่มีกลุ่มเป้าหมายรายได้ต่ำ แต่จะเลือกลงโฆษณาในนิตยสารสำหรับผู้บริหาร แต่ปัญหาก็คือ หากคุณเป็นเจ้าของบริษัทที่ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยแพงมากๆ คุณก็อาจเลือกให้ชนชั้นแรงงานเห็นโฆษณาของคุณเท่านั้นก็ได้ คำถามที่สำคัญคือ แล้วเมื่อเฟซบุ๊กเปิดตัวระบบที่มีฟีเจอร์นี้ออกมาจริงๆ มันจะส่งผลลัพธ์อย่างไร
ปัจจุบันไม่มีการเห็นพ้องต้องกันนักว่าการนิยามชนชั้นที่ดีที่สุดคืออะไร ในต่างประเทศเองก็มีข้อถกเถียงเรื่องนี้อยู่มาก ในการสำรวจชาวอังกฤษครั้งหนึ่งในปี 2013 พบว่าชาวอังกฤษยุคใหม่ถูกแบ่งออกเป็น 7 ชนชั้น โดยไม่ได้แบ่งตามอาชีพ ฐานะ และการศึกษาเท่านั้น แต่ใช้ต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมมาพิจารณาด้วย (อ้างอิงจาก Voice TV) 7 ชนชั้นนี้คือ ผู้ดี, ชนชั้นกลางแต่กำเนิด, ชนชั้นจากในนาม, แรงงานรุ่นใหม่, แรงงานดั้งเดิม, งานรับใช้ลูกค้า และคนยากจนที่สุดในสังคม
ในปี 2015 Pew Research Center คำนวณชนชั้นโลก (Global Class) โดยดูจากรายได้เป็นหลัก โดยใช้หลักเกณฑ์ “เงินได้ต่อวัน” จากต่ำที่สุด เงินได้ต่อวันต่ำกว่า $2 (62 บาท) จะถือว่ายากจน, $2.01-10 (63-310 บาท) รายได้ต่ำ, $10.01-20 (311-620 บาท) รายได้ปานกลาง, $20.01-50 (621-1612 บาท) รายได้ปานกลางค่อนข้างสูง, และมากกว่า $50 ต่อวันจะถือว่ารายได้สูง ซึ่งเมื่อวัดตามเกณฑ์นี้แล้ว คนส่วนใหญ่บนโลกจะมีรายได้ต่ำหรือยากจน (56 และ 15% ตามลำดับ)
คุณสามารถดูสิทธิบัตรนี้ของเฟซบุ๊กได้ที่เว็บของ USPTO
อ้างอิง / ที่มา
ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาว่าผู้ลงโฆษณาสามารถเลือกที่จะไม่แสดงโฆษณากับคนบางเชื้อชาติหรือบางผิวสีได้
https://www.propublica.org/article/facebook-lets-advertisers-exclude-users-by-race
อังกฤษมี 7 ชนชั้น
https://www.voicetv.co.th/read/66951
เครื่องมือคำนวณว่าคุณเป็นชนชั้น (รายได้) ไหนในโลก
A Global Middle Class Is More Promise than Reality